การเลี้ยงเป็ดไข่



การเลี้ยงเป็ดไข่
เป็ดไข่พันธุ์กบินทร์บุรีเดิมเป็นเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะ พิเศษเฉพาะพันธุ์

เพศเมีย
-   สีขนเป็นสีกากีตลอดลำตัว ขา และแข้งสีส้ม ปากสีน้ำเงินปนดำ
-   เริ่มไข่เมื่ออายุ 150-160 วัน น้ำหนักเริ่มไข่ 1,450-1,500 กรัม ไข่ได้ 300-320 ฟอง/ตัว
-   ไข่มีขนาด 65 กรัม
-   กินอาหารวันละ 145-160 กรัม/ตัว อายุการให้ไข่ 1-2 ปี แต่ปีแรกจะให้ไข่มากที่สุด

 เพศผู้
-   ตัวใหญ่กว่าเพศเมีย น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1,700-1,800 กรัม/ตัว
-   หัวมีขนสีเขียวแก่คลุมลงมาจนถึงกลางลำคอ โดยเฉพาะเป็ดหนุ่มอายุ 5-7 เดือน ขนหัวและคอจะมีสีเขียวแก่ชัดเจนและสีนี้จะค่อยๆ จางลงจนเป็นสีน้ำเงินปนดำเมื่อเป็ดมีอายุมากขึ้น
-   ขนหาง 2-3 เส้นจะโค้งงอขึ้นด้านบน ปลายขนหางและปลายขนปีกจะมีสีน้ำตาลดำ
-   ขนลำตัวสีเทา แต่ขนจากกลางคอจนถึงไหล่และหน้าอกด้านหน้าจะสีน้ำตาลเข้ม
-   ขาแข้งสีส้ม ปากสีน้ำเงินปนดำ


การเลี้ยงลูกเป็ด อายุ 0-2 สัปดาห์
การเลี้ยงเป็ดจะสำเร็จหรือไม่นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกเป็ดระยะ 2 สัปดาห์แรกเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าลูกเป็ดนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์ม ถ้าลูกเป็ดแข็งแรง เติบโตสม่ำเสมอ สมบูรณ์มีภูมิคุ้มกันโรคระบาดและไม่อมโรคแล้ว การเลี้ยงในระยะต่อไปจะไม่ประสบปัญหา โดยปกติแล้วลูกเป็ดอายุ 0-2 สัปดาห์ มีความต้องการอยู่ 5 อย่างด้วยกัน คือการเตรียมพร้อมก่อนนำลูกเป็ดเข้ามาเลี้ยง ความอบอุ่น อาหารที่มีคุณภาพ น้ำสะอาดและการป้องกันโรค


1. การเตรียมพร้อมก่อนนำลูกเป็ดไข่เข้ามาเลี้ยง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เจ้าของ
     1.1    ทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับลูกเป็ดระยะแรก โดยการล้างน้ำและนำออกตากแดด การเตรียมกรงกก หรือห้องสำหรับกกลูกเป็ดจะต้องเตรียมล่วงหน้าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถ้ากกลูกเป็ดบนพื้นคอกจะต้องเปลี่ยนวัสดุรองพื้นใหม่ทุกๆ ครั้งที่นำลูกเป็ดเข้าคอก

     1.2    การ สั่งจองลูกเป็ด ก่อนที่จะเลี้ยงเป็ด ควรจะได้มีการวางแผนว่าควรจะเลี้ยงในช่วงเวลาใดจึงจะเหมาะสม และเมื่อตัดสินใจแล้วควจจะสั่งจองลูกเป็ดไว้ล่วงหน้า และควรสั่งซื้อสั่งจองจากโรงฟักลูกเป็ดที่มีชื่อเสียงที่ผลิตลูกเป็ดที่มี คุณภาพ และต้องส่งลูกเป็ดในถึงฟาร์มได้ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หากโรงฟักอยู่ไกลเกิน การขนส่งลูกเป็ดเกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้ลูกเป็ดสูญเสียน้ำโดยระเหยออกจากตัว ทำให้ลูกเป็ดน้ำหนักลด มีผลต่อความแข็งแรงในระยะเวลาต่อมา

     1.3    การให้น้ำสะอาด ในระยะแรกที่ลูกเป็ดมาถึงฟาร์ม น้ำที่เตรียมไว้ควรเป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำใต้ดิน น้ำบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น หรือน้ำฝน หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปา เพราะว่าลูกเป็ดจะตายหรืออ่อนแอมากเมื่อได้กินน้ำที่มีสารเคมี ถ้าจำเป็นต้องใช้น้ำประปาก็อาจทำได้โดยเปิดน้ำเก็บไว้ในถึงเป็นเวลานานข้ามคืน
     1.4    โรงเรือนและอุปกรณ์ ก็จะต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าที่สำคัญๆ ได้แก่
โรงเรือนที่ใช้กกลูกเป็ด ควรป้องกันลมและฝนได้ พร้อมที่จะต้องป้องกันสัตว์ต่างๆ ที่เป็นศัตรูและเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่ลูกเป็ด เช่น สุนัข แมว หนู นกต่างๆการระบายอากาศ โรงเรือนควรมีช่องระบายอากาศที่ดี ส่วนใหญ่แล้วโรงกกลูกเป็ดมักมีฝา ประตูและหน้าต่าง ค่อนข้างจะมิดชิด เพื่อเก็บความอบอุ่นและป้องกันลมแรง การมีช่องระบายอากาศจึงมีความสำคัญฟาร์มจะต้องตระเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะนำลูกเป็ดเข้าฟาร์ม


2. การกกลูกเป็ด
การกกลูกเป็ดอายุ 1-2 สัปดาห์
เป็นการทำให้ลูกเป็ดอบอุ่น อาจจะกกบนพื้นดินที่โรยด้วยขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด หนาประมาณ 1-2 นิ้ว หรืออาจเป็นพื้นดินที่มีดินทรายรองพื้นก็ได้  การกกควรแบ่งลูกเป็ดออกเป็นคอกๆ ละ 150-200 ตัว โดยใช้แผงไม้ขัดแตะหรือแผงกระดาษ หรือพลาสติกสูงประมาณ 1 นิ้ว กั้นระหว่างคอก เพื่อป้องกันลูกเป็ดนอนสุมกันในเวลากลางคืน ขนาดของคอกขึ้นกับอายุลูกเป็ด โดยเป็ดอายุ 0-1 สัปดาห์ พื้นที่ 1 ตารางเมตร กกได้ 30 ตัว ถ้าอายุ 1-2 สัปดาห์ พื้นที่ 1 ตารางเมตร กกได้ 23 ตัว และอายุ 2-3 สัปดาห์ ใช้อัตราส่วน 15 ตัว/พื้นที่ 1 ตารางเมตร

แหล่งความร้อนใช้หลอดไฟฟ้าขนาด 60 วัตต์ 2 หลอด/ลูกเป็ด 200 ตัว หรืออาจใช้โคมไฟสังกะสีที่มีหลอดไฟใต้โคมแขวนสูงจากพื้น 1.5-2 ฟุต หรืออาจใช้แก๊สกกก็ได้อาจกกลูกเป็ดในตระกร้าไม้ไผ่หรือกล่องกระดาษ หรือสุ่มไก่โดยมีหลักว่าใช้ผ้าหรือกระสอบคลุมเพิ่มความอบอุ่นให้ลูกเป็ด หรืออาจกกบนตาข่ายยกสูงจากพื้น 10-15 ซ.ม. ลวดข่ายหรือตาข่ายพลาสติก หรือไม้ไผ่ขัดแตะปูไปบนไม้หนา 2x4 นิ้ว ซึ่งวางเรียงกันบนพื้นซีเมนต์ที่ลาดเอียง ลูกเป็ดจะปล่อยเลี้ยงบนพื้นลวดตาข่ายและมีรางน้ำ รางอาหาร และไฟกกอยู่พร้อมลูกเป็ดถ่ายมูลออกมาและน้ำที่หกก็ตกลงบนพื้นซีเมนต์

เราสามารถล้างคอกได้ทุกวัน วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาความเปียกชื้นของพื้นคอก และนิยมมากในปัจจุบันใช้เวลากกลูกเป็ด 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ในฤดูร้อนอาจจะกกเพียง 9-10 วันก็พอ แต่ฤดูหนาวอาจจะกก 10-21 วัน แล้วปล่อยออกไปเลี้ยงในบ่อน้ำที่จัดไว้ให้เป็ดเล่น หรือถ้าหากไมมีบ่อน้ำก็สามารถเลี้ยงลูกเป็ดปล่อยในแปลงหญ้า หรือรอบๆ โรงเลี้ยงเป็ดที่มีชายคาหรือร่มไม้ มีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลาถ้าอากาศร้อนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟกกลูกเป็ด

2.1    วัสดุรองพื้นคอกกก ถ้ากกบนพื้นดินควรรองพื้นด้วยวัสดุที่ดูดซึมความชื้นได้ดี เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ดินทราย ซังข้าวโพด การจัดการด้านวัสดุรองพื้นนับว่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกับการควบคุมความอบอุ่น วัสดุรองพื้นที่เปียกชื้น ควรนำออกไปทิ้งหรือไม่ก็เติมวัสดุใหม่ๆ ลงไปอีก

2.2    ความชื้นภายในคอกลูกเป็ดประมาณ 65-75% ถ้าหากความชื้นภายในคอกสูงเกินไป ควรปรับช่องระบายอากาศให้กว้างขึ้น หรือทำให้ลมพัดเข้าออกให้มากขึ้น ถ้าพื้นคอกเปียก ควรกลับแกลบเกลี่ยพื้นคอกให้น้ำระเหยออกไปทุกวัน

2.3    การปล่อยให้ลูกเป็ดเล่นน้ำ ในระยะแรกๆ 1-3 สัปดาห์ ลูกเป็ดยังไม่จำเป็นจะต้องเล่นน้ำ อาบน้ำ เราจึงกกไว้ในโรงกก เพราะอวัยวะที่เกี่ยวกับการควบคุมการใช้น้ำในร่างกายของลูกเป็ดยังไม่พัฒนา แต่กรณีลูกเป็ดเปื้อนสกปรกอาจให้ลูกเป็ดเล่นน้ำได้เพื่อล้างสิ่งสกปรก อาบน้ำ โดยปล่อยให้เล่นน้ำในเวลาที่มีแสงแดดจัด 5-10 นาที แล้วไล่ขึ้นมาตากแดดให้ขนแห้งแล้วไล่เข้าคอก

2.4    การให้แสงสว่าง ในระยะแรกต้องให้แสงสว่างตลอดเวลา โดยอาศัยไฟจากกรงกกในเวลากลางคืน ใช้หลอดนีออนขนาด 20 วัตต์ หรือหลอดสว่างขนาด 60 วัตต์ ต่อพื้นที่คอกกก 30 ตารางเมตร ส่วนกลางวันก็ใช้แสงธรรมชาติ การให้แสงสว่างต่อเนื่องตลอดวันระยะอายุ 2 วันแรก จะช่วยให้ลูกเป็ดได้กินน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ ทำให้ลูกเป็ดแข็งแรง

3. การให้น้ำและอาหารลูกเป็ด
ในระยะ 2 วันแรก ควรให้อาหารผสมชนิดผงคลุกน้ำพอหมาดๆ ใส่ในภาชนะแบนๆ มีขอบเตี้ยๆ เช่น ถาดสังกะสีหรือไม่ก็โรยบนกล่องกระดาษที่แกะเป็นแผ่นเรียบๆ บนพื้น อาหารควรเป็นอาหารลูกเป็ดระยะ 0-3 สัปดาห์ มีโปรตีน 17-18% พลังงานใช้ประโยชน์ได้ 2,890 กิโลแคลอรี่ มีน้ำสะอาดวางให้กินห่างจากไฟกกประมาณ 30-50 ซ.ม. การให้อาหารและน้ำหลังจาก 2 วันแรกให้วางอาหารค่อยๆ ห่างจากไฟกก 1.5-2 เมตร และขยับให้ห่างออกเรื่อยๆ สุดท้ายให้ห่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การให้น้ำใส่ในขวดพลาสติกสำหรับให้น้ำเป็ดแลไก่ ให้วางอยู่ใกล้อาหาร ควรเป็นน้ำสะอาดปราศจากสารเคมีคลอรีน ถังน้ำ ขวดน้ำ รางน้ำ ควรทำความสะอาดทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง

4. สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเป็ดมาถึงฟาร์ม

การวางแผนล่วงหน้าในเรื่องต่างๆ ก่อนที่ลูกเป็ดจะมาถึงฟาร์มเป็นหน้าที่ของเจ้าของฟาร์ม ซึ่งต้องเอาใจใส่พิเศษ เมื่อลูกเป็ดมาถึงและนำออกวางในกรงกก ควรสำรวจดูความแข็งแรง ถ้าตัวไหนอ่อนแอก็ให้แยกเลี้ยงต่างหาก ทันที่ที่ปล่อยลูกเป็ดลงพื้นของกรงกก สิ่งแรกที่ควรสอนลูกเป็ด คือ ให้ลูกเป็ดกินน้ำและต้องให้กินน้ำก่อนอาหาร 2-3 ชั่วโมง เมื่อเห็นตัวใดกินน้ำไม่เป็น ควรจะจับปากลูกเป็ดจุ่มลงในน้ำ เพื่อให้ลูกเป็ดเรียนรู้ นอกจากเราจะเอาน้ำไว้ให้ลูกเป็ดกินอยู่ใกล้ๆ เครื่องกก ผู้เลี้ยงจะต้องคลุกอาหารด้วยน้ำอย่างหมาดๆ โปรยบนแผ่นภาชนะแบนๆ หรือกระดาษแข็งใกล้ๆ เครื่องกกด้วย เพื่อให้เป็นที่แน่ใจว่าลูกเป็ดทุกตัวได้กินทั้งน้ำและอาหาร


อาหารเป็ด
ใน ปัจจุบันมีหลายบริษัที่ผลิตอาหารสำหรับเป็ดหลายแบบ เกษตรกรสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น อาหารผสมสำเร็จรูป ซึ่งนำไปใช้ได้ทันที หัวอาหารซึ่งจะต้องผสมกับรำละเอียดและปลายข้าวก่อนนำไปใช้ หรืออาจซื้อวัตถุดิบแต่ละชนิดมาผสมเอง เกษตรกรจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ข้าวโพดเป็นอาหารเป็ด ถ้าหากจะใช้ข้าวโพดผสมเป็นอหาาร ควรใช้ในปริมาณน้อย และต้องแน่ใจว่าเป็นข้าวโพดคุณภาพดี ปราศจากเชื้อรา เนื่องจากเชื้อรา A,flavus สร้างสารพิษชื่อ alfatoxin ซึ่งมีผลต่อลูกเป็ดเป็นอย่างมาก เกษตรกรจะพบว่าในหัวอาหารหรืออาหารสำเร็จรูปจะใช้ข้าวโพดในปริมาณน้อย หรือไม่ใช้เลยจะดีที่สุด

อาหารเป็ดในบ้านเราสามารถแบ่งออกได้
1. อาหารสำเร็จรูป เป็น อาหารเม็ด ซึ่งมีใช้เลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระยะไข่ ซึ่งมีผลดีก็คือการจัดการให้อาหารสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูงกว่า เป็ดใช้พลังงานในการกินอาหารน้อยกว่าแบบอื่น รางน้ำสะอาดไม่ค่อยสกปรก ประหยัดอาหารได้ 15-20% เพราะหกหล่นน้อยถึงแม้มีการหกหล่นก็สามารถเก็บกินได้อาหารที่ให้จะไม่ติดตาม รางอาหารทำให้รางอาหารสะอาดอยู่เสมอ ไม่หมักหมมเชื้อโรค แต่มีข้อเสียคือ อาหารมีราคาแพง ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุนด้วย

 2. เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้หัวอาหารเป็ดเป็นหลักในการประกอบสูตรอาหาร หัวอาหารเป็นอาหารเข้มข้นที่ผสมจากวัตถุดิบอาหารสัตว์พวกโปรตีนจาก พืช สัตว์ ไวตามิน แร่ธาตุและยาบางชนิด ยกเว้น พวกธัญพืช หรือวัตถุดิบบางอย่าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและลดต้นทุนค่าอาหารของผุ้ซื้อแต่ละท้องถิ่นที่มีวัตถุดิบบางอย่างราคาถูก เช่น ปลายข้าว รำละเอียด และรำหยาบ เมื่อผสมกันแล้วจะจได้อาหารสมดุลย์ที่มีโภชนะต่างๆ ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายสัตว์ ก่อนนำอาหารผสมนี้ไปเลี้ยงเป็ดต้องคลุกน้ำให้พอหมาดๆ ร่วนไม่เกาะเป็นก้อน จะช่วยให้เป็ดกินอาหารได้ดี ลดการฟุ้งกระจายและการหกหล่นได้มาก วิธีนี้จะมีความยุ่งยากกว่าวิธีแรก แต่ก็เป็นที่นิยมใช้อยู่ เพราะอาหารผสมจะมีราคาถูก
อาหารเป็ดในระยะไข่นั้นมักเติมสารเพิ่มสีในไข่ด้วยเป็นวัตถุ สังเคราะห์ทางเคมีพวกคาโรทีนอยส์ชื่อทางการค้าต่างๆ เช่น Carophyll Red ใส่ลงไปในอาหารทำให้ไข่แดงมีสีเหลืองเข้มเป็นที่นิยมของผู้บริโภค กรณีไข่เป็ด ถ้าไข่แดงสีเข้มจัด นิมยใช้ทำไข่เค็ม และราคาไข่เป็ดจะมีราคาแพงกว่าธรรมดาประมาณ 10 สตางค์/ฟอง ทั้งนี้เนื่องจากสารเพิ่มสีมีราคาแพงประมาณ 4,000 บาท/ก.ก.

การให้อาหาร  คือ  หัวอาหารผสมกับปลายข้าวและรำข้าว  คลุกเคล้าโดยเครื่องผสมอาหาร ให้อาหารวันละ  3  ครั้ง  เช้า  กลางวัน  เย็น
ถ้าเป็ดได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์  จะเริ่มออกไข่เมื่ออายุประมาณ  5  เดือน เป็ดจะออกไข่ตอนเช้ามืด  ตามแอ่ง  มุมต่าง ๆ  ของคอก 
วิธีการเก็บไข่  คือ ใช้มือเก็บไข่โดยหนีบไข่ไว้ข้างละ  3  ฟอง  จะทำให้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ควรเก็บใส่กระป๋องครั้งละมาก ๆ แล้วนำไปคัดขนาด  แยกไข่กินกับไข่เพาะเชื้อออกจากกัน

โรคเป็ดและการป้องกัน
เป็ดเป็นสัตว์ปีกที่มีปัญหาเรื่องโรคน้อยกว่าไก่ หากทำการเลี้ยงในกรงตับด้วยแล้วปัญหาเรื่องโรคและอัตราการตายน้อยมาก โรคเป็ดที่สำคัญมีดังนี้
  
1. โรคอหิวาต์เป็ด
สาเหตุ :  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง
อาการ : เป็ดจะซึม เบื่ออาหาร กระหายน้ำจัด มีไข้สูงถ้าคลำดูที่คอและเท้าจะร้อน  มักจะจับกลุ่มกันอยู่ใกล้บริเวณรางน้ำ  อุจจาระมีสีขาวปนเขียวและมีลักษณะเป็นยางเหนียว  บางครั้งเป็ดจะตายอย่างกระทันหันหรือถ้าเป็นเรื้อรังจะทำให้ข้อเข่า ข้อเท้าอักเสบบวม ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก  ในเป็ดไข่จะทำให้ไข่ลดลงได้

การรักษา   
การใช้ยาซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความเสียหายในฝูงเป็ดที่เริ่มเป็นระยะแรก
ยาซัลฟา (ยาซัลฟา, ซัลฟาเมอราซีน, ซัลฟาเมทธารีน) ยาปฏิชีวนะ (คลอเตตร้าซัยคลิน, ออกซีเตตร้าซัยคลิน) ผสมอาหาร 500 กรัม ต่ออาหาร 1 ตัน จะช่วยลดความรุนแรงได้

การป้องกัน   
ทำวัคซีนป้องกันอหิวาต์เป็ด โดยทำครั้งแรกเมื่อเป็ดอายุ 2 เดือนและทำซ้ำทุก 3 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกตัวละ 1 ซี.ซี.

2. โรคดั๊กเพลก (กาฬโรคเป็ด)
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อไวรัส
อาการ : เมื่อเป็นเป็ดจะแสดงอาการซึม ท้องร่วง เบื่ออาหาร ปีกตก ไม่ค่อยเคลื่อนไหว   มีน้ำตาไหลออกมาค่อนข้างเหนียว เมื่อเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย         
อุจจาระสีเขียวปนเหลือง บางครั้งมีเลือดปน บริเวณรอบๆ ทรวรจะแดงช้ำหายใจลำบาก


การรักษา   
ไม่มียารักษาโรคนี้ที่ได้ผล คงมีแต่การป้องกันเท่านั้น

การป้องกัน  
โดยการทำวัคซีนป้องกัน ดังนี้
ครั้งแรก  ทำเมื่อเป็ดอายุ 1 เดือน    ทำซ้ำทุกๆ 6 เดือน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าอก ตัวละ 1 ซี.ซี. หรือตามคำแนะนำในฉลากข้างขวด วัคซีนทั้งสองชนิด ซื้อได้ที่กรมปศุสัตว์ หรือที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ
ครั้งที่สอง  เมื่อเป็ดอายุ 3 เดือน
ครั้งที่สาม  เมื่อเป็ดอายุ 6 เดือน
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร