การเลี้ยงปลานิล

การเลี้ยงปลานิล
สร้างรายได้เสริมสวนยางด้วยปลานิล



      การเลี้ยงปลานิล    อีก 1 อาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในอำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูล   ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.สตูล    สนับสนุนเพื่อให้เกษตรกร  สามารถสร้างรายได้เสริมระหว่างช่วงรอผลผลิต   หลังโค่นต้นยางเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางใหม่   ซึ่งชาวสวนยางที่บ้านควนกาหลง ได้เริ่มทำการเกษตรเลี้ยงปลานิลมาเป็นระยะเวลากว่า  1  ปีแล้ว โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.จ.สตูล  เป็นผู้สนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและจัดหาพันธุ์ปลานิลมาให้เกษตรกรเพาะพันธุ์  ทั้งนี้  การทำอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพารา  มีมากมายหลายกิจกรรมเช่น   การปลูกผักปลอดสารพิษ   พอถึงช่วงแล้งยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงปลา  และทำการเลี้ยงได้ตลอดปี   โดยเฉพาะการเลี้ยงปลานิล  ซึ่งเป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูงกว่าปลาชนิดอื่น รายได้ที่มาจากการขายปลานิล  จึงช่วยให้ชาวสวนยางเลี้ยงชีพได้ตามแนวทางเกษตรผสมผสาน   โดยเน้นหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง

        ปลานิลถือเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศ ราคาที่ขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 70-100 บาท การเพาะเลี้ยงปลานิล ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่า   จึงมีขนาดโตพอจับขายได้   ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาไม่นานนัก  สำหรับต้นทุนประมาณ 20,000 บาท ที่ใช้ต่อการเลี้ยงปลานิล 1 บ่อ ปลานิลเป็นปลากินพืช  แต่สำหรับการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อนำออกจำหน่าย    เกษตรกรมักให้อาหารประเภทปลากินเนื้อ ซึ่งต้องดูความเหมาะสมในการให้อย่างสม่ำเสมอ   เพื่อให้ปลานิลมีขนาดมาตรฐานสมบูรณ์ และขายได้ราคา ปลานิลที่เลี้ยงไว้จะออกลูก  ทำให้พื้นที่บ่อเลี้ยงหนาแน่นมากขึ้น  จึงต้องหมั่นคอยสังเกตคัดจับปลาออกบ้าง การคัดจับปลานิลทำได้ง่าย   โดยใช้ตาข่ายไนล่อนขนาดช่องตา 6-8 เซนติเมตร    ช้อนจับออกจำหน่าย   เพื่อลดความหนาแน่น และวิดน้ำจับปลาทั้งหมด เมื่อเลี้ยงปลาได้ครบ 1 ปี   หรือรอจับในช่วงเวลาที่ปลามีราคาสูงขึ้น

         ปัญหาการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชในบริเวณบ่อเลี้ยงปลา ต้องระมัดระวังในเรื่องของสารพิษที่ใช้ฉีดฆ่าศัตรูพืช   ที่อาจปนเปื้อนลงมาภายในบ่อ   เวลาที่น้ำล้นบ่อ   ซึ่งมีผลทำให้ปลานิลที่มีขนาดเล็กไม่สามารถปรับสภาพกับสารพิษเหล่านี้   เป็นสาเหตุให้ปลาในบ่อเลี้ยงตายได้ นอกจาก  สกย.  จังหวัดสตูลแล้ว   ยังมีหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เข้ามาให้การสนับสนุน    เกษตรกร  โดยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี     จังหวัดสตูลได้ทำบ่อเพาะพันธุ์ปลานิล เพื่อขยายการเพาะพันธุ์   และให้คำชี้แนะแก่เกษตรกรที่สนใจเพาะเลี้ยงปลานิล เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจ      หลักการและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เกษตรกรจึงประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลานิล และนำออกจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่ม ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนชาวสวนยางตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง.





ปลานิล  Oreochromis nilotica  เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพ การเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 8 เดือน – 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ถึงขนาด 500 กรัม เนื้อปลามีรสชาติดี มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะมีน้ำหนักตัวละ 200 – 300 กรัม จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่ายเจริญเติบโตเร็วแต่ปัจจุบันปลานิลพันธุ์แท้ค่อนข้างจะหายาก เพื่อให้ได้ปลานิลพันธุ์ดีกรมประมงจึงได้ดำเนินการ ปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในด้านต่างๆอาทิ เจริญเติบโตเร็ว ปริมาณความดกของไข่สูง ให้ผลผลิตและมีความต้านทานโรคสูง เป็นต้น ดังนั้นผู้เลี้ยงปลานิลจะได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงปลานิจเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อไป


ความเป็นมา
                สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัวความยาวเฉลี่ยประมาณตัวละ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม มาทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 นั้น  ในระยะแรกได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ปล่อยบ่อดิน เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ณ บริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อเลี้ยงมาได้ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่สวนหลวงขุดบ่อใหม่ขึ้น 6 บ่อ มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละ 70 ตารางเมตร ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายพันธุ์ปลาด้วยพระองค์เองจากบ่อเดิมไปปล่อยเลี้ยงในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นจำพวกกินพืช เลี้ยงง่าย มีรสชาติดี ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ในเวลา 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 1 ฟุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลาชนิดนี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลาง บางเขนและที่สถานีประมงต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวม 15 แห่ง เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้วจึงได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ต่อไป

 รูปร่างลักษณะ
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลซิคลิดี(Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบ ในประเทศซูดาน  ยูกันดา  แทนแกนยีกา โดยที่ปลานิลชนิดนี้เจริญเติบโตเร็วและเลี้ยงง่าย เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี จึงได้รับความนิยมและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในภาคพื้นเอเชีย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็นิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้
รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่ลักษณะพิเศษของปลานิลมีดังนี้คือ ริมฝีปากบนและร่างเสมอกัน ที่บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ตามลำตัวมีลายพาดขวางจำนวน 9 – 10 แถบ นอกจากนั้นลักษณะทั่วไปมีดังนี้ ครีบหลังมีเพียง 1 ครีบ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนเป็นจำนวนมาก ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบแข็งและอ่อนเช่นกัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่งบริเวณส่วนอ่อนของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางนั้นจะมีจุดสีขาวและสีดำตัดขวางแลดูคล้ายลายข้าวตรอกอยู่โดยทั่วไป
       ต่อมากรมประมงโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาและพันธุกรรมสัตว์น้ำได้นำปลานิลสายพันธุ์แท้มีชื่อว่าปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาไปดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ได้ปลานิลสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 3 สายพันธุ์ ดังนี้
    1. ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 1 เป็นปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากปลานิลสายพันธ์แบบคัดเลือกภายในครอบครัว (within family selection) เริ่มดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบันเป็นชั่วอายุที่ 7 ซึ่งทดสอบพันธุ์แล้วพบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าปลานิลพันธุที่เกษตรกรเลี้ยง 22 %
   2. ปลานิลสายพันธุ์จิตลดา 2 เป็นปลานิลที่พัฒนาพันธุ์มาจากปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา โดยการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมในพ่อพันธุ์ให้มีโครโมโซมเป็น "YY"  ที่เรียกว่า  "YY - Male"  หรือซุปเปอร์เมล ซึ่งเมื่อนำพ่อพันธุ์ดังกล่าวไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ปรกติจะได้ลูกปลานิลเพศผู้ที่เรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 " ซึ่งมีลักษณะเด่นคือเป็นเพศผู้ที่มีโครโมโซมเพศเป็น "XY" ส่วนหัวเล็กลำตัวกว้าง สีขาวนวล เนื้อหนาและแน่น  รสชาติดี อายุ 6 – 8 เดือน สามารถเจริญเติบโตได้ขนาด 2 – 3 ตัวต่อกิโลกรัม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยง 45 %
           3.  ปลานิลสายพันธุจิตรลดา 3 เป็นปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากการนำปลานิลพันธุ์ผสมกลุ่มต่างๆที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาและปลานิลสายพันธุ์อื่นๆ อีก 7 สายพันธุ์ ได้แก่  อียิปต์  กานา  เคนยา  สิงคโปร์ เซเนกัล  อิสราเอล และไต้หวันซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วและมีอัตรารอดสูง ในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงต่างๆ ไปสร้างเป็นประชากรพื้นฐาน จากนั้นจึงดำเนินการคัดพันธุ์ในประชากรพื้นฐานต่อโดยวิธีดูลักษณะครอบครัวร่วมกับวิธีดูลักษณะภายในครอบครัว ปลานิลชั่วอายุที่ 1 – 5 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยหน่วยงาน  ICLARM  ในประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงนำลูกปลาชั่วอายุที่ 5 เข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำจึงดำเนินการปรับปรุงปลาพันธุ์ดังกล่าวต่อ โดยวิธีการเดิมจนในปัจจุบันได้ 2 ชั่วอายุ และเรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 " ปลาสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สีเหลืองนวล เนื้อหนาและแน่น รสชาติดี อายุ 6 – 8 เดือน สามารถเจริญเติบโตได้ขนาด 3 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยง 40 %
ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้กระจายพันธุ์ปลานิลทั้ง 3 สายพันธุ์ ไปสู่ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงแล้ว โดยหน่วยงานของสถาบันฯในจังหวัดปทุมธานีและหน่วยพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำจืดพิษณุโลก ขอนแก่น และสุราษฏร์ธานี นอกจากนี้ยังดำเนินการดำรงสายพันธุ์และทดสอบพันธุ์ปลานิลดังกล่าวด้วย

 คุณสมบัติและนิสัย
ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง (ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์) มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี  จากการศึกษาพบว่า ปลานิลทนต่อความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพันส่วน ทนต่อค่าความเป็นกรด – ด่าง (pH) ได้ดีในช่วง 6.5 – 8.3 และสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 40  องศาเซลเซียส แต่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสพบว่าปลานิลปรับตัวและเจริญเติบโตได้ไม่ดีนักทั้งนี้เป็นเพราะถิ่นกำเนิดเดิมของปลาชนิดนี้อยู่ในเขตร้อน

 การสืบพันธุ์
         1. ลักษณะ ตามปกติแล้วรูปร่างภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสังเกตลักษณะเพศได้ก็โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้กับช่องทวาร โดยตัวผู้จะมีอวัยวะเพศในลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา แต่สำหรับตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูค่อนข้างใหญ่และกลม ขนาดปลาที่จะดูเพศได้ชัดเจนนั้นต้องเป็นปลาที่มีขนาดความยาวตั้งแต่10 เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับปลาที่มีขนาดโตเต็มที่นั้นเราจะสังเกตเพศได้อีกวิธีหนึ่งด้วยการดูสีที่ลำตัวซึ่งปลาตัวผู้ที่ใต้คางและลำตัวจะมีสีเข้มต่างกับตัวเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์สีจะยิ่งเข้มขึ้น
         2. การผสมพันธุ์และวางไข่ ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปีโดยใช้เวลา 2 – 3เดือน/ครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสมในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5 – 6 ครั้ง ขนาดอายุและช่วงการสืบพันธุ์ของปลาแต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพทางสรีรวิทยาของปลาเอง การวิวัฒนาการของรังไข่และถุงน้ำเชื่อของปลานิล พบว่าปลานิลจะมีไข่และน้ำเชื่อเมื่อมีความยาว 6.5 ซม.
              โดยปรกติปลานิลที่ยังโตไม่ได้ขนาดผสมพันธุ์หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเพื่อการวางไข่ ปลารวมกันอยู่เป็นฝูง แต่ภายหลังที่ปลามีขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้ปลาตัวผู้จะแยกออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณเชิงลาดหรือก้นบ่อที่มีระดับน้ำลึกระหว่าง  0.5 – 1 เมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง โดยที่ตัวของมันอยู่ในระดับที่ตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับการเคลื่อนไหวของลำตัวเพื่อเขี่ยดินตะกอนออกจากนั้นจะอมดินตะกอนงับเศษสิ่งของต่างๆออกไปทิ้งนอกรังทำเช่นนี้จนกว่าจะได้รังที่มีลักษณะค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 – 35 ซม. ลึกประมาณ 3 – 6 ซม. ความกว้างและความลึกของรังไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อปลาหลังจากสร้างรังเรียบร้อยแล้วมันพยายามไล่ปลาตัวอื่นๆ ให้ออกไปนอกรัศมีของรังไข่ประมาณ2–3เมตรขณะเดียวกันพ่อปลาที่สร้างรังจะแผ่ครีบหางและอ้าปากกว้าง ในขณะที่ปลาตัวเมียว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆรัง และเมื่อเลือกตัวเมียได้ถูกใจแล้วก็แสดงอาการจับคู่ โดยว่ายน้ำเคล้าคู่กันไปโดยใช้หางดีดและกัดกันเบาๆ การเคล้าเคลียดังกล่าวใช้เวลาไม่นานนัก ปลาตัวผู้ก็จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียเพื่อเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 10 – 15 ฟอง ปริมาณไข่รวมกันแต่ละครั้งมีปริมาณ 50 – 600 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา เมื่อปลาวางไข่แต่ละครั้งปลาตัวผู้จะว่ายไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไปทำเช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์แล้วเสร็จโดยใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง ปลาตัวเมียเก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอมไว้ในปากและว่ายออกจากรังส่วนปลาตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเค้าเคลียกับปลาตัวเมียอื่นต่อไป
            3. การฟักไข่ ไข่ปลาที่อมไว้โดยปลาตัวเมียจะวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ แม่ปลาจะขยับปากให้น้ำไหลเข้าออกในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ไข่ที่อมไว้ได้รับน้ำที่สะอาด ทั้งยังเป็นการป้องกันศัตรูที่จะมากินไข่ ระยะเวลาฟักไข่ที่ใช้แตกต่างกันตามอุณหภูมิของน้ำ สำหรับน้ำที่มีอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ไข่จะมีวิวัฒนาการเป็นลูกปลาวัยอ่อนภายใน 8 วัน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวถุงอาหารยังไม่ยุบ  และจะยุบเมื่อลูกปลามีอายุครบ 13 – 14 วัน นับจากวันที่แม่ปลาวางไข่ ในช่วงระยะเวลาที่ลูกปลาฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลูกปลานิลวัยอ่อนจะเกาะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหัวของแม่ปลา และเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อมีภัย หรือถูกรบกวนโดยปลานิลด้วยกันเอง เมื่อถุงอาหารยุบลงลูกปลานิลจะเริ่มกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำขนาดเล็กได้ และหลังจาก 3  สัปดาห์แล้วลูกปลาก็จะกระจายแตกฝูงไปหากินเลี้ยงตัวเองได้โดยลำพัง

 การเพาะพันธุ์ปลานิล
การเพาะพันธุ์ปลานิลให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพต้องได้รับการเอาใจใส่และมีการปฏิบัติด้านต่างๆ เช่น การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การตรวจสอบลูกปลาและการอนุบาลลูกปลาและการอนุบาลลูกปลาสำหรับการเพาะพันธุ์ปลานิลอาจทำได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังไนลอนตาถี่  ดังวิธีการต่อไปนี้
1.  การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
 1.1 บ่อดิน บ่อเพาะปลานิลควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเนื้อที่ตั้งแต่ 50–1,600 ตารางเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูง 1 เมตร บ่อควรมีเชิงลาดตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันดินพังทลาย และมีชานบ่อกว้าง 1 – 2 เมตร ถ้าเป็นบ่อเก่าก็ควรวิดน้ำและสาดเลนขึ้นตกแต่งภายในบ่อให้ดินแน่น ใส่โล่ติ๊นกำจัดศัตรูของปลาในอัตราส่วนโล่ติ๊นแห้ง 1 กก./ ปริมาตรของน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร  โรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ 1 กก./พื้นที่บ่อ 10 ตรม. ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 300 กก./ไร่ ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ   2 – 3 วัน จึงเปิดหรือสูบน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ให้มีระดับสูงประมาณ 1 เมตร การใช้บ่อดินเพาะปลานิล จะมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นบ่อที่มีลักษณะคล้ายคลึงตามธรรมชาติ  และการผลิตลูกปลานิลจากบ่อดินจะได้ผลผลิตสูงและต่ำกว่าต้นทุนกว่าวิธีอื่น
            1.2 บ่อซีเมนต์ ก็สามารถใช้ผลิตลูกปลานิลได้ รูปร่างของบ่อจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือทรงกรมก็ได้ มีความลึกประมาณ 1 เมตร พื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป ทำความสะอาดบ่อและเติมน้ำที่กรองด้วยผ้าไนลอนหรือมุ้งลวดตาถี่ให้มีระดับความสูงประมาณ 80 ซม. ถ้าใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกชิเจนในน้ำจะทำให้การเพาะพันธุ์ปลานิลด้วยวิธีนี้ได้ผลมากขึ้น
  อนึ่ง การเพาะปลานิลในบ่อซีเมนต์ ถ้าจะให้ได้ลูกปลามากก็ต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสูง
                1.3 กระชังไนลอนตาถี่  ขนาดของกระชังที่ใช้ประมาณ  5x8x2 เมตร วางกระชังในบ่อดินหรือในหนอง บึง   อ่างเก็บน้ำ ให้พื้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 1 เมตร ใช้หลักไม้ 4 หลัก ผูกตรงมุม 4 มุม ยึดปากและพื้นกระชังให้แน่นเพื่อให้กระชังขึงตึงการเพาะพันธุ์ปลานิลด้วยวิธีนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ผลิตลูกปลาในกรณีซึ่งเกษตรกรไม่มีพื้นที่

2. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
      การคัดเลือกพ่อแม่ปลานิล โดยการสังเกตลักษณะภายนอก ของปลาที่สมบูรณ์ ปราศจากเชื้อโรคและบาดแผล สำหรับพ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นสังเกตได้จากอวัยวะเพศ ถ้าเป็นปลาตัวเมียจะมีสีชมพูแดงเรื่อ ส่วนปลาตัวผู้ก็สังเกตได้จากสีของปลาตัวผู้และตัวควรมีขนาดไล่เลี่ยกันคือมีความยาวตั้งแต่ 15 – 25 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 150 – 200 กรัม

3. อัตราส่วนที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะพันธุ์
ปริมาณพ่อแม่ปลาที่จะนำไปปล่อยในบ่อเพาะ 1 ตัว/4 ตารางเมตร หรือไร่ละ 400 ตัว ควรปล่อยในอัตราส่วนพ่อปลา 2 ตัว/ปลา 3 ตัว จากการสังเกตพฤติกรรมในการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้  ปลาตัวผู้มีสรรถภาพที่จะผสมพันธุ์กับปลาตัวเมียอื่นๆ ได้อีก ดังนั้นการเพิ่มอัตราส่วนของปลาตัวเมียให้มากขึ้นก็จะทำให้ได้ลูกปลานิลเพิ่มขึ้น ส่วนการเพาะปลานิลในกระชังใช้อัตราส่วนปลา   6 ตัว / ตารางเมตร โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว / ตัวเมีย 3 – 5 ตัว การเพาะปลานิลแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน  จึงเปลี่ยนพ่อแม่ปลารุ่นใหม่ต่อไป

4. การให้อาหารและปุ๋ยในบ่อเพาะพันธุ์
  การเลี้ยงปลานิลมีความจำเป็นที่ต้องให้อาหารสมทบหรืออาหารผสม ได้แก่ ปลายข้าว สาหร่าย รำละเอียด ในอัตราส่วน        1 : 2 : 3  โดยให้อาหารดังกล่าวแก่พ่อแม่ปลานิลประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้เพื่อให้ปลานิลใช้เป็นพลังงานซึ่งต้องใช้พลังงานมากกว่าในช่วงการผสมพันธุ์ ส่วนปุ๋ยคอกแห้งก็ต้องใส่ในอัตราส่วนประมาณ 100 – 200 กก./ ไร่ / เดือน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารธรรมชาติในบ่อ ได้แก่ พืชน้ำขนาดเล็กๆไรน้ำและตัวอ่อน อันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกปลานิลวัยอ่อนภายหลังที่ถุงอาหารยุบตัวลง และจะต้องดำรงชีวิตอยู่ในบ่อเพาะดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนย้ายไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล  ถ้าในบ่อขาดอาหารธรรมชาติดังกล่าว  ผลผลิตลูกปลานิลจะได้น้อยเพราะขาดอาหารที่จำเป็นเบื้องต้น หลังจากถุงอาหารได้ยุบลงใหม่ๆ ก่อนที่ลูกปลานิลจะสามารถกินอาหารสมทบอื่นๆได้อาหารสมทบที่หาได้ง่ายคือ รำข้าว ซึ่งควรปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้ปลาป่น กากถั่ว และวิตามินเป็นส่วนผสม นอกจากนี้แหนเป็ดและสาหร่ายบางชนิดก็สามารถใช้เป็นอาหารเสริมแก่พ่อแม่ปลานิลได้เป็นอย่างดีในกรณีที่ใช้กระชังไนลอนตาถี่เพาะพันธุ์ปลานิลก็ควรให้อาหารสมทบแก่พ่อแม่ปลาอย่างเดียว

 การอนุบาลลูกปลานิล
                
                                             บ่อดิน

           1. บ่อดิน บ่อดินควรมีขนาดประมาณ 200 ตรม. ถ้าเป็นบ่อรูปสามเหลี่ยมผืนผ้าจะสะดวกในการจับย้ายลูกปลา  น้ำในบ่อควรมีระดับความลึกประมาณ 1 เมตร บ่ออนุบาลปลานิลควรเตรียมไว้ให้มีจำนวนมากพอเพื่อให้เลี้ยงลูกปลาขนาดเดียวกันที่ย้ายมาจากบ่อเพาะการเตรียมบ่อเพาะการเตรียมบ่ออนุบาลควรดำเนินการล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ บ่อขนาดดังกล่าวนี้จะใช้อนุบาลลูกปลานิลขนาด
 1 – 2 ซม. ได้ครั้งละประมาณ 50,000 ตัว
      การอนุบาลลูกปลานิล นอกจากใช้ปุ๋ยเพาะอาหารธรรมชาติ แล้วจำเป็นต้องให้อาหารสมทบ เช่น รำละเอียด กากถั่วอีกวันละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติจากสีของน้ำซึ่งมีสีเขียวอ่อน หรือจะใช้ถุงลากแฟรงก์ตอนตรวจดูปริมาณของไรน้ำก็ได้ ถ้ามีปริมาณน้อยก็ควรเติมปุ๋ยคอก ในช่วงเวลา 5 – 6 สัปดาห์  ลูกปลาจะโตมีขนาด 3 – 5 ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่
  
                 
                                                นาข้าว

2. นาข้าว ใช้เป็นบ่ออนุบาลโดยนาข้าวที่ได้เสริมคันดินให้แน่น เพื่อเก็บกักน้ำให้มีระดับความสูงประมาณ 50 ซม. โดยใช้ดินที่ขุดขึ้นรอบคันนาไปเสริม ซึ่งจะมีคูขนาดเล็กโดยรอบพร้อมบ่อขนาดเล็กประมาณ 2x5 เมตร ลึก 1 เมตร ให้ด้านคันนาที่ลาดเอียงต่ำสุดเป็นที่รวบรวมลูกปลาขณะจับ พื้นที่นาดังกล่าวก็จะเป็นนาอนุบาลลูกปลานิลได้หลังจากปักดำข้าว 10 วัน หรือภายหลังที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ส่วนการให้อาหารและปุ๋ย ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับบ่ออนุบาล การป้องกันศัตรูของปลานิลในนาข้าวควรใช้อวนไนลอนตาถี่สูงประมาณ 1 เมตร ทำเป็นรั้วล้อมรอบเพื่อป้องกันศัตรูของปลาจำพวก  กบ  งู  เป็นต้น

  
                             บ่อซีเมนต์
        
               3. บ่อซีเมนต์ บ่ออนุบาลปลานิลและบ่อเพาะปลานิลจะใช้บ่อเดียวกันก็ได้ ซึ่งสามารถใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้ตารางเมตรละประมาณ 300 ตัว เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ โดยใช้เครื่องเป่าลมช่วยและเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณครึ่งบ่อสัปดาห์ละครั้ง ให้อาหารสมทบวันละ 3 เวลา ลูกปลาที่เลี้ยงจะเติบโตขึ้นมีขนาด 3 – 5 ซม.

  
                        กระชังไนลอนตาถี่
            
               4. กระชังไนลอนตาถี่ ขนาด 3x3x2 เมตร สามารถใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้ครั้งละจำนวน 3,000 – 5,000 ตัว โดยให้ไข่แดงต้มบดให้ละเอียด วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังจากถุงอาหารของลูกปลายุบตัวลงใหม่ๆ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้รำละเอียดอัตรา 1 ส่วนติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์  ลูกปลาจะโตขึ้นมีขนาด 3 – 5 ซม. ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดใหญ่หรือจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลา
      การอนุบาลลูกปลานิลอาจจะใช้บ่อเพาะพันธุ์อนุบาลปลานิลเลยก็ได้เพื่อเป็นการประหยัดโดยช้อนเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงไว้ต่างหาก



 การเลี้ยง

ปลานิลเป็นปลาที่ประชาชนนิยมเลี้ยงกัน มากชนิดหนึ่งทั้งในรูปแบบการค้า และเลี้ยงไวบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้แทบทุกชนิด เนื้อมีรสชาติดีตลาดมีความต้องการสูง การเลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อผลิตจำหน่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาช่วยลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดในเรื่องอาหารปลาที่จะนำใช้เลี้ยง กล่าวคือต้องเป็นอาหารที่หาได้ง่าย ราคาต่ำ นอกจากนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้มีความจำเป็นในด้านการจัดการฟอร์มที่เหมาะสม เพราะปลานิลเป็นปลาที่ออกลูกดกถ้าปลาในบ่อมีความหนาแน่นมากก็จะไม่เจริญเติบโต  ดังนั้นการเลี้ยงที่จะให้ได้ผลดีเป็นที่พอใจก็จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการประเภทของการเลี้ยง และขั้นตอนต่อไปนี้


1.  บ่อดิน

             บ่อที่เลี้ยงปลานิลควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อสะดวกในการจับ เนื้อที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป  อาหารที่ให้ใช้เศษอาหารจากโรงครัว ปุ๋ยคอก อาหารสมทบอื่นๆที่หาได้ง่าย เช่น แหนเป็ด สาหร่าย เศษพืชผักต่างๆ ปริมาณปลาที่ผลิตได้ก็เพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัว
            ส่วนการเลี้ยงปลานิลเพื่อการค้าควรใช้บ่อขนาดใหญ่ตั้งแต่ 0.5 – 3.0 ไร่ ควรจะมีหลายบ่อเพื่อทยอยจับปลาเป็นรายวันรายสัปดาห์และรายเดือน ให้ได้เงินสดมาใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับค่าอาหารปลา  เงินเดือนคนงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

      ปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินแบ่งได้ 4 ประเภท ตามลักษณะของการเลี้ยง ดังนี้

           1. การเลี้ยงปลานิลแบบเดี่ยว โดยปล่อยลูกปลาขนาดเท่ากันลงเลี้ยงพร้อมกันใช้เวลาเลี้ยง   6 – 12  เดือน แล้ววิดจับหมดทั้งบ่อ
 2. การเลี้ยงปลานิลหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน  โดยใช้อวนจับปลาใหญ่ คัดเฉพาะขนาดปลาที่ตลาดต้องการจำหน่ายและปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเจริญเติบโตต่อไป
 3.การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาจีน ฯลฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหาร  หรือเลี้ยงร่วมกับปลากินเนื้อเพื่อกำจัดลูกปลาที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกันจะได้ปลากินเนื้อเป็นผลพลอยได้ เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลากราย และการเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาช่อน เป็นต้น
 4.การเลี้ยงปลานิลแบบแยกเพศโดยวิธีแยกเพศปลา หรือเปลี่ยนเป็นเพศเดียวกันเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ในบ่อส่วนมากนิยมเลี้ยงเฉพาะปลาเพศผู้ซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเพศเมียโดยสามารถจัดเตรียมลูกปลาเพศผู้ได้ 4 วิธีดังนี้
     วิธีที่ 1 การคัดเลือกโดยดูลักษณะเพศภายนอกนำปลาที่เลี้ยงทั้งหมดมาแยกเพศโดยตรงซึ่งจำเป็นต้องเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยดูจากลักษณะสีใต้คางของปลา สำหรับปลาเพศผู้จะมีสีแดงหรือสีชมพู ส่วนปลาเพศเมียใต้คางจะมีสีเหลือง หรือจะสังเกตบริเวณช่องขับถ่ายเพศเมียจะมี 3 ช่อง เพศผู้มี 2 ช่อง ขนาดปลาที่สามารถเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนควรมีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 ซม. และมีน้ำหนัก 50 กรัม ขึ้นไป

      วิธีที่ 2 การผสมข้ามสายพันธุ์ การผสมข้ามพันธุ์ทั้งสกุลและชนิด ในปลาบางชนิดทำให้เกิดลูกปลาเพศเดียวกันได้ เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง O.niloticus กับ O.aureus จะได้ลูกพันธุ์ปลานิลผู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอิสราเอล

      วิธีที่ 3 การใช้ฮอร์โมนแปลงเพศปลา สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฝังแคปซูล การแช่ปลาในสายละลายฮอร์โมนและการผสมฮอร์โมนในอาหารให้ลูกปลากิน โดยใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

      วิธีที่ 4ปลานิลซุเปอร์เมล เป็นการผลิตลูกปลานิลเพศผู้ทั้งครอก ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้ดำเนินการขยายพันธุ์พร้อมจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหลายแห่ง อาทิ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก สุราษฏร์ธานีและขอนแก่น

      การขุดบ่อเลี้ยงปลาในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องจักรกล  เช่น รถแทรกเตอร์ รถตักขุดดิน เพราะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าใช้แรงงานจากคนขุดเป็นอันมากนอกจากนี้ยังปฏิบัติงานได้รวดเร็วตลอดจนสร้างคันดิน ก็สามารถอัดให้แน่นป้องกันการรั่วซึมได้เป็นอย่างดี ความลึกของบ่อประมาณ 1 เมตร มีเชิงลาดประมาณ 45 องศา เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน แลมีชานบ่อกว้างประมาณ   1– 2 เมตร ตามขนาดความกว้าวยาวของบ่อที่เหมาะสม ถ้าบ่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น คู คลอง แม่น้ำ หรือในเขตชลประทาน ควรสร้างท่อระบายน้ำทิ้งที่พื้นบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยจัดระบบน้ำเข้าออกคนละทาง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ แต่ถ้าบ่อนั้นไม่สามารถจะทำท่อชักน้ำและระบายน้ำได้จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ



 ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลในบ่อ

             1. กำจัดวัชพืชและพรรณไม้ต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวา ให้หมดโดยนำมากอองสุมไว้ เมื่อแห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยงถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุด หรือ ใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผัก ผลไม้  บริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่นด้วย

             กำจัดศัตรู ศัตรูของปลานิล ได้แก่ ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์พวก กบ งู เขียด เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยปลานิลลงเลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูดังกล่าวเสียก่อน โดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด

     การกำจัดศัตรู  ของปลาอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร โดยทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียดนำลงแช่น้ำประมาณ 1 – 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังสาดโล่ติ๊น ประมาณ 30 นาที ใช้สวิงจับขึ้นมาบริโภคได้ปลาที่เหลือตายพื้นบ่อจะลอยในวันรุ่งขึ้น ส่วนศัตรูจำพวก กบ เขียด งู จะหนีออกจากบ่อไป และก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

2. การใส่ปุ๋ย โดยปรกติแล้วอุปนิสัย ในการกินอาหารของปลานิล จะกินอาหารจำพวกแฟรงก์ตอนพืชและสัตว์เศษวัสดุเน่าเปื่อยตามพื้นบ่อ แหน สาหร่าย ฯลฯ ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงปลาควรให้อาหารธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปละลายเป็นธาตุอาหารซึ่งพืชน้ำขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหารและเจริญเติบโตโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นโซ่อาหาร อันดับต่อไปคือ แฟรงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ ไรน้ำ และตัวอ่อนของแมลง  ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ มูลวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ นอกจากปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์แล้วก็อาจใช้ปุ๋ยหมักและฟางข้าวปุ๋ยพืชสดต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน
             อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอก ในระยะแรกควรใส่ประมาณ 250 – 300 กก./ ไร่ / เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตสีของน้ำในบ่อ และในกรณีที่หาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็หาปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15  :15 : 15 ใส่ประมาณ 5 กก. / ไร่ / เดือน ก็ได้ วิธีใส่ปุ๋ยถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากให้แห้งเสียก่อน เพราะปุ๋ยสดจะทำให้มีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก เป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อโดยละลายน้ำทั่วๆก่อนส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้นควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2 –3  แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ยเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

3. อัตราปล่อยปลา อัตราการปล่อยปลาที่เลี้ยงในบ่อดินขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ อาหาร และการจัดการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาขนาด 3 – 5 เซนติเมตร ลงเลี้ยงในอัตรา 1 – 3 ตัว / ตารางเมตร หรือ 2,000 – 5,000 ตัว / ไร่
4. การให้อาหาร การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูกแต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลานิลที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้นหรือถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว มีโปรตีนประมาณ 20 % เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกชนิดที่มีราคมถูกและหาได้ง่าย ส่วนปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรเกิน 4 % ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือจะใช้วิธีสังเกตจากปลาที่ขึ้นมากินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำ คือ ถ้ายังมีปลานิลออกมาออกันมากเพื่อรอกินอาหารก็เพิ่มจำนวนอาหารมากขึ้นตามลำดุบทุก 1 – 2 สัปดาห์
ในการให้อาหารสมทบมีข้อพึงระวังคือ  ถ้าปลากินไม่หมดอาหารจมพื้นบ่อหรือละลายน้ำ
มากก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นหลายประการ เช่น เสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง และ/หรือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสูบถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆเป็นต้น



 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบกึ่งพัฒนา

              1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตรใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ และปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ ทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อซึ่งเป็นอาหารปลา
               2. ปล่อยลูกปลา ขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จำนวน 5,000 ตัว / ไร่ ในระหว่างการเลี้ยงมีการเติมปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ / เดือน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อ ให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น  รำข้าว กากถั่วเหลือง  เป็นต้น  ควรมีการเติมน้ำในบ่อปลาด้วยอย่างสม่ำเสมอ
               3. เมื่อเลี้ยงครบ 5 เดือน จะได้ปลาขนาด 300 กรัม เริ่มให้ปลากินอาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % ปริมาณ 3% ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา 1 เดือน
 4. ได้ปลานิลขนาด 2 – 3 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 1.5 – 2 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง)

 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบพัฒนา

                1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับความสูงประมาณ 1 เมตร ใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน
 2. นำลูกปลานิลขนาด 45 กรัม มาปล่อยในบ่อที่เตรียมน้ำไว้ในอัตรา 8,000 ตัว / ไร่
 3. ให้อาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % วันละ 3 ครั้ง ปริมาณ 5 % ของน้ำหนักตัว และมีการตรวจสอบอัตรารอดและปรับปริมาณอาหารทุกเดือน เลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือนในระหว่างการเลี้ยงมีการเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศตลอดเวลา
4. จะได้ปลานิลขนาด 1– 2 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 3 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ  กรมประมง)

 การเลี้ยงปลาร่วมกับสัตว์บก

 วัตถุประสงค์เพื่อใช้ข้อมูลสัตว์และปุ๋ยในบ่อเป็นอาหารซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน ระหว่างการเลี้ยงปลากับการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ โดยเศษอาหารที่เหลือจากการย่อย หรือตกหล่นจากที่ให้อาหารของปลาโดยตรง ในขณะที่ข้อมูลของสัตว์จะเป็นปุ๋ยและให้แร่ธาตุสารอาหารแก่พืชน้ำซึ่งเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหามลภาวะได้

 วิธีการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับปลาอาจใช้วิธีการสร้างคอกสัตว์บนบ่อปลาเพื่อไม่ให้มูลไหลลงบ่อปลาโดยตรง หรือสร้างคอกสัตว์ไว้บนคันบ่อปลาแล้วนำมูลสัตว์มาใส่ลงบ่อในอัตราที่เหมาะสม ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงสุกร จำนวน 10 ตัว หรือ เป็ด ไก่ไข่ จำนวน 200 ตัว ต่อบ่อปลาพื้นที่น้ำ 1 ไร่

          1.  กระชังหรือคอก
      การเลี้ยงปลานิล โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีคุณภาพน้ำดี สำหรับกระชังส่วนใหญ่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถจะนำมาใช้ติดตั้ง 2 รูปแบบคือ

    1.1 กระชังหรือคอกแบบผูกติดกับที่ สร้างโดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักลงในแหล่งน้ำ ควรมีไม้ไผ่ผูกเป็นแนวนอนหรือเสมอผิวน้ำที่ระดับประมาณ 1 – 2 เมตร เพื่อยึดลำไม้ไผ่ที่ปักลงในดินให้แน่น กระชังตอนบนและล่างควรร้อยเชือกคร่าวเพื่อใช้ยืดตัวกระชังให้ขึงตึงโดยเฉพาะตรงมุม 4 มุม ของกระชังทั้งด้านล่างและด้านบนการวางกระชังควรวางให้เป็นกลุ่มโดยเว้นระยะห่างกันให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก  อวนที่ใช้ทำกระชัง เป็นอวนไนลอนช่องตาแตกต่างกันตาม ขนาดของปลานิลที่เลี้ยง คือขนาดช่องตา 1/4 นิ้ว ขนาด1/2 นิ้ว และอวนตาที่ถี่สำหรับเพาะและเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน
            1.2 กระชังแบบลอย ลักษณะของกระชังก็เหมือนกับกระชังโดยทั่วไปแต่ไม่ใช้เสาปักยึดอยู่กับที่ ส่วนบนของกระชังผูกติดทุ่นลอยซึ่งใช้ไม้ไผ่หรือแท่งโฟมมุมทั้ง4ด้านล่างใช้แท่งปูนซีเมนต์หรือก้อนหินผูกกับเชือกคร่าวถ่วงให้กระชังจมถ้าเลี้ยงปลาหลาย กระชังก็ใช้เชือกผูกโยงติดกันไว้เป็นกลุ่ม
       อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี  สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่นคือ        40 – 100 ตัว / ตรม. โดยให้อาหารสมทบที่เหมาะสม เช่น ปลายข้าว หรือ มันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆโดยมีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 20 %
      สำหรับวิธีทำอาหารผสมดังกล่าว คือ ต้มเฉพาะปลายข้าว หรือมันสำปะหลังให้สุก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับรำปลาป่นและพืชผักต่างๆ แล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อมิให้ละลายน้ำได้ง่ายก่อนที่ปลาจะกิน

 การเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อย
                ในปัจจุบันพื้นที่และสภาพแหล่งน้ำจืดที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงปลามีปริมาณลดน้อยลง  การใช้แหล่งน้ำกร่อยและทะเล เพื่อการเพาะเลี้ยงกำลังเป็นที่น่าสนใจ ปลาในสกุลปลานิลหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย  ซึ่งการคัดเลือกปลานิลชนิดใดเพื่อเลี้ยงในน้ำความเค็มต่างๆ จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม
             ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยคือจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นน้อยและมีปริมาณแบคทีเรียน้อยกว่าการเลี้ยงในน้ำจืด  แต่สำหรับปัญหาใหญ่ของการเลี้ยงปลาในน้ำที่มีระดับความเค็มสูง  คือโรคปลา  ความเครียดและการทำร้ายร่างกายกันเอง

            ชนิด
ความเค็มที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

O.mossambicus
O.niloticus
O.aureus
O.spilurus
Red tilapia


17.5    ppt
5-10   ppt
10-15 ppt
25-30  ppt
25-30  ppt

 การเลี้ยงปลานิลชนิดต่างๆต้องพิจารณา ถึงความเหมาะสมของแต่ละชนิดให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่จะเลี้ยง เช่น  O.niloticus  และ  O.aureus  เจริญเติบโตและเหมาะสมที่จะเลี้ยงในน้ำจืดและในน้ำกร่อยปลานิลแดงซึ่งเป็นลูกผสมของปลาหมอเทศ  O.mossambicus  กับปลานิล  O.niloticus  และO.spilurusเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีระดับความเค็มสูงส่วนในประเทศไทยเลี้ยงปลานิล  O.niloticus  โดยปล่อยเลี้ยงในอัตรา 5 ตัว/ตรม.  ได้ผลผลิต 11,000 กก./10,000 ตรม.  ในระยะเวลาเลี้ยง 5 เดือน  ปลาจะเจริญเติบโตเฉลี่ยวันละ 2.2 กรัม แต่ทั้งนี้ระดับความเค็มต้องต่ำกว่า 30 ppt
             สรุปได้ว่าการจะพิจารณาเลี้ยงปลานิลในรูปแบบใดตั้งแต่ระบบพื้นฐานคือ  ไม่พัฒนา  ไปจนถึงระบบการเลี้ยงพัฒนาขั้นสูงย่อมขึ้นอยู่กับระบบชีววิทยา ระบบสังคมเศรษฐกิจ  ปัจจัยของสภาพแวดล้อมและระบบตลาดจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

 การเจริญเติบโตและผลผลิต
               ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะมีขนาดเฉลี่ย 500 กรัม  ในเวลา 1 ปี  ผลผลิตไม่น้อยกว่า 500 กก./ไร่/ปี  ในกรณีเลี้ยงในกระชังที่คุณภาพน้ำดี  มีอาหารสมทบอย่างสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร

การเจริญเติบโตของปลานิล

อายุปลา(เดือน)
ความยาว(ซม.)
น้ำหนัก(กรัม)
3
10
30
6
20
200
9
25
350
12
30
500


 การจับจำหน่ายและการตลาด
       ระยะเวลาการจับจำหน่ายไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับขนาดของปลานิลและความต้องการของตลาด  โดยทั่วไปปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อรุ่นเดียวกันก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี  จึงจะจับจำหน่าย  เพราะปลานิลที่ได้จะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม  ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ  ส่วนปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงหลายรุ่นในบ่อเดียวระยะเวลาการจับจำหน่ายก็ขึ้นอยู่กับราคาปลาและความต้องการของผู้ซื้อ  การจับปลานิลทำได้ 2 วิธี  ดังนี้

       1. จับปลาแบบไม่วิดบ่อแห้ง จะใช้อวนตาห่างจับปลาเพราะจะได้ปลาที่มีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการ การตีอวนจับปลากระทำโดยผู้จับยืนเรียงแถวหน้ากระดาน และเว้นระยะห่างกัน ประมาณ4.50 เมตร  ซึ่งอยู่ทางด้านหนึ่งของบ่อแล้วลากอวนไปยังอีกด้านหนึ่งของบ่อตามความยาวแล้วยกอวนขึ้น  หลังจากนั้นก็นำสวิงตักปลาใส่เข่งเพื่อชั่งขาย  ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนได้ปริมาณตามที่ต้องการ  ส่วนปลาเล็กก็คงปล่อยเลี้ยงในบ่อต่อไป
   การลากอวนแต่ละครั้งจะมีปลาเบญจพรรณเป็นผลพลอยได้เสมอ  เช่น  ปลาดุก  ปลาหลด  ปลาตะเพียน  ปลาช่อน  เป็นต้น
      การคัดขนาดของปลากระทำได้ 2วิธีคือ  ถ้านำไปจำหน่ายที่องค์การสะพานปลา  องค์การสะพานปลาก็จะจัดการคัดขนาดให้แต้ถ้าเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจำหน่ายที่ปากบ่อก็จำเป็นต้องทำการคัดขนาดปลากันเอง
          2. จับปลาแบบวิดบ่อแห้ง  ก่อนทำการจับปลาจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อย  แล้วตีอวนจับปลาเช่นเดียวกับวิธีแรกจนกระทั่งปลาเหลือจำนวนน้อย  จึงสูบน้ำออกจากบ่ออีกครั้งหนึ่งและขณะเดียวกันก็ตีน้ำไล่ปลาให้ไปรวมกันอยู่ในร่องบ่อ  ร่องบ่อนี้จะเป็นส่วนที่ลึกอยู่ด้านหนึ่งของบ่อเมื่อน้ำในบ่อแห้ง  ปลาจะมารวมกันอยู่ที่ร่องบ่อ  และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาก็จับขึ้นจำหน่ายต่อไป  การจับปลาลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะทำทุกปีในฤดูแล้งเพื่อตากบ่อให้แห้งและเริ่มต้นเลี้ยงปลาในฤดูการผลิตต่อไป
              ตลาดของปลานิลส่วนใหญ่ยังใช้บริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ตามมีโรงงานห้องเย็นเริ่มรับซื้อปลานิล  ปลานิลแดง  เพื่อแปรรูปส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  เช่น  ประเทศสหรัฐอเมริกา  อิตาลี  ฝรั่งเศส  ออสเตรเลีย  เป็นต้น  โดยโรงงานจะรับซื้อปลาขนาด 400 กรัมขึ้นไป  เพื่อแช่แข็งส่งออกทั้งตัวและรับซื้อปลาขนาด 100-400 กรัม  เพื่อแล่เฉพาะเนื้อแช่แข็ง  หรือนำไปแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป         

 ต้นทุนและผลตอบแทน                  
ตาราง  แสดงต้นทุนการผลิตปลานิลเฉลี่ยต่อไร่ต่อรุ่น


                                    หมายเหตุ  :  ตัวเลขประเมิน (ปี 2538)
                                    ที่มา  :   กลุ่มวิจัยสินค้าเกษตรกรรมที่ 2  สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร


วิถีการตลาดปลานิล




 ลักษณะและการจำหน่ายผลผลิตปลานิล
              เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล จะมีการจำหน่ายผลผลิตในหลายลักษณะ  ได้แก่  ขายปลีกแก่พ่อค้าต่างๆ  ที่เข้ามารับซื้อจากฟาร์มซึ่งมีทั้งพ่อค้าขายปลีกในตลาดหรือพ่อค้ารวบรวมในพื้นที่และจากต่างท้องถิ่นหรือส่งให้องค์การสะพานปลาขายส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะขายแก่พ่อค้าผู้รวบรวม  66-71%  และนำไปขายแก่พ่อค้าขายส่งที่องค์การสะพานปลา 21%  และขายในรูปลักษณะอื่นๆ 3-6 %


 ราคาและความเคลื่อนไหว
             ราคาและผลผลิตปลานิลแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกัน  ตลาดในชนบทมีความต้องการปลาขนาดเล็กเพื่อการบริโภค  ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดในเมืองมีความต้องการปลาขนาดใหญ่ ราคาของปลาจึงแตกต่างกัน
           ความเคลื่อนไหวของราคาที่เกษตรกรขายได้และราคาขายส่งเป็นไป  ในลักษณะทิศทางเดียวกันและขึ้นอยู่กับฤดูกาล  ในการขายปลาโดยปกติราคาขายจะสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน  สำหรับราคาจำหน่ายที่ฟาร์มอยู่ที่ขนาดของปลาอยู่ระหว่าง 12-15 บาท/กก.  สำหรับราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-25 บาท/กก.  ผลต่างระหว่างราคาฟาร์มและราคาขายปลีกเท่ากับ 8-10 บาท/กก.
            ด้านราคาส่งออกนั้นขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลกเป็นสำคัญ  เมื่อประเทศคู่แข่ง  เช่น  ไต้หวัน  อินโดนีเซีย  สามารถผลิตได้มากก็จะทำให้ประเทศไทยส่งขายได้น้อย  เพราะเนื่องจากผลผลิตปลานิลแช่แข็งทั้งในรูปปลาทั้งตัวและปลาทั้งตัวควักไส้มีราคาสู้กับประเทศคู่แข่งไม่ได้
             อย่างไรก็ตาม  ราคาปลานิลแล่เฉพาะเนื้อมีราคาอยู่ระหว่าง 75-80 บาท/กก.  และสำหรับปลานิลแช่แข็งทั้งตัวอยู่ระหว่าง 30-35 บาท/กก.


 ปัญหาการตลาดปลานิลของเกษตรกร
           ตลาดปลานิลพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาและปริมาณการซื้อ  โดยที่พ่อค้าคนกลางจะเข้าไปรับซื้อถึงฟาร์ม  เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถนำผลผลิตออกมาขายที่ตลาด  เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการจับและลำเลียง  อีกทั้งยังไม่มีความรู้ในด้านการตลาด  ปัญหาที่สำคัญซึ่งเป็นตัวกำหนดราคาที่เกษตรกรพบอยู่เสมอ  คือ
            1.ขนาดพันธุ์ปลา ปลานิลเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้สามารถออกลูกตลอดทั้งปีเป็นปลานิลเพศเมียส่วนใหญ่และลูกปลาจึงมีขนาดเล็กและไม่ได้น้ำหนักตามที่ผู้ซื้อต้องการ
          2. กลิ่นโคลนของเนื้อปลา  เนื่องจากปลานิลที่เลี้ยงยังใช้เศษอาหาร   วัสดุที่เหลือจากการ
บริโภค  หรือเลี้ยงปลาผสมผสาน  ทำให้ปลาแล่เนื้อมีกลิ่นโคลน
         3. ปลาที่เกษตรกรจับ ส่วนมากวิดบ่อและปลาตายจำนวนมาก การจับส่งลำเลียงไม่ถูกวิธี  เมื่อนำไปบรรจุจะมีแบคทีเรียสูง  ทำให้เนื้อปลามีสีเขียว
          4. เกษตรกรขาดแคลนเงินทุน  ทำให้เมื่อปลามีขนาดโตพอจำหน่ายได้ เกษตรกรจะรีบขายทันที  ทำให้ราคาต่ำ

 การกำจัดกลิ่นสาบ
             กลิ่นที่พบมากในปลาเลี้ยง  โดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน  และเป็นปัญหามากต่อการส่งออก  ได้แก่ กลิ่นสาบหรือกลิ่นโคลนแต่เดิมเข้าใจกันว่าอาหารที่ขึ้นราอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลามีกลิ่นดังกล่าวแต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบค่อนข้างแน่นอนแล้วว่ากลิ่นโคลนในตัวปลาเกิดขึ้นเนื่องจาก  ปลาดูดซับสารละลายชนิดหนึ่งในน้ำ  เรียกว่า  จีออสมิน  (Geosmin)  เข้าไปทางเหงือก  หรือกินตัวการที่ผลิตสารนี้เข้าไปโดยตรงแล้วสะสมสารนี้ในเนื้อเยื่อที่สะสมไขมันสันนิษฐานกันว่าตัวการที่ผลิตสารนี้ได้แก่  สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวบางชนิด  เชื้อราและจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง  ตัวการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นในบ่อที่มีการให้อาหารมากดังนั้นหากจะกล่าวว่าอาหารเป็นต้นเหตุของกลิ่นโคลนก็เป็นได้ เพราะปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงไม่ใช่คุณภาพของอาหารโดยตรงที่เป็นต้นเหตุ
            กลิ่นโคลนไม่ใช่เป็นกลิ่นถาวรที่อยู่กับตัวปลาตลอดไปกลิ่นนี้จะหายไปเมื่อนำปลาไปใส่ไว้ในน้ำสะอาดและงดให้อาหารเป็นเวลา 7 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ  24  องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้กลิ่นโคลนหมดไปจากตัวปลาเร็วขึ้น  การแช่ปลาในน้ำสะอาดเป็นเวลา 7 วัน จะทำให้ปลาสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 5-12 เปอร์เซ็นต์
             ปลานิลไม่ต้องการกรดไขมัน w-6  ซึ่งมีมากในน้ำมันปลาจึงไม่ควรใส่น้ำมันปลาในอาหารปลานิล เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์ในด้านให้กรดไขมันที่จำเป็นแล้วยังอาจทำให้ปลามีกลิ่นคาวรุนแรงแม้ว่าจะเก็บปลาไว้เป็นปีๆ  ก็ตาม
             ปลานิลที่ขุนไว้จนอ้วนจะมีเนื้อยุ่ยเหลวเมื่อทำเป็นเนื้อแล่เนื่องจากไขมันอาหารไปสะสมตามเนื้อมากเกินไป ตามปกติปลาเลี้ยงจะมีไขมันมากกว่าปลาธรรมชาติอยู่แล้วเพราะปลาเลี้ยงได้รับอาหารเต็มที่เพื่อเร่งให้เจริญเติบโตเร็ว อาหารที่มีไขมันหรือสัดส่วนของพลังงานต่อโปรตีนสูง  จึงทำให้คุณภาพของเนื้อปลาต่ำลง  ในทางตรงกันข้ามหากเนื้อปลามีไขมันน้อยเกินไปซึ่งมีสาเหตุมาจากปลาได้รับอาหารไม่เพียงพอเนื้อปลาจะแห้งและแข็งเกินไปไม่ชวนรับประทาน

 ตลาดภายในประเทศ
              ปัจจุบันผู้บิโภคภายในประเทศ  เริ่มสนใจที่จะบริโภคปลานิลเพิ่มสูงขึ้น  และกรมประมงมีโครงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิล  ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคภายในประเทศไทยรู้ถึงคุณค่าของอาหารโปรตีนจากปลานิลมากขึ้น  โอกาสที่การจำหน่ายภายในประเทศจึงน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามไปด้วย
              ผลผลิตปลานิลส่วนใหญ่จะบริโภคภายในประเทศ  เป็นรูปสด 89%  ในการแปรรูปทำเค็ม  ตากแห้ง 5%  ย่าง 3%  และที่เหลือในรูปอื่นๆ
                สำหรับปลานิลทั้งตัว  และในรูปแช่แข็งก็มีจำหน่ายในประเทศโดยผู้ผลิตคือโรงงานและจำหน่ายให้ภัตตาคารหรือร้านอาหาร

 ตลาดต่างประเทศ
                เนื่องจากภาวการณ์ติดต่อและการคมนาคมในปัจจุบันทำให้สะดวก  นอกจากนี้ผลต่างของราคาจำหน่ายปลานิลของต่างประเทศยังมีความต้องการปลานิลเพื่อบริโภคสูง
              ตลาดต่างประเทศมีทั้งตลาดในยุโรปตะวันออกกลางสหรัฐอเมริกาออสเตรเลียและเอเชีย  โดยปลานิลแช่แข็งที่ส่งออกมีปริมาณไม่มากนัก ในปี2533ประเทศไทยส่งออกปลานิลทั้งในรูปปลานิลแช่แข็งและในรูปแล่เนื้อประมาณ111,174.64กก.เพิ่มขึ้น 179,231.72 กก.  ในปี  2534  หรือคิดเป็นร้อยละ 61.22
               ประเทศคู่แข่งปลานิลแช่แข็งที่สำคัญคือ  ไต้หวัน  บังกลาเทศ  ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตปลาที่ได้ขนาด  เมื่อนำมาแล่เนื้อจะมีขนาด 40-60 กรัมและ60-80  กรัมต่อชิ้น  นั้นคือ  ขนาดปลาต้องมีน้ำหนัก 400 กรัม/ตัวขึ้นไปซึ่งการผลิตปลานิลให้มีลักษณะตามต้องการของตลาดต่างประเทศ  จึงต้องพิจารณาถึงต้นทุนและกรรมวิธีในการผลิตอย่างรอบคอบ

 แนวโน้มการเลี้ยงปลานิลในอนาคต
           ปลานิลเป็นปลาที่ตลาดผู้บริโภคยังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากจำนวนประชากรมีอัตราการเจริญเติบโตสูงจึงส่งผลต่อแนวโน้มการเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้มีลู่ทางแจ่มใสต่อไปโดยไม่ต้องกังวลปัญหาด้านการตลาดเนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาดีไม่มีอุปสรรคเรื่องโรคระบาดเป็นที่นิยมบริโภคและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาคเพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันปลานิลสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศในลักษณะของปลาแล่เนื้อ ตลาดที่สำคัญๆ
 อาทิ  ประเทศญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  อิตาลี  เป็นต้น ดังนั้นการเลี้ยงปลานิลให้มีคุณภาพ  ปราศจากกลิ่นโคลนย่อมจะส่งผลดีต่อการบริโภค  การจำหน่ายและการให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด


Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร