สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับ มังคุด
• พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-650 เมตร มีความลาดเอียงประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ควรเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ การคมนาคมสะดวก ขนส่งผลผลิตได้รวดเร็ว
• ดินร่วนปนทราย ความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี หน้าดินลึกมากกว่า 50 เซนติเมตร ระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 75 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรดด่างของดินระหว่าง 5.5-6.5
• อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 10-46 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
• ปริมาณน้ำฝนมากกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี การกระจายตัวของฝนดี มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือนต่อปี
• มีน้ำสะอาดเพียงพอตลอดทั้งปี (ประมาณ 600-800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) ไม่มีสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ที่มีพิษปนเปื้อน ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง 6.0-7.5 มีสารละลายเกลือไม่มากกว่า 1.4 มิลลิโมห์ต่อเซนติเมตร
การปลูก
การเตรียมดินพื้นที่ดอน
ไถพรวน ปรับพื้นที่ให้เรียบและขุดร่องระบายน้ำหากมีปัญหาน้ำท่วมขัง ถ้าเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน ไม่ต้องไถพรวน
พื้นที่ลุ่ม
• พื้นที่มีน้ำท่วมขังไม่มาก นำดินมาเทกองตามผังปลูก สูงประมาณ 1.0-1.5 เมตร แล้วปลูกมังคุดบนสันกลางของกองดิน
• พื้นที่มีน้ำท่วมขังมาก ยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้า-ออกเป็นอย่างดี
การเลือกต้นพันธุ์
เลือกต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด มีความสมบูรณ์แข็งแรง อายุไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือมีความสูงมากกว่า 30 เซนติเมตร มีระบบรากสมบูรณ์ ไม่ขดหรืองอ
ระยะปลูก
• ระบบสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 8 x8 เมตร หรือ 10 x10 เมตร
• ระบบแถวกว้างต้นชิด ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 8 x3 เมตร หรือ 10 x5 เมตร
แบบเตรียมหลุมปลูก
• ขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50 ? 50 ? 50 เซนติเมตร
• ผสมดินปลูกด้วยหญ้าแห้ง ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี
• ตากดินไว้ระยะหนึ่งจนดินยุบตัวคงที่ เติมดินผสมลงไปอีกจนเต็ม
• ปลูกต้นพันธุ์ในหลุมให้รอยต่อระหว่างต้นพันธุ์และต้นตออยู่สูงกว่าระดับดิน กลบดินรอบต้นพันธุ์ให้แน่น
• ผูกยึดต้นกล้ามังคุดติดกับไม้หลักเพื่อกันการโยกคลอนของต้น
แบบนั่งแท่นหรือยกโคน
• ไม่ต้องขุดหลุมปลูก
• วางต้นพันธุ์ แล้วขุดดินมากลบจนอยู่ในระดับเดียวกับผิวดินของต้นพันธุ์ ในลักษณะลาดเอียงออกไปโดยรอบรัศมีประมาณ 1 เมตร กลบดินให้แน่น
• พรวนดินและขุดดินเพื่อขยายโคน ปีละ 1 ครั้ง จนเริ่มให้ผลผลิตจึงหยุด
การดูแลรักษา
การพรางแสงสำหรับต้นเล็ก
• ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่นทางมะพร้าว ปักเป็นกระโจมคร่อมต้นมังคุด หรือ
• ใช้ตาข่ายพรางแสง หรือ
• ปลูกต้นไม่โตเร็วระหว่างแถวมังคุด ให้มีระยะห่างระหว่างต้นของไม้โตเร็วที่สามารถแผ่ทรงพุ่มพรางแสงให้ต้นมังคุดได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ เช่น กล้วย และทองหลาง เป็นต้น
การให้ปุ๋ย
• ปุ๋ยคอก อัตราเป็นบุ้งกี๋ต่อต้น (2.25 กิโลกรัม = 1 บุ้งกี๋) คิดเป็น 2 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) ต่อการใส่ 1 ปี แบ่งใส่ 2 ครั้ง
• ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้นต่อปี คิดเป็นเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (เมตร) เช่น ต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ใช้ปุ๋ย 1 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2-4 ครั้ง
วิธีการใส่ปุ๋ย
แบบเตรียมหลุมปลูก
• ให้แบ่งปุ๋ยครั้งแรกรองก้นหลุมทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี
• การใส่ปุ๋ยครั้งต่อไปปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี ใส่โดยการโรยรอบต้น ให้ปุ๋ยห่างโคนต้นประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบปุ๋ย
• การใส่ในครั้งต่อไปให้โรยปุ๋ยบริเวณรอยขอบของการพรวนดินกลบปุ๋ยในครั้งแรก แล้วพรวนดินกลบปุ๋ยในลักษณะของการขยายวงรอบต้นออกไป
แบบนั่งแท่นหรือยกโคน
• ให้ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อต้นมังคุดแตกใบอ่อนครั้งแรกแล้ว การใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยวิธีการโรยรอบต้นห่างจากโคนต้นประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบปุ๋ย
• การใส่ปุ๋ยครั้งต่อไป ให้โรยปุ๋ยบริเวณรอยขอบของการพรวนดินกลบปุ๋ยในครั้งแรก แล้วพรวนดินกลบปุ๋ยในลักษณะของการขยายวงรอบต้นออกไป
การให้น้ำ
• ระบบการให้น้ำที่เหมาะสม ใช้ระบบการให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงเล็ก
• ความต้องการน้ำของมังคุดต้นเล็ก ประมาณ 0.6 เท่าของค่าอัตราการระเหยน้ำ (มิลลิเมตร/วัน) คูณด้วยพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม เช่น ในภาคตะวันออก เมื่ออัตราการระเหยน้ำวันละ 3.8-5.7 มิลลิเมตร มีพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร เท่ากับการให้น้ำ 2.3-3.4 ลิตรต่อต้นต่อวัน
การตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม
มังคุดต้นเล็กไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่ง นอกจากตัดกิ่งด้านล่างให้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร และกิ่งที่ซ้อนทับกันจนแน่นทึบออก
โรคที่สำคัญของมังคุด
โรคใบจุด
สาเหตุเชื้อรา
ลักษณะอาการ ใบอ่อนเป็นจุดแผลสีน้ำตาล รูปร่างไม่แน่นอน ต่อมาบริเวณกลางแผลมีสีเทา เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้นจะทำให้ใบแห้ง มีผลกระทบต่อการสังเคราะห์แสงของใบ ทำให้ความสมบูรณ์ต้นลดลง
ช่วงเวลาระบาด ในช่วงฝนตกชุก ระยะใบอ่อนถึงเพสลาด
การป้องกันกำจัด พ่นคาร์เบนดาซิม 50 % WP อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคจุดสนิม
สาเหตุ สาหร่าย
ลักษณะอาการ เป็นจุดนูนกลม ลักษณะคล้ายขนละเอียดบนใบ เริ่มแรกมีสีเขียว ต่อมาเป็นสีสนิม
ช่วงเวลาระบาด เมื่อความชื้นในบรรยากาศสูง
การป้องกันกำจัด พ่นด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 80 % WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
แมลงและไรศัตรูที่สำคัญ
หนอนกินใบอ่อน
ลักษณะและการทำลาย
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาด 3.0-4.5 เซนติเมตร หนอนมีขนาดประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร สีเขียวแกมเหลือง เหมือนกับสีของใบอ่อนมังคุด กัดกินใบอ่อนในเวลากลางคืน ทำให้เสียพื้นที่ใบในการสังเคราะห์แสง มังคุดเจริญเติบโตช้า
ช่วงเวลาระบาด ระยะแตกใบอ่อน
การป้องกันกำจัด พ่นคาร์บาริล 85 % WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนชอนใบ
ลักษณะและการทำลาย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก 2.2-3.0 มิลลิเมตร หนอนมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร สีนวลปนแดง ทำลายเฉพาะใบอ่อน โดยหนอนชอนเข้าไปอยู่ระหว่างผิวใบ ทำทางเดินและอาศัยเจริญเติบโตอยู่ภายในระหว่างผิวใบทั้ง 2 ด้าน ใบที่ถูกทำลายจะเห็นเป็นทางเดินของหนอนคดเคี้ยวไปมา ใบหงิกงอ ไม่เจริญเติบโต
ช่วงเวลาระบาด ระยะแตกใบอ่อน
การป้องกันกำจัด พ่นสารเคมี 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน โดยใช้คาร์บาริล 85 % WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
เพลี้ยไฟ
ลักษณะและการทำลาย เป็นแมลงขนาดเล็ก 0.7-1.0 มิลลิเมตร สีเหลือง หรือสีน้ำตาลอ่อน เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ดอก และผล ทำให้ใบแคระแกร็น แห้ง และไหม้ ส่วนผลเจริญเติบโตช้า ผิวผลมีรอยขรุขระเป็นขี้กลาก
ช่วงเวลาระบาด ระยะแตกใบอ่อน ดอก และผลอ่อนในช่วงอากาศแห้งแล้ง
การป้องกันกำจัด
• พ่นอิมิดาโคลพริด 10 % เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโปรนิล 5 % เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซเพอร์เมทริน/ โฟซาโลน 6.25%/22.5% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคาร์โบซัลแฟน 20 % อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
• สำรวจเพลี้ยไฟ หลังพ่นครั้งแรก 1 สัปดาห์ หากยังพบปริมาณเพลี้ยไฟเกิน 1 ตัวต่อยอด ต้องพ่นสารเคมีซ้ำอีกครั้ง และควรสลับการใช้สารเคมีชนิดอื่น เพื่อป้องกันแมลงสร้างความต้านทาน
ไรแดง
ลักษณะและการทำลาย มีขนาดเล็กมาก สีน้ำตาลแดง เคลื่อนไหวไปมา มักระบาดควบคู่กับเพลี้ยไฟ ไรแดงจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอด ดอก และผลอ่อน ทำให้ดอก และผลอ่อนแห้ง ร่วงหรือเจริญเติบโตช้า มีผิวกร้าน
ช่วงเวลาระบาด ช่วงอากาศแห้งแล้ง
การป้องกันกำจัด พ่นด้วยโพรพาร์ไกด์ 30 % ดับบลิวพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฮกซีไทอะซอกซ์ 2 % อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันกำจัดวัชพืช
• วัชพืชฤดูเดียว เช่น หญ้าขจรจบ หญ้าตีนนก เป็นต้น ตัดวัชพืชให้สั้นทุก 2-3 เดือน ด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่าง ๆ หรือใช้สารกำจัด วัชพืช เช่น พาราควอท 27.6 % เอสแอล อัตรา 75-150 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในพื้นที่ 1 ไร่หลังวัชพืชงอก เมื่อวัชพืชกำลังเจริญเติบโต และมีใบมาก และควรพ่นก่อนวัชพืชออกดอก ขณะพ่นควรมีแดดจัด ลมสงบ ระวังละอองสารสัมผัสใบและต้นมังคุด
• วัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา หญ้าชันกาด แห้วหมู เป็นต้น
ตัดวัชพืชให้สั้นทุก 1-2 เดือน ด้วยเครื่องตัดหญ้าแบบต่าง ๆ หรือใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสท 48 % เอสแอล อัตรา 150-200 มิลลิลิตร หรือกลูโฟซิเนตแอมโมเนีย 15 % เอสแอล อัตรา 250-500 มิลลิลิตรผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในพื้นที่ 1/4 ไร่ วิธีการพ่นและข้อควรระวัง เช่นเดียวกับการใช้ในวัชพืชฤดูเดียว
การเก็บเกี่ยว
วิธีเก็บมังคุด
การเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี ยึดหลักให้มังคุดช้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยรักษาคุณภาพไว้ได้มาก เพราะผลมังคุด หากได้รับความกระทบกระเทือน เช่น ตกลงพื้นด้วยระยะเพียง 20 เซนติเมตร ในเวลาต่อมาผลจะแข็งและทำให้เนื้อเสียจนบริโภคไม่ได้ หรือใช้ดัชนีการเก็บเกี่ยว จากระดับสีของมังคุด
ในปัจจุบันเครื่องมือที่เกษตรกรใช้เก็บมังคุด มีอยู่หลายรูปแบบดังนี้
• ใช้จำปาสอย ทำจากไม้ไผ่ผ่าเป็น 5 แฉก ควรลบเหลี่ยมที่ปลายจำปาด้วย เพื่อป้องกันผลเกิดรอยแผล สอยมังคุดได้ครั้งละ 1-3 ลูก ต้องระวังอย่าให้ปลายไม้ตะแครง จะทำให้ผลมังคุดร่วงหล่นเสียหายง่าย วิธีนี้เก็บได้ช้าและค่อนข้างยุ่งยาก
• เครื่องเกี่ยวแบบถุงกาแฟที่กรมวิชาการเกษตรทำขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ครั้งละ 5-7 ลูก ค่อนข้างจะปลอดภัยต่อการบอบช้ำ แต่ปัญหายุ่งยากคือ เครื่องมือชนิดนี้จะหนัก เป็นปัญหามากสำหรับการขึ้นต้นเก็บ ใช้ถุงกาแฟเก็บเกี่ยว ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด
- ชนิดขอบกลม ชนิดนี้ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ครั้งละ 3-5 ลูก แต่มีข้อเสียคือ ไม่สามารถชอนเข้าไปสอยบริเวณซอกกิ่งแคบ ๆ ได้ และยังทำให้กิ่งมังคุดหักอีกด้วย
- ชนิดขอบรูปไข่ ชนิดนี้เกษตรกรนิยมใช้กันมาก โดยเฉพาะในแถบตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ข้อดีของชนิดนี้คือ มีน้ำหนักเบา และสามารถเก็บผลในบริเวณกิ่งแคบ ๆ ได้ และไม่ทำให้กิ่งมังคุดหักติดมากับลูก
• เครื่องเก็บเกี่ยวชนิดใหม่ของเกษตรกรที่ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี สามารถเก็บเกี่ยวมังคุดได้ครั้งละ 4-5 ลูก สะดวกในการชอนเข้าไปเก็บตามกิ่งต่าง ๆ และไม่ทำให้กิ่งมังคุดหักติดมากับลูก
• ใช้ถุงผ้า (ย่าม) หรือตะกร้าขึ้นเก็บ วิธีนี้จะใช้เด็กตัวเล็ก ๆ หิ้วตะกร้า หรือสะพายถุงย่ามปีนขึ้นไปเก็บ การเก็บเกี่ยวโดยวิธีนี้ผลมังคุดจะเสียหายน้อย
วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
• ควรทำความสะอาดโดยการล้างน้ำ เพื่อชำระฝุ่นละอองและคราบต่าง ๆ ที่ติดมากับผล
• ผึ่งให้แห้ง หรือเช็ดผิวผลให้สะอาด
• สำหรับมังคุดที่จะส่งจำหน่ายต่างประเทศ ควรแช่ผลมังคุดในสารละลายของเบน โนมีล (เบนเลท) ในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือไธอาเบนดาโซล (พรอนโต 40) อัตรา 1.25 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นานประมาณ 1-2 นาที แล้วผึ่งให้แห้ง จะช่วยลดการเน่าเสียของผลมังคุดอันเกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย
• คัดเลือกขนาดและบรรจุลงภาชนะที่จะส่งไปจำหน่าย
การแปรรูป
มังคุดกวน
ส่วนผสม
เนื้อมังคุด 1 กิโลกรัม
น้ำตาลทราย1 ถ้วยตวง
เกลือ1 ช้อนชา
วิธีทำ
1. ผสมมังคุด น้ำตาล และเกลือ เข้าด้วยกัน
2. กวนด้วยไฟอ่อนจนเหนียวขนาดปั้นได้
3. แบ่งเป็นก้อนเล็ก ๆ ห่อด้วยกระดาษแก้ว บรรจุในภาชนะที่แห้ง สะอาด ปิดสนิท
ไวน์มังคุด
เนื้อมังคุด 6.0 กิโลกรัม
เปลือกมังคุด 0.5 กิโลกรัม
น้ำตาล 3.5 กิโลกรัม
น้ำกรอง10.0 กิโลกรัม
โปแตสเซียมเมตาไบซัลไฟท์ 2.0 กรัม
วิธีการทำ
1. นำมังคุดมาล้างน้ำให้สะอาดแช่ในสารละลายคลอรีน 100 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
2. แยกเนื้อและเปลือก นำเปลือก จำนวนตามสูตรฝานให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ
3. เติมส่วนผสมทั้งหมด ได้แก่ เนื้อมังคุด เปลือก น้ำกรอง น้ำตาล และโปรแตสเซียม เมตาไบซัลไฟต์ ปิดฝา ทิ้งไว้ข้ามคืน
4. เติมหัวเชื้อยีสต์ ปริมาตร 1-2 ลิตร
5. หมักในที่เย็นเป็นเวลา 7 วัน
6. ถ่ายกากทิ้ง เก็บส่วนใสไว้ในที่เย็นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน
7. ทำการถ่ายตะกอนทิ้ง (racking) และกรองอย่างหนา•
8. ต้มด้วยไฟอ่อนในหม้อสแตนเลส ประมาณ 65 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที
9. บรรจุใส่ขวดที่แห้งสนิท เก็บไว้ดื่มในตู้เย็น
มังคุดแช่แข็ง
มังคุด เป็นผลไม้ที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีของผลไม้ มังคุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่มังคุดมีอายุการเก็บรักษาสั้น ดังนั้นการนำไปขายยังต่างประเทศจะต้องนำมาผลิตเป็นผลไม้แช่แข็ง เพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น มังคุดแช่แข็งที่มีผลิตเป็นมังคุดที่แช่แข็งทั้งเปลือก แต่มังคุดที่กรมวิชาการเกษตรศึกษา วิจัยแบบมังคุดปอกเปลือกแช่แข็ง ซึ่งมังคุดแช่แข็งลักษณะนี้จะสามารถบริโภคได้ในลักษณะคล้ายไอศครีม ซึ่งสามารถบริโภคได้โดยสะดวก
ขั้นตอนการผลิต
1. นำมังคุดล้างน้ำให้สะอาด
2. เตรียมน้ำคลอรีน 50 ส่วนในล้านส่วน โดยใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 7% โดยชั่งสาร 0.7 กรัมละลายในน้ำ 1 กิโลกรัม
3. ล้างด้วยคลอรีน 20 ส่วนในล้านส่วน โดยใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรด์ 7% โดยการชั่งสาร 0.3 กรัมละลายในน้ำ 1 กิโลกรัม
4. เตรียมสารละลายโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟท์ 1,000 ส่วนในล้านส่วน คือใช้สาร 1 กรัมในน้ำ 1 กิโลกรัม
5. ปอกมังคุดแช่ในสารละลายโพแทสเซียมเมตาไบซัลไฟท์ นาน 20 นาที
6. นำมังคุด
ไปเรียงในถาด แล้วแช่เยือกแข็งในตู้ IQF โดยใช้เทอร์โมคอบเปิล วัดอุณหภูมิให้ได้ -18 องศาเซลเซียส
7. บรรจุใส่ถุงพลาสติก Nylon/PE ในระบบสูญญากาศ
8. เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
การกำหนดมาตรฐานพืช
คุณภาพขั้นต่ำ (Minimum Requirements)
ทุกชั้นมาตรฐาน มังคุดต้องมีคุณภาพดังต่อไปนี้ (เว้นแต่จะมีข้อกำหนดเฉพาะของแต่ ละชั้น และเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้มีได้ตามที่ระบุไว้)
• เป็นผลมังคุดสดทั้งผล
• มีกลีบเลี้ยง (calyx) และก้านผล (pedicel) ครบและสมบูรณ์
• มีรูปทรง สี และรสชาติปกติ
• ไม่มีรอยช้ำ หรือตำหนิที่เห็นเด่นชัด ไม่แตกร้าวและไม่มีน้ำยางที่ผิวผล และไม่เน่าเสีย
• สามารถผ่าเปิดเปลือกผลได้ในสภาพปกติ
• สะอาด และปราศจากสิ่งแปลกปลอม โดยการตรวจสอบด้วยสายตา
• ปลอดจากศัตรูพืชและความเสียหายอันเนื่องมาจากศัตรูพืช ยกเว้นร่องรอยผิวลายที่ไม่กระทบต่อคุณภาพภายใน (not effecting internal quality) โดยการตรวจสอบด้วยสายตา
• ปลอดจากความชื้นที่ผิดปกติจากภายนอก ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหยดน้ำที่เกิดหลังการนำออกจากห้องเย็น
• ปลอดจากความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ
• ไม่มีกลิ่น และรสชาติผิดปกติจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก
ผลมังคุดต้องผ่านการเก็บเกี่ยวตามกระบวนการเก็บเกี่ยวและการดูแลภายหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้คุณภาพตามกำหนด ผลมังคุดต้องแก่ระยะสายเลือก (ผิวเปลือกเกิดจุดแต้มหรือประสีม่วงแดง) เป็นอย่างน้อยและอยู่ในสภาพที่ยอมรับได้เมื่อถึงปลายทาง
การแบ่งชั้นคุณภาพ (Classification)
แบ่งเป็น 3 ชั้น คุณภาพ ดังนี้
• ชั้นพิเศษ (Extra Class)
ผลมังคุดในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดีที่สุด ผลต้องปลอดจากตำหนิ ยกเว้นตำหนิผิวเผินเล็กน้อย โดยไม่มีผลต่อรูปลักษณ์ทั่วไปของผลิตผล คุณภาพ และคุณภาพการเก็บรักษา รวมทั้งการจัดเรียงเสนอในภาชนะบรรจุ
• ชั้นหนึ่ง (Class I)
ผลมังคุดในชั้นนี้ต้องมีคุณภาพดี รูปทรงอาจผิดปกติได้เล็กน้อย มีตำหนิได้เล็กน้อย เช่น ตำหนิที่เปลือก กลีบเลี้ยง รอยขีดข่วน และ/หรือตำหนิอื่น ๆ โดยไม่มีผลต่อเนื้อมังคุด รูปลักษณ์ คุณภาพ และคุณภาพการเก็บรักษารวมทั้งการจัดเรียงเสนอในภาชนะบรรจุ ตำหนิโดยรวมต่อผลต้องมีพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิว
• ชั้นสอง (Class II)
ชั้นนี้รวมผลมังคุดที่ไม่เข้าขั้นชั้นที่สูงกว่า แต่มีคุณภาพขั้นต่ำ ดังข้อ 1 รูปทรงอาจผิดปกติได้เล็กน้อย มีตำหนิได้เล็กน้อย เช่น ตำหนิที่เปลือก กลีบเลี้ยง รอยขีดข่วน และ/หรือตำหนิอื่น ๆ โดยไม่มีผลต่อเนื้อมังคุด รูปลักษณ์ คุณภาพ และคุณภาพการเก็บรักษา รวมทั้งการจัดเรียงเสนอในภาชนะบรรจุ
ข้อกำหนดเรื่องขนาด (PROVISIONS CONCERNING SIZING)
ขนาดของผลจะพิจารณาจากน้ำหนัก หรือเส้นผ่านศูนย์กลางที่วัดตามแนวขวาง ดังนี้
ขนาด น้ำหนัก (กรัม) เส้นผ่าศูนย์กลาง (มม.)
1 > 125 > 62
2 101 - 125 59 - 62
3 76 - 100 53 - 58
4 51 - 75 46 - 52
5 30 - 50 38 - 45
ข้อกำหนดเกณฑ์ความคลาดเคลื่อน (PROVISIONS CONCERNING
TOLERANCES)
(ระดับคุณภาพที่รับได้)
เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเรื่องคุณภาพและขนาดในแต่ละภาชนะบรรจุ สำหรับผลิตผลที่ไม่เข้าชั้นที่ระบุไว้
เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเรื่องคุณภาพ (Quality Tolerances)
• ชั้นพิเศษ (Extra Class)
ยอมให้มีผลมังคุดที่คุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของชั้นพิเศษ แต่เป็นไปตามคุณภาพของชั้นหนึ่ง หรือยกเว้นว่าคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของชั้นหนึ่ง ปนมาได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนผลทั้งหมด หรือน้ำหนักรวม ยกเว้นผลที่มีร่องรอยของผิวลาย อันเนื่องมาจากศัตรูพืชจะปนมาไม่ได้
• ชั้นหนึ่ง (Class I)
ยอมให้มีผลมังคุดที่คุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของชั้นหนึ่ง แต่เป็นไปตามคุณภาพของชั้นสองหรือยกเว้นว่าคุณภาพยังอยู่ในเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของชั้นสอง ปนมาได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนผลทั้งหมดหรือน้ำหนักรวม
• ชั้นสอง (Class II)
ยอมให้มีผลมังคุดที่คุณภาพไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของชั้นสอง หรือไม่ได้คุณภาพขั้นต่ำ ปนมาได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนผลทั้งหมดหรือน้ำหนักรวม โดยไม่มีผลเน่าเสีย
เกณฑ์ความคลาดเคลื่อนเรื่องขนาด (Size Tolerances)
ยอมให้มังคุดทุกชั้นมีขนาดที่ใหญ่ หรือเล็กกว่าในชั้นถัดไปหนึ่งชั้นปนมาได้ไม่เกิน ร้อยละ 10 ของจำนวนผลทั้งหมดหรือน้ำหนักรวม
การปลูกมังคุดปลอดสารพิษ
1. การผลิตมังคุดให้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
เน้นให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน และหากมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ต้องเน้นให้มีการเลือกซื้อและมีวิธีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดย
1.1 การเลือกซื้อสารเคมี ควรแนะนำให้เกษตรกรเข้าใจวิธีการเลือกซื้อสารเคมีที่มีคุณภาพและเป็นสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เข้าใจรายละเอียดบนฉลากเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากได้อย่างถูกต้อง โดย
- ไม่ซื้อสารเคมีที่มีฉลากไม่ชัดเจน เลอะเลือน หรือข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่มีเลขทะเบียน ไม่ระบุผู้ผลิต-ผู้จำหน่าย ไม่มีวัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ
- ไม่เลือกซื้อสารเคมีที่มีราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตผู้จำหน่ายอื่น อย่างผิดปกติ
- ไม่ซื้อสารเคมีจากพ่อค้าเร่ หรือผู้ที่จำหน่ายแบบซ่อนเร้น ปิดบัง
- ตรวจดู วัน เดือน ปี ที่ผลิต ( ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่ผลิต ) และตรวจดูภาชนะบรรจุ (ฝาปิดหรือภาชนะไม่มีรอยเปิดหรือฉีกขาด)
1.2 การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย
- ใช้แต่สารเคมีที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเลขทะเบียนวัตถุอันตราย และมีคำแนะนำบนฉลากให้ใช้กับมังคุด ต้องไม่ใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูมังคุดในชนิด อัตรา และเวลา ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
- อ่านคำแนะนำที่ฉลากให้ทราบคุณสมบัติ และวิธีการใช้ให้เข้าใจก่อนนำไปใช้
- ควรเลือกใช้เครื่องพ่นสารเคมีและอุปกรณ์หัวฉีดที่เหมาะสมเพื่อกระจายสารเคมีให้ตกบนเป้าหมายทั่วทั้งต้นสม่ำเสมอ สำหรับมังคุดซึ่งมีทรงพุ่มสูงประมาณ 8 -10 เมตร ถ้าใช้เครื่องพ่นชนิดใช้แรงดันน้ำ ควรเลือกหัวฉีดที่มีรูโตกว่า 1.6 มม. และปรับความดันในการพ่นให้ได้ 40-50 บาร์ และควรเปลี่ยนหัวฉีดใหม่ เมื่อใช้งานมาแล้วประมาณ 30 ชั่วโมง ในกรณีของหัวฉีดทองเหลือง
- พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงเช้าหรือเย็นขณะลมสงบ หลีกเลี่ยงการพ่นในเวลาแดดจัดหรือลมแรง และขณะปฏิบัติงานผู้พ่นต้องอยู่เหนือลมตลอดเวลา
- ควรเตรียมหรือผสมสารเคมีในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อจะได้ใช้ให้หมดในครั้งเดียว ไม่ควรเหลือติดค้างในถังพ่น
- ให้หยุดใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูมังคุดอย่างน้อย 15 วัน และสารป้อง กันกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นมังคุด อย่างน้อย 30 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว
- จดบันทึกการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
2. การผลิตมังคุดให้มีผิวสวยและปลอดจากศัตรูพืช
2.1 ป้องกันผิวลายจากศัตรูพืช โดยติดตามและป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ และไรขาวอย่างใกล้ชิด ในระยะดอก จนถึงระยะที่ผลมีอายุ 8 สัปดาห์
2.2 ป้องกันศัตรูพืชติดไปกับผลมังคุด โดยติดตามและป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งและมดดำตลอดระยะติดผล ซึ่งมดดำไม่ใช่ศัตรูของมังคุดโดยตรงแต่เป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปปล่อยไว้ตามผล
2.3. เก็บเกี่ยวถูกวัย ด้วยวิธีการและอุปกรณ์ที่เหมาะสม โดยเลือกเก็บผลมังคุดในระยะสายเลือด ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ป้องกันไม่ให้ผลมังคุดร่วงหล่น หรือตกกระแทกและระมัดระวังไม่ให้ขั้วผลหัก กลีบเลี้ยงช้ำ ฉีกขาด
2.4. รวบรวมและขนย้ายผลมังคุดอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน โดยใช้ตะกร้าพลาสติก หรือเข่งไม้ไผ่ที่กรุ ภายในด้วยกระดาษหรือกระสอบปุ๋ยที่สะอาด เพื่อป้องกันรอยตำหนิ ขูดขีด และอย่าบรรจุผลมังคุดในภาชนะจนหนักมากเกินไป เพื่อป้องกันผลด้านล่างเสียหายจากแรงกดกระแทก
2.5. ทำความสะอาดผลและคัดคุณภาพก่อนจำหน่าย โดยขูดยางที่เปลือกออก และคัดผลที่มีตำหนิภายนอกที่เห็นเด่นชัดออก เช่น ผลแตกร้าว ผิวลายหรือตกกระมาก ขั้วหัก กลีบเลี้ยงช้ำหรือขาดวิ่น เพื่อแยกขายให้เหมาะสมกับความต้องการของคู่ค้า ส่วนผลที่บุบช้ำจากการตกกระแทกจะไม่ส่งจำหน่ายเนื่องจากผลมังคุดจะเสียคุณภาพในการบริโภคอย่างรวดเร็ว
3. การผลิตมังคุดที่มีขนาดสม่ำเสมอ
น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 70 กรัม/ผล ไม่เป็นเนื้อแก้วยางไหล
3.1 เตรียมความสมบูรณ์ของต้นหลังเก็บเกี่ยว
ตัดแต่งกิ่ง หลังจากเก็บเกี่ยวผลมังคุดเสร็จสิ้นแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่ง ดังนี้
- ตัดกิ่งแห้งตาย กิ่งฉีกหักเสียหาย กิ่งที่ถูกโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย กิ่งกระโดงส่วนที่อยู่ชิดลำต้นหลักในพุ่มซึ่งได้รับแสงน้อยออก (เพราะจะพบว่ากิ่งในพุ่มที่ได้รับแสงน้อยใบจะเริ่มแห้งร่วงหล่นและมีการทิ้งกิ่ง) เพื่อกำจัดกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นแหล่งสะสมโรคและแมลง
- ตัดแต่งกิ่งแขนงบริเวณปลายกิ่งที่ซ้อนทับกันแน่นทึบเกินไปออกบ้าง เพื่อลดน้ำหนักที่ปลายกิ่ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหักของกิ่งหลักได้และเป็นการเปิดช่องให้แสงแดดส่องทะลุเข้าในทรงพุ่มได้ ทำให้กิ่งหลักในทรงพุ่มได้รับแสงและมีโอกาสแตกกิ่งกระโดงเล็กๆขึ้นมา ซึ่งเป็นกิ่งที่สามารถออกดอกได้เหมือนกิ่งที่อยู่นอกทรงพุ่ม และมีโอกาสที่จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี มีผิวนวลสวยและเก็บเกี่ยวสะดวก
- ตัดปลายกิ่งของแต่ละต้นที่ประสานกันออกในต้นมังคุดที่มีชายพุ่มชิดกันหรือประสานกัน ให้มีช่องว่างระหว่างชายพุ่มโดยรอบกับต้นข้างเคียงประมาณ 50-75 เซนติเมตร เพื่อควบคุมขนาดของทรงพุ่ม ลดความชื้นสะสมภายในทรงพุ่ม และให้แสงแดดส่องทะลุผ่าน ใบได้รับแสงแดดทั่วต้น ซึ่งต้นที่ได้รับแสงน้อย การจัดการให้แตกใบอ่อนและออดดอกทำได้ยากกว่าต้นที่ได้รับแสงพอเหมาะ
- ตัดยอดต้นมังคุดที่มีความสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 8 เมตร หรือสูงเกินความสามารถที่เครื่องพ่นสารเคมีจะพ่นถึงออก เพื่อความสะดวกในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้ละอองสารเคมีสามารถกระจายถูกทั่วทั้งต้นได้
หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว ให้ใช้ปูนแดงหรือสีหรือสารกำจัดเชื้อราทาปากแผลที่ตัดแต่งกิ่ง ทำความสะอาดแปลง หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้ว ให้กำจัดแหล่งสะสมโรคและแมลงภายในสวน โดย
- เก็บกิ่ง ใบและผลที่ร่วงหล่นหรือที่ตัดแต่งออกจากแปลงปลูก ส่วนของกิ่ง ใบและผลที่ถูกโรคและแมลงเข้าทำลายให้นำไปเผาทำลายนอกสวน แต่ส่วนที่ดีอาจนำไปใช้ทำปุ๋ยหมักได้
- ควบคุมวัชพืช ควรใช้วิธีตัดให้สั้น เดือนละ1 ครั้ง แทนการใช้สารกำจัดวัชพืชจนหน้าดินโล่งเตียนเนื่องจากรากของวัชพืชจะช่วยยึดหน้าดิน ทำให้ลดปัญหาการชะล้างธาตุอาหารที่หน้าดิน ช่วยรักษาความชื้นในดินส่งผลให้เพิ่มปริมาณการแตกรากฝอยบริเวณหน้าดินและเพิ่มจุลินทรีย์และสัตว์ที่เป็นระโยชน์ในดิน แต่ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืชให้ใช้ตามคำแนะนำ
สรุปคำแนะนำการใช้สารกำจัดวัชพืชในการผลิตมังคุด
ชนิดวัชพืช : วัชพืชฤดูเดียว เช่น หญ้าขจรจบ หญ้าตีนนก
อัตราและวิธีการใช้ : ใช้สารกำจัดวัชพืช เช่นพาราควอท 27.6 % เอสแอล อัตรา 75-150 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในพื้นที่ทุก ๆ 1/4 ไร่
หมายเหตุ : เมื่อวัชพืชกำลังเจริญเติบโตและมีใบมาก และควรพ่นก่อนวัชพืชออกดอก ขณะพ่นควรมีแดดจัด ลมสงบ ระวังอย่าให้ละอองสารสัมผัสใบและต้นมังคุด
ชนิดวัชพืช : วัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา หญ้าชันอากาศ แห้วหมู
อัตราและวิธีการใช้ : ใช้สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสท 48 % เอสแอล อัตรา 150-200 มิลลิลิตร หรือ กลูโฟซิเนตแอมโมเนีย 15 %เอสแอล อัตรา 250 – 500 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วในพื้นที่ทุกๆ 1/4 ไร่
หมายเหตุ : วิธีการพ่นและข้อควรระวังเช่นเดียวกับวัชพืชฤดูเดียว
ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น โดยทั่วไปจะทำทันทีหลังจากตัดแต่งกิ่งและทำความสะอาดแปลงเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ปุ๋ยคอก อัตรากิโลกรัม(กก.)ต่อต้น ประมาณ 4 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (ตัวอย่าง เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 10 เมตร ควรหว่านปุ๋ย 40 กก.) และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ16-16-16 อัตราเป็นกก.ต่อต้น ประมาณ 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม (ตัวอย่าง เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 10 เมตร ควรหว่านปุ๋ย 3.3 กก.) โดยวิธีการหว่านใต้ทรงพุ่ม เริ่มจากรอบทรงพุ่มเข้ามาหาโคนต้นประมาณ 1 เมตร
- ต้นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม มักเป็นต้นที่ไว้ผลมากเกินไปหรือดูแลไม่ดีในช่วงไว้ผล ต้องมีการจัดการเป็นพิเศษ โดยหลังการตัดแต่งกิ่ง ควรเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีที่ใส่โดยคลุกปุ๋ยเคมีด้วยกรดฮิวมิค อัตรา 30 ซีซี ต่อปุ๋ย 1 กก. ให้เข้ากันก่อนหว่าน หรือใช้กรดฮิวมิคชนิดเม็ด อัตรา 200-500 กรัมต่อต้น หว่านพร้อมกับปุ๋ยเคมี
- การเร่งการเจริญของราก โดยใช้เศษซากพืชคลุมบริเวณใต้ทรงพุ่มและใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุรองและจุลธาตุ อัตรา 60 กรัมผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดใต้ทรงพุ่มสัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ จะช่วยทำให้ต้นมังคุดมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น หรือ หว่านใต้บริเวณทรงพุ่มด้วยปุ๋ยอินทรีย์(ที่มีคุณค่าทางอาหารมากโดยเฉพาะกรดฮิวมิวและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์)
- ต้นมังคุดที่ทรุดโทรมมาก ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการดูแลต้นที่สภาพค่อนข้างโทรม แต่ให้เพิ่มอาหารเสริมที่ต้นพืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยพ่นทางใบด้วยอาหารเสริมสูตร “ทางด่วน” ประกอบด้วย
1. สารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค และฟลอริเจนฯ อัตรา 20-30 ซีซี (อาจใช้น้ำตาลกลูโคสหรือเด็กซ์โตรส 600 กรัม
2. กรดฮิวมิค อัตรา 20 ซีซี
3. ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15, 20-20-20 หรือ10-20-30 ที่มีธาตุอาหารรองและและจุลธาตุ อัตรา 60 กรัมผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ให้ผสมสารจับใบและสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา พ่นใบให้ทั่วทุก 7 วันติดต่อกัน 1-2 ครั้ง ชักนำให้แตกใบอ่อนพร้อมกันทั้งสวนในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อกำหนดให้ตายอดมีอายุ 9-12 สัปดาห์พอดีกับสิ้นฤดูฝน โดยพ่นปุ๋ยยูเรียอัตรา 100-200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทั้งทรงพุ่ม
: ภาคตะวันออกสิ้นสุดฤดูฝนเดือนพฤศจิกายน ควรแตกใบอ่อนเดือนกันยายน
: ภาคใต้สิ้นสุดฤดูฝนเดือนมกราคมควรแตกใบอ่อนเดือนพฤศจิกายน
ดูแลใบอ่อนให้พัฒนาเป็นใบแก่ที่สมบูรณ์ โดยตรวจสอบและป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ทำลายใบ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดซึ่งศัตรูพืชในช่วงใบอ่อนและสาเหตุอื่นที่ทำให้ใบเสียหาย ได้แก่
- เพลี้ยไฟ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ทำให้ใบแคระแกร็น แห้งและไหม้
- หนอนกินใบ ในตอนกลางวันตัวหนอนจะ ทิ้งตัวมาหลบซ่อนตัวอยู่ในดินหรือหญ้าใต้ โคนต้น แล้วขึ้นมากัดกินใบอ่อนตอนกลางคืน
- หนอนชอนใบ ทำลายเฉพาะใบอ่อน โดยหนอนชอบเข้าไปอยู่ระหว่างผิวใบของใบ ทำทางเดินและอาศัยเจริญเติบโตอยู่ภายในระหว่างผิวใบทั้ง 2 ด้านใบที่ถูกทำลายจะเป็นทางเดินของหนอนคดเคี้ยวไปมา ใบหงิกงอ ไม่เจริญเติบโต
- โรคใบจุด สาเหตุเกิดจากเชื้อรา จะทำให้ใบแห้งมีผลกระทบต่อการสังเคราห์แสงของใบ ทำให้ความสมบูรณ์ต้นลดลง
การเร่งการพัฒนาใบอ่อน ให้ใบอ่อนพัฒนาได้เร็ว ใบแก่เร็ว มีขนาดใหญ่เขียวเป็นมันได้เร็วขึ้น โดยพ่นสูตรอาหารทางด่วน(ส่วนผสมและวิธีใช้ตามที่กล่าวมาข้างต้น) ฉีดพ่นช่วงที่ใบเพสลาด สัปดาห์ละครั้ง จำนวน 1-2 ครั้ง กำจัดวัชพืช และให้น้ำถ้าฝนทิ้งช่วง
3.2 ชักนำการออกดอกและควบคุมปริมาณดอกและผล
ติดตามข้อมูลอุตุนิยมเกษตร เพื่อคาดคะเนสถานการณ์ของฝนและช่วงแล้งเพื่อจัดการต้นมังคุดได้อย่างเหมาะสม
จัดการน้ำเพื่อชักนำให้มังคุดออกดอกโดยเร็ว ก่อนมังคุดออกดอก 1-2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีทางดินสูตรเร่งดอก 8-24-24 หรือ 9-24-24 อัตรา 2-3 กก./ต้น เพื่อเตรียมความพร้อมของต้นในการออกดอก เพื่อให้ผลมังคุดสุกแก่และเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูฝน โดยเมื่อตายอดมีอายุ 9-12 สัปดาห์พอดีกับสิ้นสุดฤดูฝน ทำโคนให้เตียนเพื่อให้ดินโคนต้นแห้งเร็ว งดน้ำ 21-30 วัน จนปล้องสุดท้ายของยอดแสดงอาการเหี่ยวอย่างชัดเจนและใบคู่สุดท้ายเริ่มมีอาการตกจึงให้น้ำครั้งแรกในปริมาณ 35-40 ลิตรต่อพื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร และให้น้ำครั้งต่อมาทุก 7-10 วัน ในปริมาณครึ่งหนึ่งของครั้งแรก จนกว่าต้นมังคุดจะออกดอกเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ของยอดทั้งหมดซึ่งในต้นมังคุดที่สมบูรณ์และมีอายุตายอดเหมาะสม จะเริ่มเห็นตาดอกหลังจากการให้น้ำ ครั้งที่ 2 ประมาณ 2 สัปดาห์ จัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกที่เหมาะสม (ประมาณ 35-50 %ของจำนวนยอดทั้งหมด) โดยเมื่อมังคุดออกดอกแล้ว 15 %ของยอดทั้งหมด ให้จัดการน้ำโดยให้ปริมาณมากเพื่อให้ยอดที่ยังไม่พัฒนาเป็นตาดอกกลายเป็นตาใบ แต่ถ้าพบว่ามีการออกดอกมากกว่า 50 %ของยอด ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 3-5 กก.ต่อต้น เพื่อให้ผลอ่อนบางส่วนหลุดร่วงไป เพื่อควบคุมให้มีปริมาณผลที่เหมาะสม
3.3 ส่งเสริมพัฒนาการของผล
การจัดการปุ๋ย หลังจากดอกบาน 4 สัปดาห์ ให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตราเป็นกก.ต่อต้น เท่ากับ 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่มเป็นเมตร (ตัวอย่างเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 10 เมตร ควรหว่านปุ๋ย 3.3 กก.)
การจัดการให้น้ำ ควรให้น้ำทุก 3 วัน โดยเพิ่มปริมาณน้ำขึ้นตามขนาดของผล ถ้าต้นมังคุดที่กำลังติดผลอ่อนได้รับน้ำไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ผลมังคุดมีขนาดเล็กหรืออาจมีอาการก้นผลจีบ แต่ถ้าเป็นช่วงพัฒนาผลและช่วงเก็บเกี่ยวผล หากมังคุดได้รับน้ำไม่เพียงพอและไม่สม่ำเสมอ ประกอบกับมีฝนตกชุกจะทำให้เกิดปัญหาคุณภาพภายในผลผลิตคือ เกิดอาการเนื้อแก้วและยางไหลภายในผล
การจัดการระบายน้ำ
1. สวนเก่าหรือสวนที่ปลูกมังคุดที่อายุมาก ให้ขุดเป็นร่องระบายน้ำระหว่างแถวให้มีความลึก-กว้างประมาณ 30-35 ซม. เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ร่องและไม่ขัง บริเวณโคนหรือใต้ทรงพุ่ม2. สวนสร้างใหม่ หากพื้นที่จะปลูกมังคุดเป็นพื้นที่ราบและมีการระบายน้ำไม่ดี ให้ใช้รถแทรกเตอร์ไถพวนกลับไป-มา ให้เป็นสันร่องแบบลูกฟูกเพื่อให้การระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น
3.4. การคัดมังคุดเนื้อแก้ว ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการที่แม่นยำ 100% แต่มีวิธีการที่ชาวสวน และผู้รวบรวมมังคุดนิยมใช้ในการคัดมังคุด มีดังนี้
1. สังเกตจากลักษณะผลภายนอก เช่น สีผลไม่สม่ำเสมอ ผลบวมนูนขึ้นเป็นบางจุด กลีบเลี้ยงยกชี้ขึ้น รอบปากปลิงมีจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ (สังเกตได้เฉพาะผลที่เพิ่งเก็บเกี่ยว) ผู้คัดแยกต้องมีประสบการณ์และความชำนาญสูง
2. ใช้ค่าความถ่วงจำเพาะ โดยวิธีการลอย-จมในน้ำหรือน้ำเกลือความเข้มข้น 4 % (น้ำเปล่า 10 ลิตร เกลือ 0.4 กก.) ผลที่จมส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อแก้ว ผลที่ลอยส่วนใหญ่เป็นเนื้อปกติ ซึ่งความแม่นยำในการคัดโดยวิธีนี้จะลดลงถ้ามีฝนตกชุกช่วงเก็บเกี่ยว