การประมงน้ำจืด

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประมงน้ำจืดในประเทศไทย
 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในโซนร้อน มีอากาศที่ค่อนข้างร้อน และ อุณหภูมิของน้ำที่ค่อนข้างสูงเกือบตลอดทั้งปี เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นฝนซึ่งเกิดจากฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมที่มีความหนาวเย็นและพัดมาจากประเทศจีนตอนเหนือ และ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดผ่านทะเลมา จะนำเอาความชื้นและฝน มาสู่ประเทศไทยสลับกันไปเป็นฤดูกาล เมื่อฝนตกสู่พื้นดินไหลซะเอาปุ๋ยและเกลือแร่ต่าง ๆ จากทางภาคเหนือลงแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำเพชรบุรี แล้วไหลลงมาสู่บริเวณ ก้นอ่าวไทย ทำให้แม่น้ำต่างๆในประเทศไทย และ บริเวณอ่าวไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำน้อยใหญ่นานาชนิด

ประเทศไทยมีย่านน้ำที่จัดว่ามีความสำคัญ อยู่สองลักษณะก็คือ ย่านน้ำจืด และ ย่านน้ำเค็ม , ย่านน้ำจืดนั้นก็ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง บึง บาง และ หนองต่างๆ ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ บึงและหนองขนาดใหญ่ซึ่งมีความสำคัญของไทยในสมัยปัจจุบัน คือ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา หนองหาร จังหวัดสกลนคร หนองหลวง จังหวัดเชียงราย ห้วยละหาน จังหวัดชัยภูมิ และ ทะเลสาบสงขลา อันเป็นทะเลสาบน้ำเค็ม กึ่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ขนาดของบึงธรรมชาติ และ ทะเลสาบที่สำคัญ ๆ ของประเทศไทย

1. ทะเลสาปสงขลา จังหวัดสงขลาและพัทลุง
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืดและน้ำกร่อย
เนื้อที่ (ไร่ ) 616,000
เฉลี่ยความลึก 1.0 เมตร

2. บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืด
เนื้อที่ (ไร่ ) 132,000
เฉลี่ยความลึก 1.5 เมตร

3. กว้านพะเยา จังหวัด พะเยา
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืด
เนื้อที่ (ไร่ ) 10,600
เฉลี่ยความลึก 1.0 เมตร

4. หนองหาร จังหวัดสกลนคร
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืด
เนื้อที่ (ไร่ ) 46.000
เฉลี่ยความลึก 0.75 เมตร

5. หนองหลวง จังหวัด เชียงราย
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืด
เนื้อที่ (ไร่ ) 5,000
เฉลี่ยความลึก 1.0 เมตร

6. ห้วยละหาน จังหวัด ชัยภูมิ
ชนิดของน้ำเป็น น้ำจืด
เนื้อที่ (ไร่ ) 18,000
เฉลี่ยความลึก 0.50 เมตร

นอกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ได้จัดสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และ การชลประทานเพื่อการเกษตรทั่วราชอาณาจักร เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนบางลาง เขื่อนวชิราลงกรณ์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำที่สำคัญ ๆ จำนวนมาก ส่วนมากไหลลงสู่อ่าวไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง เป็นต้น มีแม่น้ำทางภาคอีสานไหลลงสู่แม่น้ำโขง เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน ที่สำคัญคือ แม่น้ำตรัง และ แม่น้ำปากจั่น อันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า อาณาบริเวณที่ติดต่อกับแม่น้ำ ยังมีลำคลอง ลำประโดง แตกแยกสาขาต่างๆ ออกไปเป็นจำนวนมาก ลำน้ำเหล่านี้ล้วนเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำจืดนานาชนิด

ในส่วนของการทำประมงน้ำจืดนั้น เรือที่ใช้ในการทำประมงน้ำจืดที่ใช้อยู่ทั่วไปในการจับสัตว์น้ำในย่านน้ำจืดระยะแรกๆ มักจะเป็นเรือขุดขนาดเล็กที่ใช้พายเรือแจว ยังไม่มีเรือประมงที่ใช้ใบ ต่อมาเมื่อมีวิวัฒนาการ ขึ้นแล้ว จึงเริ่มใช้ยอหรือสวิงที่ติดตั้งไว้ กับเรือซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิม เพื่อใช้ในการช้อนงัดบรรดาพันธุ์ปลาซึ่งอาศัยอยู่ตามบริวณผิวน้ำ นอกจากนั้นก็มีการสร้างวัสดุเพื่อล่อให้ปลาเข้ามาพักอาศัย เช่น กร่ำ แล้วใช้อวนลงล้อมจับปลาที่มาอาศัยอยู่ในกร่ำอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยก่อนคนไทยยังไม่มีการสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรกรรม อย่างเช่นประเทศเราในปัจจุบันนี้ เมื่อฝนตกน้ำได้ไหลบ่าหลากท่วมท้นไปในที่ลุ่มทุกหนแห่ง ทำให้ปลาได้มีโอกาสเดินทางออกไปในสถานที่น้ำท่วมเหล่านั้น เพื่อแสวงหาอาหารและขยายพืชพันธุ์ ต่อเมื่อน้ำได้ลดลงปลาก็จะพากันมารวมตัวกันอยู่ในบริเวณหนอง บึง บาง ทำให้เกิดการจับสัตว์น้ำขึ้นมา ดังนั้นในฤดูน้ำไหลหลากซึ่งเรียกกันว่า ฤดูน้ำแดง กรมประมงจึงได้มีการประกาศห้ามทำการจับสัตว์น้ำ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาให้มีโอกาศได้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป.

เครื่องมือการทำประมงในย่านน้ำจืดนั้น ไม่ใคร่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะหนองน้ำ และ บึง ต่าง ๆ เริ่มตื้นเขิน และ มีจำนวนลดลง การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และ ยาปราบวัชพืช เพื่อการเกษตรก็มีส่วนทำให้เผ่าพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยหลายๆชนิด ต้องสูญสิ้นไป นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนต่างๆ ก็นับเป็นสาเหตุใหญ่ซึ่งทำให้ปุ๋ยเกลือแร่ที่เคยมีตามธรรมชาติเหือดแห้งสูญหายไป เขื่อนต่างๆ ที่เก็บกักน้ำไว้ก็ไม่มีบันไดปลาโจนให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสขึ้นล่องได้เหมือนอย่างแต่ก่อน ผลที่มีตามมาคือ บรรดากุ้งกร้ามกราม และ ปลาที่มีราคาอื่นๆ เช่น ปลากะโห้ ปลาตะลุมพุก แทบจะต้องสูญพันธุ์ไป.

สิ่งที่นับว่าเป็นภัยมากที่สุดก็คือการใช้เครื่องมือและวิธีการทำการประมงที่มีภยัยอันตรายร้ายแรงผิดกฏหมาย เช่น ระเบิดปลาและช๊อตไฟฟ้าในย่านน้ำจืด รวมทั้งในส่วนที่เป็นชายฝั่งทะเลทุกแห่ง นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาเบื่อเมาทำลายพืชพันธุ์ของสัตว์น้ำอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มผลผลิตด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยรูปแบบและกรรมวิธีต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น กรมประมงได้จัดตั้งสถานีประมง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการเพิ่มปริมาณลูกสัตว์น้ำไว้แจกจ่าย และ ปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ อีกทั้งในภาคเอกชน ก็ยังมีผู้ให้ความสนใจ และ ให้การสนับสนุนนโยบายของกรมประมงมากขึ้นเป็นลำดับ นับว่าเป็นกุศลเจตนาที่ควรแก่การสรรเสริญ อันจะยังผลให้แผ่นดินของประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารสืบไป. ( สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ ,2545 )

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร