การปลูกทุเรียน





พันธุ์
ตลาดมีความต้องการทั้ง 4 พันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว และกระดุมทอง เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่พร้อมกัน เริ่มตั้งแต่พันธุ์กระดุมทอง ชะนี ก้านยาว และหมอนทอง ตามลำดับ

พันธุ์ หมอนทอง
ข้อดี : ราคาสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ ติดผลดีมาก น้ำหนักผลดี เนื้อมาก เมล็ดลีบ มีกลิ่นน้อย เนื้อละเอียดแห้ง ไม่เละ ผลสุกแล้วเก็บไว้ได้นาน ไม่ค่อยเป็นไส้ซึม
ข้อเสีย : อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า       


 




พันธุ์ ชะนี 
 ข้อดี : ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่าพอสมควร ออกดอกง่าย เนื้อแห้ง รสดี สีสวย
ข้อเสีย : ออกดอกดก แต่ติดผลยาก เป็นไส้ซึมง่าย อ่อนแอต่อโรคใบติด
  


พันธุ์ก้านยาว

ข้อดี : ติดผลดี ราคาค่อนข้างดี น้ำหนักผลดี
ข้อเสีย : ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า เปลือกหนา เนื้อน้อย  เป็นไส้ซึมค่อนข้างง่าย ผลสุกเก็บไว้ได้ไม่นาน ก้นผลแตกง่าย อายุการให้ผลช้า




 
พันธุ์ กระดุม
ข้อดี : ไม่มีปัญหาไส้ซึม เพราะเป็นพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวก่อนฝนตกชุกออกดอกเร็ว ผลแก่เร็ว จึงขายได้ราคาดีในช่วงต้นฤดู ผลดก ติดผลง่าย อายุการให้ผลเร็ว
ข้อเสีย : อ่อนแอต่อโรครากเน่าโคนเน่า






สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับทุเรียน
พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-650 เมตร มีความลาดเอียงประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ การคมนาคมสะดวก ขนส่งผลผลิตได้รวดเร็ว  ดินร่วนปนทราย อุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี หน้าดินลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร ระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 75 เซนติเมตร ค่าความเป็น กรดด่างของดินระหว่าง 5.5-6.5  อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 10-46 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี การกระจายตัวของฝนดี มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือนต่อปี มีน้ำสะอาดเพียงพอตลอดทั้งปี (ประมาณ 600-800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) ไม่มีสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง 6.0-7.5 มีสารละลายเกลือไม่มากกว่า 1.4 มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร  

การปลูก
การเตรียมพื้นที่
1. พื้นที่ดอน  ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบ และขุดร่องระบายน้ำภายในสวน ถ้าเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน ไม่ต้องไถพรวน

2. พื้นที่ลุ่ม พื้นที่น้ำท่วมขังไม่มาก นำดินมาเทกองตามผังปลูกสูงประมาณ 0.75-1.20 เมตร แล้วปลูกทุเรียนบนสันกลางของกองดิน พื้นที่มีน้ำท่วมขังมาก ยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำสวนให้มีขนาดสันร่อง กว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้า-ออกเป็นอย่างดี


วิธีการปลูก
-การเลือกต้นพันธุ์  ต้นแข็งแรง ตรงตามพันธุ์ ต้นตอเป็นพันธุ์พื้นเมือง ทนทาน ต่อโรครากเน่าโคนเน่า ระบบรากไม่ขดหรืองอ มีใบหนาและเขียวเข้ม

-ระยะปลูก   ระบบสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 8x8 เมตร หรือ 10x10 เมตร   ะบบแถวกว้างต้นชิด ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 10x5 เมตร หรือ 12x6 เมตร

-แบบเตรียมหลุมปลูก  ขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50x50x50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกด้วยหญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี  ตากดินไว้ระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่ เติมดินผสมลงไปอีกจนเต็ม ปลูกต้นพันธุ์ในหลุมให้รอยต่อระหว่างต้นพันธุ์และต้นตออยู่สูง กว่าระดับดิน กลบดินรอบต้นพันธุ์ให้แน่น

-แบบนั่งแท่นหรือยกโคก  ไม่ต้องขุดหลุมปลูก   วางต้นพันธุ์แล้วขุดดินมากลบจนอยู่ในระดับเดียวกับผิวดินของต้นพันธุ์ ในลักษณะลาดเอียงออกไปโดยรอบรัศมีประมาณ 1 เมตร กลบดินให้แน่น

การดูแลรักษา
การพรางแสงสำหรับต้นเล็กใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ปักเป็นกระโจมคร่อมต้นทุเรียน หรือ ใช้ตาข่ายพรางแสง หรือ  ปลูกต้นไม้โตเร็วระหว่างแถวทุเรียนให้มีระยะห่างระหว่างต้น ของไม้โตเร็ว ที่สามารถแผ่ทรงพุ่มพรางแสงให้ต้นทุเรียนได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น กล้วย และทองหลาง เป็นต้น

การให้ปุ๋ย
ปุ๋ยคอก อัตราเป็นบุ้งกี๋ต่อต้น (2.25 กิโลกรัม = 1 บุ้งกี๋) คิดเป็น 2 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) ต่อการใส่ 1 ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยใส่ปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์  สูตร 2 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นต่อปี คิดเป็นเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม(เมตร) เช่นต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ใช้ปุ๋ย 1 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2-4 ครั้ง

การให้น้ำ

ระบบการให้น้ำที่เหมาะสม ใช้ระบบการให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงเล็ก   ความต้องการน้ำของทุเรียนต้นเล็ก ประมาณ 0.6 เท่าของค่าอัตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตรต่อวัน) คูณด้วยพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม เช่น ในภาคตะวันออก เมื่ออัตราการระเหยน้ำวันละ 3.8-5.7 มิลลิเมตร มีพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร เท่ากับการให้น้ำ 2.3-3.4 ลิตรต่อต้นต่อวัน

การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม
หลังปลูกประมาณ 1-1.5 ปี ตัดแต่งกิ่งให้มีลำต้นเดี่ยว โดยตัดแต่งให้ทรงต้นโปร่ง โครงสร้างต้นแข็งแรง สวยงามสม่ำเสมอ เมื่อทุเรียนเริ่มให้ผลผลิตจะมีกิ่งประธาน 12-15 กิ่งเวียนรอบต้น แต่ละกิ่งห่างกันประมาณ 10-15 เซนติเมตร กิ่งประธานกิ่งแรกอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร  กิ่งประธานแต่ละกิ่งจะมีกิ่งรอง 3-4 กิ่ง   กิ่งรองแต่ละกิ่งจะมีกิ่งแขนงพอประมาณและไม่บังแสงซึ่งกันและกัน

แมลงและไรศัตรูที่สำคัญ
เพลี้ยไก่แจ้ลักษณะและการทำลาย : ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ ถ้าระบาดมาก ทำให้ใบอ่อนร่วงและยอดแห้งตาย
การป้องกันกำจัด : กระตุ้นให้ทุเรียนแตกยอดอ่อน อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ  ติดตั้งกับดักกาวเหนียว ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบยอดถูกทำลายมากกว่า 30 %

เพลี้ยไฟ   ลักษณะและการทำลาย : ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอก และผลอ่อน ทำให้ดอกแห้งและร่วงได้ หนามเป็นแผล

เพลี้ยจักจั่นฝอย  ลักษณะและการทำลาย : ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบบิดงอ มีอาการไหม้บริเวณขอบใบหากระบาด ในช่วง ใบอ่อนจะทำให้ใบร่วง

การป้องกันกำจัด : กระตุ้นให้ทุเรียนแตกยอดอ่อนพร้อมกับอนุรักษ์ ศัตรูธรรมชาติ ติดตั้งกับดักกาวเหนียว ฉีีดพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อพบยอด ถูกทำลายมากกว่า 30 %

เพลี้ยแป้ง  ลักษณะและการทำลาย : ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงจากผล โดยมีมดช่วยคาบพาไปยังส่วนต่างๆ ของต้นทุเรียน ทำให้ผลแคระแกร็น และเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ
การป้องกันกำจัด : ตัดผลที่ไม่สมบูรณ์และถูกเพลี้ยแป้งทำลายไปเผาทำลาย ฉีดพ่นน้ำให้เพลี้ยแป้งหลุดร่วงออกจากผล  ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเพลี้ยแป้งในบริเวณสวนทุเรียน ฉีดพ่นสารฆ่าแมลง เมื่อผลถูกทำลาย 20% ต่อต้น

ไรแดงแอฟริกัน  ลักษณะและการทำลาย : ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้า ใบทุเรียน ทำให้ใบร่วง
การป้องกันกำจัด :ฉีดพ่นน้ำเข้าไปในทรงพุ่ม อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของไรแดง ฉีดพ่นสารเคมีเมื่อพบใบแก่ถูกทำลายมากกว่า 25 %

หนอนกินขั้วผล  ลักษณะและการทำลาย : ตัวหนอนกัดแทะขั้วและเปลือกผลทุเรียนทำให้ เป็นแผล เสียคุณภาพ

การป้องกันกำจัด : อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ตัดผลที่ถูกทำลายทิ้ง ฉีดพ่นสารฆ่าแมลงเมื่อผลถูกทำลายมากกว่า 10% ต่อต้น

หนอนเจาะผล  ลักษณะและการทำลาย : ตัวหนอนกัดกินและทำรังบริเวณผิวผลทุเรียน หากเจาะกินเข้าไปถึงเนื้อจะทำให้ผลเน่าเมื่อสุก
 การป้องกันกำจัด : อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ตัดแต่งผลที่ติดกันเป็นคู่ และไม่สมบูรณ์ จับตัวหนอนทำลายตัดผลที่ถูกทำลายทิ้ง ฉีดพ่น สารฆ่าแมลงเมื่อผลถูกทำลายมากกว่า 10% ต่อต้น

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน  ลักษณะและการทำลาย : เมล็ดทุเรียน ตัวหนอนเจาะไชเข้าไปกัดกินเมล็ดและถ่ายมูลออกมา ทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย หนอนอาศัยใน ผลทุเรียนจนกระทั่งผลแก่ เมื่อหนอนโตเต็มที่ หรือถ้าผลร่วงก่อน จะเจาะรูออกมาเข้าดักแด้ในดิน

การป้องกันกำจัด :ตัดผลที่ถูกทำลายทิ้ง ฉีดพ่นสารฆ่าแมลง เมื่อพบการระบาด  การป้องกันกำจัดวัชพืช  ตัดวัชพืชให้สั้นทุก 2-3 เดือนด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่าง ๆ หรือ ใช้สารกำจัดวัชพืช



ดัชนีการเก็บเกี่ยว
1.นับอายุผล ตั้งแต่วันดอกบานจนถึงวันเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 90-100 วัน สำหรับพันธุ์กระดุมทอง 105-110 วัน สำหรับพันธุ์ชะนี และ 120-135 วัน สำหรับพันธุ์หมอนทอง

2.สังเกตก้านผล เมื่อผลทุเรียนเริ่มแก่ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากมือ บริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียน จะรู้สึกว่าก้านผลมีสปริงมากขึ้น
3.สังเกตหนาม ปลายหนามจะแห้ง สีน้ำตาลเข้ม เปราะ และหักง่าย หนามกางออก ร่องหนามห่าง เมื่อบีบหนามเข้าหากัน จะรู้สึกว่ามีสปริง

4.สังเกตรอยแยกระหว่างพูผลทุเรียนที่แก่จัด จะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่ลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏชัดเจน เช่นก้านยาว

5.การเคาะเปลือก เมื่อเคาะผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังโปร่ง ๆ เสียงหนักหรือเบา แตกต่างกันไปขึ้นกับพันธุ์ทุเรียน

6. สังเกตสีเนื้อ สีเนื้อทุเรียนจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองอ่อน หรือเหลืองเข้ม ตามลักษณะประจำของแต่ละพันธุ์ และความแก่ที่ต่างกัน

7.การปล่อยให้ผลทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในต้นเดียวกัน จะบานไม่พร้อมกัน (แตกต่างกันไม่เกิน 10 วัน) ดังนั้น เมื่อมีผลทุเรียนบนต้นเริ่มแก่ สุก และร่วง ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ทุเรียนที่เหลือบนต้นเริ่มแก่ สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว

8.การชิมปลิง เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงของผลทุเรียนแก่จัด จะพบว่ามีน้ำใส ไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อชิมดูจะมีรสหวาน


วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้มีดคม ๆ ตัดก้านผลส่วนที่อยู่เหนือปากปลิง เพื่อให้ผลหลุดจากต้น และส่งลงมาให้คนที่รออยู่ใต้ต้น ใช้กระสอบป่านตวัดรับผล หรือใช้วิธีโรยเชือกลงมา วางผลลงในเข่งไม้ไผ่ หรือในพื้นที่ที่เตรียมไว้ พยายามหลีกเลี่ยงการวางผลทุเรียนบนพื้นดินในสวนโดยตรง เพื่อป้องกันการ ปนเปื้อนของเชื้อราที่อยู่ในดิน วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวคัดแยกผลที่มีตำหนิ แยกไว้ต่างหาก ขนย้าย วางเรียง ให้เป็นระเบียบบนพื้นที่สะอาด เพื่อรอการขนส่งไปยังโรงคัดบรรจุ

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่โรงคัดบรรจุ 
คัดเลือกผลผลิตที่ด้อยคุณภาพด้วยสายตา เช่นทุเรียนอ่อน มีตำหนิ โรคและแมลง เป็นต้น แยกไว้ต่างหาก   คัดขนาดและคัดคุณภาพ ตามมาตรฐานคุณภาพของทุเรียน  ทำความสะอาดผลทุเรียนที่คัดคุณภาพแล้ว โดยใช้แรงลมเป่า เพื่อกำจัดเศษวัสดุและแมลงบางชนิดออกจากผิวผล จากนั้นจุ่มผลทุเรียนในสารละลายของสารเคมีเบนโนมิล + กรดฟอสฟอรัส เพื่อป้องกันโรคผลเน่า จุ่มผลทุเรียนในสารละลายเอทธิฟอน 1,000-2,000 พีพีเอ็ม หรือจุ่มเฉพาะส่วนก้านผลในสารละลายเอทธิฟอน 10,000 พีพีเอ็ม ในกรณีที่ต้องขนส่งทุเรียนทางอากาศ ซึงใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก่อนถึงผู้บริโภค เพื่อทำให้ผลทุเรียนสุกเสมอกัน

ผึ่งผลให้แห้งบนแท่นรอง  รับสินค้าเมื่อผลทุเรียนแห้งแล้ว จึงติดป้ายชื่อสินค้าที่ขั้วผลทุเรียน แล้วจึงบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูก ขนาดบรรจุ 10 กก. ต่อกล่อง แล้วขนย้ายด้วยรถพ่วงสินค้าห้องเย็น ไปยังท่าเรือ หรือท่าอากาศยาน เพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ หรือเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 % เพื่อรอการขนส่ง ไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศต่อไป

การเก็บรักษา 
ผลทุเรียนที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว สามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ได้นาน 2-9 วัน และที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ได้นาน 5-12 วัน  เก็บรักษาผลทุเรียนที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-90 % จะเก็บรักษาผลทุเรียนได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้งนี้แล้วแต่ความแก่ ผลทุเรียนดิบจะแสดงอาการสะท้านหนาว (chilling injury) ถ้าเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส โดยผิวผล จะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลบริเวณร่องหนาม และแผ่ขยายจนทั่วผล เนื้อไม่สุก และมีอาการยุบตัวของเนื้อ

การแปรรูป
ทุเรียนกวนส่วนประกอบ
เนื้อทุเรียนหมอนทอง 15 กิโลกรัม 300 บาท
น้ำตาลทราย 800 กรัม 10.40 บาท

กรรมวิธีการผลิต
1. นำทุเรียนมายีให้ละเอียด ใส่ลงในกะทะสำหรับกวน ใช้ไฟปานกลาง ให้ทุเรียนเดือดดี แล้วใส่น้ำตาลกวนประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที

2.ตั้งไว้ให้เย็น แล้วจึงห่อด้วยพลาสติก            ปริมาณผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวน 8 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายขายส่งกิโลกรัมละ 80 บาท

ทุเรียนทอดกรอบ
ส่วนประกอบ
ทุเรียนพันธุ์หมอนทองดิบและสด 1 ตัน 1,600 บาท
น้ำมันพืช 7 ปี๊บ 2,100 บาท
เกลือ 1 กิโลกรัม 10 บาท

กรรมวิธีการผลิต
1.ผ่าทุเรียน แคะเอาแต่เนื้อ แล้วไสเป็นชิ้นบาง ๆ
2.ตั้งน้ำมันให้ร้อน เอาทุเรียนที่ไสแล้วลงทอดจนเหลืองกรอบ จึงตักขึ้นใส่ตะแกรง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน และรอให้ทุเรียนทอดเย็น
3.ใช้กระดาษซับปูรองกันถังพลาสติกให้หนา นำทุเรียนทอดกรอบที่เย็นแล้ว ใส่ถังพลาสติกให้เต็ม ปิดฝาให้สนิท
4.เมื่อจะบริโภคหรือจำหน่าย นำทุเรียนทอดที่เก็บไว้ในถังออกมา อบอีกครั้งที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นำออกจากเตาอบทิ้งไว้ให้เย็น แล้วจึงบรรจุลงกล่อง หรือถุงพลาสติก เพื่อจำหน่ายต่อไป

ปริมาณผลิตภัณฑ์
ทุเรียนทอดกรอบ เกรด 1 จำนวน 55 กิโลกรัม
เกรด 2 จำนวน 25 กิโลกรัม
เกรด 3 จำนวน 20 กิโลกรัม
ราคาจำหน่าย
ขายส่ง เกรด 1 ราคากิโลกรัมละ 460 บาท
เกรด 2 ราคากิโลกรัมละ 310 บาท
เกรด 3 ราคากิโลกรัมละ 210 บาท
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร