การเลี้ยงปลาตะเพียนขาว
ปลาที่เรียกกันว่า “ตะเพียน” บางคนได้ยินชื่ออาจจะออกอาการขยาดเพราะปลาชนิดนี้ก้างเยอะมาก แต่บางคนที่ทำเป็นเขาทำให้ก้างอ่อนตัวลง คนรับประทานไม่ต้องกลัวก้างเพราะสามารถรับประทานได้ทั้งก้าง ไม่ต้องกลัวว่าจะปักคอ
ปลาตะเพียน ชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ ปลาตะเพียนขาว (นอกจากตะเพียนขาวแล้วยังมีตะเพียนชนิดอื่นอีก เช่น ตะเพียนหางแดง เป็นต้น) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แต่เจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำซึ่งมีความกร่อยเล็กน้อย ฉะนั้นจึงสามารถเลี้ยงให้เจริญเติบโตได้ทั้งในบ่อน้ำจืดและน้ำกร่อย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนในนาข้าว
ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า แม่ปลาตะเพียนขาวตัวหนึ่ง ๆ สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 50,000-100,000 ฟอง และชอบวางไข่ตามบริเวณชายฝั่งของลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลลงมารวมกับลำธารใหญ่ซึ่งมีสภาพเป็นโคลน ปลาตะเพียนขาวสามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงได้ภายในปีแรก เมื่อแม่ปลามีขนาดตัวยาว 25 ซม.
การนำปลาตะเพียนขาวมาเลี้ยงในบ่อนั้น บ่อเลี้ยงควรเป็นบ่อดินซึ่งมีขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไปจนถึงขนาด 1 ไร่ หรือมากกว่านั้น ความลึกของน้ำในบ่อควรให้เกินกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดความยาว 5-7 เซนติเมตร หากปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงมีขนาดโตกว่านั้นควรปล่อยในอัตรา 2-3 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
การเตรียมบ่อ หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่ ดินมักจะเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร หากเป็นบ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด เช่น ผักตบชวา จอก บัว และหญ้าต่าง ๆ เพราะวัชพืชเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนของอากาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูได้ คันบ่อควรลอกเลนขึ้นมาตกแต่ง และทำท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย ตากบ่อนั้นทิ้งไว้จนแห้ง แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้คุณภาพของดินในบริเวณบ่อมีคุณสมบัติดีขึ้น ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ต้องกำจัดศัตรูของปลาตะเพียน ได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก กบ เขียด และงู ฯลฯ โดยการระบายน้ำออกจากบ่อให้แห้งขอดแล้วจับขึ้นให้หมด ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊น ให้ละเอียด นำลงแช่น้ำสัก 1 หรือ 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้สีขาวออกมาหลาย ๆ ครั้งจนหมด แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมา ต้องเก็บออกทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อเพราะจะทำให้น้ำเสียได้ ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัว
แม้ไม่ใช่การปลูกพืชแต่การเลี้ยงปลาตะเพียนต้องใส่ปุ๋ย เพื่ออะไร ที่ใส่ปุ๋ยก็เพื่อให้มีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้น ปุ๋ยที่ว่านั้นคือ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว หรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 50-200 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก จนกระทั่งน้ำมีสีเขียว ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว โดยมีอัตราส่วนของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่น และใช้ในอัตรา 4 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน
ปลาที่จะเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่ต้องการ นอกจากใช้อาหารธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในบ่อ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสมทบเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเร่งให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารสมทบดังกล่าวได้แก่ แหนเป็ดและไข่น้ำ (ไข่น้ำเป็นพืชที่เกิดขึ้นลอยอยู่บนผิวน้ำปะปนกับพวกจอกแหน มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ ขนาดเท่า ๆ กับสาคูเม็ดเล็กที่ยังไม่แช่น้ำ มีสีค่อนไปทางเขียวอ่อน ชาวอีสานเรียกว่า “ผำ”) ใช้โปรยให้กินสด ๆ เศษผัก ผักบุ้ง ผักกาดขาว และเศษผักต่าง ๆ โดยวิธีต้มให้เปื่อยผสมกับรำหรือปลายข้าวที่ต้มสุก กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กระบะไม้ไว้ในบ่อ ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ หรือสัตว์ที่มีชีวิต เช่น ตัวไหม ปลวก ไส้เดือน หนอน มด ฯลฯ ใช้โปรยให้กิน พวกเครื่องในและเลือดของสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย ใช้บดผสมคลุกเคล้ารำและปลายข้าวซึ่งต้มสุกแล้ว นำไปใส่ไว้ในกระบะไม้ในบ่อ การให้อาหาร ให้วันละครั้ง ในตอนเช้าหรือตอนเย็น ครั้งละประมาณ 5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ลูกปลาจะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน จำเป็นต้องคัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะถ้าเลี้ยงรวมกัน จะทำให้ลูกปลาที่เล็กกว่าเติบโตได้ไม่เท่าที่ควร และเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น ต้องแบ่งไปเลี้ยงบ่ออื่นอย่าปล่อยให้อยู่แน่นเกินไป เพราะปลาจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ปลาตะเพียนขาวซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือนนั้น จะมีน้ำหนักประมาณ 3-4 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม
คงไม่ยากหากจะเลี้ยง หากอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ไปขอได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมประมง ขอเอกสารคำแนะนำในการเลี้ยงปลาต่าง ๆ มีให้เลือกด้วย
ปลาที่เรียกกันว่า “ตะเพียน” บางคนได้ยินชื่ออาจจะออกอาการขยาดเพราะปลาชนิดนี้ก้างเยอะมาก แต่บางคนที่ทำเป็นเขาทำให้ก้างอ่อนตัวลง คนรับประทานไม่ต้องกลัวก้างเพราะสามารถรับประทานได้ทั้งก้าง ไม่ต้องกลัวว่าจะปักคอ
ปลาตะเพียน ชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ ปลาตะเพียนขาว (นอกจากตะเพียนขาวแล้วยังมีตะเพียนชนิดอื่นอีก เช่น ตะเพียนหางแดง เป็นต้น) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แต่เจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำซึ่งมีความกร่อยเล็กน้อย ฉะนั้นจึงสามารถเลี้ยงให้เจริญเติบโตได้ทั้งในบ่อน้ำจืดและน้ำกร่อย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนในนาข้าว
ข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า แม่ปลาตะเพียนขาวตัวหนึ่ง ๆ สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 50,000-100,000 ฟอง และชอบวางไข่ตามบริเวณชายฝั่งของลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลลงมารวมกับลำธารใหญ่ซึ่งมีสภาพเป็นโคลน ปลาตะเพียนขาวสามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงได้ภายในปีแรก เมื่อแม่ปลามีขนาดตัวยาว 25 ซม.
การนำปลาตะเพียนขาวมาเลี้ยงในบ่อนั้น บ่อเลี้ยงควรเป็นบ่อดินซึ่งมีขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไปจนถึงขนาด 1 ไร่ หรือมากกว่านั้น ความลึกของน้ำในบ่อควรให้เกินกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดความยาว 5-7 เซนติเมตร หากปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงมีขนาดโตกว่านั้นควรปล่อยในอัตรา 2-3 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร
การเตรียมบ่อ หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่ ดินมักจะเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร หากเป็นบ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด เช่น ผักตบชวา จอก บัว และหญ้าต่าง ๆ เพราะวัชพืชเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนของอากาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูได้ คันบ่อควรลอกเลนขึ้นมาตกแต่ง และทำท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย ตากบ่อนั้นทิ้งไว้จนแห้ง แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้คุณภาพของดินในบริเวณบ่อมีคุณสมบัติดีขึ้น ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ต้องกำจัดศัตรูของปลาตะเพียน ได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก กบ เขียด และงู ฯลฯ โดยการระบายน้ำออกจากบ่อให้แห้งขอดแล้วจับขึ้นให้หมด ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊น ให้ละเอียด นำลงแช่น้ำสัก 1 หรือ 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้สีขาวออกมาหลาย ๆ ครั้งจนหมด แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมา ต้องเก็บออกทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อเพราะจะทำให้น้ำเสียได้ ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัว
แม้ไม่ใช่การปลูกพืชแต่การเลี้ยงปลาตะเพียนต้องใส่ปุ๋ย เพื่ออะไร ที่ใส่ปุ๋ยก็เพื่อให้มีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้น ปุ๋ยที่ว่านั้นคือ ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว หรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 50-200 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก จนกระทั่งน้ำมีสีเขียว ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว โดยมีอัตราส่วนของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่น และใช้ในอัตรา 4 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน
ปลาที่จะเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่ต้องการ นอกจากใช้อาหารธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในบ่อ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสมทบเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเร่งให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารสมทบดังกล่าวได้แก่ แหนเป็ดและไข่น้ำ (ไข่น้ำเป็นพืชที่เกิดขึ้นลอยอยู่บนผิวน้ำปะปนกับพวกจอกแหน มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ ขนาดเท่า ๆ กับสาคูเม็ดเล็กที่ยังไม่แช่น้ำ มีสีค่อนไปทางเขียวอ่อน ชาวอีสานเรียกว่า “ผำ”) ใช้โปรยให้กินสด ๆ เศษผัก ผักบุ้ง ผักกาดขาว และเศษผักต่าง ๆ โดยวิธีต้มให้เปื่อยผสมกับรำหรือปลายข้าวที่ต้มสุก กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กระบะไม้ไว้ในบ่อ ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ หรือสัตว์ที่มีชีวิต เช่น ตัวไหม ปลวก ไส้เดือน หนอน มด ฯลฯ ใช้โปรยให้กิน พวกเครื่องในและเลือดของสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย ใช้บดผสมคลุกเคล้ารำและปลายข้าวซึ่งต้มสุกแล้ว นำไปใส่ไว้ในกระบะไม้ในบ่อ การให้อาหาร ให้วันละครั้ง ในตอนเช้าหรือตอนเย็น ครั้งละประมาณ 5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ลูกปลาจะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน จำเป็นต้องคัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะถ้าเลี้ยงรวมกัน จะทำให้ลูกปลาที่เล็กกว่าเติบโตได้ไม่เท่าที่ควร และเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น ต้องแบ่งไปเลี้ยงบ่ออื่นอย่าปล่อยให้อยู่แน่นเกินไป เพราะปลาจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ปลาตะเพียนขาวซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือนนั้น จะมีน้ำหนักประมาณ 3-4 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม
คงไม่ยากหากจะเลี้ยง หากอยากได้รายละเอียดมากกว่านี้ไปขอได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมประมง ขอเอกสารคำแนะนำในการเลี้ยงปลาต่าง ๆ มีให้เลือกด้วย