เป็นชื่อทางการค้าของไผ่ในสกุลไผ่ป่าชนิดหนึ่ง คือสกุล Bambusa มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Bambusa beecheyama ไผ่ตัวนี้มีชื่อทางการค้าอีกหลายชื่อคือ ไผ่ตงไต้หวัน ไผ่จีนเขียวเขาสมิง ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ตงอินโด ไผ่ทองสยาม ไผ่หวานต่างๆ เป็นต้น ไผ่กิมซุ่งไม่มีท่านใดทราบโดยมีหลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ไผ่ตัวนี้มีอายุกี่ปีแล้ว และไผ่กิมซุ่งจะอยู่ไปอีกกี่ปีจึงจะออกดอก จากประสบการณ์ ผมได้พบต้นที่เก่าแก่มากๆ เกษตรกรปลูกโดยไม่สนใจ ไม่เคยสางกอเลย กอใหญ่อัดแน่นมาก มีชาวบ้านมาเอาหน่อไปกินทั้งหมู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะทำเป็นการค้า จากการสอบถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่าได้ปลูกมา 25 ปีกว่าแล้ว หน่อก็ยังออกดกเป็นปรกติอยู่ ผมดูแล้วดกมาก นับว่าไผ่ตัวนี้น่าสนใจทีเดียว ผมนำมาปลูกในสวนได้ 5 ปีแล้ว และเพื่อนๆกลุ่มเดียวกันก็นำไปปลูกพร้อมกัน ทำนอกฤดูในแนวเดียวกัน พบว่าไผ่กิมซุ่งสามารถทำให้ออกหน่อทะวายได้ตลอดทั้งปีถ้ามีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ และสามรถทำให้ออกหน่อได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีฝน และหน่อไม้ตามท้องตลาดมีน้อย หน่อไม้จะมีราคาดีที่สุด การปลูกไผ่กิมซุ่งสามารถแนะนำได้ดังนี้
การเตรียมดิน
พื้นที่ปลูก เกษตรกรควรเลือกพื้นที่ ที่เป็นดินทราย หรือดินร่วนปนทราย หากเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรังก็ปลูกได้ แต่จะต้องปรับปรุงดินรอบๆกอไผ่ด้วยอินทรีย์วัตถุมากหน่อย รากไผ่กิมซุ่งแข็งแรงและหาอาหารเก่ง สามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน หากเป็นพื้นที่ดอนหรือที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ก็สามารถปลูกได้ทุกเวลา หรือถ้าปลูกในฤดูฝนก็จะยิ่งดี ควรจะปลูกตั่งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ถ้าพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่นาหรือที่ต่ำน้ำท่วมขังควรจะเลือกปลูกในฤดูแล้งคือควรจะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน เพราะพื้นที่ต่ำถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนในขณะที่ฝนตกชุก กล้าไผ่ที่ปลูกใหม่ยังไม่มีรากมากนัก ยังไม่แข็งแรง หากมีน้ำขังหลุมปลูกมาก ต้นไผ่ที่ยังเล็กจะเหลือง รากเน่าไม่ค่อยโตและอาจตายไปในที่สุด ถ้าเกษตรกรเลือกปลูกไผ่ช่วงเดือนตุลาคม เมื่อเข้าฤดูแล้งก็ให้น้ำให้ปุ๋ยดูแลอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรมีเวลาบำรุงประมาณ 6 เดือนพอฤดูฝนมาต้นไผ่ก็แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับสภาพดินที่ชื้นแฉะเมื่อมีฝนตกบ่อยๆ หากไผ่แข็งแรงแล้วจะไม่พบสภาพใบเหลืองเหมือนกับการปลูกด้วยกล้าเล็กในฤดูฝน การเตรียมพื้นที่โดยทั่วไปควรจะไถพื้นที่ตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งเพื่อเปิดหน้าดินและตากดินไว้ พอฝนมาก็ให้ไถดะอีกรอบพร้อมทั้งไถแปร จากนั้นคาดดินให้เรียบ จึงพร้อมที่จะปลูกไผ่ได้ต่อไป
ไผ่กิมซุ่งจะใช้ระยะปลูก ระยะระหว่างแถว 4 เมตร ระยะระหว่างต้น 4 เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ อยู่ที่ 100 ต้นต่อไร่ จะเก็บหน่อไม้อยู่นานได้ 5 ปีถึง 7 ปี กว่ากอจะชนกัน แต่หากเกษตรกรใช้ระยะปลูกคือระยะระหว่างแถว 6 เมตร ระยะระหว่างต้น 4 เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ 66 ต้น จะเก็บหน่อได้นานขึ้น ประมาณ 7 ปี ถึง 10 ปีกว่ากอจะชนกัน หลุมปลูกไผ่กิมซุ่ง จะขุดหลุมที่ระยะ 30*30*30 เซนติเมตรถ้าพื้นที่เป็นดินร่วนถึงร่วนปนทราย (แต่ถ้าเป็นดินลูกรังปนหินควรจะขุดให้กว้างกว่านี้เป็น 50*50*50 และหาดินดำ แกลบ ขี้เถ้าแกลบหรือปุ๋ยคอกเก่า คลุกหลุมก่อนปลูก ) ถ้าหากเกษตรกรจะรองก้นหลุมก็ควรจะใช้ ขี้เถ้าแกลบไม่ควรจะใช้ปุ๋ยคอกเพราะถ้าปลูกในฤดูฝนหากฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่กำลังออกมาใหม่ๆ เน่าได้ทำให้ต้นไผ่กิมซุ่งเหลือง ชะงักการเจริญเติบโต กว่าจะโตก็นานขึ้น เวลาปลูกที่ดีคือเดือน พฤษภาคม เมื่อได้กล้าไผ่กิมซุ่งมาก็ทำการปลูก ควรจะปลูกให้ดินที่ปากถุงเสมอดินเดิมที่ปลูก ไม่ควรจะปลูกต่ำกว่าดินเดิมที่เตรียมไว้ เพราะถ้าฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่งอกมาใหม่ๆเน่าได้จากน้ำฝนที่ขังนานๆ ถ้าหากพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่ต่ำ ไม่ควรจะปลูกในฤดูฝน ในฤดูฝน ฝนจะตกหนัก ทำให้น้ำขังหลุมบ่อย จะทำให้ไผ่กิมซุ่งเหลืองและจะไม่โต แม้ว่าไม่ตายแต่ก็ไม่โต ไผ่กิมซุ่งแม้ว่าน้ำท่วมจะไม่ตายแต่ก็ต้องกอใหญ่มากกว่า 1 ปีไปแล้ว แต่ถ้าปลูกใหม่ๆยังไม่ทนต่อน้ำท่วมขังบ่อยๆ พื้นที่ต่ำควรจะปลูกในเดือนตุลาคม ในฤดูแล้งก็ต้องให้น้ำ แต่พอย่างเข้าฤดูฝนไผ่กิมซุ่งก็ตั้งตัวได้และทนสภาพน้ำขังเมื่อฝนตกหนักได้ พื้นที่ต่ำควรจะขึ้นแปลงทำร่องระบายน้ำด้วยครับ
การดูแลไผ่กิมซุ่งเมื่อปลูกไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ไผ่กิมซุ่งโตต่อเนื่องไม่หยุดชะงักเพื่อให้โตพอที่จะมีลำใหญ่ที่จะใช้เป็นลำแม่ มีอย่างน้อย 2-3 ลำเป็นลำที่มีขนาด ไม่ต่ำกว่า 1.5-2 นิ้วขึ้นไปภายในเวลาไม่เกิน 8 เดือน เพื่อจะเก็บหน่อไปกิน ขาย หรือแจกได้ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เกษตรกรจะต้องมีเวลาอยู่กับต้นไผ่ ถ้าคิดว่าไผ่เหมือนไม้ป่าทั่วไป ไงๆก็ต้องโตดีแน่ๆ ไม่ต้องสนใจมากนัก นานๆมาดูสักครั้ง อย่างนี้พอแปดเดือนตามที่ผู้ขายพันธุ์ว่าไว้ก็ยังไม่ได้ต้นใหญ่ ก็หาว่าผู้ขายพันธุ์โกหก แต่หากเกษตรกรคิดว่าปลูกไผ่เหมือนปลูกผัก ต้องดูแล กำจัดหญ้า ให้น้ำ ให้ปุ๋ยตามี่ไผ่กิมซุ่งต้องการ ดูบ่อยๆเห็นปัญหา เห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าคิดอย่างนี้ไม่เกิน 8 เดือนได้ลำใหญ่พร้อมที่จะเก็บหน่อกิน ขาย แจกได้แน่นอน
การให้ปุ๋ยกับไผ่กิมซุ่ง
หลังจากปลูกไผ่กิมซุ่งไปแล้ว ให้น้ำเพียงอย่างเดียวไปสักระยะหนึ่ง (ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้) รอเวลาผ่านไปประมาณ 40 วันสังเกตุต้นไผ่กิมซุ่งดู ถ้ามียอดอ่อนแตกใหม่ หมายความว่ารากของไผ่กิมซุ่งเริ่มออกหาอาหารแล้ว ก็สมควรให้ปุ๋ยได้แล้ว ไผ่กิมซุ่งถ้ายังสร้างใบได้ไม่มากพอก็จะยังไม่ยอมแตกหน่อใหม่ เกษตรกรควรจะให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องและพอเพียง ไผ่กิมซุ่งถึงจะมีใบเขียวเข้มและพร้อมที่จะสร้างหน่อแรก การให้ปุ๋ยเมื่อปลูกไผ่กิมซุ่งในระยะแรกๆ ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ต้องระวังเรื่องปุ๋ยต้องไม่มากจนเกินไปเพราะความเข้มข้นของปุ๋ยจะทำให้รากไผ่ที่แตกออกมาใหม่ๆและมีน้อยอยู่เน่าและแห้งไปได้
- ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ 40 วัน ถ้าใช้มูลวัวแห้ง 3 กระป๋องนมมะลิโรยรอบๆกอไผ่ พอเดือนที่ 3 หลังปลูกใช้มูลวัวแห้งเพิ่มขึ้นได้ เป็น 10 กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆกอไผ่ พอเข้าเดือนที่ 6 หลังปลูกก็ให้เพิ่มเป็น 1 ถังน้ำขนาด 10 ลิตรที่ใช้ทั่วๆไปโรยรอบๆกอไผ่ให้กว้างขึ้น ก่อนให้มูลวัวควรกำจัดหญ้าก่อนทุกครั้งเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับไผ่และควรหาฟางข้าวหรือแกลบหรือหญ้าแห้งกลบเมื่อไผ่ยังเล็กๆอยู่จะทำให้หญ้าขึ้นช้าและอุณหภูมิของดินไม่เปลี่ยนแปลง ต้นไผ่จะโตเร็วขึ้น
-ปุ๋ยครั้งแรกถ้าให้เป็นมูลไก่ไข่จะให้น้อยกว่ามูลวัวเพราะมูลไก่มีความเข้มข้นสูงกว่า จะให้ครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ 40 วัน ใช้มูลไก่ไข่ 1 กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆต้นไผ่ห่างจากโคนต้นไผ่ประมาณ 20 เซนติเมตร อย่าใส่ชิดโคนไผ่เด็ดขาดเพราะมูลไก่ไข่มีความเข็มข้นสูงมาก ใส่ห่างให้รากไผ่ออกไปเลือกกินเอง รากไผ่จะรู้วิธีว่าจะเข้าหามูลไก่ยังไงเอง พอเดือนที่ 3 หลังจากปลูก ให้มูลไก่ไข่ 2 กระป๋องนมมะลิ โดยโรยรอบๆกอไผ่ห่างจากโคนไผ่ราวๆ 20 เซนติเมตรเช่นเดิม (แต่กอไผ่เริ่มมีหน่อใหม่การใส่จึงห่างจากจุดเดิม) พอเข้าเดือนที่ 6 หลังจากปลูกให้ใส่มูลไก่ไข่ประมาณ 1 กระป๋องน้ำมันเครื่องขนาด 5 ลิตรตัดเป็นปากฉลามแล้วตัดใส่ 1 ครั้งโรยรอบๆ กอไผ่ห่างจากกอราวๆ 20-30 เซนติเมตร (กอไผ่เริ่มมี หลายลำ) ก่อนที่จะใส่มูลไก่ควรจะกำจัดหญ้ารอบๆกอไผ่ก่อนเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับต้นไผ่ และเมื่อใส่ปุ๋ยแล้วหาวัสดุคลุมดินเช่นฟางข้าว หญ้าแห้ง หรือแกลบใส่รอบๆโคนไผ่เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้นไวและรักษาอุณหภูมิของดินและความชื้น
-ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าใช้ได้ร่วมกับปุ๋ยมูลวัวแห้งหรือมูลไก่ไข่ก็จะยิ่งทำให้ต้นไผ่โตดีและเร็ว ในระยะ 40 วันหลังจากปลูกไผ่แล้ว ก็ให้ใช้ปุ๋ย 46-0-0 หรือยูเรียละลายน้ำโดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 3 ช้อนโต๊ะ(ห้ามใช้ยูเรียมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นไผ่เหี่ยวตายได้เพราะต้นไผ่ยังเล็กและมีรากน้อยอยู่) ต่อน้ำ 10 ลิตร ละลายให้เข้ากับน้ำ แล้วนำไปรดที่โคนไผ่โดยให้ต้นละ 1 แก้วน้ำ รดทุกๆ 15 วันจนไผ่มีใบเขียวเข้มและเริ่มสร้างหน่อแรก และเมื่อสร้างหน่อที่สอง ก็เริ่มหยุดรดปุ๋ยน้ำได้ ต่อไปเมื่อไผ่มีอายุได้ 4 เดือนหลังจากปลูกเป็นต้นไป (กอไผ่เริ่มมีลำและหน่อไม่ต่ำกว่า 3-4 ลำแล้ว) ก็ให้ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 15-15-15 อย่างละ 1 ส่วน แล้วนำไปใส่บริเวณรอบๆโคนไผ่ โดยใส่ใต้ปุ๋ยคอกที่ใส่ไว้แล้ว โดยแบ่งใส่สัก 4 จุด ห่างจากโคนต้นไผ่ราวๆ 30 เซนติเมตร ใส่จุดละ ครึ่งช้อนโต๊ะ จะใส่ปุ๋ยสูตรนี้เดือนละ 1 ครั้ง เพราะเป็นช่วงที่ไผ่กิมซุ่งสร้างกอ จะมีหน่อแทงออกมาตลอด เกษตรกรจะได้ลำไผ่ใหญ่เร็วภายในไม่เกิน 8 เดือน เกษตรกรบางท่านอาจจะใช้ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ทำเองมารดร่วมได้เพื่อเพิ่มจุลลินทรีย์ในดินใต้กอไผ่ และบางสวนก็อาจจะมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดตราต่างๆผสมกับปุ๋ยเคมีที่ใส่ได้ ซุ่งการให้ปุ๋ยก็เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างหนึ่งอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองแต่ขอให้ใส่แล้วงามไม่ใช่ปุ๋ยปลอม
เมื่อเริ่มเก็บหน่อจำหน่ายจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรตัดหน่อออกไปมากน้อยเพียงใด ถ้าตัดหน่อไปมาก ต้นไผ่จะเสียอาหารมาก อาหารที่ให้จะถูกใช้หมดอย่างรวดเร็ว ให้สังเกตุดูว่าถ้าหน่อมีขนาดเล็กลง หลายหน่อเริ่มลีบนั่นก็คือต้องให้ปุ๋ยได้แล้วโดยใช้ปุ๋ยคอกเช่นมูลไก่ร่วมกับปุ๋ยเคมี( 46-0-0 บวกกับ 15-15-15 อัตรา 1 ต่อ 1 ใส่กอละ สองกำมือ) ใส่โดยใช้หว่านให้ทั่วๆทรงพุ่มได้แล้วเพราะใต้โคนไผ่ไม่มีแดดส่องและรากไผ่มีอยู่กระจายทั่วไป ปุ๋ยที่ใส่จะไม่สูญเสียไปไหน เมื่อใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและเกษตรกรไม่เก็บหน่อแล้วก็ลดปุ๋ยลงได้เหลือเพียงใส่พอประมาณโดยให้ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ลำแม่สร้างลำแม่ใหม่ได้สมบรูณ์
การกำจัดวัชพืชกำจัดรอบๆกอก่อนที่จะใส่ปุ๋ย
การตัดแต่งกิ่งและการไว้ลำไผ่กิมซุ่งไผ่กิงซุ่งช่วงที่เกษตรกรไปซื้อจากร้านหรือสวนที่ขายพันธุ์ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกต้นกล้าไผ่กิมซุ่งที่มีรากเต็มถุงแล้ว สังเกตุคือถ้าจับต้นหิ้วแล้วไม่หลุดและให้ดูใต้ถุงดำว่ารากเดินทะลุถุงดำหรือยัง และถ้ามีหน่อเล็กๆโผล่ออกมาจากดินยิ่งดีนั่นหมายความว่ากล้าไผ่กิมซุ่งที่ร้านหรือสวนที่ขาย ได้ใส่ถุงนานไม่ต่ำกว่า 4 เดือนแล้วเกษตรกรจะได้กล้าที่แข็งแรงพร้อมที่จะแตกรากและออกหน่อได้ไวหลังจากปลูก ระหว่างที่ปลูกต้องดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ยกำจัดวัชพืช เมื่อให้ปุ๋ยไปได้ไม่นาน หน่อแรกก็จะออกมา เมื่อเกษตรกรให้ปุ๋ยต่อเนื่องโดยไม่ขาด หน่อที่สองก็จะออกมากและมีขนาดใหญ่กว่าหน่อแรกมาก การสร้างกิ่งและใบก็จะมีมากขึ้น ไม่เกิน 3 เดือนหลังจากปลูกก็จะได้หน่อที่ สาม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นต้นแม่ได้ การตัดแต่งกิ่งจะยังไม่ควรทำในช่วง1 ถึง 6 เดือนหลังจากปลูก คอยแต่กำจัดวัชพืชอย่างเดียวเพื่อไม่ให้รกและแย่งอาหารจากไผ่ ที่เราไม่ตัดแต่กิ่งและใบไผ่กิมซุ่งเลยเพราะช่วงที่ไผ่กำลังสร้างกอต้องการกิ่งและใบที่มีมากพอ ที่จะสร้างหน่ออย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเผลอไปตัดใบไผ่ทิ้งจะทำให้การออกหน่อชะงักทันที เมื่อดูแลต่อไประหว่าง 4-6 เดือนหลังจากปลูก หน่อที่ให้ลำแม่ใหญ่จะออกมาได้ 3 หน่อโดยทะยอยออก เกษตรกรจะต้องเลือกว่าจะไว้ลำไหนให้เป็นลำแม่สังเกตุดูว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำจะต้องไม่ต่ำกว่า 2 นิ้ว พอหน่อเริ่มพุ่งสูงขึ้นโดยปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ พอเกิน 4 เมตรก็จะเริ่มเห็นข้อของลำไผ่ แต่ลำไผ่ยังไม่แตกกิ่งแขนงและใบ ลำยังอ่อนอยู่ให้ตัดยอดของลำทิ้งโดยตัดที่ประมาณ 3-4 เมตร การตัดช่วงที่ลำไผ่ยังไม่มีกิ่งและใบ เนื้อของลำไผ่ยังอ่อนอยู่จะทำให้ตัดง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก เมื่อตัดยอดของลำไผ่แล้ว กิ่งและใบแตกเร็วขึ้นและจะไปทำให้หน่อที่โผล่ขึ้นมาเป็นลำแม่โผล่ได้เร็วขึ้น อีกไม่นานก็จะมีหน่อโผล่จากดินครบทั้ง 3 ลำพอดีพร้อมที่จะเป็นลำแม่ ให้ทะยอยตัดยอดทิ้งทั้ง 3 ลำ ที่เกษตรกรเลือกไว้เป็นลำแม่ เกษตรกรต้องรอให้ลำแม่ทั้ง 3 ลำมีกิ่งก้าน และใบแก่เป็นสีเขียวเข้มนั่นหมายความว่าลำแม่ที่เลือกไว้ทั้ง 3 ลำต่อกอพร้อมที่จะให้หน่อแล้ว ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะตัดลำเล็กๆที่เกิดก่อน พร้อมกับต้นตอที่ซื้อมาในถุงดำออกได้แล้ว โดยตัดให้ชิดดิน (นับเวลาจากปลูกจนตัดแต่งกิ่งได้ก็ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อตัดต้นเล็กๆทิ้งไปแล้วก็จะเหลือต้นที่เลือกไว้ กอละ 3 ต้น จากนั้นก็ริดกิ่งแขนงข้างออก โดยดูว่าเดินแล้วไม่ชนศรีษะ ไม่แทงหน้าแทงตา การตัดกิ่งแขนงข้างตัดให้พอเข้าไปเก็บหน่อสะดวก การตัดกิ่งแขนงควรตัดให้ชิดกับลำต้นไผ่ ตาจะได้ไม่แตกออกมาใหม่ (แต่ถ้าเกษตรกรต้องการปลูกเพิ่มก็ให้เกษตรกรตอนออกไปปลูกเพิ่มอีกได้โดยไม่ต้องซื้อไผ่กิมซุ่งอีกเลย) กิ่งแขนงด้านล่างมักจะไม่ถูกแดดเต็มที่ ไม่ได้สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างแป้ง จะกินอาหารจากกิ่งด้านบนที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงจากแดด หากเกษตรกรตัดทิ้งหรือตอนออกไปจะทำให้ต้นไผ่ไม่ต้องเสียอาหารมาเลี้ยง อาหารจะถูกส่งไปสร้างหน่อใหม่เพื่อจะขยายกอ (ไผ่กิมซุ่งเขาจะต้องสร้างกอมากๆมีหลายๆลำ เมื่อเราตัดลำออกให้เหลือกอละ 3 ลำ โดยธรรมชาติของไผ่ก็จะพยายามสร้างหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน) เกษตรกรก็เริ่มตัดหน่อออกจำหน่ายได้เลย การตัดหน่อควรจะตัดให้ถึงส่วนที่เป็นเส้นใย(จะเป็นที่อยู่ของตาหน่อ) ให้เหลือตาที่สำหรับเป็นหน่อได้อีก 2-4 ตา
เหตุผลที่เกษตรกรต้องตัดยอดของไผ่กิมซุ่งคือ
1.ระหว่างที่เก็บหน่ออยู่ พอเดือนมีนาคม เมษายน มีพายุลูกเห็บ หรือพายุฤดูร้อน พบว่าต้นไผ่กิมซุ่งที่ไม่ได้ตัดยอดจะโค่นมากมาย และระบบรากสะเทือนจากแรงลมปะทะ ทำให้การเกิดหน่อหยุดชะงักไป 1-2 เดือนและช่วงนี้เป็นช่วงที่หน่อไม้มีราคาแพง ส่วนต้นไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด เหลือความสูงเพียง 3-4 เมตร จะโค่นน้อยกว่าและถ้าไม่ถูกลมแรงจนเกินไปก็ไม่โค่น ระบบรากไม่สะเทือน การเก็บยังคงเก็บหน่อต่อไปได้ รายได้ไม่ขาดหาย ไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ที่มีกิงแขนงยาวมากและหนัก ทำให้ต้านลม ต่างจากไผ่ซางและไผ่เลี้ยงที่มีกิ่งแขนงสั้นจะลู่ลม
2.ถ้ามีแปลงไผ่กิมซุ่งลองแบ่งเป็นสองส่วน เพื่อเปรียบเทียบ อีกแปลงตัดยอด อีกแปลงไม่ตัดยอด ถ้าดูแลเหมือนกัน ให้น้ำพร้อมกัน ไว้ลำต้น 3-4 ต้นต่อกอเหมือนกัน พบว่าแปลงที่ตัดยอดจะให้หน่อก่อนแปลงที่ไม่ได้ตัดยอด
3.ในแต่ละปีต้องสางกอ ตัดไม้แก่ทิ้งไป เหลือแต่ไม้ที่เกิดในปี ตอนตัดไผ่กิมซุ่งที่ไม่ตัดยอด มีความสูงและต้นใหญ่ มีลำต้นกิ่งก้านและใบมาก ทำให้ต้องจัดการมากใช้แรงงานมากกว่าไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด การจัดการและการใช้แรงงานน้อยกว่าหากเกษตรกรปลูกไผ่กิมซุ่งเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน เมื่อถึงเดือนธันวาคมจะต้องมีลำแม่ 3 ลำและตัดแต่งลำต้น ตัดแต่งกิ่งแขนง ให้ปุ๋ยคอกปุ๋ยเคมีพร้อมแล้ว เกษตรกรเมื่อให้น้ำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เดือนมกราคมเกษตรกรสามารถที่จะขายหน่อครั้งแรกได้ราคาสูงสุดของปีนั้นๆ และจะขายได้ต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม ถ้าฝนมาเร็วราคาหน่อก็จะลงเร็วเพราะมีหน่อของสวนอื่นๆออกมามาก น้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ามีน้ำก็จะทำให้หน่อออกได้ในช่วงที่หน่อของสวนอื่นๆยังไม่ออกเพราะไม่มีน้ำ และหน่อป่าก็ยังไม่ออก ยิ่งปีไหนฝนมาช้ามากๆ หรือที่เรียกว่าภัยแล้ง เกษตรกรที่มีน้ำก็จะได้ราคาหน่อที่แพงนานหลายเดือน ระหว่างเก็บหน่อการตัดแต่งกิ่งจะไม่ทำเลย ถ้าไปยุ่งกับกิ่งหรือใบ แม้แต่การตอนกิ่งจำหน่ายก็ทำไม่ได้ (แปลงทำพันธุ์ต้องเป็นแปลงที่ไม่คิดจะเก็บหน่อ) หน่อจะสะดุดทันที ถ้าเลือกหน่อขายก็ต้องไม่เลือกทำพันธุ์ หากมีลมพายุมากระทบถ้าแรงจนกอไผ่โค่นล้มไปหลายต้นหน่อก็จะสะดุดไม่ออก และที่ออกมาแล้วก็จะฝ่อไปทั้งหมด ผมจึงให้ตัดยอดของไผ่ทิ้งไปตั้งแต่ยังไม่มีใบ(ไผ่กิมซุ่งจะปรับตัวและสร้างใบขึ้นมาโดยอาศัยอาหารจากต้นเดิมที่เรายังไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะถ้ามาตัดตอนเก็บหน่อจะตัดไม่ได้หน่อจะไม่ออก (ช่วงเก็บหน่อต้องใช้ใบในการสร้างอาหารไปเลี้ยงหน่อ) ในช่วงที่หน่อมีราคาแพงมักจะมีพายุฤดูร้อนมาหลายๆละลอก สวนไหนที่ไม่ตัดยอดความเสียหายจะมากกว่าสวนที่ตัดยอด(ถ้ากอไผ่กอไหนโค่นแล้วกอนั้นจะไม่ได้เก็บหน่อช่วงนอกฤดูอีกเลยกว่าจะฟื้นตัวก็เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว)ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีรายได้ที่ดีในช่วงฤดูแล้งของการทำหน่อนอกฤดู
เมื่อท่านขายหน่อไม้ไปนานๆ ท่านจะได้รับคำพูดจากผู้ซื้อว่ามีหน่อไม้หวานที่ไปผัดได้โดยผัดสดๆหรือเปล่า และระหว่างที่ขายหน่อกิมซุ่งเกษตรกรจะต้องไม่พูดว่าหน่อหวาน เพราะผู้ซื้อจะนึกว่าหน่อไม้ที่ขายไม่ขม พอไปทำอาหารแบบผัดสดๆ ก็จะขมแล้วจะกลับมาบ่น มีเกษตรกรหลายสวนที่พบปัญหานี้จึงเริ่มถามหาหน่อไม้ที่หวานขณะดิบๆที่หน่อใหญ่เหมือนกิมซุ่งเพื่อจะขายเข้าร้านอาหารได้
กอของชาวบ้านที่ไม่สนใจเก็บแต่หน่อกินอย่างเดียวไม่เคยให้อาหารก็ยังดกออกแล้วออกอีกแต่ออกแต่ฤดูฝนนอกฤดูคือเดือนธันวาคมไม่เคยออกหน่อให้เห็นหน่อกิมซุ่งออกที่ใต้รอยตัดได้ตลอดไม่มีหน่อสุด แม้แต่ชาวบ้านเอาไฟสุ่มกอปางตายก็ยังโผล่หน่อจากใต้ดินออกมาโดยที่กอแม่ไม่มีใบ ความทนของกิมซุ่ง
ผมเขียนเรื่องการปลูกกิมซุ่งทำอย่างไรให้สามารถตัดหน่อได้ภายในไม่เกิน 8 เดือนหลังจากปลูกและตัดได้ต่อเนื่องในช่วงนอกฤดู ส่วนการทำให้ไผ่กิมซุ่งออกนอกฤดูในปีถัดไปให้อ่านจากหัวข้อการทำไผ่กิมซุ่งให้ออกนอกฤดู หากข้อมูลที่เขียนขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะให้ไผ่กิมซุ่งเป็นพืชตัวหนึ่งในสวนของท่าน ที่จะให้ท่านได้มีรายได้คุ้มจากการทำหน่อไผ่นอกฤดู หากท่านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อท่านๆ ท่านก็ไม่ต้องนำไปปฏิบัติ หากมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านผมก็มีความยินดี และจะได้แนะนำการปลูกไผ่บงหวานจากประสบการณ์ให้มีรายได้จากการขายหน่อที่อยู่ได้ต่อไป
หากสงสัยสามารถสอบถามหรือศึกษาดูงานได้ที่ สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง 91 ม.4 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ โทร. 083-2663096 โดยนายวรรณบดี รักษา