การเลี้ยงแมงดา



การเลี้ยงแมงดานา
ธรรมชาติของมันแล้วน่าจะเรียกว่า “แมลงดา” จะถูกต้องกว่าเพราะมันมีขาแค่ 6 ขา ไม่ใช่ 8 ขาซึ่งเรียกว่า “แมง” ตามจำแนกวิธีเรียกของสัตว์เล็กๆจำพวกนี้ แต่น้อยคนที่จะเรียกกันว่า แมลงดานา ก็เอาเป็นว่ายอมรับคำว่า “แมงดา” กันโดยปริยายก็แล้วกัน

แมงดานาจัดเป็นสัตว์จำพวกมวนน้ำชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ ฝรั่งจึงเรียกแมงดานาว่า “มวนน้ำยักษ์” ลักษณะทั่วไปของสัตว์ชนิดนี้ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ตานูนแข็งขนาดใหญ่ 1 คู่ มีขาคู่แรกเป็นอวัยวะจับอาหาร ส่วนขาคู่ที่ 2 และ 3 เป็นขาว่ายน้ำ

โดยเฉพาะขาคู่หลังสุดจะมีลักษณะคล้ายใบพาย ทั้งนี้เนื่องจากแมงดานาเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อวัยวะส่วนนี้จึงมีความจำเป็นมากในการดำรงชีพ สำหรับในบ้านเราเท่าที่เคยมีการจำแนกชนิดของแมงดานานั้น บอกต่อๆกันว่ามีอยู่ 3 ชนิด คือ แมงดาหม้อ แมงดาเหลืองหรือแมงดาทอง และแมงดาลาย โดยจำแนกกันตามลักษณะภายนอก โดยแมงดาพันธุ์หม้อนี้จัดเป็นแมงดาพันธุ์ไข่ดก ขอบปีกมีลายเหลืองทองยาวไม่ถึงหาง ส่วนพันธุ์เหลืองหรือพันธุ์ทองนั้นจะออกสีเหลืองทองทั้งตัวและนับว่าหายากที่สุด สำหรับพันธุ์ลายนั้นขอบปีกจะออกลายสีเหลืองทองคล้ายกับพันธุ์หม้อ แต่ขอบปีกจะยาวจนถึงหาง และในตลาดที่เราเห็นกันบ่อยๆโดยเฉพาะะช่วงหน้าฝนนี้จะเป็นแมงดาพันธุ์ลายเสียส่วนมาก
ส่วนสำคัญที่ขายได้ของแมงดานาจะอยู่ที่หางยาวแหลมคล้ายเดือย ส่วนนี้จะมีต่อมกลิ่นหอมฉุน และจะมีแต่เฉพาะตัวผู้เท่านั้น และแม้ว่าแมงดานาทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีขนาดใกล้เคียงกันคือ ลักษณะลำตัวยาวรีเหมือนใบไม้ออกโทนสีน้ำตาล ยาวประมาณ 2-4 นิ้ว แต่ข้อสังเกตง่ายๆคือ ตัวผู้ลำตัวจะกลมป้อม และเล็กกว่าตัวเมียนิดหน่อย ส่วยตัวเมียลำตัวจะออกแบนๆ ส่วนท้องใหญ่ กว้างและที่สังเกตคือมักจะไม่มี่เดือยหาง แม้ว่าบางครั้งเราหยิบขึ้นมาดมดูจะพบว่ามีกลิ่นฉุนๆก็ตาม นั้นแสดงว่าแม่ค้าเขาเหยาะกลิ่นแมงดานาเข้าไปแล้ว เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะว่าราคาแมงดาตัวผู้จะแพงกว่าแมงดาตัวเมีย
รูปร่างลักษณะแมงดา


ไข่
เป็นกลุ่มวางเรียงเป็นแถวตามต้นข้าวหรือต้นหญ้า หรือตามกิ่งไม้ขนาดเล็กในน้ำ ไข่มีสีน้ำตาลอ่อน มีลายเป็นขีดสีน้ำตาล ด้านบนมีจุด ระยะไข่ 7-8 วัน

ตัวอ่อน
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน ด้านบนของไข่จะเปิดออกเรียกกันว่าเปิดฝาชีหรือหมวก ตัวอ่อนจะอยู่ในท่าหงายท้องแล้วกระโดดลงในน้ำ ระยะแรกๆลำตัวนิ่ม สีเหลืองอ่อน ต่อมาเป็นสีเขียวปนเหลือง เมื่อโตขึ้นสีเหลืองปนน้ำตาล
ตัวเต็มวัย
เป็นมวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวกว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ตัวแบนสีน้ำตาลยาวรีเหมือนใบไม้ ปากแบบเจาะดูด ขาคู่หน้าแบบจับเหยื่อ ขาคู่ที่ 2 และ3 ใช้ว่ายน้ำ ตัวผู้มีกลิ่นฉุนและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย เมื่อแง้มดูที่ปลายท้องตัวเมียจะเห็นอวัยวะวางไข่คล้ายเม็ดข้าวสาร
ฤดูและการผสมพันธุ์แมงดา
ฤดูที่แมงดาจะออกแพร่พันธุ์ จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนตุลาคม หรือเข้าหน้าฝนได้ประมาณสองอาทิตย์ และจะหยุดก่อนปลายฝนประมาณสองอาทิตย์ ในฤดูนี้บางแห่งจะมีน้ำขังอยู่มากบ้างน้อยบ้าง แมงดาในขณะที่บินมาจากไหนก็ตาม เมื่อตกลงยังพื้น โดยเจตนาของมันหรือโดยการกระทบกับสิ่งที่ทำให้มันเสียหลัก มันจะหาที่พักได้ง่ายเพราะทุกแห่งมีน้ำ แมงดาอาจพักซ่อนตัวในเวลากลางวันตามแอ่งน้ำเล็กๆ หรือในรอยเท้าสัตว์ เช่น วัว ควาย ซึ่งมีน้ำปนอยู่กับโคลนเล็กน้อย เมื่อถึงเวลากลางคืนแมงดาจะบินต่อไปอีก ฉะนั้นในบางโอกาสที่เราจับแมงดาได้ ปีกของมันจะยังเปื้อนโคลนอยู่ก็มี การที่แมงดาต้องอาศัยน้ำอยู่ตลอดเวลาก็เนื่องจากมันเป็นแมงชนิดสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibian) แมงดาตัวเมียเมื่อได้กลิ่นตัวผู้ ณ ที่ใดก็จะบินมาตกบริเวณนั้น แสงสว่างเป็นเครื่องชักจูงให้แมงดาบินมาเวียนวนในแถบนั้นเช่นเดียวกับแมลงทุกชนิดที่เคลื่อนไหวในเวลากลางคืน แหล่งที่แมงดาชอบลงเพื่อทำการขยายพันธุ์คือที่ระดับน้ำไม่เปลี่ยนแปลงเร็วและมีอาหารพอที่ลูกแมงดาจะยังมีชีวิตอยู่ได้ แหล่งเหล่านั้นคือท้องนาและริมๆขอบบึงที่น้ำตื้น และในการผสมพันธุ์ตัวผู้จะปล่อยกลิ่นฉุนเรียกตัวเมีย แล้วเกาะบนหลังตัวเมีย ผสมพันธุ์ตามกอหญ้า กอข้าว

การวางไข่แมงดาและการเจริญเติบโตแมงดา
การวางไข่ของแมงดานา แมงดานาไม่ชอบวางไข่ที่ไม้แข็ง เช่น ไม้เต็งรัง แต่จะวางที่ไม้สน หรือใบหญ้า ใบกก หรือต้นไม้ขนาดเล็ก สูงจากระดับน้ำประมาณ 10 นิ้วหรือ 1 ฟุตแล้วแต่ว่ามันจะรู้สึกว่าน้ำจะมามากหรือน้อย โดยตัวเมียจะปล่อยวุ้นออกมายึดไข่กับกิ่งไม้หรือกอหญ้า วางไข่เป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มมีประมาณ 100-200 ฟองทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของแมลง แมงดาที่ชอบที่เงียบๆไม่มีสิ่งรบกวนสำหรับการวางไข่ ไข่ที่วางไว้กับไม้หรือต้นไม้ ต้นข้าว จะมีวัตถุคล้ายวุ้นทำหน้าที่เป็นกาวยึดไข่ไว้อย่างมั่นคง ไข่ที่วางไว้ใหม่ๆจะมีสีนวลน้อยๆ มีลายริ้วสีน้ำตาลประกอบ แล้วจะค่อยๆคล้ำไปเล็กน้อย ไข่สีคล้ำเรียกว่าไข่แก่ เมื่อวางไข่แล้วตัวผู้จะคอยดูแลไข่ จนกว่าตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่และหากินเองได้ เพราะบางครั้งตัวเมียถ้าได้โอกาสก็จะกินไข่ของมันเอง

ภายหลังห้าวันที่ได้มีการวางไข่ ลูกแมงดาอ่อนๆ จะเกิดเป็นตัวอยู่ในไข่ ภายหลัง 6-7 วันไข่จะฟักออกเป็นตัวโดยไข่จะเปิดฝาขอองมันคล้ายฝาชี แต่ไม่หลุดออกจากกัน ไข่เปิดฝาแบบนี้เรียกว่าเปิดแบบ opercular ลูกแมงดาจะค่อยๆโผล่จากไข่ โดยการแบ่งตัวออกมาในท่าหงายท้องแล้วร่วงลงในน้ำ ลูกแมงดาจะอยู่นิ่งพักบนผิวน้ำครู่หนึ่งแล้วจึงดำลงใต้น้ำ ลูกแมงดาเกิดใหม่ๆตัวของมันเป็นสีนวล ไม่มีปีก สีของมันจะค่อยๆเข้มขึ้นภายในระยะเวลาน้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วจะเริ่มกินเหยื่ออย่างกระหายหิว (ลูกแมงดาเรียกกว่า nymphs) ซึ่งลูกอ๊อดเป็นเหยื่อที่ลูกแมงดาชอบมาก ในขณะที่ลูกอ๊อดผ่านมาในระยะอันสมควร ลูกแมงดาที่เกาะนิ่งอยู่ จะพุ่งตัวอย่างรวดเร็วเข้าเกาะที่ปลายหางลูกอ๊อด แล้วไต่อย่างรวดเร็วเข้าสู่โคนหาง ลูกแมงดาจะช่วยเหลือตัวเองได้ประมาณครึ่งชั่วโมงภายหลังการออกจากไข่
ระยะนี้เป็นระยะสำคัญในการเลี้ยงลูกแมงดา ต้องระวังเรื่องขาดแคลนอาหารหรือจัดที่เลี้ยงแคบเกินไป ถ้าขาดความระมัดระะมังในเรื่องนี้ลูกแมงดาจะกินกันเองจนกระทั่งครอกหนึ่งจะเหลือตัวเก่งอยู่สองสามตัวหรืออาจเหลือเพียงตัวเดียวก็ได้ แมงดาที่เสียเปรียบในการรักษาตัวรอดคือตัวที่ทำอาการเคลื่อนไหวซึ่งพี่น้องของมันจะจับกินเป็นเหยื่อ การหายใจของลูกแมงดาทำโดยวิธีจับอากาศจากผิวน้ำไว้ใต้ท้องหรือใช้ท่อที่อยู่เกือบสุดปลายตัวของมันจ่ออยู่ที่ผิวน้ำ นอกจากท่อ 2 ท่ออยู่เกือบสุดปลายของลูกแมงดา ยังมีท่อที่ขอบตัวของมันทุกๆปล้อง ท่อเหล่านี้เรียกว่า tracheae ลูกแมงดาที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำเมื่อออกซิเจนซึมเข้าตัวของมันหมด มันจะโผขึ้นสู่ผิวน้ำและทำอาการพลิกหงายท้องเพื่อจับอากาศใหม่เพื่อหายใจแล้วดำลงซ่อนตัวเหมือนเดิม
การเจริญเติบโตของแมงดาเป็นไปโดยการลอกคราบ (molting) แมงดาจะลอกคราบรวมทั้งหมดห้าครั้ง จึงจะเป็นแมลงมีปีกโดยสมบูรณ์ แมงดาที่ลอกคราบในครั้งที่สี่ที่ห้า จะไม่สามารถกินเหยื่อได้ในวันแรกๆเพราะตัวของมันยังอ่อนนิ่มอยู่ ปากของมันยังไม่แข็งพอที่จะเจาะเหยื่อ ขาของมันก็ยังไม่แข็งพอที่จะกอดรัดเหยื่อไว้ให้มั่นคงได้ มันจะอาศัยเพียงอากาศหายใจ ท่อหายใจตามขอบตัวมันยังเป็น nymphs จะปิดหมด และใช้อวัยวะที่มีอยู่สุดปลายตัวต่อจากท่อถ่ายและอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเครื่องหายใจ
วงจรชีวิตของแมงดานา Lethocerus indicus Lep.Serv.
ระยะ                                               อายุ (วัน)
ไข่                                                  7-8
ตัวอ่อน
วัย 1                                              3-5
วัย 2                                              5-7
วัย 3                                              7-9
วัย 4                                             11-13
วัย 5 เพศผู้                                      21
เพศเมีย                                    32


วิธีการจับเหยื่อ
แมงดามีความว่องไวในการจับเหยื่อ ช่วงแรกมันจะอยู่เฉยๆ ไม่ขยับตัวปล่อยให้เหยื่อ เช่นลูกปลา ลูกกุ้ง ว่ายน้ำผ่านไป เมื่อเข้ามาระยะพอเหมาะแมงดาจะพุ่งตัวเข้าไปหาเหยื่อ ใช้ขาคู่หน้าจับเหยื่อไว้และใช้ปากเจาะ แล้วปล่อยสารพิษเข้าไปในผิวหนังของเหยื่อ ดูดของเหลวจากตัวเหยื่อ
สถานที่และการเลี้ยงแมงดานา

สถานที่ที่เหมาะสมในการทำบ่อเพาะเลี้ยงแมงดานา ควรเป็นที่โล่งเเจ้งใกล้แหล่งน้ำแต่น้ำท่วมไม่ถึง และต้องไม่พลุกพล่านซึ่งบ่อเลี้ยงแมงดาไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก และขนาดของบ่อที่นิยมคือให้มีความยาวเป็นบวกหนึ่งของด้านกว้าง และขนาดที่เหมาะสมที่สุดควรมีพื้นที่บ่อประมาณ 20 ตารางเมตร โดยด้านข้างทั้งสี่ด้านควรลาดเททำมุม 45 องศา และตรงกลางบ่อทำเป็นหลุมลึกสักจุดหนึ่งเพื่อใช้รวบรวมของเสียและง่ายต่อการกำจัด และที่ขาดไม่ได้คือชานบ่อโดยรอบให้กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนนี้ไม่ต้องเทซีเมนต์แต่ปล่อยทิ้งไว้เป็นดิน เพื่อที่เราจะปลูกต้นไม้ใช้เป็นที่พักอาศัยของแมงดา อาจปลูกต้นกก ผักบุ้งหรือเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้บ่อเลี้ยงต้องขึงตาข่ายตาไม่ใหญ่กว่า 1 ซม. ป้องกันไม่ให้แมงดาบินหนี หรือมีนก หนูเข้าไปลักกินแมงดานา ส่วนหลังคาต้องกันแดดกันฝนได้ดี
หลังจากทำบ่อและบ่มจนน้ำหมดกลิ่นปูนเรียบร้อยแล้วก็จัดการปล่อยพ่อแม่พันธุ์แมงดานาลงไปได้เลย โดยน้ำที่ใส่ต้องเป็นน้ำสะอาดจากน้ำคลองที่สูบขึ้นมาพักจนตกตะกอนดีแล้วจะดีที่สุด ใส่น้ำให้ได้ระดับความลึกประมาณ 70-80 ซม.แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปในอัตรา 50 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร สัดส่วนของตัวผู้กับตัวเมีย 1 ต่อ 1 ดีที่สุด แต่สัดส่วน 1 ต่อ 5 ก็ได้ผลดีพอสมควร การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์แมงดานาช่วงที่ดีที่สุด ควรเป็นช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม เนื่องจากเป็นแมงดาวัยรุ่นยังไม่มีไข่ ( เขาว่าแมงดานาที่มีไข่ติดท้อง หากตกใจจะกลั้นไข่จนตายในที่สุด) แต่เราสามารถแยกเพศได้แล้ว โดยดูที่อวัยวะสืบพันธุ์ ตรงก้นที่เห็นเป็นระยางค์แฉกๆลองแง้มดูภายในหากเห็นเป็นอวัยวะคล้ายเม็ดข้าวสารแแสดงว่าเป็นตัวเมียแน่นอน ขั้นตอนการเตรียมบ่อเพื่อให้แมงดานาผสมพันธุ์เริ่มจากลดระดับน้ำลงจากเดิมประมาณครึ่งหนึ่ง พร้อมกับจัดการเก็บไม้น้ำ โพรงไม้ ขอนไม้ หรืออะไรที่ลอยน้ำเป็นที่ยึดเกาะของแมงดานาออกจากบ่อให้หมดโดยนำไม่ไผ่หรือกิ่งไม้แห้งๆใส่ลงไปแแทนที่ทิ้งไว้แบบนี้ 3-4 วัน ก่อนเปลี่ยนน้ำเข้าไปใหม่ในระดับเดิมคือ ประมาณ 80 ซม.หรือเกือบเต็มบ่อก็ได้ จากนั้นเก็บกิ่งไม้ไผ่ กิ่งไม้ออก ใส่ลูกบวบลงไปแทน โดยลูกบวบนี้ทำจากท่อนกล้วยยาวท่อนละ 1 เมตร ที่ถ่วงน้ำหนักให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อนกล้วยจมน้ำด้านนี้เสมอ ส่วนด้านบนที่ไม่จมน้ำ ปักด้วยซี่ไม้ไผ่หรือไม้เสียบลูกชิ้นยาวคืบกว่าๆเป็นแถว กะว่าแต่ละอันห่างกันประมาณ 10 ซม. แมงดานาจะขึ้นมาวางไข่ตามไม้ที่ปักไว้นี้ หลังจากนี้ประมาณ 3-4 วันไปแล้ว ซึ่งเมื่อเห็นว่าแมงดานาวางไข่แล้วเต็มที่ก็ให้จับพ่อแม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงในบ่ออื่นให้หมด นอกจากนี้แล้วแมงดานาตัวเมียจะวางไข่ได้อีก 2-3 ครั้ง ในแต่ละช่วงปีห่างกันครั้งละประมาณ 1 เดือน ดังนั้นหากต้องการมีแมงดานาขายอย่างต่อเนื่องแล้วอาจจะต้องลงทุนทำบ่อไว้หลายบ่อโดยวิธีเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หลังจากวางไข่ผสมพันธุ์แล้วจะดีกว่า เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้จะเร่งให้มันผสมพันธุ์วางไข่เร็วขึ้น โดยพ่อแม่พันธุ์แต่ละรุ่น มักนิยมใช้กันแค่ปีเดียวคือวางไข่ได้ 2-3 ครั้งก็จับขายแล้วคัดเอาบรรดาลูกๆรุ่นใหม่เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป

หรือการเลี้ยงอีกวิธีหนึ่งก็คือโดยการมัดกลุ่มไข่หรือเสียบกับลวดเพื่อวางยืนในกล่อง ใส่น้ำและวางกล่องในถาดหล่อน้ำ กันมด ไข่ที่ใกล้ฟักจะมีสีเข้มชัดเจน พองผิวเต่งตึง แมงดามักจะออกจากไข่ช่วงเช้าและเย็น เมื่อฟักออกจากไข่จะหงายท้องและดีดตัวร่วงลงน้ำ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากตัวใหม่ๆจะสีเหลืองอ่อน ด้านในลำตัวสีเขียว ตาสีดำ ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง สีจะคล้ำขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แยกตัวอ่อนวัย 1 ใส่เลี้ยงถ้วยละ 1 ตัว โดยใช้ขวดน้ำขนาดความจุ 950 มิลลิเมตร ตัดเอาก้นขวดสูง 3 นิ้ว เป็นถ้วยเลี้ยง เจาะรูก้นถ้วยเพื่อความสะดวกในการถ่ายน้ำเสีย วางถ้วยในถาดพลาสติกใส่น้ำลงไปประมาณ 0.5 นิ้ว ให้ลูกปลาเป็นอาหารถ้วยละ 1 ตัว

อาหารของแมงดานา และการให้อาหารแมงดานา
อาหารของแมงดา ให้ด้วยลูกปลา ลูกกุ้ง หรือ ลูกอ๊อด ( อย่าให้ลูกอ๊อดคางคก เพราะลูกอ๊อดคางคกมีพิษ )  การให้อาหารตอนเช้าก่อน 08.00 น. วันละ 1 ครั้ง และช่วงเย็น (16.00น.) เอาเศษลูกปลาตายออก ล้างทำความสะอาดถ้วยเลี้ยง เปลี่ยนน้ำ เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเข้าวัย 3 ย้ายเข้ากรงคู่ทำด้วยตาข่ายพลาสติกสีดำ ( มีจำนวนรู 35 รู ต่อ 1 ตารางนิ้ว ) ลักษณะรูปทรงกระบอกยาว 18.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร ปิดส่วนท้ายกรงแต่ละคู่ด้วยแผ่นตาข่ายขนาด (กว้าง x ยาว) 9 x19 เซนติเมตร วางกรงในแนวนอนลงในถาดหรือกะละมังที่มีน้ำประมาณ 2 นิ้ว ด้านบนของกรงกรีดตาข่ายออกสามด้าน ขนาด (กว้าง x ยาว) 5 x 6 เซนติเมตร แล้วใช้ลวดยึดไว้เพื่อเป็นช่องประตูเปิดปิด ใส่ปลาและเอาแมงดาเข้าออก เมื่อลอกคราบเข้าวัย 4 ย้ายเข้ากรงทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด ( กว้าง x ยาว x สูง) 10 x 15 x 10 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเดิมและเอากล่องลงบ่อดินขนาด ( กว้าง x ยาว) 3.5 x 7 เมตร ลึก 1 เมตรปูพื้นด้วยพลาสติก มีผักตบและกอบัว ใช้โฟมติดด้านข้างกรงเป็นทุ่นให้กรงลอยน้ำได้ ในกรงใส่ผักตบชวาให้แมงดาเกาะ เพื่อความสะดวกในการจัดการเอากรงขึ้นลงจากบ่อ จัดวางเป็นแถวและเอาลวดเสียบหัวและท้ายกรงในแนวยาวเหมือนไม้เสียบลูกชิ้นหรือบาร์บีคิว เลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัย



วิธีการจับแมงดานา
1. ใช้มือจับ
2. ใช้สวิงจับหรือช้อนตามไม้น้ำ
3. ใช้แสงไฟล่อ ติดตั้งหลอดแบล็กไลต์บนเสาไม้ไผ่สูงๆ ใช้ตาข่ายขึง กั้นให้สูงแมงดาจะมาเล่นไฟ
4. ปัจจุบันมีเครื่องมือจับแมงดานาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของจ่าสาย ศรีสมุทร สภอ.นาแก จังหวัดนครพนม โดยการใช้สังกะสีแผ่นเรียบมาตัดต่อบัดกรีให้เรียบร้อยเป็นกรวยปากกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เมตร ความสูงของกรวย 1 เมตร และด้านล่างทำเป็นท่อกลวงขนาดกระป๋องนม ยาวประมาณ 30 ซม. การติดตั้งเครื่องมือให้เลือกสถานที่ใกล้แหล่งน้ำ โดยตั้งเสาสูงประมาณ 6 เมตรติดหลอดแบล็กไลต์ไว้ล่อแมงดา ด้านล่างติดตั้งกรวยสังกะสีหงายปากกรวยขึ้น มีไฟนีออนสีฟ้าล่อไว้อีกดวงหนึ่งที่ปากกรวยนั้น ส่วนด้านล่างสุดใช้ถุงปุ๋ยที่ไม่ขาดทะลุสวมเข้าที่ท่อกลวงด้านล่างผูกติดให้แน่น ซึ่งแสงจากหลอดแบล็กไลต์จะล่อแมงดาให้มาที่นี่ ส่วนแสงสีฟ้าจากหลอดนีออนเมื่อสะท้อนจากปากกรวยสังกะสีจะดูคล้ายๆกับแหล่งน้ำขนาดเล็ก ดึงดูดใจให้แมงดาบินลงกรวยในที่สุด ซึ่งการจับด้วยวิธีนี้สะดวก เพราะเราไม่ต้องนั่งเฝ้า รอไว้ดูตอนเช้าเลยทีเดียว
การนำแมงดามาปรุงอาหาร
1. ไข่แมงดานา นำมาย่างไฟหรือกินสดๆ
2. ตัวเต็มวัย ตัวเมียชุบแป้งทอด ทำแกงคั่วแมงดานา ตัวผู้มีกลิ่นหอมทำให้เพิ่มรสชาติอาหาร นำมาทำน้ำพริกแมงดา แจ่วแมงดานา น้ำพริกปลาร้า น้ำปลาแมงดา หรือดองแช่น้ำปลาไว้ขายราคาแพง (ตุลาคม-มีนาคม)
เอกสารอ้างอิง
เชียด อภัยวงศ์. 2505. วงชีวิตของแมงดานา. วารสารการประมง ปีที่ 15 ฉบับที่ 1. หน้า 67-73.
ดินจร.2537. แอบเปิดตำราเซียน เลี้ยงแมงดาเป็นอาชีพ. มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 7 ฉบับที่ 104. หน้า 31-33.
ไม่มีชื่อผู้แต่ง.2546. แมงดานา. มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 15 ฉบับที่ 304. หน้า 78.
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร