การเลี้ยงปลาช่อน


 
การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อส่งขายตลาด
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนจึงต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด อัตราการปล่อยปลา นิยมปล่อยลูกปลาขนาด 8-10 เซนติเมตรหรือ น้ำหนัก 30-35 ตัว/กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้ฟอร์มาลีนใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน ( 3 ลิตร/น้ำ 100 ตัน ) ในวันแรกที่ปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น โดยเมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4:1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ดร้อยละ40, รำร้อยละ30, หัวอาหารร้อยละ30 ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกินร้อยละ 4-5 ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบบลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2-3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด
 
การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30-40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำสัปดาห์ละ 10 เซนติเมตรจนได้ระดับ 50 เซนติเมตรจึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด ไม่เช่นนั้นปลาใหญ่จะกินปลาเล็ก หลังจากอนุบาลลูกปลาในช่วง 2 เดือนแล้วต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4-5 เดือนจะให้ผลผลิต 1-2 ตัว/กิโลกรัม เช่น เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานจะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม และเมื่อปลาโตได้ขนาดต้องการจึงจับจำหน่ายซึ่งก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1-2 วัน 
การจับขายจับโดยการสูบน้ำออก 2 ใน 3 แล้วตีอวน ระลึกไว้ว่าปลาช่อนเป็นปลาที่ชอบมุดโคลนเลน ดังนั้นถ้าปลาเหลืออยู่น้อย ควรสูบน้ำให้แห้งแล้วจับออกให้หมด นำปลาที่ได้มาล้างโคลนออกก่อนที่จะส่งตลาด
การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาช่อนควรจะพิจารณาเป็นข้อๆดังนี้
1. ใกล้แหล่งน้ำจืด ที่สามารถใช้ได้ตลอดปี
2. น้ำไม่เป็นกรดหรือด่างมากจนเกินไป
3. ที่ดอน น้ำไม่ท่วม และเป็นที่ราบ
4. ดินเหนียว หรือปนทราย
5. คมนาคมสะดวก
 

การเตรียมบ่อ
1. พื้นที่ที่ใช้ไม่ควรต่ำกว่าบ่อละครึ่งไร่ลึก 1.5 - 2 เมตร ทำคันดินที่ปากบ่อเมื่อเก็บน้ำได้ระดับสูงสุด ระดับน้ำควรต่ำกว่าคันดินประมาณ 8 เมตร
2. กั้นรั้วตาข่ายหรือไนล่อนที่ปากบ่อกันปลาช่อนกระโดดหนี
3. อัดดินในบ่อให้เรียบแน่น
4. ในกรณีที่เป็นบ่อเก่าควรสูบน้ำทิ้ง เหลือน้ำไว้ลึกประมาณ 20 เซนติเมต
5. โรยโล่ติ๊นกำจัดปลาที่ไม่ต้องการ และโรยปูนขาวในอัตรา 60-100 กิโลกรัมต่อ 1ไร่เพื่อฆ่าพยาธิและปรับสภาพดิน
6. ตากบ่อ 5-7 วัน
7. ใส่ปุ๋ยคอกตากหมาดๆ 40-80 กิโลกรัมต่อไร่
8. ระดับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาช่อนลูกปลาขนาดเล็กกว่า 5 เซนติเมตรน้ำลึก 30-40 เซนติเมตร ปลาและลูกปลาขนาดมากกว่า 6 เซนติเมตรน้ำลึก 80-150 เซนติเมตร

*ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาช่อนเลี้ยงและปลาช่อนนา ปลาช่อนที่จับจากธรรมชาติ*
- ปลาช่อนนา สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีไม่แน่นอน แล้วแต่แหล่งน้ำที่อาศัย หัวค่อนข้างใหญ่และยาว ปากค่อนข้างแบน ลำตัวเพรียวยาวแต่ไม่กลม เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นว่าบริเวณลำไส้ไม่มีไขมัน นอกเหนือจากฤดูวางไข่ซึ่งตัวเมียที่สมบูรณ์กำลังมีไข่อ่อนจะมีไขมันติดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
- ปลาช่อนเลี้ยง สีเกล็ดของลำตัวจะมีสีเดียวกันหมด หัวเล็กสั้น ปลายปากมนเรียว ลำตัวอ้วนกลมยาวพอประมาณ เมื่อผ่าท้องดูจะเห็นบริเวณลำไส้จะมีไขมันจับเป็นก้อนทุกตัว

โรคและการป้องกัน  โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ ได้แก่ 
1. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส หนอนสมอ จะเกาะดูดเลือดทำให้เกิดเกล็ดหลุด ตัวแข็งมีแผลตามตัว ปลาเกิดการระคายเคือง ถ้าปล่อยไว้นานปลาอาจจะตายหมดบ่อ ให้ใช้ดิปเทอร์เรกซ์ 400g/ 0.5 ไร่ทิ้งค้างคืนงดอาหารจนกว่าจะถ่ายน้ำใหม่หรือใช้ฟอร์มาลีน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง
2. ท้องบวมหรือเกล็ดหลุดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ใช้เทอรามัยซิน 2 กรัมในอาหาร 1 กิโลกรัมให้ปลากิน
3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหารลดลง การรักษาโดยใช้ยาถ่ายพยาธิ 

 
โรคอียูเอส
ฤดูหนาว อากาศเย็น  อุณหภูมิน้ำต่ำลง  ถ้าอุณหภูมิน้ำในรอบวันเปลี่ยนแปลงมากอาจส่งผลให้สัตว์น้ำเกิดอาการเครียด  ไม่กินอาหาร  อ่อนแอทำให้ยอมรับเชื้อโรคต่างๆ  ได้ง่ายหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าโรคระบาดปลา  หรือ  โรคแผลเน่าเปื่อย  โรคอียูเอส  เป็นโรคหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว

ลักษณะอาการภายนอก
ปลาที่เป็นโรคอียูเอสจะมีแผลเลือดออกตามซอกเกล็ด  แผลเปื่อยเน่า  แผลหลุมลึกกระจายตามส่วนหัวและผิวลำตัว  ถ้านำเนื้อเยื่อบริเวณแผลมาตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์  จะพบเส้นใยของราอาพาโนมัยซีส  (Aphanomyces  invadans)  เส้นใยของเชื้อราชนิดนี้สามารถเจริญชอนไชเข้าไปในกล้ามเนื้อของปลา  และอวัยวะภายในต่างๆ  ได้ดี  ทำให้เซลล์ผิดปกติเกิดการเปลี่ยนแปลงเสื่อมและตาย  เชื้อราชนิดนี้มีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน  โดยบางครั้งอาจพบร่วมกับเชื้อโรคอื่นๆ  เช่น  ปรสิต  แบคทีเรีย  และไวรัส  ซึ่งทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้น  ปลาที่ยอมรับเชื้อราและเกิดโรคนี้ได้ง่ายมักเป็นปลาประเภทมีเกล็ด  ได้แก่  ปลาช่อน  ปลาชะโด  ปลาแรด  ปลาบู่  และปลาสร้อย  ปลาไม่มีเกล็ดบางชนิดมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้ได้  เช่น  ปลาดุก  ขณะที่ปลานิลและปลาจีนยังไม่เคยพบว่าเป็นโรคระบาดชนิดนี้

เกษตรกรควรให้ความระมัดระวังเรื่องการระบายน้ำ  โดยไม่ปล่อยน้ำจากแหล่งที่พบปลาป่วย  เข้าบ่อเลี้ยงปลาหรือระบายน้ำจากบ่อปลาป่วยออกจากบ่อเลี้ยงซึ่งจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ตามถ้าน้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น  เชื้อราต่างๆ  จะเจริญได้ช้าลงปลาจะมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น  และปลาจะหายป่วยได้เองในเวลาต่อมา  ดังนั้นเกษตรกรควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและลักษณะการเกิดโรค  เพราะจะช่วยให้สามารถจัดการ  การเลี้ยงและมีแนวทางในการควบคุมโรคได้ดีขึ้น  และสิ่งที่สำคัญ  ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำควรเตรียมมาตรการการป้องกันโรคไว้แต่เนิ่นๆ  ซึ่งจะช่วยให้การควบคุมการระบาดของโรคชนิดนี้ประสิทธิภาพมากขึ้น
 
แนวทางการควบคุมโรคอียูเอสในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
1.  ควรมีการจัดการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม  ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรค  หากเกษตรกรเลี้ยงปลาในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว  ควรจะต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพปลาเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะในปีที่มีอากาศหนาวจัด
2.  การเลี้ยงปลาโดยทั่วไปควรมีบ่อพักน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูกาล
3.  ถ้าชนิดปลาที่เลี้ยงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่วงฤดูหนาว ควรวางแผนการเลี้ยงให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการและจับปลาก่อนช่วงฤดูหนาว  แต่ถ้าจะเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว  ควรเลี้ยงปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดปลาน้อย  และลดปริมาณการให้อาหารให้น้อยกว่าสภาวะปกติ  เนื่องจากในฤดูหนาวปลาจะกินอาหารน้อยลง
4.  ถ้าพบปลาป่วยเป็นโรคระบาดปลาในธรรมชาติ  ให้รีบปิดทางน้ำเข้า  และหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อโดยทันที
5.  ถ้าพบปลาตายในบ่อเลี้ยง  ให้กำจัดให้หมดไปโดยการฝังหรือเผา
6.  ในระหว่างที่ไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้  ให้ลดปริมาณการให้อาหารลง  หรืองดอาหารเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
7.  ควบคุมคุณภาพของน้ำในบ่อ  โดยใช้ปูนขาวในอัตรา  60-100  กิโลกรัม  ต่อบ่อขนาด  1  ไร่  ซึ่งการใส่ปูนขาวนี้  อาจจะต้องใส่ซ้ำทุก  2-3  สัปดาห์  ขึ้นอยู่กับสภาพของน้ำในบ่อโดยเกษตรกรสามารถเก็บน้ำส่งตรวจวิเคราะห์ได้ตามศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงที่ใกล้เคียง
8.  ถ้าน้ำเสียในบ่อเริ่มเน่าเสีย  โดยสังเกตว่ามีก๊าซผุดเกิดขึ้นมาจากพื้นบ่อ  ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าวประมาณ  200-300  กิโลกรัม  ต่อบ่อขนาด  1  ไร่
9.  เมื่อสภาวะอากาศเริ่มเข้าสู่สภาวะที่เหมาะสม  (อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น)  และพบว่าปลาในธรรมชาติหายป่วย  ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม  และเพิ่มปริมาณอาหารของปลาได้ตามปกติ
 

ตลาดและการลำเลียงขนส่ง
ในการขนส่งนิยมใช้ลังไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตรยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร สามารถขนส่งโดยรถบรรทุกสู่ตลาดทั่วทุกภาคของประเทศไทย สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณการนำเข้าปลาช่อมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ต้องการปลาช่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวกว่า 1 กิโลกรัม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเข้าปลาช่อนที่มีน้ำหนักประมาณ 400-500 กรัม และ 700-800 กรัม สำหรับตลาดผู้บริโภคปลาช่อนในกรุงเทพฯต้องการปลาใหญ่ซึ่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมขึ้นไป เป็นต้น
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร