การเพาะเลี้ยงปลาบู่

การเพาะเลี้ยงปลาบู่
ปลาบู่ หรือบู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต  มีชื่อสามัญว่า  Sand Goby,     Marbled Sleepy Goby และชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyleotris  mamorata  Bleeker  ปลาบู่เป็ปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ    สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท  ได้แก่  ฮ่องกง  สิงคโปร์    มาเลเซีย  ฯลฯ
เนื่องจากความต้องการปลาบู่ทรายจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นผลให้ปลาบู่ทรายมีราคาแพงขึ้น

ลักษณะโดยทั่วไปของปลาบู่และการเลี้ยง
อดีตการเลี้ยงปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงกันมากในกระชังแถบลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาบริเวณภาคกลาง  ตั้งแต่จังหวัด นครสวรรค์  อุทัยธานี  เรื่อยมาจนถึงจังหวัดปทุมธานี   โดยมีปลาบู่ทรายขณะนี้มี  3  ประการ คือ
1. พันธุ์ปลาที่นับวันจะหายาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
2. ผู้เลี้ยงยังขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการเพาะเลี้ยง
3. สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงปลา

รูปร่างลักษณะ
ปลาบู่ทรายมีลักษณะลำตัวกลมยาว ความลึกลำตัวประมาณ 1 ใน 3.5 ของความยาวมาตรฐานของลำตัว ส่วนหัวยาวเป็น  1  ใน  2.8   ของความยาวมาตรฐานของลำตัว  หัวค่อนข้างโต  และด้านบนของหัวแบนราบหัวมีจุดสีดำประปรายปากกว้างใหญ่เปิดทางด้านบนตอนมุมปากเฉียงลงและยาวถึงระดับกึ่งกลางตา  ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน  ทั้งขากรรไกรบนและล่างมีฟันแหลมซี่เล็ก ๆ ลักษณะฟันเป็นแบบฟันแถวเดียว ลูกตาลักษณะโปนกลมอยู่บนหัวถัดจากริมฝีปากบนครีบหูและครีบหาง มีลักษณะกลมมนใหญ่มีลวดลายดำสลับขาว มีก้านครีบอ่อนอยู่  15 - 16  ก้าน  ครีบหลัง  2  ครีบ ครีบอันหน้าสั้นเป็นหนาม  6  ก้าน เป็นก้านครีบสั้น และเป็นหนาม ครีบอันหลังเป็นก้านครีบอ่อน  11  ก้าน  ครีบท้องหรือครีบอกอยู่แนวเดียวกับครีบหูและมีก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกของปลาบู่  ใน SubfamilyEleotrinae แยกจากกันอย่างสมบูรณ์  ซึ่งแตกต่างจากปลาบู่ชนิดอื่น     ในครอบครัว Gobiidae ซึ่งมีครีบท้องติดกันเป็นรูปจาน ครีบก้นอยู่ในแนวเดียวกับครีบหลัง อันที่สอง มีก้านครีบอ่อน 7 ก้าน  และมีความยาวครีบเท่ากับครีบหลังอันที่สอง  ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำแดงสลับขาวเป็นแถบ ๆ  และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย  ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลางและเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปกติมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เคยพบยาวถึง 60 เซนติเมตร
ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู  ได้แก่  บอร์เนียว  เกาะสุมาตรา  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย  จีน ไทย  สำหรับในประเทศไทย พบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง  และสาขาทั่วทุกภาคตามหนองบึง และ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น  แม่น้ำเจ้าพระยา  ปากน้ำโพ  บึงบอระเพ็ด  แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำท่าจีน   อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  จังหวัดขอนแก่น  อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา  อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์  จังหวัดอุตรดิตถ์  อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี  อ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลาง  จังหวัดยะลา จังหวัดสุโขทัย  จังหวัดพิจิตร  จังหวัดพิษณุโลก และทะเลน้อย จังหวัดสงขลา



แหล่งที่อยู่อาศัย
ปลาบู่ทรายเป็นปลากินเนื้อที่ชอบอยู่นิ่ง ๆ  ตามดินอ่อน  พื้นทรายและ หลบซ่อนตามก้อนหิน  ตอไม้  เสาไม้  รากหญ้าหนา ๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว  ปลาบู่ทรายพบทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยลูกปลาบู่ทรายชอบซ่อนตัวบริเวณรากพืชพันธุ์ไม้น้ำ พวกรากจอก รากผัก

การสืบพันธุ์
 1. ความแตกต่างลักษณะเพศ
 การสังเกตลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาบู่เพศผู้และเพศเมีย  ดูได้จากอวัยวะเพศที่อยู่ใกล้รูทวาร  ปลาเพศผู้มีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กสามเหลี่ยมปลายแหลมส่วนตัวเมียมีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดใหญ่และป้านตอนปลายไม่แหลมแต่เป็นรูขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายถ้วยน้ำชาขนาดเล็ก  เมื่อพร้อมผสมพันธุ์ปลายอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และเมียมีสีแดง   บางครั้งเห็นเส้นเลือดฝอยสีแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศได้ชัดเจน

2. การเจริญพันธุ์และฤดูกาลวางไข่
ปลาบู่โตเต็มวัยเมื่อมีความยาวประมาณ  30  เซนติเมตรขึ้นไป ปลาบู่ที่สามารถขยายพันธุ์ได้มีขนาดตั้งแต่  8  เซนติเมตรขึ้นไปสำหรับปลาเพศเมียที่มีรังไข่แก่ เต็มที่มีขนาดความยาวสุดปลายหาง  12.5  เซนติเมตร        น้ำหนัก  34  กรัม  และเพศผู้มีถุงน้ำเชื้อแก่เต็มที่มีความยาว  14.5  เซนติเมตร น้ำหนัก 44  กรัม  ปลาบู่จะเริ่มสร้างอวัยวะเพศภายในตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งในระยะแรกยังไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นรังไข่หรือถุงน้ำเชื้อ   เมื่อถึงเดือนมีนาคมจึงจะแยกออกได้โดยรังไข่จะมีจุดสีขาวเล็ก ๆ  แล้วเจริญเป็นเม็ดไข่ต่อไป  แต่ถ้าเป็นถุงน้ำเชื้อก็จะเป็นสีขาวทึบขึ้นจากเดิม   รังไข่ที่แก่จัดมีสีเหลืองเข้ม  มีเม็ดไข่อยู่เต็มและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง  ส่วนถุงน้ำเชื้อที่แก่จัดจะมีลักษณะเป็นลายมีรอยหยักเล็กน้อย และมีสีขาวทึบ  ปลาบู่สามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปียกเว้นในช่วงฤดูหนาว  ตลอดฤดูกาลวางไข่ปลาบู่สามารถวางไข่ได้ประมาณ  3  ครั้งต่อปี

3. พฤติกรรมการผสมพันธุ์และวางไข่ 
 การผสมพันธุ์ปลาบู่ในธรรมชาติพบว่าปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่  ได้แก่  ตอไม้  เสาไม้  ทางมะพร้าว   ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว  หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่รังที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่  การผสมพันธุ์ปลาบู่เริ่มตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงตอนเช้ามืด โดยผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา  คือ  ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้ว ตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม  โดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้  เสาไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติด และตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่ โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบก ไปมา  ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักเป็นตัวภายในเวลา  28  ชั่วโมง  ที่อุณหภูมิ  25 - 27  องศาเซลเซียส


4. ความดกของไข่
ปลาบู่เป็นปลาที่มีรังไข่แบบ  2  พู  ปลาบู่ที่มีขนาด ความยาว  15.2  เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่  1.6  กรัม และมีจำนวนไข่ประมาณ   6,800 ฟอง และปลาที่มีความยาว  21.5  เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่  4.7  กรัม   คิดเป็นไข่ประมาณ  36,200  ฟอง  วิวัฒนาการของไข่ปลาบู่ไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.83  มิลลิเมตร  ความยาวของไข่ประมาณ  1.67  มิลลิเมตรเมื่อยึดติดกับวัสดุ   ลูกปลาบู่ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวหลุดออกจากเปลือกไข่จมลงสู่พื้นประมาณ 32   ชั่วโมง   ถึง 5 วัน แล้วลอยไปตามกระแสน้ำ ลูกปลาอายุ 2 วันหลังฟัก ลูกปลา   เริ่มกินอาหาร   เนื่องจากถุงไข่แดงยุบหมดและเห็นปากชัดเจน  มีการว่ายน้ำใน  ลักษณะแนวดิ่ง  คือ พุ่งขึ้นและจมลง มีความยาวเฉลี่ย  4  มิลลิเมตร อายุประมาณ   7  วัน  ลูกปลามีความยาวประมาณ  4.6  มิลลิเมตร  มีลายสี ดำเข้มที่บริเวณส่วนท้องด้านล่างไปจนถึงโคนครีบหางตอนล่าง อายุประมาณ   15  วัน  ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น  5.05  มิลลิเมตร อายุประมาณ   20  วัน  ลูกปลามีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น  7.6  มิลลิเมตร อายุประมาณ   30  วัน  ลูกปลามีความยาวประมาณ   8 - 10   มิลลิเมตร    เกิดลายพาดขวางลำตัวคล้ายพ่อแม่  ส่วนเนื้อใสไม่มีลายและสามารถมองเห็นอวัยวะภายใน อายุประมาณ  37 - 45  วัน  ลูกปลามีลักษณะคล้ายพ่อแม่เพียงแต่มีขนาดเล็ก ส่วนที่เป็นเนื้อใสเปลี่ยนเป็นขุ่นสีน้ำตาลเหลือง

การเพาะเลี้ยงปลาบู่
เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า  รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลองหนองบึง  ในปัจจุบันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  การใช้เครื่องมือจับปลาผิดประเภทและการทำการประมงเกินศักยภาพ  ทำให้ลูกปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง  แต่เนื่องจากความต้องการปลาบู่เพื่อการบริโภคและการส่งออกมีจำนวนสูงยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทำให้มีการขยายตัวด้านการเลี้ยงปลาบู่ ซึ่งกรมประมงได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบู่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี 2 วิธี คือ
1. วิธีการฉีดฮอร์โมน
2. วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ


สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี   ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ  โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไขได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม  และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งมีวิธีดำเนินการ ดังนี้
1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดตายสูงและได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ
1.1 ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์  เพราะไข่ที่ได้มีอัตราฟักและอัตรารอดตายสูง
1.2 พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง  300 - 500  กรัม  แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป
1.3 เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ ๆ  ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว  และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ  ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ
1.4 เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี
1.5 บริเวณนัยต์ตาไม่ขาวขุ่น
1.6 ไม่ใช่ปลาที่จับได้  โดยการใช้ไฟฟ้าช็อตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง
1.7 ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์
1.8 บริเวณครีบอก  ครีบหู  ครีบหาง  และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ
1.9 ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็ก ๆ ก็ตามเพราะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ 


2. การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์
การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ  ขนาดบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแล และจัดการกับพ่อแม่พันธุ์  สำหรับบ่อขนาด  800  ตารางเมตร  ปล่อยพ่อแม่พันธุ์  150  คู่  ให้ผลผลิตดีที่สุดลูกปลาวัยอ่อนเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่  เนื่องจากลูกปลาเหล่านี้เข้ามากินไข่ปลาบู่ได้ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่คอยเฝ้ารังไข่อยู่ก็ตาม  อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม  คือ  ไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย สำหรับระดับน้ำในบ่อควรให้อยู่ช่วง  1.00 - 1.10  เมตร  แล้วทิ้งไว้  2 - 3วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรทำการวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลาเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์

3. การเลี้ยงและดูแลพ่อแม่พันธุ์

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ควรให้อาหารผสมซึ่งมีสูตรอาหารดังนี้
ปลาเป็ด            94        เปอร์เซ็นต์
รำละเอียด           5        เปอร์เซ็นต์
วิตามินเกลือแร่     1       เปอร์เซ็นต์

อาหารผสมดังกล่าวให้ในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักปลาทุกวันหรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทุก 2 วัน เมื่อปลามีความคุ้นเคยกับสูตรอาหารดังกล่าวแล้ว ถ้าหากผู้เลี้ยงต้องการเปลี่ยนสูตรอาหารควรเปลี่ยนทีละน้อยโดยเพิ่มอาหารสูตรใหม่ในอาหารสูตรเดิมสำหรับมื้อแรกที่จะเปลี่ยนอาหาร ควรมีอัตราส่วนอาหารเดิมต่ออาหารใหม่ไม่เกิน 1:1 โดยน้ำหนักเนื่องจากปลาบู่จะไม่ยอมรับอาหารที่เปลี่ยนให้ใหม่ทันที นิสัยปลาบู่ชอบออกหากินตอนเย็นและในเวลากลางคืน ควรให้อาหารปลาบู่ตอนเย็น ส่วนการจัดการน้ำในบ่อควรเปลี่ยนถ่ายน้ำเดือนละประมาณหนึ่งในสี่ของปริมาตรน้ำในบ่อ ซึ่งน้ำที่เข้าบ่อควรมีการกรองหลายชั้นเพื่อป้องกันศัตรูปลาทั้งทางตรงและทางอ้อมเข้ามากับน้ำ พร้อมทั้งล้อมรั้วรอบ ๆ  บ่อพ่อแม่พันธุ์เพื่อป้องกันศัตรูปลาเข้าบ่อ  เช่น  ปลาช่อน  ปลาหมอ  งูกินปลา  ตะกวด  ฯลฯ  ไม่ให้เข้ามาทำร้ายพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงไว้

4. การเพาะพันธุ์ปลาบู่
การเพาะพันธุ์ปลาบู่มี  2  วิธี  คือ  การฉีดฮอร์โมนและการเลียนแบบธรรมชาติ  สำหรับวิธีหลังสามารถผลิตพันธุ์ปลาบู่ได้จำนวนมากและได้อัตราการรอดตายสูง

4.1 วิธีการฉีดฮอร์โมน
 การเพาะพันธุ์ปลาบู่เริ่มครั้งแรกในปี  พ.ศ. 2515 โดยนำปลาบู่เพศผู้ที่มีน้ำหนัก  168 และ  170 กรัม  เพศเมีย  196  กรัม  และ202 กรัม มาทำการฉีดฮอร์โมนเพียงครั้งเดียวด้วยต่อมใต้สมองของปลาในขนาด 1,500  กรัม ร่วมกับคลอลิโอนิค  โกนาโดโทรปิน  (Chorionic Gonadotropin, C.G.0) จำนวน  250  หน่วยมาตรฐาน  (International  Unit,  I.U.)  ฉีดเข้าตัวปลาโดยเฉลี่ยตัวละ  62.5  หน่วยมาตรฐาน  หลังจากฉีดฮอร์โมนแล้วนำพ่อแม่พันธุ์ไปปล่อยลงในบ่อซีเมนต์ขนาด  2 x 3 ตารางเมตร  น้ำลึก  75  เซนติเมตร  และใช้ทางมะพร้าวเป็นวัสดุให้แม่ปลาบู่วางไข่ ปรากฏว่าแม่ปลาที่มีน้ำหนัก 202 กรัม วางไข่ประมาณ10,000 ฟอง มีอัตราการฟัก  90  เปอร์เซ็นต์


4.2 วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ
หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ได้ 3  วันแล้ว  ปักกระเบื้องแผ่นเรียบขนาด  40 x 60  เซนติเมตรหรือวัสดุอื่นที่ง่ายต่อการโยกย้ายลำเลียง เช่น หลักไม้ ตอไม้  ฯลฯ  เพื่อให้ปลาบู่มาวางไข่ นำแผ่นกระเบื้องเหล่านี้ไปปักไว้เป็นจุด ๆ  รอบบ่อแต่ละจุดปักเป็นกระโจมสามเหลี่ยมและหันด้านที่ขรุขระไว้ข้างใน  โดยปักด้านกว้างในดินก้นบ่อ  พร้อมทั้งทำเครื่องหมายปักหลักไม้ไว้แสดงบริเวณที่ปักกระเบื้องเพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเก็บรังไข่  เมื่อปลาบู่มีความคุ้มเคยกับกระเบื้องแผ่นเรียบแล้ว ในตอนเย็นจนถึงตอนเช้ามืดปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มทำการวางไข่ผสมพันธุ์ที่กระเบื้องแผ่นเรียบ  ส่วนใหญ่ปลาบู่วางไข่ติดด้านในของกระโจมกระเบื้อง  รังไข่ปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นรูปวงรี  แต่จะมีบางครั้งเป็นรูปวงกลมลักษณะไข่ปลาบู่เป็นรูปหยดน้ำ สีใส ด้านแหลมของไข่มีกาวธรรมชาติติดอยู่ไว้ใช้ในการยึดไข่ให้ติดกับวัสดุ  ช่วงเช้าหรือเย็นของทุกวันให้ทำการตรวจสอบแผ่นกระเบื้องและนำกระเบื้องที่มีรังไข่ปลาบู่ติดไปฟัก  การลำเลียงรังไข่ปลาบู่ควรให้แผ่นกระเบื้องที่มีไข่ปลาแช่น้ำอยู่ตลอดเวลา  ข้อควรระวังในการเก็บรังไข่ขึ้นมาฟัก  คือ  เมื่อพบกระเบื้องที่มีรังไข่ติดอยู่แล้ว  ต้องนำขึ้นไปฟักททันที  เพระถ้านำกลับลงไปปักไว้ที่เดิมพ่อแม่ปลาบู่ที่เฝ้าอยู่ใกล้ ๆ จะมากินไข่หมด ในกรณีกระเบื้องแผ่นเรียบที่ผ่านการใช้งานมานานควรทำความสะอาดโดยแช่แผ่นกระเบื้องในสารเคมีกำจัดเชื้อรา  ได้แก่ มาลาไค้ท์กรีน ชนิดปราศจากธาตุสังกะสี ความเข้มข้น 2.4 พีพีเอ็ม ตลอดคืน    ก่อนนำไปปักเป็นกระโจมในบ่อดิน

5. การฟักไข่
การฟักไข่ปลาบู่ทำในตู้กระจกขนาดกว้าง  47  เซนติเมตร  ยาว  77  เซนติเมตร  ลึก  60  เซนติเมตร  โดยใส่น้ำลึก  47 - 50 เซนติเมตร  ก่อนนำรังไข่มาฟักต้องฆ่าเชื้อด้วย  มาลาไค้ท์กรีน  ชนิดปราศจากสังกะสี  ความเข้มข้น  1  พีพีเอ็ม  โดยวิธีจุ่ม  การฟักไข่ต้องให้อากาศตลอดเวลา ตู้กระจกขนาดดังกล่าว  1  ตู้ใช้ฟักรังไข่ปลาบู่  4  รัง  เมื่อไข่ฟักเป็นตัวจนหนาแน่นตู้กระจกแล้วก็รวบรวมลูกปลาไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด  6  ตางรางเมตร เนื่องจากไข่ปลาฟักเป็นตัวไม่พร้อมกัน   จึงจำเป็นต้องคอยย้ายรังไข่ออกไปฟักในตู้กระจกอันเนื่องมาจากของเสียที่ไข่ปลาและลูกปลาขับถ่ายออกมาและการสลายตัวของไข่เสีย  โดยปกติไข่ปลาจะใช้เวลาฟักออกมาเป็นตัวหมดทั้งรังประมาณ  3 - 5  วัน

การอนุบาล
การอนุบาลลูกปลาบู่แบ่งตามอายุของลูกปลาเป็น  3  ระยะคือ
 1)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก
 2)  การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่
 3)  การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่หรือในบ่อดิน

1. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดเล็ก
การอนุบาลช่วงนี้เป็นช่วงที่สำคัญในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่  การอนุบาลลูกปลาให้ได้อัตราการรอดตายต่ำหรือ สูงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ  4  ประการ คือ อัตราการปล่อย การจัดการน้ำในการอนุบาล การให้อากาศ ชนิดอาหารและการให้อาหาร
1.1 อัตราการปล่อยลูกปลาบู่วัยอ่อน ควรปล่อยอัตรา  20,000 ตัว ต่อ 6 ตารางเมตร หรือ ปริมาณ 3,300 ตัว/ตารางเมตร
1.2 การจัดการน้ำในการอนุบาล  เนื่องจากลูกปลาบู่วัยอ่อนมีขนาดเล็กมากและบอบช้ำง่าย  ดังนั้น  การจัดการระบบน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ ลูกปลาบอบช้ำ  ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำต้องทำอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้ลูกปลาบอบช้ำ   ในการอนุบาลวันแรกควรเติมน้ำโดยกรองผ่านผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำเฉลี่ย  20 - 25  เซนติเมตร  จนได้ระดับน้ำเฉลี่ย  40 - 45  เซนติเมตรจึงเริ่มถ่ายน้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำทั้งหมดทุกวันจนลูกปลาอายุได้ 1 เดือน การเพิ่มระดับน้ำในระยะแรกควรเปิดน้ำเข้าช้า ๆ  อย่าเปิดน้ำรุนแรงเพราะลูกปลาในช่วงระยะนี้บอบบางมากและเพื่อไม่ให้ของเสียที่อยู่ก้นบ่อฟุ้งกระจายขึ้นเป็นอันตรายต่อลูกปลาวัยอ่อน  ส่วนการถ่ายเทน้ำในบ่อควรถ่ายน้ำออกโดยใช้วิธีกาลักน้ำผ่านกล่องกรองน้ำ  การสร้างกล่องกรองน้ำนี้ควรให้มีขนาดพอเหมาะกับบ่ออนุบาลเพื่อสะดวกในการทำงานและขนย้าย  กล่องกรองน้ำทำด้วยโครงไม้หรือท่อพีวีซีบุด้วยผ้าโอลอนแก้ว การถ่ายน้ำออกควรทำอย่างช้า  ๆ  เพราะลูกปลาบู่วัยอ่อนสู้แรงน้ำที่ดูดออกทิ้งไม่ได้  ลูกปลาจะไปติดตามแผงผ้ากรองตายได้ในช่วงท้ายของการอนุบาลประมาณ  1 - 2  อาทิตย์  สามารถเปลี่ยนผ้ากรองให้มีขนาดตาใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อยจากเดิม โดยให้มีความสัมพันธ์กับขนาดลูกปลาบู่
1.3 การให้อากาศ  การให้อากาศในบ่ออนุบาลสำหรับลูกปลาวัยอ่อนในช่วงครึ่งเดือนแรกจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศผ่านหัวทรายอย่างช้า ๆ  และค่อย ๆ เพราะลูกปลาระยะนี้ยังไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เคลื่อนตามแรงดันอากาศมาก ๆ  ได้
1.4 ชนิดอาหารและการให้อาหาร  อาหารที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบู่ส่วนใหญ่เป็นอาหารธรรมชาติมีชีวิต  ยกเว้นระยะแรกที่ลูกปลาเพิ่งฟักจะให้อาหารไข่ระยะต่อมาให้โรติเฟอร์และไรแดง 


วิธีการเตรียมอาหารและการให้อาหารมีชีวิต
1.4.1  อาหารไข่
ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เป็นเนื้อเดียวกัน   และใช้น้ำร้อนเติมลงไปขณะที่ตีไข่ในอัตราส่วนน้ำร้อน  150  ซีซีต่อไข่  1  ฟองนำอาหารไข่ไปกรองด้วยผ้าโอลอนแก้วแล้วกรองด้วยผ้ากรองแพลงก์ตอนขนาดตา  59  ไมครอน อีกครั้งหนึ่ง  นำไปอนุบาลลูกปลาช่วง  3  วันแรกของการอนุบาลในช่วงเช้า  กลางวันและเย็น ปริมาณที่ให้โดยเฉลี่ย 40 ซี.ซี. ต่อบ่อต่อครั้ง

1.4.2  โรติเฟอร์น้ำจืด
โรติเฟอร์เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กมีหลายชนิดทั้งที่อาศัยอยู่ในน้ำกร่อยและน้ำจืด  ส่วนโรติเฟอร์น้ำจืดที่นำมาใช้อนุบาลลูกปลาบู่วัยอ่อน  คือ  Brachinonus  calyciflorus  ในการเพาะโรติเฟอร์นั้นต้องเพาะสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า  คลอเรลล่า  หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำเขียว เพื่อให้เป็นอาหารของโรติเฟอร์

1. ใส่น้ำเขียวคลอเรลล่า ที่มีความหนาแน่นประมาณ 5 x 10 เซลล์/1 ซี.ซี.ประมาณ  2  ตัน ทิ้งไว้  2 - 3 วัน  ระหว่างนั้นต้องคนบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เมื่อสีน้ำเข้มขึ้นให้เพิ่มระดับน้ำเป็น  40  เซนติเมตร และใส่ปุ๋ยในปริมาณครึ่งหนึ่งของปุ๋ยที่ใช้ในข้อ 2
2. ทิ้งไว้  2 - 3  วัน น้ำจะมีสีเขียวเข้มให้นำโรติเฟอร์ที่กรองจนเข้มข้นประมาณ  20  ลิตร  (ความหนาแน่น  3,621  ตัวต่อซี.ซี.)  มาใส่ในบ่อเพาะน้ำเขียวถ้าเป็นไปได้ควรมีการเพิ่มอากาศลงในบ่อเพาะ
3. เมื่อโรติเฟอร์ขยายตัวเต็มที่  น้ำจะเป็นสีชาและมีฟองอากาศลอยตามผิวน้ำมาก  ก็ให้การกรองโรติเฟอร์ไปใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงลูกปลาบู่วัยอ่อนด้วยผ้าแพลงก์ตอน  59  ไมครอน  หลังจากโรติเฟอร์เหลือจำนวนน้อยในบ่อให้ล้างบ่อและดำเนินการเพาะโรติเฟอร์ขึ้นใหม่ ทั้งนี้ควรให้โรติเฟอร์น้ำจืดอนุบาลลูกปลาบู่ในตอนเช้า กลางวัน และเย็นมื้อละ  4 - 6  ลิตร/บ่อ/ครั้ง  สำหรับลูกปลาอายุ  2 - 12  วัน หลังจากนั้นค่อย ๆลดปริมาณให้โรติเฟอร์จนลูกปลาอายุได้  30 - 37  วัน

1.4.3  ไรแดง
ไรแดงเป็นแพลงก์ตอนสัตว์อีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กแต่ขนาดใหญ่กว่าโรติเฟอร์อย่างเห็นได้ชัด  ชอบอยู่รวมกลุ่มมีสีแดง  สำหรับวิธีเพาะไรแดง มีขั้นตอน คือ
1. ทำความสะอาดบ่อซีเมนต์และตากทิ้งไว้  1  วัน
2. กรองน้ำด้วยถุงกรองผ้าโอลอนแก้วให้ได้ระดับน้ำ  20  เซนติเมตรและละลายปุ๋ยตามสูตรใดสูตรหนึ่ง ดังนี้

สูตรที่ 1 :  อามิ - อามิ หรือกากผงชูรส จำนวน  5 ลิตร
ปุ๋ย N-P-K สุตร 16 - 20 - 0 จำนวน  2 ก.ก.
รำละเอียด   จำนวน  5  ก.ก.
ปูนขาว    จำนวน  3 ก.ก.

สูตรที่ 2 : อามิ - อามิ   จำนวน  20 ลิตร
ปุ๋ย N-P-K สูตร 16 - 20 - 0 จำนวน  1.5 ก.ก.
ยูเรีย    จำนวน  1.5 ก.ก.
ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟส  จำนวน  260 กรัม
ปูนขาว    จำนวน  3 ก.ก.

3. เติมน้ำเขียวลงบ่อประมาณ  1 - 2  ตัน คนบ่อย ๆ ประมาณ  3  วัน คลอเรลล่าขยายตัวเต็มที่ซึ่งสีน้ำจะมีสีเขียวเข้ม
4. ใส่ไรแดงประมาณ  1.5 - 2.0  กิโลกรัม
5. ประมาณ  2 - 3  วัน  ต่อมา  ไรแดงจะยายตัวเต็มที่แล้วดำเนินการรวบรวมไรแดงจนหมดบ่อ หลังจากนั้นเริ่มต้นเพาะไรแดงใหม่ต่อไป

การให้ไรแดงควรให้เมื่อลูกปลามีอายุ  12  วันขึ้นไป และควรให้ไรแดงในปริมาณ  200 กรัม/6  ตารางเมตร/ครั้ง  ในตอนเช้า  กลางวัน  และเย็น จนลูกปลามีอายุประมาณ  25  วัน  จึงลดปริมาณลงตามความเหมาะสม ลูกปลาบู่อายุ  30 - 37  วัน  มีความยาวประมาณ  8 - 10  มิลลิเมตร  จึงย้ายลูกปลาบู่ไปอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่

2. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่
เมื่อลูกปลาอายุได้ประมาณ 1 เดือนก็ทำการย้ายไปอนุบาลต่อในบ่อซีเมนต์ขนาด  50  ตารางเมตร  ที่มีระดับน้ำประมาณ 40 - 50  เซนติเมตรโดยคัดลูกปลาให้มีขนาดใกล้เคียงกัน  แล้วปล่อยลูกปลาในอัตราตารางเมตรละ  100 - 160  ตัว   ในช่วงสัปดาห์แรกให้อาหารธรรมชาติมีชีวิต ได้แก่  ไรแดง  หนอนแดง  ฯลฯ  ประมาณ  10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลาช่วงสัปดาห์ที่สองเริ่มฝึกให้กินอาหารสมทบที่มีสูตรอาหารประกอบด้วยปลาเป็ด 94  เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด  5  เปอร์เซ็นต์  วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์ การฝึกให้ลูกปลาบู่กินอาหารสมทบ  ควรค่อย ๆ  ลดปริมาณไรแดงและเพิ่มอาหารสมทบสำหรับอาหารสมทบนั้นปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ  โยนให้ลูกปลาบู่รอบบ่อ และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ๆ ละ  5 - 10  เซนติเมตร  การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อกลางแจ้งอาจประสบปัญหาสาหร่ายชนิดที่ไม่ต้องการโดยเฉพาะพวกที่เป็นเส้นใยขึ้นทั่วบ่อระหว่างอนุบาลลูกปลาซึ่งยากลำบากต่อการดูแล   ควรใช้น้ำเขียวเติมเป็นระยะ ๆ  ตามความเหมาะสมของคุณภาพน้ำความขุ่นและสีน้ำ อีกทั้งช่วยขยายอาหารธรรมชาติในบ่อ ได้แก่ ไรแดง อีกด้วย 


3. การอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่  หรือในบ่อดิน
การอนุบาลลูกปลาบู่ขนาด 2.5  เซนติเมตรขึ้นไปส่วนใหญ่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์และบ่อดินส่วนการเลี้ยงในกระชัง นั้นปรากฏว่าไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ มีอัตรารอดและอัตราการเจริญเติบโตต่ำไม่เหมาะสมที่จะใช้อนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าว สำหรับการอนุบาลลูกปลาขนาดดังกล่าวในบ่อซีเมนต์ลูกปลาจะมี อัตรารอดสูงกว่าบ่อดินและรวบรวมปลาบู่ได้สะดวก  แต่อัตราการเจริญเติบโตช้าโดยปล่อยลูกปลาขนาด  5  เซนติเมตร  จำนวน  3,000  ตัว หรือตารางเมตรละ60  ตัว ให้อาหารปลาประกอบด้วย  ปลาเป็ด  94  เปอร์เซ็นต์  รำละเอียด  5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์  ระยะเวลาเลี้ยง  90  วัน  อัตรารอด ประมาณ  85  เปอร์เซ็นต์  ลูกปลาที่มีน้ำหนักเฉลี่ย  1.46  กรัม  เพิ่มขึ้นเป็น 4.97  กรัม  ความยาวเฉลี่ย  5  เซนติเมตรเพิ่มเป็น  7.55  เซนติเมตร นอกจากนี้ การติดตั้งระบบน้ำหมุนเวียนโดยดึงน้ำจากบ่อพักมาเลี้ยงลูกปลาบู่แล้วปล่อยกลับสู่บ่อดินหมุนเวียนตลอดเวลาก็สามารถทำได้ ส่วนการอนุบาลลูกปลาบู่ในบ่อดินได้อัตรารอดไม่สูงนักและรวบรวมลูกปลา ได้ลำบากแต่มีการเจริญเติบโตเร็ว  จากการทดลองเลี้ยงปลาบู่ในบ่อดินของสถานีเพาะเลี้ยงปลาจังหวัดปทุมธานี  ใช้เวลาเลี้ยง  2  เดือน  โดยใส่ปุ๋ยมูลไก่แห้งเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติ และให้อาหารสมทบ (ปลาเป็ด  94  เปอร์เซ็นต์ รำละเอียด  5 เปอร์เซ็นต์ วิตามินเกลือแร่  1  เปอร์เซ็นต์)  ในอัตรา  10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนัก ปลาพบว่า  ได้อัตรารอดเฉลี่ย  44  เปอร์เซ็นต์น้ำหนักลูกปลาเริ่มปล่อย 0.04 - 0.39 กรัม ได้น้ำหนักเฉลี่ย  2.4  กรัม
จากการศึกษาอัตราปล่อยลูกปลาบู่ขนาด  1.5 - 3.0  เซนติเมตรในบ่อดิน พบว่า อัตราปล่อย  10,000  ตัวต่อบ่อดินครึ่งไร่ หรือตารางเมตรละ  12.5  ตัวใน เวลา  1  เดือน ได้อัตรารอดมากที่สุด คือ  61.06  เปอร์เซ็นต์

การเลี้ยงปลาบู่
ปลาบู่มีราคาแพงจึงเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก  ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงปลาบู่อย่างกว้างขวาง  การเลี้ยงปลาบู่มีเลี้ยงกันในบ่อซีเมนต์  บ่อดินและกระชัง  แต่ที่นิยมเลี้ยงกันมากเป็นการเลี้ยงในกระชังส่วนบ่อดินก็มีผู้เลี้ยงกันอยู่บ้างทั้งในรูปการเลี้ยงแบบเดี่ยว แบบรวม และแบบผสมผสานสำหรับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์มีการเลี้ยงอยู่น้อยมากเพราะลงทุนสูง  และต้องการน้ำสะอาดในการเลี้ยง

รูปแบบการเลี้ยงปลาบู่
1. การเลี้ยงปลาในบ่อดิน
ส่วนใหญ่จะเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น   เช่น เลี้ยงร่วมกับปลานิลเพื่อไว้คุมจำนวนประชากรของลูกปลานิลไม่ให้แน่นบ่อเช่นเดียวกับปลาช่อน  นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นใต้เล้าไก่   หรือเล้าหมูโดยปล่อยอัตราส่วนปลาบู่ต่ำซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงจะหาซื้อพันธุ์ได้จำนวนมากน้อยเท่าใดเมื่อเลี้ยงปลามีน้ำหนัก  400 - 500  กรัมขึ้นไปจึงจับจำหน่ายแล้วหาพันธุ์ปลามาปล่อยชดเชย อาหารที่ให้เป็นพวกปลาเป็ดบดปั้นเป็นก้อน ๆ ใส่ลงในเรือแจวให้อาหารเป็นจุด ๆ  รอบบ่อ  จุดที่ให้อาหารมีกระบะไม้ปักอยู่เหนือก้นบ่อเล็กน้อยในช่วงตอนเย็นปริมาณอาหารที่ให้ประมาณ  5  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา  ใช้เวลาเลี้ยง  8 - 12  เดือนจับจำหน่ายน้ำหนักปลาที่นิยมรับซื้อตั้งแต่  400 - 800 กรัมไม่เกิน  1  กิโลกรัม

2. การเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง
ปลาบู่เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในกระชังเนื่องจากสามารถเลี้ยงได้หนาแน่นในที่แคบได้ และเป็นปลากินเนื้อจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารธรรมชาติมากนัก ถึงแม้ว่าปลาบู่มีนิสัยชอบอยู่นิ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ชอบที่ที่มีน้ำไหลผ่านโดยเฉพาะน้ำที่มี่ความขุ่นยิ่งดีเพราะปลาบู่ตกใจง่ายเมื่อเลี้ยงในน้ำใสปลาบู่เป็นปลาที่มีราคาแพง ที่ปากกระชังราคากิโลกรัมละ  320  บาท (ราคาปี 2541)

การเลี้ยงปลาบู่ในกระชังมีวิธีการดังนี้
1. การเลือกสถานที่  การเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการวางกระชังปลาบู่นับเป็นจุดเริ่มต้นการเลี้ยงที่สำคัญที่สุด ถ้าเลือกสถานที่เลี้ยงได้ดี ทำให้ปลาบู่เจริญเติบโตเร็ว อัตรารอดสูง ทุ่นค่าใช้จ่ายในการจัดการ สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง คือ
1. คุณสมบัติของน้ำดีและมีปริมาณเพียงพอตลอดปี
2. ใกล้แหล่งหาพันธุ์ปลาและอาหารปลาได้ง่าย ราคาถูก
3. การคมนาคมสะดวกต่อการลำเลียงพันธุ์ปลาและอาหารปลา
4. ไม่อยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีสำหรับการเกษตรมากเพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำ
5. น้ำมีความขุ่นพอสมควรเพราะปลาบู่ชอบที่มืด  ช่วยให้ปลากินอาหารได้ดีและไม่ตกใจง่าย
6. ความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า  2  เมตร
7. มีกระแสน้ำที่ไหลแรงพอสมควร
8. ปลอดภัยจากการถูกลักขโมย
9. ปราศจากศัตรูและภัยธรรมชาติ
10. ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำและไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

2. ประเภทของกระชัง กระชังส่วนใหญ่เป็นกระชังไม้ไผ่หรือไม้จริง ส่วนกระชังตาข่ายไนลอนหรือใยสังเคราะห์หรือตาข่ายเหล็กที่ใช้เลี้ยงปลาน้ำกร่อยยังไม่เป็นที่นิยมของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืด กระชังแบ่งเป็นประเภท ๆ ดังนี้
2 .1 กระชังไม้ไผ่ล้วน ๆ  เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงปลาที่มีทุนน้อย  อายุการใช้งานประมาณ  1 - 1.5  ปี  กระชังที่ใช้กันทั่วไปมีขนาดกว้าง  2  เมตร  ยาว  5เมตร  ลึก  1.5  เมตร ราคากระชังละประมาณ  1,600 - 2,000  บาท  ไม้ไผ่ที่ใช้จะเหลาให้เรียบขนาดกว้าง  2.5  เซนติเมตร  หนา  0.5  เซนติเมตร  สานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเฝือกไม้ไผ่ปิดด้านบน  ใช้ลูกบวบไม้ไผ่ประมาณ  50  ลำ  ข้อเสียของกระชังแบบนี้ คือ  กระแสน้ำไหลถ่ายเทไม่สะดวกมีเศษอาหารเหลือตกค้างในกระชังและทำความสะอาดกระชังยาก
2.2 กระชังทำด้วยไม้ไผ่แต่โครงกระชังเป็นไม้จริง  นำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีก ๆละประมาณ  3  นิ้ว  ตัดเป็นท่อนตามความกว้างและความยาวของขนาดกระชังที่จะสร้างและตีไม้ไผ่รอบทุกด้านของโครงกระชังไม้จริงให้มีช่วงห่างประมาณ 1/2เซนติเมตร  เพื่อให้น้ำไหลผ่านและใช้ไม้ไผ่ขนาดเดียวกัน  ทำฝาปิดกระชังใช้ลูกบวบประมาณ  25  ลำ  อายุการใช้งานประมาณ  2  ปี  ค่าสร้างกระชังประมาณ2,800 - 3,200  บาท 2.3 กระชังไม้จริง  เหมาะสำหรับผู้ที่มีทุนมาก  กระชังชนิดนี้มีความทนทานอายุการใช้งาน  5 - 7  ปี  กระชังสร้างด้วยไม้ขนาดหน้า  4  นิ้ว  ใช้ไม้ขนาดหน้า4  นิ้ว   หนา  1  หน้า  ไสกบให้เรียบปิดพื้นและด้านข้าง  4  ด้าน  โดยให้มีระยะห่าง  1.5 - 2  เซนติเมตร  ด้านบนตีไม้ปิดเช่นเดียวกับด้านข้าง  และมีช่องปิด - เปิดสำหรับให้อาหารขนาดกว้าง  40  เซนติเมตร  ยาว  50  เซนติเมตร  ทุ่นลอยใช้ลูกบวบประมาณ  100  ลำ  กระชังไม้จริงขนาด  13  ตารางเมตร  ลึก  1.5  เซนติเมตรราคา  25,000  บาท  เมื่อย่างเข้าปีที่ 

3 ต้องทำการซ่อมแซมและซ่อมแซมใหม่ทุก ๆ 2 ปี
กระชังไม้จริงที่นิยมใช้มี 3 ขนาด คือ
ขนาดที่ 1  กว้าง  2.5  เมตร  ยาว  8  เมตร  ลึก  1.5  เมตร
ขนาดที่ 2  กว้าง  2.5  เมตร  ยาว  5  เมตร  ลึก  1.5  เมตร
ขนาดที่ 3  กว้าง  2.5  เมตร  ยาว  3  เมตร  ลึก  1.5  เมตร

3. ขนาดกระชัง ขนาดกระชังที่ใช้เลี้ยงปลาบู่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เลี้ยงซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับขนาดของแหล่งน้ำและเงินทุนโดยทั่วไปกระชังมีขนาดตั้งแต่ 2 x 3  เมตร  2 x 5  เมตร  2.5 x 3  เมตร  2.5 x 8  เมตร  กระชังด้านบนมีฝาปิดเปิดและติดกุญแจป้องกันการลักขโมย <br />

4. อัตราการปล่อย  พันธุ์ปลาบู่ที่นิยมนำมาเลี้ยงส่วนใหญ่มีขนาด  100 - 300 กรัม  ซึ่งได้จากการรวบรวมจากธรรมชาติหรือซื้อจากพ่อค้าคนกลางที่ดำเนินการทั้ง ขายพันธุ์และรับซื้อปลาบู่ขนาดตลาดส่งเข้ากรุงเทพฯ  ปลาบู่มีนิสัยชอบนอนนิ่งอยู่บริเวณก้นกระชังทำให้สามารถปล่อยปลาบู่ได้หนาแน่น ประมาณ  70 - 100  ตัวต่อตารางเมตร  หรือ  10 - 30  กิโลกรัมต่อลูกกาศก์เมตร  ในแหล่งน้ำที่มีการไหลถ่ายเทของน้ำดีมากผ่านในกระชัง   ถ้าแหล่งน้ำใดมีคุณสมบัติน้ำไม่ดีและไหลถ่ายเทช้า  ควรปล่อยตารางเมตรละ  40 - 50  ตัว  ก่อนปล่อยพันธุ์ปลาลงในกระชังควรทำให้ปลามีความคุ้นเคยกับน้ำที่จะเลี้ยงโดยเอาน้ำในกระชังปนลงไปในภาชนะด้วยและควรฆ่าเชื้อป้องกันโรคเสียก่อน

การป้องกันโรค
ก่อนปล่อยพันธุ์ปลาบู่ลงเลี้ยงควรแช่ปลาในน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น  10  เปอร์เซ็นต์  แล้วนำมาแช่ในด่างทับทิมซึ่งมีความเข้มข้น 5 - 10พีพีเอ็ม  นาน  20  นาที  อีกครั้งหนึ่งเพื่อกำจัดหนอนสมอ แล้วนำไปแช่ในน้ำยาเมทธิลีนบลูเข้มข้น 2 - 3 พีพีเอ็ม  หลังจากนั้นนำไปปล่อยลงเลี้ยงในกระชัง เครื่องมือที่ใช้รวบรวมพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาตินิยมใช้ลอบ  ข่าย สวิง ยกยอ  ฯลฯ  แล้วนำปลาไปพักรวมกันในกระชังจนได้ปริมาณมากพอจึงค่อยลำเลียงพันธุ์ปลาไปยังผู้เลี้ยง  ทั้งนี้ควรป้องกันพันธุ์ปลาไม่ให้เกิดความบอบช้ำหรือมีบาดแผลและเกิดความเครียด  โดยก่อนพักปลาลงในกระชังควรทำการฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับตัวปลาโดยแช่ปลาในน้ำที่ผสมเฟอราเนซความเข้มข้น  1 - 2  กรัมต่อน้ำ  100  ลิตรแช่ไว้  5 - 15  นาที  หรือแช่ในสารละลายด่างทับทิมที่มีความเข้มข้น  10  พีพีเอ็ม นาน  10  นาที  ในระหว่างพักปลาควรดูแลเอาใจใส่  และให้อาหารเพียงพอเพื่อให้ปลาแข็งแรงขึ้นก่อนลำเลียงไปเลี้ยงในกระชังต่อไป

5. อาหารและการให้อาหาร  ปลาบู่จัดเป็นปลากินเนื้อ  อาหารที่ดีควรมี
โปรตีน 38 - 40  เปอร์เซ็นต์ 
ไขมัน  5 - 8  เปอร์เซ็นต์
คาร์โบไฮเดรต  9 - 12  เปอร์เซ็นต์
วิตามินและแร่ธาตุ  0.5 - 1 เปอร์เซ็นต์

อาหารใช้เลี้ยงปลาบู่แบ่งเป็น  2  ชนิด
 5.1 อาหารแบบพื้นบ้านเป็นอาหารสดได้จากการนำปลาเป็ดจากทะเลหรือปลาน้ำจืดมาสับให้ปลากิน  หรือใช้เครื่องบดอาหารซี่งมีผลดีทำให้กระดูกปลาเป็ดป่นย่อยละเอียดไม่เป็นอันตรายต่อสำไส้ปลาบู่ ประหยัดเวลาและแรงงาน
สูตรอาหารปลา  คือ  ปลาเป็ดสดบดละเอียด 94 เปอร์เซ็นต์      รำละเอียด   5 เปอร์เซ็นต์      วิตามินและเกลือแร่  1 เปอร์เซ็นต์ (เกษตรกรบางรายผสมหัวอาหารหมูหรือไก่ลงไปด้วย)  และควรใส่เกลือป่นในอัตรา100  กรัม  ต่ออาหาร  3  กิโลกรัม เพื่อทำให้อาหารจับตัวเหนียวขึ้นป้องกันการละลายหรือลอยตัวของอาหาร

5.2 อาหารผสมสูตรสำเร็จแบบเปียก  อาหารชนิดนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเตรียมจากวัสดุอาหารแห้งและเปียก สะดวกในการจัดเก็บได้นานในตู้เย็น  เตรียมง่าย และถูกสุขลักษณะทั้งยังสามารถเติมยาปฏิชีวนะและฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ปลาบู่กินอาหารเชื่องช้ากว่าปลาชนิดอื่น  จึงควรปั้นเป็นก้อนใส่ถาดแขวนไว้ในกระชังให้ต่ำกว่าระดับผิวน้ำประมาณ  50  เซนติเมตร  การให้อาหารจะให้อาหารทุก ๆ วัน ละ  3 - 5  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาในกระชังให้  2  วันครั้ง ๆ ละ 8 - 10  เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา  การให้อาหารควรสังเกตว่าปลากินอาหารหมดหรือไม่และค่อยปรับเพิ่มหรือลดอาหาร

6. อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อ   อัตราการแลกอาหารเป็นเนื้อปลาบู่ที่เลี้ยงด้วยปลาเป็ดอยู่ระหว่าง  7.3 - 12.2 : 1
7. การจัดการ  การเลี้ยงปลาบู่ในกระชังควรมีการจัดการด้านการทำความสะอาด การดูแลรักษาและการคัดขนาด

7.1การทำความสะอาดควรใช้แปรงขัดภายในกระชังให้ตะไคร่น้ำตะกอนที่ติดตามตะไคร่น้ำและตัวกระชังออก   รวมทั้งเศษอาหารเพราะเป็นแหล่งหมักหมมและก่อให้เกิดเชื้อโรค  หลังจากปลาบู่เอาด้านข้างตัวไปถูกับด้านข้างกระชังหรือพื้นกระชังอาจทำให้ตัวเป็นแผลและเชื้อโรคตามตะกอนหรือตะไคร่น้ำเข้าตัวปลาทางแผลได้
 กรณีที่มีตะกอนดินทับถมในกระชังมาก ควรใช้พลั่วแซะตะกอนออก หรือใช้เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบจุ่มฉีดไล่ตะกอนเกษตรกรบางรายนิยมใช้ด่างทับทิมห่อด้วยผ้าถูตามภายในกระชังเพื่อฆ่าเชื้อ
7.2  การคัดขนาด   การเลี้ยงปลาบู่ต้องทำการคัดขนาดปลาบ่อย ๆ  ครั้งปกติเดือนละครั้งหรืออย่างน้อย  2  เดือนต่อครั้ง  เนื่องจากปลาบู่เป็นปลากินเนื้อและมีนิสัยก้าวร้าว  ปลาตัวใหญ่จะคอยไล่ไม่ให้ปลาตัวเล็กได้มีโอกาสเข้ามากินอาหารทำให้ปลาตัวเล็กผอมลงพฤติกรรมก้าวร้าวนี้เกิดขึ้นในลูกปลาบู่ตัวเล็กเหมือนกันคือถ้าลูกปลามีขนาดต่างกันมากจะกินกันเองแต่ในปลาบู่ขนาดใหญ่จะมีพฤติกรรมกัดกันเองและไล่กันไปมา  การคัดขนาดปลาบู่ทำให้ปลามีขนาดโตเท่ากันสม่ำเสมอเติบโตเร็วและเพิ่มผลผลิตอีกด้วย
7.3  การป้องกันโรค  ผู้เลี้ยงควรหมั่นดูแลสุขภาพของปลาบู่อยู่เสมอตรวจดูกระชังภายในให้อยู่ในสภาพดีและควรถือหลักป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากกว่าที่ปลอ่ยให้ปลาเป็นแล้วทำการรักษาทีหลัง

8. อัตรารอด  อัตราการรอดตายในการเลี้ยงปลาบู่ขึ้นอยู่ปัจจัยความแข็งแรงของพันธุ์ปลา คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ความสามารถ ความชำนาญในการเลี้ยง และสภาพสิ่งแวดล้อม

 9. อัตราการเจริญเติบโต  อัตราการเจริญเติบโตของปลาบู่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ  อาทิ  อัตราปล่อย  คุณภาพและปริมาณอาหาร  คุณสมบัติน้ำ  ฯลฯจากการเลี้ยงปลาบู่ที่แม่น้ำน่าน จ. นครสวรรค์  พบว่าอัตราปล่อย  ตารางเมตรละ32 ตัว  ใช้เวลา 7 เดือนจะให้ผลผลิตสูงสุด

10. ผลผลิต  ผลผลิตการเลี้ยงปลาบู่ในกระชังไม้ไผ่ขนาด  10  ลูกบาศก์เมตร อัตราการปล่อยปลา  915  ตัว  น้ำหนักเฉลี่ย  224  กรัม  ใช้เวลาเลี้ยง  5.3  เดือนได้น้ำหนักเฉลี่ย 435 กรัม ส่วนกระชังไม้จริงขนาด 15 ลูกบาศก์เมตร อัตราการปล่อยอาหาร  1,500  ตัว  น้ำหนักเฉลี่ย  184  กรัม  ใช้เวลาเลี้ยง  8.5  เดือน ได้น้ำหนักเฉลี่ย  422  กรัม  การเลี้ยงปลาบู่ถ้ามีการเอาใจใส่การเลี้ยงปลา มีประสบการณ์ความชำนาญและสภาพแวดล้อมดี ปลาไม่เป็นโรคก็จะให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่สูง ขายได้ราคาแพง และมีกำไรสูง

โรคพยาธิและการป้องกัน
เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบู่ส่วนใหญ่มีความวิตกเรื่องโรคที่จะเกิดขึ้น  ดังนั้นการป้องกันโรคไว้ก่อนจึงเป็นทางเดียวที่จะไม่ทำให้ปลาบู่เป็นโรค   ซึ่งผู้เลี้ยงต้องคอยเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของปลาบู่   การจัดการที่ดีทำให้ปลามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอีกทั้งต้องหมั่นสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบของกระชัง  เช่น  คุณภาพน้ำทางต้นน้ำอาการเป็นโรคของปลาในธรรมชาติ สำหรับโรคพยาธิที่พบในปลาบู่ แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ

1. พยาธิภายนอก
1.1 พยาธิภายนอกที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่
      - หนอนสมอ  พบมากตามซอกเกล็ด  ครีบและในช่องปาก พยาธิพวกนี้จะดูดเลือดปลาทำให้ปลาอ่อนแอ
      - เออกาซิลัส  ดูดเลือดตามเหงือกปลา ถ้าเกาะนาน ๆ ทำให้ เหงือกกร่อน ก่อให้เกิดปัญหากับระบบหายใจ
      - โกลซิเดีย  เป็นตัวอ่อนของหอย  2  ฝา  เกาะตามซี่เหงือก ทำให้ลดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน

1.2  พยาธิภายนอกที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ ทริกโคไดนา ฮีนีกูยา อีพัสไทลิส ชิโลโดเนลลา แดคไทโรจัยลัส อาการปลาบู่ที่มีพยาธิเหล่านี้คือลอยหัว เกล็ดหลุด เหงือกซีด บางครั้งพบจุดขาว ๆ ประปรายทั่วไป
2. พยาธิภายใน ได้แก่  พยาธิตัวกลม  พยาธิหัวหนาม  ทำให้ปลาผอม ไม่กินอาหาร
3. เชื้อรา ได้แก่  แซปโปรเลกเนีย  ขึ้นเป็นกระจุกมีแขนงมากมายบริเวณ ผิวหนังของลำตัว  เชื้อนี้จะฝังลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อทำให้เกล็ดหลุดเกิดบาดแผลปลาอ่อนแอ
4. เชื้อบัคเตรี  ได้แก่  แอโรโมแนสไฮโดรฟิลา คอรีนีแบคทีเรียม สเตรปโตคอคคัส อาการที่พบคือ ท้องบวม ตาโปน แผลตามลำตัว เกิดน้ำเหลืองในช่องท้อง ไตบวม  เป็นต้น  สำหรับเชื้อแอโรโมแนส  ไฮโดรฟิลา  เป็นตัวที่ก่อให้เกิดโรคในปลาบู่มากกว่าชนิดอื่น ๆ
5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ปลาที่ป่วยเป็นโรคนี้หากสังเกตจะพบว่าบริเวณแผ่นปิดเหงือกเริ่มกางออกเนื่องจากโคนครีบหูบวมพองขึ้นมาคล้ายกับก้อนเนื้อพองออกโดยเฉพาะด้านหน้าโคนครีบ  ก้อนมะเร็งดังกล่าวจะเติบโตมีขนาดใหญ่ทำให้แผ่นปิดเหงือกกางออกมากและมะเร็งลุกลามถึงแผ่นปิดเหงือก   กระดูกเหงือกบนครีบหูและบริเวณส่วนหัว โรคนี้ไม่มีวิธีการรักษา 
6. โรคตับไต ปลาที่เป็นโรคนี้ไม่มีความผิดปกติตามลักษณะภายนอก  พบว่าเหงือกซีดกว่าปกติเนื่องจากเลือดจาง  ตับโตใหญ่มีสีเหลืองอ่อน  ม้ามมีขนาดใหญ่และเลือดออก สาเหตุของโรคมาจากการได้รับอาหารไม่ถูกส่วน

การป้องกันรักษา
การป้องกันไม่ให้ปลาเป็นโรคเป็นวิธีที่ดีที่สุด  ซึ่งขึ้นกับสภาพแวดล้อม และความเอาใจใส่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา

การรักษาปลาเป็นโรค
1. การกำจัดพยาธิภายนอก   สามารถกำจัดด้วยสารเคมี   ใช้ฟอร์มาลิน 25 - 50 พีพีเอ็ม  แช่วันละ  2  ครั้ง  ติดต่อกัน  2 - 3  วัน  หรือนำ ปลาไปแช่ ฟอร์มาลิน  250  พีพีเอ็ม  นาน  1  ชั่วโมง  หรือใช้กรดเกลเซียลอะซิติค  1  ต่อ 2,000  แช่  30  นาที หรือใช้ด่างทับทิม  3 - 5  พีพีเอ็มแช่ตลอดไป  แต่ถ้าใช้ความเข้มข้น  10  พีพีเอ็ม  แช่  30  นาที  ส่วนเมทธีลีนบลู  ใช้ฆ่าโปรโตซัวได้ดีโดยเฉพาะโรคอิ๊กโดยเตรียมสารละลายที่เตรียมไว้  1  ซี.ซี.  ต่อน้ำ  5  ลิตร  แช่นาน  1  วัน  ทำซ้ำทุก ๆ  2  วัน  จนหาย  ส่วนโปรโตซัวชนิดอื่น ๆ ใช้  3 ซี.ซี.ต่อน้ำ  10  ลิตร  แช่ตลอด
2. กำจัดพยาธิภายใน  ควรใช้ยาถ่ายพยาธิ  เช่น  ดีเวอร์มินผสมในอาหาร0.1 - 0.2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักอาหาร  3  วันติดต่อกัน
3. การกำจัดเชื้อรา ใช้มาลาไคท์กรีน  1 - 5  ส่วนต่อน้ำล้านส่วนแช่  1  ชั่วโมง 3  ครั้งติดต่อกัน
4.การกำจัดเชื้อบัคเตรี  การรักษากระทำได้ผลต่อเมื่อปลาบู่ติดเชื้อระยะเริ่มแรกแต่ถ้าปล่อยไว้นานการรักษาจะไม่ค่อยได้ผลสำหรับบัคเตรีส่วนใหญ่ใช้ยาปฏิชีวนะ เช่นซัลฟาเมอราซิน  200  มิลลิกรัมต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม ผสมอาหารให้กินติดต่อกัน  14  วัน

อิริโทรมัยซิน  10  กิโลกรัมต่อน้ำหนักปลา  100  กิโลกรัม ผสมอาหารให้กินติดต่อกัน  14  วัน
คลอแรมฟินิคอล  5 - 10  กิโลกรัม ผสมอาหารให้กินติดต่อกัน  14  วัน<br />
คลอแรมฟินิคอล  5 - 10 กิโลกรัมต่ออาหารปลา  10  กิโลกรัม ติดต่อกัน5 - 10  วัน <br />
สำหรับคลอแรมฟินิคอล ถ้าใช้ฉีดควรใช้  10 - 30  มิลลิกรัมต่อน้ำหนักปลา  1  กิโลกรัม วันละ  1  ครั้ง  3  วัน

การรวบรวมลูกปลา
เครื่องมือที่ใช้ในการจับหรือรวบรวมปลาบู่ในธรรมชาติมีอยู่หลายชนิดดังนี้
1. ข่าย   เป็นเครื่องมือทำการประมงที่นิยมใช้กันมากที่สุด   ขนาดของข่ายที่นิยมใช้มีความยาว  50 - 180 เมตร  ลึก  1.5  เมตร  ช่องตา  2 - 14  เซนติเมตรใช้ข่ายประมาณ  4  ผืนต่อชาวประมงหนึ่งราย
2. เบ็ดราว   เป็นเครื่องมือทำการประมงที่พบกันทั่วไป  ขนาดตัวเบ็ดตั้งแต่เบอร์  01 - 05  เบอร์  8  และเบอร์  20 - 24  เบ็ดราว  1  เส้นมีตัวเบ็ด  20 - 50  ตัวชาวประมงบางรายใช้เบ็ดประเภทไม่มีเงี่ยง ทำให้ปลาบู่ที่จับได้บาดเจ็บน้อยมาก
3. สวิง   เป็นเครื่องมือขนาดเล็กใช้ช้อนสัตว์น้ำขนาดเล็ก  ซึ่งจะได้ปริมาณน้อยในการทำการประมงแต่ละครั้ง
4. ลอบ  เป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบเครื่องกั้น  เช่น  เฝือกกั้นแล้วใช้ลอบวางดัก วิธีนี้ปลาบู่จะบอบช้ำหรือบาดเจ็บน้อยที่สุด
5. กร่ำ  เป็นการนำกิ่งไม้แห้งมาสุมกันเป็นกองขนาดใหญ่ตามแหล่งน้ำปล่อยทิ้งไว้ให้ปลาเข้ามาอาศัยอยู่ หลังจากนั้นใช้อวนล้อมแล้วเอากิ่งไม้แห้งออกเพื่อจับปลา
6. แห   เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำพื้นบ้าน   ขนาดแหที่นิยมใช้ความยาว  5 - 9 ศอก  (2.5 - 4.5  เมตร)  ขนาดช่องตา  1.5 - 6.0  เซนติเมตร  ซึ่งนิยมใช้ทำการประมงในช่วงฤดูน้ำลดบริเวณแหล่งน้ำที่น้ำแห้ง
7. ยอยก  เป็นเครื่องมือจับปลาที่นิยมใช้ในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นยอขนาดใหญ่ติดอยู่กับแพลอยตามกระแสน้ำ  ใช้วางจมลงในแหล่งน้ำเป็นเวลานาน ๆ  หรือใช้แสงไฟล่อปลาในเวลากลางคืนแล้วยกยอขึ้นเพื่อจับปลา วิธีนี้ปลาปลาบู่จะบอบช้ำน้อยการตลาด ปัจจุบันปลาบู่นับวันมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากพันธุ์ปลาที่นำไปเลี้ยงหายากและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแต่ความนิยมบริโภคปลาบู่มีปริมาณสูงขึ้น   โดยส่งเป็นสินค้าออกไปยังประเทศฮ่องกง  สิงคโปร์และมาเลเซีย  ซึ่งผู้บริโภคเชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง  ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มพลัง  ในสมัยก่อนนั้นมีการเลี้ยงปลาบู่ในกระชังกันมาก  เช่น  จังหวัดนครสวรรค์  อุทัยธานี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  พระนครศรี-อยุธยา  และปทุมธานี  ต่อมาการเลี้ยงปลาบู่ประสบปัญหาปลาเป็นโรค และตายมากจำนวนผู้เลี้ยงและผลผลิตลดลง ราคาปลาจึงสูงขึ้นตามกลไกตลาด

ราคาและผลตอบแทน
ราคาพันธุ์ปลาบู่ที่เกษตรกรซื้อมาเลี้ยงในกระชังตั้งแต่ปี  2525 - 2537  ราคากิโลกรัมละ  30 - 160  บาท ส่วนราคาปลาบู่เพื่อบริโภคมีราคาตั้งแต่  200 - 350 บาทต่อกิโลกรัม

การขนส่งลำเลียง
การขนส่งลำเลียงเริ่มตั้งแต่การขนส่งลูกพันธุ์ปลาบู่ขนาดเล็ก  1 - 2 นิ้วไปยังผู้เลี้ยง และการลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภค วิธีการลำเลียงมี  2  วิธี
1. การลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงลูกปลาบู่ขนาดเล็ก  1 - 2  นิ้ว  และปลาบู่ขนาด  50 - 250  กรัม  วิธีนี้เป็นการลำเลียงที่เหมาะสมที่สุดไม่ทำปลาบอบช้ำ  ปกติใช้ถุงพลาสติกขนาด  20 x 30 เซนติเมตร ใส่น้ำสูงประมาณ  10 - 15  เซนติเมตร  ถุงปลาแต่ละถุงสามารถบรรจุลูกปลาขนาด  1 - 2  นิ้ว  จำนวน  500 - 700  ตัว  เมื่อใส่พันธุ์ปลาแล้วอัดด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์รัดปากถุง สำหรับพันธุ์ปลาที่จับได้จากธรรมชาติควรบรรจุถุงละ5 - 20  ตัว  แล้วแต่ขนาดพันธุ์ปลา  ปริมาณน้ำในถุงพลาสติกลำเลียงไม่ควรใส่มากนักทำให้มวลน้ำในถุงมีการโยนตัวไปมามากทำให้ปลาถูกกระแทกไปมาบอบช้ำมากขึ้น สำหรับการลำเลียงพันธุ์ปลาจากธรรมชาติไปเลี้ยงในกระชังควรบรรจุถุงพลาสติกอัดออกซิเจนดีกว่าลำเลียงด้วยถาดสังกะสี
2. การลำเลียงโดยใช้ถาดสังกะสี  เหมาะสำหรับใช้ลำเลียงปลาบู่ขนาดตลาดไปขายพ่อค้าคนกลางหรือภัตตาคาร  ขนาดถาดลำเลียงมีความกว้าง  45  เซนติเมตรยาว  70  เซนติเมตร  สูง  9  เซนติเมตร  ด้านข้างตามความยาวของถาดมีรูกลมขนาด  1.5 - 2.0  เซนติเมตร  เรียงเป็นแถวเดี่ยว ส่วนด้านกว้างมีหูหิ้วทั้ง  2  ข้างถาดทำด้วยสังกะสีและมีฝาครอบถาด ภายในมีแผ่นสังกะสีกั้นกลาง แบ่งออกเป็น 2 ช่อง

วิธีการลำเลียง
นำปลาบู่มาวางเรียงกันเป็นแถวเพียงชั้นเดียวจนเต็มถาดแล้วเอาน้ำพรมให้ทั่วและใส่น้ำพอท่วมท้องปลาเล็กน้อยจากนั้นปิดฝา   ถ้าปลามีจำนวนมากก็ลำเลียงถาดขึ้นรถซ้อนเป็นชั้น ๆ  วิธีนี้เหมาะสำหรับขนปลาบู่ขนาดตลาดไปขายเพราะขนได้ครั้งละจำนวนมาก ประกอบกับปลาบู่เป็นปลาที่อดทนมากพอสมควรเมื่อลำเลียงไปถึงปลายทางแล้วถูกนำไปพักในบ่อปูนแสดงไว้ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อหรือใส่ภาชนะอื่น ปลาบู่ก็ยังสามารถมีชีวิตได้นานพอสมควร

การใช้ประโยชน์
ปลาบู่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่น  เพื่อเป็นตัวควบคุมประชากรปลาเช่น การปล่อยปลาในบ่อปลานิลเพื่อควบคุมประชากรปลานิลไม่ให้มีมากเกินไปมิฉะนั้น ปลานิลจะเติบโตช้าและไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการ  ทั้งยังได้ผลผลิตปลาบู่เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง  ปลาบู่ยังสามารถเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้เช่น ปลาบู่ทอง  แต่ส่วนใหญ่ปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงเพื่อการบริโภคเพราะมีเนื้อขาวสะอาดนุ่มอร่อย  รสชาติดี สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายชนิด  ซึ่งชาวจีนนิยมบริโภคโดยมีความเชื่อว่ากินแล้วช่วยบำรุงกำลังร่างกายให้แข็งแรงและต้องบริโภคปลาบู่เป็น ๆ สด ๆ
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร