การเลี้ยงหอยนางรม



ประวัติความเป็นมาของ หอยนางรม
การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์หอย ได้ริเริ่มขึ้นมาเป็นเวลานานกว่าร้อยปีมาแล้ว เท่าที่มีรายงานไว้ เช่นในปี ค.ศ. 1883 J.A. Ryder ได้เสนอรายงาน เกี่ยวกับการอนุบาลลูกหอยนางรมที่ไดจาการผสมเทียม และปี 1884 ก็ได้มีรายงานผลการทดลองเพาะผสมเทียมของหอยนางรม โดย F. Winslow ซึ่งทำการ ทดลองตั้งแต่ปี 1882 ได้มีผู้พยายามค้นคว้าทดลองเกี่ยวการเพาะและอนุบาลลูกหอยชนิดต่างๆ ต่อมาอีกเป็นจำนวนมาก แต่ผลการทดลองในระยะแรกๆ นั้นยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก มีเพียงไม่กี่รายที่สามารถเลี้ยงลูกหอยจนกระทั่งพัฒนาการถึงระยะ metamorphosis ได้ แม้จะมีบางรายที่อาจนับได้ว่าประสบผลสำเร็จ เช่น ในปี ค.ศ. 1924 H.F. Prytherch สามารถเลี้ยงลูกหอยนางรมอเมริกัน (Crassostrea virginica) จากการผสมเทียมไดเป็นจำนวนมาก และในปี 1927 W.F. Wells ก็สามารถเลี้ยงลูกหอยชนิดเดียวกันนี้ และลูกหอยชนิด Mercenaria mercenaria จนพัฒนาถึงระยะเกาะวัสดุได้ก็ตาม แต่วิธีการและผลที่ได้ก็ยังไม่แน่นอน คือไม่สามารถจะทำซ้ำให้ได้ผลเช่นเดียวกันอีกได้ (Loosanoff and Davis, 1963) อย่างไรก็ตามงานทดลองในระยะแรกนี้ ก็ได้เป็นพื้นฐานในการศึกษาค้นคว้า จนกระทั่งประสบผลสำเร็จก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้ในที่สุด ในจำนวนบุคคลที่นับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการเพาะพันธุ์หอยที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ Victor Loosanoff และ Harry Davis ซึ่งรายงานฉบับสำคัญของเขาเมื่อปี 1963 คือ ?Rearing of Bivalve Mollusks? นั้น อาจถือได้ว่าเป็นตำราฉบับแรกเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์หอยสองฝา และเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เทคนิควิธีการต่างๆ ในการเพาะพันธุ์หอย ได้รับการพัฒนาปรับปรุงขึ้นเรื่อยมาในหลายประเทศ จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้ประสบความสำเร็จในการเพาะและ อนุบาลลูกหอยหลายชนิด ทั้งพวกหอยฝาเดียว (Gastropods) ในสกุล (genus) เดียวกัน เพื่อกาหนทางในการคัดและปรับปรุงพันธุ์ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

สำหรับการเพาะพันธุ์หอยในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2522 โดยเผดิมศักดิ์ (2522) ได้ทำการผสมเทียมหอยนางรมพันธุ์ใหญ่ (Crassostrea lugubris) โดยวิธี Sacrification สามารถเลี้ยงลูกหอยได้จนถึงวัยลงเกาะแต่ยังมีอัตรารอดตายค่อนข้างต่ำ ต่อมา สุวราภรณ์ จึงแย้มปิ่น, ยอดยิ่ง เทพธรานนท์ และ สุทธิชัย เตมียวณิชย์ (2526) ประสบความสำเร็จในการเพาะฟักหอยนางรมปากจีบหรือหอยนางรมพันธุ์เล็กสามารถ เลี้ยงลูกหอยจนเข้าสู่ระยะวัยเกล็ด ขณะเดียวกันกฤษณะ (2526) ก็ได้เริ่มทำการทดลองเพาะฟักหอยตะโกรมขึ้นที่สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ.2526 เช่นกัน สามารถเลี้ยงลูกหอยไดถึงอายุ 15 วัน ถัดมาในปี พ.ศ. 2527 กรมประมงได้มอบหมายให้สถานีประมงน้ำกร่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ปัจจุบันคือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์) รับผิดชอบโครงการเพิ่มผลผลิตทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง โดยเน้นที่หอยสองฝาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ที่สำคัญได้แก่หอยตะโกรม หอยมุก เป็นต้น โรงเพาะฟักเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้น และเริ่มผลิตพันนธุ์หอยเพื่อป้อนสู่เกษตรกรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

หอยนางรมเป็นหอยสองฝาที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงมีผู้บริโภค หอยนางรมกันมากโดยเฉพาะหอยนางรมพันธุ์ใหญ่หรือหอยตะโกรม เนื่องจากการตลาดหอยนางรม นั้น มีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมากเพราะผลผลิตในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค ภายในประเทศ ทำให้หอยนางรมมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับหอยชนิดอื่น ๆ หอยนางรมที่นำมาบริโภคเกือบทั้งหมดเป็นหอยที่ได้จากการเพาะเลี้ยง โดยอาศัยธรรมชาติ หอยจะกรองกินพืชน้ำขนาดเล็กที่แขวนลอยในแหล่งน้ำเค็มเป็นอาหารหลัก ในประเทศไทยมีพันธุ์หอยนางรมตามธรรมชาติอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคเป็นอาหารนั้น พอจำแนกได้เป็น 2 พวก คือ หอยนางรมพันธุ์เล็ก ซึ่งมีชื่อเรียกตามพื้นบ้านว่าหอยปากจีบ หอยเจาะ หรือหอยอีรม เป็นต้น ส่วนหอยนางรมอีกพวกหนึ่งคือ หอยนางรมพันธุ์ใหญ่ ได้แก่ หอยตะโกรมกรามขาว และหอยตะโกรมกรามดำ นั่นเอง การเลี้ยงหอยนางรมได้มีการเลี้ยงมานานกว่า 50 ปี ส่วนมากเป็นการเลี้ยงแบบดั้งเดิม พบว่า แถบ ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทางภาคตะวันออกได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดมีการเลี้ยงหอยนางรมขนาดเล็กกันมาก สำหรับฝั่งอ่าวไทยได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี สงขลา ปัตตานีและทะเลอันดามันจะมีการเลี้ยงหอยตะโกรมกรามดำและหอยตะโกรมกรามขาวกัน มากในเขตพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดระนองและพังงา

ชนิดของหอยนางรม
ชนิดพันธุ์หอยนางรมที่ทำการเลี้ยงกันอยู่โดยทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็น 3 ชนิด
1. หอยยนางรมพันธุ์เล็กหรือหอยนางรมปากจีบมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccostrea commercialis (บางรายงานเสนอว่าชื่อวิทยาศาสตร์ควรเป็น S. cucullata) หอยนางรมพันธุ์นี้มีการเลี้ยงกันมากทางภาคตะวันออกของประเทศ

2. นางรมที่ค่อนข้างมีขนาดใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม (Crassostrea belcheri)

3.หอยตะโกรมกรามดำ (C. lugubris) แม้ว่าจะมีการเลี้ยงกันบ้างในภาคตะวันออก แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตจังหวัดภาคใต้

การแพร่กระจายตามธรรมชาติของหอยนางรมทั้งสามชนิด พบทั่วไปทั้งฝั่งทะเลภาคตะวันออกอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงหอยนางรม และหอยตะโกรมพบว่ามีการเลี้ยงกันใน 12 จังหวัด ชายฝั่งทะเลของไทย ประกอบด้วยภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด การเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นหอยนางรมพันธุ์เล็กในภาคใต้การเลี้ยงหอยนางรมพบ 6 จังหวัดในฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งพบทั้งการเลี้ยงหอยนางรมพันธุ์เล็กและหอยตะโกรม ทั้งชนิดกรามขาวและกรามดำ ในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีการเลี้ยงหอยตะโกรมกรามขาวและกรามดำ ในเขตจังหวัดระนองและพังงา พื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมรวมทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ.2528 คิดเป็น 6,053 ไร่ ให้ผลผลิตทั้งสิ้น 5,241 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 53,135,000 บาท อย่างไรก็ ตามผลการประเมินในปี พ.ศ. 2526 คาดว่าพื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมของประเทศไทยยังคงศักยภาพที่จะขยายออกไปได้ อีกไม่ต่ำกว่า 35,000 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นอีก ไม่น้อยกว่า 15.16% (ฝ่ายสถิติกรมประมง, 2531)

การเพาะเลี้ยงหอยนางรม
ชีววิทยา
เป็นหอยสองฝา (Bivalves) มีการผสมพันธุ์ภายนอก แล้วพัฒนาเป็นลูกหอยวัยอ่อน ซึ่งสามารถว่ายน้ำได้ ดำรงชีวิตเป็นพวกแพลงค์ตอน จนกระทั่งถึงวัยเกาะวัสดุ (Setting) ลูกหอยเมื่อเกาะวัสดุแล้วจะเกาะอยู่กับที่ตลอดชีวิต โดยใช้เปลือกซีกซ้ายยึดติดกับวัสดุในน้ำ การกินอาหารโดยการกรอง ขบวนการกรองของหอย 2 ฝา จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน เข้า Mantle Cavity มากพอ และตัวหอยยู่ในน้ำตลอดเวลา ดังจะพบว่าหอยที่เลี้ยงอยู่ในน้ำตลอดเวลาจะมีการเจริญเติบโตดีกว่าหอยที่อยู่ระดับน้ำขึ้น -น้ำลง

โรงเพาะเลี้ยงและอุปกรณ์
ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาสำหรับการสร้างโรงเพาะพันธ์หอย ประการแรกก็คือสถานที่ที่จะสร้างต้องเป็นแหล่งที่มีน้ำทะเลใสสะอาด มีระดับความเค็มค่อนข้างคงที่ตลอดปี ห่างจากแหล่งอุตสาหกรรม ปลอดจากสารมลพิษต่างๆ นอกจากนี้ควรจะเป็นแหล่งที่การคมนาคมสะดวก รวมทั้งมีสาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำประปา ไฟฟ้าบริบูรณ์ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานต่างๆ

โรงเพาะพันธุ์หอยประกอบด้วนส่วนต่างๆ ที่สำคัญดังนี้
1. ระบบน้ำ (Seawater system) ต้องการน้ำทะเลที่สะอาด ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อ โดยการสูบน้ำทะเลผ่านเครื่องกรอง (sand filter) แล้วเก็บสต๊อกไว้ในถังเก็บน้ำ ในกรณีที่น้ำมีตะกอนขุ่นมากต้องสูบน้ำไปพักไว้ในถัง ปล่อยให้ตกตะกอน ก่อนที่จะนำไปผ่านเครื่องกรอง ท่อน้ำหรือวาล์วปิดเปิดน้ำต้องใช้วัสดุที่ไม่เป็นสนิมหรือมีส่วนประกอบของโลหะหนักที่จะกอ่ให้เกิดอันตรายแก่ลูกหอย วัสดุที่เหมาะสมได้แก่ PVC อุปกรณ์จำเป็นสำหรับฆ่าเชื้อในน้ำ ได้แก่ เครื่องฉายรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งใช้ได้สะดวก ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง น้ำที่จะนำมาใช้ก่อนผ่านเครื่อง UV จะต้องกรองผ่านเครื่องกรองละเอียด ขนาดไม่เกิน 5 ไมครอน เสียก่อน เพื่อให้แสง UV มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ดี

2. ระบบลม (Aeration system) ใช้เครื่องเป่าอากาศ (air blower) ที่มีกำลังแรงอย่างเพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการเพาะสาหร่าย หรือแพลงก์ตอนพืชที่ใช้เป็นอาหารลูกหอย ซึ่งต้องการระบบการให้อากาศที่แรงมากพอ นอกจากนี้ยังมีระบบกรองลม เพื่อกำจัดฝุ่นละออง และละอองน้ำมันหล่อลื่น ที่จะปะปนออกมากับลมก่อนที่จะนำไปใช้ด้วย ท่อลมควรใช้ท่อ PVC เช่นกัน

3.หน่วยผลิตอาหาร (Phytoplankton unit) เป็นหน่วยสำคัญของโรงเพาะพันธุ์หอย เนื่องจากหอยเป็นสัตว์ประเภท filter feeder คือ กินอาหารโดยการกรองอาหารจากน้ำตลอดเวลา อาหารที่สำคัญได้แก่ พวกสาหร่ายหรือแพลงก์ตอนพืชขนาดเล็ก งานเพาะขยายพันธุ์แพลงก์ตอนพืชจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในโรงเพาะพันธุ์หอย ซึ่งระบบการผลิตแพลงก์ตอนพืชนี้จะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ คือ

3.1 ห้องเก็บหัวเชื้อ (Stock culture room) สำหรับเก็บรักษา ตลอดจนคัดแยกหัวเชื้อบริสุทธิ์ของแพลงก์ตอนพืช เพื่อใช้เป็นพันธุ์ในการขยายพันธุ์ต่อไป ห้องนี้ควรสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ไม่ควรให้อุณหภูมิสูงเกิน 25 องศาเซลเซียส

3.2 ห้องขยายพันธุ์ (Inoculation room) สำหรับขยายพันธุ์จากหัวเชื้อให้มีปริมาณมากขึ้นในภาชนะขนาด 2-5 ลิตร

3.3 ห้องเพาะลี้ยง (Carboy culture room) สำหรับเพาะเลี้ยงปริมาณมากในขวดคาร์บอนขนาด 20 ลิตร ซึ่งผลผลิตจากห้องนี้ อาจนำไปใช้เลี้ยงลูกหอยโดยตรง หรือนำไปขยายต่อในถึงขนาดใหญ่นอกห้องปฏิบัติการต่อไป

3.4 ถังและบ่อเพาะขนาดใหญ่ (Massculture หรือ Large tank area) ประกอบด้วยถึงไฟเบอร์กลาสขนาด 100 ลิตร ขึ้นไปจนถึงบ่อขนาดปริมาตรหลายตัน เพื่อเพาะขยายเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืชจำนวนมาก ใช้เลี้ยงลูกหอยวัยเกล็ด (spat) หรือหอยขนาดใหญ่รวมทั้งในขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยด้วย อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระบบผลิตแพลงก์ตอนพืชนี้ ต้องทำความสะอาดได้สะดวกและแยกใช้ ไม่ปะปนกับหน่วยอื่นๆ ภาชนะเครื่องแก้วที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ในห้องเก็บหัวเชื้อ และห้องขยายพันธุ์ ต้องอบหรือนึ่งฆ่าเชื้อได้ ถังไฟเบอร์กาสควรเป็นชนิดใสเพื่อให้แสงผ่านได้ดีเพราะปัจจัยสำหรับการเจริญ ของแพลงก์ตอนพืชประการหนึ่งคือ แสง

4. หน่วยอนุบาล (Nursery unit) ประกอบด้วยถังอนุบาล ได้แก่ ถังไฟเบอร์กลาส ซึ่งอาจมีขนาดตั้งแต่ 500 ถึง 2,000 ลิตร นอกจากนี้อุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ตระแกรงสำหรับถ่ายน้ำหรือกรองลูกหอย ท่อยางสำหรับถ่ายน้ำ เครื่องมือในการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสอบสภาพของลูกหอย เป็นต้น บริเวณหน่วยอนุบาลจะประกอบด้วยระบบท่อน้ำ ท่อลม ระบบกรองและทำความสะอาดน้ำรวมอยู่เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน นอกจากส่วนที่ใช้สำหรับอนุบาลลูกหอยวัยอ่อน ซึ่งหมายถึงระยะที่ว่ายน้ำแล้วหน่วยอนุบาลยังต้องประกอบด้วย ส่วนที่ใช้สำหรับอนุบาลลูกหอยระยะหลังจากการลงเกาะวัสดุ หรือหลังการ metamorphosis หรือที่เรียกว่าลูกหอยวัยเกล็ด (spat) เพื่อเตรียมให้มีสภาพแลขนาดเหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงต่อไปในทะเลได้ การอนุบาลลูกหอยวัยเกล็ดนี้จะประกอบด้วยระบบ downflow และ upwelling (หรือ upflow) ซึ่งระบบ downflow ใช้อนุบาลลูกหอยวัยเกล็ดขนาดเล็ก ทั้งนี้เนื่องจากน้ำหนักตัวลูกหอยยังน้อย เมื่อลูกหอยโตขึ้นจะปลี่ยนวิธีการอนุบาลลูกหอยวัยเกล็ดด้วยระบบ up welling แทน โดยทั้งสองแบบเป็นระบบการใช้น้ำไหลเวียนผ่านลูกหอยที่สำคัญมากระบบหนึ่ง

5. หน่วยจัดการพ่อแม่พันธุ์และการเพาะ (broodstock maintenance and spawning induction unit) ประกอบด้วยบ่อเก็บพ่อแม่พันธุ์หรือระบบขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ และอุปกรณ์การเพาะพันธุ์

6. ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ใช้สำหรับวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ตรวจสอบการเจริญเติบโตของลูกหอย คุณภาพลูกหอย คุณภาพของแพลงก์ตอนพืช เป็นต้น อุปกรณ์สำคัญ ได้แก่ กล้องจุลทรรศน์ เครื่องมือวิเคราะห์คุณภาพเครื่องชั่ง ฯลฯ การจัดระบบต่างๆ รวมทั้งการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยองแต่ละหน่วยในโรงเพาะพันธุ์หอย นอกจากจะคำนึงถึงรายละเอียดเฉพาะหน่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างหน่วย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานให้เอื้อผลดีที่สุดด้วย

การคัดเลือกพ่อแม่พันธ์หอยนางรม
หอยที่จะนำมาเพาะพันธุ์หรือกระตุ้นให้สืบพันธุ์ได้นั้น จะต้องมีความสมบูรณ์เพศกล่าวคือ มีไข่หรือน้ำเชื้อเจริญแก่จัด (mature gonads) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหอยส่วนใหญ่นั้นเราไม่สามารถจะสังเกตเพศได้จากการดูลักษณะภายนอก ในฤดูวางไข่ หรือช่วงที่อวัยวะเพศสมบูรณ์นั้น หอยบางชนิดจะสามารถสังเกตเพศได้จากสีของส่วนที่เป็นอวัยวะเพศ เช่น หอยแมลงภู่ และหอยแครงตัวเมียจะมีสีส้ม ส่วนตัวผู้เป็นสีครีมหรือสีเหลืองอ่อน แต่ในหอยบางชนิด เช่น หอยนางรม นั้นไม่สามารถจะบอกความแตกต่างจากสีของอวัยวะเพศได้ชัดเจน นอกจากจะเขี่ยออกมาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

ก่อนที่จะนำหอยมาทำการเพาะพันธุ์นั้น ควรจะต้องตรวจดูความสมบูรณ์ของไข่และน้ำเชื้อเสียก่อน โดยทั่วไปจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างหอยมาผ่าดูอวัยวะเพศ หรือตรวจสอบ เซลล์สืบพันธุ์โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ แล้วแต่กรณี ไข่ที่เจริญเต็มที่ โดยทั่วไปจะมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม ส่วนน้ำเชื้อนั้นจะว่ายน้ำได้อย่างแข็งแรง หากตรวจพบว่า ไข่และน้ำเชื้อยังไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ควรทำการเพาะพันธุ์ในขณะนั้น แต่จะต้องทำการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้สมบูรณ์เสียก่อน

ในสภาพธรรมชาตินั้น หอยส่วนใหญ่มักจะมีการสืบพันธุ์เป็นฤดูกาล ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ส่งผลมาถึงการเจริญเติบโต ตลอดจนการพัฒนาการของอวัยวะสืบพันธุ์ พ่อแม่หอยที่นำมาเพาะพันธุ์ จึงอาจได้จากการเก็บรวบรวมหอยที่มีไข่หรือน้ำเชื้อสมบูรณ์ในช่วงฤดูการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติมาเพาะ หรืออาจใช้พ่อแม่พันธุ์ได้จากการขุนเลี้ยง โดยควบคุมสภาวะแวดล้อมบางประการเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาการของอวัยวะสืบพันธุ์ จนสมบูรณ์พร้อมสำหรับผสมพันธุ์ได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล

สำหรับหอยตะโกรม สามารถนำมาเลี้ยงเก็บไว้ในกระบะไม้กรุด้วยอวน ผูกแขวนไว้ในบ่อดิน หรือคลองส่งน้ำ ที่มีการถ่ายเทน้ำเป็นประจำ เช่น บ่อเลี้ยงปลา ดังเช่น วิธีการที่ใช้เลี้ยงศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ สามารถเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ให้มีไข่และน้ำเชื้อสมบูรณ์ใช้เพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์หอยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึง เพราะพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์เต็มที่จะให้เซลล์สืบพันธุ์ที่มีคุณภาพดี เป็นผลให้ได้ลูกหอยที่มีความเจริญเติบโตได้ดี มีอัตรารอดตายสูงด้วยการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนนำมาเพาะจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยอาจจะนำพ่อแม่พันธุ์หอยมาทำการขุนเลี้ยงในถัง หรือกระบะ และให้อาหารเสริม ได้แก่ แพลงก์ตอนพืชต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอเป็นเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ก่อนการเพาะพันธุ์

การกระตุ้นพ่อแม่พันธุ์ให้ปล่อยน้ำเชื้อและวางไข่
นำพ่อแม่พันธุ์หอยมาทำความสะอาด ขัดล้างสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตามเปลือกออก นำมาใส่ในกระบะทิ้งไว้ 12-15 ชม. (1 คืน) โดยไม่ใส่น้ำ เช้าวันรุ่งขึ้นทำการเพาะโดยเปิดน้ำทะเลที่อุณหภูมิ 34-35 ํC ไหลผ่านกระบะ 1-2 ชม. สลับกับน้ำอุณหภูมิปกติ ทำประมาณ 3 ครั้ง จนกระทั่งหอยปล่อยน้ำเชื้อซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำสีขุ่นขาว เป็นสาย และปล่อยไข่ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ปล่อยออกมาเป็นจังหวะ จึงแยกตัวผู้และตัวเมียออกจากกัน ในภาชนะคนละใบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Polyspermy คือ ไข่ 1 ใบถูกผสมโดยน้ำเชื้อหลายๆ ตัว ซึ่งจะทำให้ไข่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ จากนั้นกรองสิ่งสกปรกออกโดยใช้ตะแกรงขนาด 70-90 ไมครอน ไข่มีขนาด 50 ไมครอน จะลอดผ่านได้ ส่วนน้ำเชื้อมีขนาดเล็กมากให้ใช้ตะแกรง 30 ไมครอนกรองสิ่งสกปรกออก สุ่มนับน้ำเชื้อและจำนวนไข่แล้วจึงผสมไข่กับน้ำเชื้อเข้าด้วยกัน ในถังขนาด 20-25 ลิตร ทิ้งไว้ 5-10 นาที จากนั้นแบ่งลงในถังเลี้ยงให้มีความหนาแน่นประมาณ 10-15 ใบต่อมิลลิลิตร ให้อากาศเบาๆ ไข่ที่ได้รับการผสมจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไป

การอนุบาลลูกหอยตะโกรม
ถังอนุบาลควรมีขนาด 500 ลิตรขึ้นไป วันรุ่งขึ้นหลังจากทำการผสมพันธุ์ ลูกหอยจะเข้าสู่ระยะ D shape ควรทำการเปลี่ยนน้ำในถังอนุบาลและเปลี่ยนทุก ๆ 2-3 วัน จนกว่าลูกหอยจะเข้าสู่ระยะเกาะวัสดุ การเปลี่ยนน้ำจะดูดน้ำออกผ่านผ้ากรอง ขนาดตั้งแต่ 35 ไมครอนขึ้นไป สังเกตลูกหอยที่สมบูรณ์ดี เมื่อถ่ายน้ำจะสังเกตลูกหอยจะติดค้างอยู่บนตะแกรงมีสีเข้ม ส่องกล้องจะเห็นกระเพาะอาหารสีเหลือง หรือน้ำตาลเข้ม อาจใช้ยาปฏิชีวนะ ซัลฟาเมท 33 ppm ป้องกันและรักษาโรคจากเชื้อแบคทีเรีย ควรใช้เฉพาะเวลาจำเป็น นอกจากนี้ยังอาศัยเทคนิค อื่น ๆ เช่น การคัดขนาด กำหนดความหนาแน่น ชนิดและปริมาณอาหาร ความเค็ม

การอนุบาลทำได้หลายลักษณะ ได้แก่
1. ใช้ระบบ Upwelling และ Downwelling นิยมใช้กับลูกหอยที่เกาะเป็นตัวเดี่ยว ๆ น้ำทะเลที่ใช้อนุบาลลูกหอยในระบบนี้จะมีการไหลเวียนตลอดเวลาโดยเมื่อลูกหอย มีขนาดเล็กมากจะให้น้ำไหลเวียนในลักษณะ Downwelling เมื่อหอยมีขนาดประมาณ 1 mm. จะเปลี่ยนทิศการไหลเวียนของน้ำเป็น Upwelling ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยลดการสะสมของเสีย

2. วิธีแขวนลอย จะใช้กับหอยที่เกาะวัสดุล่อในลักษณะต่าง ๆ โดยพยายามไม่ให้ลูกหอยกองอยู่บนพื้นถัง ซึ่งเป็นบริเวณสะสมของเสีย

การนำลูกหอยขนาดเล็กเกินไปออกจากโรงเพาะฟักสู่แหล่งเลี้ยง ลูกหอยจะมีอัตรารอดต่ำมาก แต่การอนุบาลในโรงเพาะฟักนานเกินไปมักพบปัญหา เช่น เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ยุ่งยากในการเตรียมอาหาร เป็นต้น

อาหารของหอยนางรม
อาหารของหอยนางรม ได้แก่ แพลงก์ตอนพืชเซลล์เดียวที่มีขนาดเล็กชนิดต่างๆ ที่สำคัญ คือ Isochrysis galbana ซึ่งเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลแกมทองที่สามารถใช้เลี้ยงลูกหอยสองฝาทุกชนิดที่มีการเพาะลี้ยงกันในปัจจุบันทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีสาหร่ายเซลล์เดียว สีเขียวเช่น Tetraselmis, Dunaliella, Chlamydomonas และไดอะตอมพวก Chaetoceros calcitrans, Thalassiosira (Cyclotella) pseudonana (3 H strain) เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสมทบหลังจากหอยมีขนาดโตเกิน 100 ไมครอนขึ้นไปแล้ว

แพลงก์ตอนพืชที่ใช้เป็นอาหารหอยเหล่านี้ จะต้องทำการเพาะเลี้ยงให้ได้ปริมาณมากพอและมีคุณภาพดี คือ มีแบคทีเรียหรือสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เจือปนน้อยที่สุด ปริมาณอาหารที่ใช้ ขึ้นอยู่กับจำนวนหอยและความต้องการของหอย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและขนาดที่โตขึ้นด้วย และอาหารต้องมีปริมาณพอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป ถ้าน้อยเกินไปก็จะไม่เพียงพอแก่การเจริญเติบโตของหอย ขณะเดียวกันถ้าให้มากเกินไปจะมีผลยับยั้งอัตราการกรองกินอาหารของหอย ทำให้การเจริญเติบโตต้องชะงักเช่นกัน ดังนั้นการให้อาหารจึงต้องคำนวณปริมาณ ความหนาแน่นของเซลล์ต่อปริมาณน้ำที่ใช้อนุบาลหอยด้วย

โดยทั่วไปหลักการให้อาหารแก่หอย จะทำโดยให้ปริมาณทีละน้อย เมื่อหอยกรองกินไปส่วนหนึ่งแล้ว จึงค่อยเพิ่มให้อีกเป็นระยะๆ การให้อาหารจะกระทำทุกวันวันละ อย่างน้อย 2 ครั้ง เช้า-เย็น

สูตรอาหาร (Culture media)
อาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชก็คือ แร่ธาตุหรือสารเคมีต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปนั้น การเตรียมสูตรอาหารสำหรับเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ควรใช้สารเคมีที่มีความบริสุทธิ์อยู่ในระดับ Reagent grade ส่วนที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงปริมาณมากๆ อาจใช้ Commercial grade ซึ่งมีความบริสุทธิ์น้อยลงและราคาถูก หรืออาจใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

การเลือกพื้นสำหรับเลี้ยงหอยนางรม
ทำเลพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเลี้ยงหอยนางรม หลักเกณฑ์เบื้องต้นที่จะต้องพิจารณาซึ่งมีเหตุผลและความเหมาะสมดังนี้ คือ

1. ควรเป็นแหล่งน้ำกร่อยหรือน้ำทะเลท่วมถึง อย่างน้อยเป็นเวลานาน 7-8 เดือน/ปี ไม่อยู่ในอิทธิพลของน้ำจืดไหลท่วม ในฤดูฝน จนมีผลให้แหล่งเลี้ยงมีความเค็มต่ำมากเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีผลให้มีอัตราการตายสูง

2. ควรเป็นแหล่งน้ำที่มีหอยเกิดตามธรรมชาติ สะดวกต่อการจัดหาพันธุ์หอย เพื่อความสะดวกและลดต้นทุนการเลี้ยง

3. แหล่งน้ำที่ใช้เลี้ยงควรปลอดภัยจากกระแสน้ำและคลื่นลมแรง ที่อาจทำให้วัสดุและส่วนประกอบต่างๆ ตลอดจนหอยที่เลี้ยงถูกทำลายเสียหายได้

4. แหล่งเลี้ยงควรอยู่ห่างไกลโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อันก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายกับหอยและผู้ที่บริโภคหอย

5. ควรเป็นแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไหลผ่านและเป็นน้ำที่อุดมด้วยอาหารธรรมชาติ กระแสน้ำควรมีความเร็วโดยทั่วไป ประมาณ 1 เมตร/วินาที

6. ควรเป็นแหล่งน้ำตื้น สภาพเป็นดินโคลนหรือโคลนปนทราย ความลึกของหน้าดินไม่มากนัก

7. ควรเป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการจัดหาวัสดุในการเลี้ยงหอยได้โดยง่าย

8. ควรเป็นพื้นทีที่มีการคมนาคมสะดวก ใกล้ตลาด ง่ายต่อการจำหน่ายผลผลิต

การรวบรวมพันธุ์หอยสำหรับการเลี้ยง
การเลี้ยงหอยนางรมในประเทศไทยยังต้องพึ่งพาลูกหอยจากธรรมชาติ เนื่องจากลูกหอยที่ได้จากการเพาะพันธุ์ยังไม่เพียงพอ การล่อลูกหอยในแต่ละแหล่งเลี้ยงต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ ความสะดวกในการจัดหาวัสดุและการจัดการแปลงเลี้ยงเป็นตัวกำหนด วัสดุที่นิยมใช้ ได้แก่ ไม้ไผ่ ไม้เป้ง ก้อนหิน หลอดซีเมนต์ เปลือกหอยนางรม ยางรถยนต์ แผ่นกระเบื้อง ฯลฯ นอกจากการใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ แล้วการลงเกาะของลูกหอยนางรม ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำทะเล ความเค็ม ปริมาณแสง การขึ้น-ลงและความเร็วของกระแสน้ำ อิทธิพลของดวงจันทร์ ความลึกของน้ำและตัวของวัสดุล่อ ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการล่อนั้นลักษณะของผิว สี และความสะอาดเป็นอย่างไร นอกจากนี้ลูกหอยนางรมยังมีพฤติกรรมในการรวมตัว ลูกหอยมักลงเกาะวัสดุล่อที่มีลูกหอยตัวอื่น ๆ เกาะอยู่ก่อนแล้ว

ลูกหอยนางรมมักจะเกิดตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่ช่วงที่เกิดลูกหอยวัยเกล็ด จะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น และลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่ง เช่น จังหวัดสุราษฏร์ธานีเกิดมากในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม จังหวัดตรังในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม จังหวัดชลบุรีในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม และตุลาคม - พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี

วิธีการเลี้ยงหอยนางรม
วิธีการเลี้ยงหอยนางรมมีอยู่หลายวิธีมีความเหมาะสมที่จะใช้ตามลักษณะภูมิประเทศ และดินฟ้าอากาศของแต่ละท้องที่  ฉะนั้นการที่จะใช้วิธีใดในท้องที่ใดนั้น จึงเป็นเรื่อง ที่จะต้องพิจารณาเลือดคัดตามความเหมาะสม

1. การเลี้ยงบนก้อนหิน เป็นวิธีการใช้ก้อนหินวางใช้ลูกหอยนางรมเกาะเลี้ยงตัวจนได้ขนาดตามความต้อง การเป็นวิธีที่ง่ายและเก่าแก่ ทำกันมาแต่โบราณ นิยมทำกันแพร่หลายมากจนปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะท้องที่ที่สามารถหาก้อนหินจากธรรมชาติได้สะดวก โดยทำการวางก้อนหินเป็นกองๆ กองหนึ่งๆ มีก้อนหิน 5-10 ก้อน ทำการวางให้ก้อนหินพิงเกยกันโดยพิจารณาว่าจะวางให้อยู่ในลักษณะใดจึงช่วยให้ก้อนหินมีพื้นที่ให้ลูกหอยเกาะมากที่สุด หินแต่ละกองอยู่ห่างกันประมาณ 50 ซม. เรียงกันเป็นแถว วิธีการนี้มักทำการเลี้ยงหอยในขอบเขตระหว่างแนวระดับน้ำสูงสุดถึงระดับน้ำต่ำสุด (Intertidal area) ตามชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นอ่าวเปิดพื้นดินเป็นโคลนแข็ง ทรายปนโคลนแข็ง หรือบริเวณที่เป็นหิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ก้อนหินที่วางจมลึกลงไปหรือถูกทับถม ในกรณีที่สภาพดินเป็นโคลนค่อนข้างอ่อนก็ใช้ไม้ไผ่วางเป็นฐานรองรับก้อนหิน เพื่อกันมิให้หินจมโคลน หรือบางรายก็ทำเป็นฟาก โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกประกอบเข้าเป็นร้าน สำหรับวางหินบนคานเตี้ยๆ ในแหล่งเลี้ยง แล้วใช้ก้อนหินที่มีลูกหอยเกาะวางเลี้ยงต่อไปเพื่อกันโคลนทับถม มักพบเห็นตามบริเวณอ่าวเปิดและปากแม่น้ำลำคลองทั่วๆ ไป รูปแบบการเลี้ยงหอยนางรมวิธีนี้ สามารถพบได้ในการเลี้ยงหอยนางรมพันธุ์เล็กที่จังหวัดชลบุรี และที่อ่าวสวี จังหวัดชุมพร

2. การเลี้ยงในกระบะไม้ การเลี้ยงแบบนี้เหมาะสมกับท้องที่ที่เป็นอ่าวเปิดตามบริเวณปากแม่น้ำหรือ ตามบริเวณชายฝั่งของปากแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำกร่อยน้ำเค็มท่วมถึงเป็นประจำ กระบะไม้ทีใช้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดตามต้องการ แต่ที่นิยมใช้มีความกว้าง 80 ซม. ยาว 200 ซม. สูง 25 ซม. ขอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ตะเคียน หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ พื้นเป็นไม้ ชนิดเดียวกัน ฟากทำด้วยเฝือกไม้ไผ่ทั้งนี้เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวก กระบะวางอยู่บนคานสูงจากพื้นดินที่น้ำท่วมถึงประมาณ 30 ซม. และยึดติดกับคานอย่างมั่นคง พันธุ์หอยนางรมที่นำมาใส่เลี้ยงในกระบะสำหรับหอยพันธุ์เล็กควรมีอายุประมาณ 6-7 เดือน หรือมีขนาด 3.5-4.5 ซม. ซึ่งกะเทาะจากก้อนหิน หากเป็นหอยนางรมที่เกาะติดกับเปลือกหอยอื่นก็นำมาใส่กระบะเลี้ยงได้เลย ทำการเลี้ยงไว้จนมีอายุประมาณปีครึ่งหอยจะโตขึ้นถึงขนาดส่งตลาดได้ สำหรับหอยตะโกรม รวบรวมมาปล่อยเลี้ยงในกระบะเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน หรือขนาด 3-4 ซม. เลี้ยงไว้จนอายุ 7-8 เดือน จะได้ขนาดที่ส่งตลาดได้ วิธีการเลี้ยงบนกระบะไม้พบได้กับการเลี้ยงหอยนางรมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3. การเลี้ยงแบบใช้แท่งซีเมนต์ การเลี้ยงด้วยวิธีนี้อาจเลี้ยงได้ดีในที่ที่มีสภาพเช่นเดียวกับการใช้ก้อนหิน ตามข้อ 1. หรือจะใช้ทั้งสองแบบรวมกันในบริเวณเดียวกันก็ได้ โดยใช้แท่งซีเมนต์ตามที่ว่าง ระหว่างแถวของกองหิน แต่เว้นที่ว่างเป็นทางเดินไว้พอสมควร เหมาะสำหรับท้องที่ที่มีสภาพพื้นดินโคลน แท่งซีเมนต์ที่ใช้นั้นจัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการเลี้ยงหอยนางรม และเพื่อให้ต้านทานต่อการเคลื่อนไหวของคลื่นลมและกระแสน้ำได้ดีจึงต้องหล่อแท่งซีเมนต์และใช้ไม้เป็นแกนกลาง อาจใช้ไม้โกงกาง หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ก็ได้ ไม้ที่ยื่นออกมาจะถูกปักยึดอยู่ในดิน เพื่อพยุงให้เสาซีเมนต์ไม่ล้มลง ทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ประโยชน์ได้นานปี ขนาดของแท่งซีเมนต์ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและความต้องการของผู้เลี้ยงแต่โดยทั่ว ไปที่ทำการทดลองแล้วได้รับผลดี เป็นขนาดความสูง 50-70 ซม. ด้านหน้าตัดของเสาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 12x12 ซม.  ไม้ที่ใช้เป็นแกนกลางยาว 1 เมตร ฝังอยู่ในแท่งซีเมนต์ 50 ซม. ส่วนที่ยื่นออกไปเพื่อปักลงไปในดิน 50 ซม.

4. การเลี้ยงโดยใช้หลักไม้ การเลี้ยงด้วยวิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่เหมาะยิ่งกับสภาพชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นอ่าวเปิดพื้นดินเป็นโคลนอ่อนหรือโคลนปนทราย เป็นแหล่งที่ไม่มีเครื่องกำบังคลื่นลม ยิ่งไปกว่านั้นวิธีนี้ยังสามารถเลี้ยงตามชายฝั่งของปากแม่น้ำลำคลองที่มีกระแสน้ำไหลค่อนข้างแรงได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายมากมายนัก ไม้ที่ใช้เป็นไม้เนื้อแข็งเพื่อให้ลูกหอยเกาะเลี้ยงตัวจนได้ขนาดตลาด คล้ายหลักหอยแมลงภู่ แต่ไม้ที่ใช้เป็นจำพวกไม้เนื้อแข็ง ไม้พังกา หรือสักทะเล บ้างก็ใช้เปลือกหอยตะโกรมหรือหอยนางรมร้อยเป็นพวงๆ ไปล่อลูกหอยในแหล่งหอยเกิดตามธรรมชาติ ลูกหอยจะเกาะติดอยู่ตามเปลือกหอย เมื่ออายุประมาณ 1-2 เดือน จึงนำเปลือกหอยที่มีลูกหอยเกาะติดอยู่แล้วนั้นมายึดติดกับหลักโดยใช้ ลวดผูกให้เปลือกหอยอยู่ห่างกันเป็นระยะพอสมควร หลักไม้ที่ใช่ส่วนมากเป็นไม้ไผ่ ไม้เป้ง หรือใช้ไม้อื่นๆ ราคาถูกที่อาจหาได้ในท้องที่นั้น หลังจากที่ประกอบเปลือกหอยติดเข้ากับหลักไม้แล้ว จากนั้นก็นำไปปักไว้ในแหล่งเลี้ยงเป็นแถวๆ โดยเว้นระยะห่างกันพอสมควร การปักไม้จะลึกลงไปในดินมากน้อย เท่าใดนั้นแล้วแต่ความแข็งของดิน ถ้าดินเป็นโคลนแข็งปักลึกลงไปเพียง 30-40 ซม. ก็เพียงพอหากดินเป็นโคลนอ่อนต้องปักลึกจนแน่ใจว่ามั่นคงพอ

5. การใช้หลอดหรือท่อซีเมนต์ เหมาะสำหรับแหล่งเลี้ยงที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ ที่ตื้นชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำ ลำคลอง และทะเลสาบ พื้นดินเป็นโคลนหรือโคลนอ่อนปนทาย ขั้นแรกต้องทำการปักหลัก ไม้ราคาถูก ซึ่งอาจจัดหาได้เองในท้องที่ได้แก่ ไม้เป้ง โกงกาง หลอดไม้ ฯลฯ โดยปักให้เรียงเป็นแถวมีช่องว่าง ระหว่างแถวห่างกันประมาณ 1 เมตร จากนั้นนำหลอดซีเมนต์กลวงที่เตรียมไว้สวมลงในไม้หลักที่ปักไว้ พร้อมกันนั้นใช้ไม้วางพาดเป็นฐานรองรับท่ออีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อจมโคลน หรือเป็นท่อซีเมนต์ที่มีปากเปิดข้างเดียว ก็ใช้สวมลงบนหลักไม้ได้โดยตรง ด้วยวิธีดังกล่าวสามารถวางท่อได้ประมาณ 1,600 ท่อ/ไร่ นอกจากหลอดซีเมนต์ที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรได้มีการพัฒนาขยายขนาดหลอดให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมีลักษณะเป็นท่อซีเมนต์เพื่อเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของลูกหอยและใช้ฐานซีเมนต์เพื่อการรองรับ ท่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แทนที่จะใช้ไม้เป็นตัวรองรับเช่นเดิม ทำให้อายุการใช้งานนานขึ้นและการจัดการสะดวกขึ้น การเลี้ยงวิธีนี้เป็นที่นิยมในการเลี้ยงหอยนางรมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจันทบุรี

6. การเลี้ยงแบบพวงอุบะแขวน เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่นิยมทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป เพราะหอยโตเร็วและให้ผลผลิตสูง การเลี้ยงในวิธีการนี้สามารถกระทำได้ใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การแขวนใต้แพ และแขวนจาก Long line จุดสำคัญต้องเลี้ยงในอ่าวปิด หรือที่ที่มีกำบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี แพที่จะใช้เลี้ยงหอยจะมีขนาดกว้างยาวตามความต้องการของผู้เลี้ยง ใช้ถังพลาสติก หรือทุ่นโฟมพยุง มีสมอยึดทั้งสี่มุม เพื่อตรึงให้แพหรือเชือกอยู่กับที่ ระดับความลึกของน้ำควรอยู่ประมาณ 5-10 เมตร การล่อลูกหอยใช้วิธีเดียวกับการเลี้ยงแบบที่ 4 เมื่อลูกหอยติดกับเปลือกหอยได้แล้ว จึงเอาเปลือกหอยนั้นมาร้อยเป็นพวง ใช้ลวดสังกะสีเบอร์ 10 ให้เปลือกหอยอยู่ห่างกัน ประมาณ 15-20 ซม. โดยใช้ไม้ไผ่รวกขนาดเล็กกั้นระหว่างเปลือก จากนั้นนำพวงหอยไปแขวนเลี้ยงไว้ที่แพจนหอยได้ขนาดที่ตลาดต้องการ การเลี้ยงแบบพวงอุบะแขวนในประเทศไทยนิยมทำกันในแม่น้ำหรือคลองในย่านน้ำกร่อย เช่น ในจังหวัดพังงา หรือการเลี้ยงแบบร้อยเปลือกหอยและแขวนเป็นราวที่ใช้กับหอยตะโกรมกรามดำ ในคลองบางนางรม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

7. การเลี้ยงหอยนางรมแบบอื่นๆ นอกจากวิธีการเลี้ยงหอยนางรมที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมีรูปแบบการเลี้ยงอื่นๆ โดยใช้วัสดุการเลี้ยงรูปแบบอื่นที่มีสภาพแข็งแน่นเพื่อการนี้ได้ เช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว กระเบื้องลอนเดี่ยว ลอนคู่ อิฐ อ่าง ไห ตุ่มที่ชำรุดแล้ว นอกจากนี้ในบางประเทศนิยมเลี้ยงหอยนาง่รมแบบหว่านลงเลี้ยงกับพื้นดิน โดยนิยมใช้ในสภาพพื้นดินแข็งเพื่อกันหอยนางรมจมโคลนซึ่งอาจก่อให้เกิดการเสียหายได้

ข้อควรระวังในการเลี้ยงหอยนางรม
1. ปัญหามรสุมและคลื่นลมแรงเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงหอย เพราะวัสดุที่วางหักล้มจมโคลน ทำให้ให้หอยตาย

2. ควรตรวจและซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงหอยที่ชำรุดอย่างสม่ำเสมอ

3. ควรระมัดระวังสภาพของแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรม ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นย่อมจะกระทบต่อผลผลิตหอยที่จะลดลงเรื่อย ๆ

4. ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน เกิดตะกอนดินมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและหอยตายในที่สุด

5. มักจะมีสัตว์น้ำที่แย่งอาหารและที่อยู่อาศัยของหอยนางรม เช่น หอยแมลงภู่ หอยกะพง เพรียง และฟองน้ำ เป็นต้น

6. ปัญหาการลักขโมยหลักหอยมักจะเกิดขึ้นเสมอ ฉะนั้น จึงควรมีที่พักหรือขนำให้คนเฝ้าดูแลรักษาบริเวณแปลงเลี้ยงหอย

7. ควรระวังศัตรูหอยนางรมหลายชนิดที่สำคัญได้แก่ หอยหมู หอยมะระ ปู ปลาดาว ปลากระเบน ปลานกแก้ว และนกบางชนิด เป็นต้น นอกจากนี้หอยนางรมลอยหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า " หอยเฉลียบ " จะเกิดแพร่พันธุ์และแย่งพื้นที่การเจริญเติบโต ของหอยนางรมขนาดเล็ก ชาวบ้านจะเอาขึ้นมาตากแดด 2 วัน หอยจะตาย ปัจจุบันหอยชนิดนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

8. สิ่งปนเปื้อนในหอยที่มักพบว่ามีปัญหาเสมอ ได้แก่ ปริมาณแบคทีเรียต่าง ๆ ที่มีมากเกินกำหนด ดังนั้นจึงควรทำความ สะอาดหอยหรือบำบัดสิ่งปนเปื้อนในตัวหอยดังกล่าวให้ปลอดภัยต่อการบริโภค

ประโยชน์ของหอยนางรม
หอยนางรมเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื้อหอยนางรมนอกจากสามารถรับประทานสดๆ และปรุงอาหารได้หลายหลายแล้ว ยังนำมาแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปได้อีกด้วยหอยนางรมอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือ เป็นแหล่งของวิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง บีสาม ซี และดี การ ริโภคหอยนางรมตัวที่มีขนาดกลาง 4-5 ตัว ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุและสารอาหาร ประเภทแร่เหล็ก คอปเปอร์ ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม ซิงค์ แมงกานีส ฟอสฟอรัส โปรตีน และแคลซียม อย่างไรก็ตามหอยนางรมดิบ อาจมีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วแทนที่จะให้ประโยชน์ กลับทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น อาจทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

หอยนางรมกับสุขภาพทางเพศชาย
ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหรือสมรรถภาพทางเพศถดถอยเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ชายมีความต้องการทางเพศน้อยลง อันเนื่องมาจากความเครียด ภาวะบีบคั้นจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และหลายๆ ปัจจัย จากการวิจัยพบว่าความเครียดจะส่งผลให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย หลั่งน้อยลงกว่าปกติและถ้าความเครียดถูกสะสมไว้นานๆ อาจมีผลทำให้การทำงานของอวัยวะในหลายๆ ระบบบกพร่องไปด้วย ซึ่งอวัยวะเพศ และความรู้สึกทางเพศ นั้น มีส่วนสัมพันธ์กับความเครียดอย่างมาก ยิ่งความเครียดสูง การหลั่งฮอร์โมนเพศจะลดลง ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง เป็นลำดับ หากปล่อยไว้นานไป จะมีผลทำให้อวัยวะเพศเสื่อมสมรรถภาพได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อในส่วนดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้งาน หอยนางรมมีสารประกอบสำคัญ คือ ทอรีน (Taurine ) ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาท มีผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไต ซึ่งมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเพศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ทอรีนจะมีธาตุสังกะสี (Zinc) เป็นตัวส่งเสริมการออกฤทธิ์ให้ได้ผลดียิ่งดีขึ้น ซึ่งเราจะพบ Zinc ได้มากในหอยนางรม ดังนั้นหอยนางรมสามารถนำมาเป็นอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือสมรรถภาพทางเพศได้อย่างดีอีกด้วย

คุณสมบัติและสารประกอบที่พบในหอยนางรม

ทอรีน (Taurine) เป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่หลายคนยังไม่รู้จักทอรีนนี้มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการต่างๆ ในร่างกายอย่างมาก โดยเฉพาะในสมองเพราะ

1. ทอรีนสามารถใช้ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง(Hypertension) โดยกลไกจะทำงานเกี่ยวข้องกับระบบ Renin-Angiotension ของไตซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมความดันโลหิต

2. ทอรีนมีหน้าที่ควบคุมการเข้าออกของอิออนต่างๆ จากเซลล์เราจึงพบทอรีนมาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งกระแส ประสาท เช่น สมองส่วนกลางและพบมากในอวัยวะ ที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัส และแหล่งรวมกระแสประสาททั้งหลายนอกจากนี้ยังพบทอรีนมากในเนื้อเยื่อของกล้าม เนื้อลาย และหัวใจ

3. ทอรีนยังช่วยการทำงานของตับและตับอ่อนโดยการสร้าง Taurocholate ซึ่งจะไปช่วยทำให้ไขมันที่รับประทานเข้าไป แตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กๆ สามารถถูกย่อยและเผาผลาญได้ง่ายขึ้น ร่างกายของเราจึงสามารถนำ พลังงานเหล่านั้น ไปใช้ เป็นกำลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เร็วขึ้น

4. พบว่าสามารถใช้เทารีนในผู้ชายที่เป็นหมัน (Male Infertility) อันเนื่องจาก Sperm ไม่เคลื่อนที่หรือไม่มีกำลังเคลื่อนที่ซึ่งทอรีนจะช่วยให้สภาวะดังกล่าวดีขึ้นได้

การรับประทานหอยนางรมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
1.การรับประทานหอยนางรมสดๆ จะมีอันตรายเพราะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ และพยาธิที่ก่อให้เกิดโรคติดตามมามากมาย หรือหอยที่ผ่านการปรุงรสก็อาจจะไม่ได้รับสารอาหารครบถ้วน เพราะสารอาหารเหล่านั้นจะถูกความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารทำลายไปแล้ว

2.ทางออกที่ปลอดภัยและได้รับสารอาหารจากหอยนางรมครบถ้วน คือการเลือกทานอาหารเสริมที่สกัดเอาคุณประโยชน์จากหอยนางรมได้อย่างครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายและปราศจากผลข้างเคียง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทานสารสกัดจากหอยนางรมนั้นมีประโยชน์สำหรับเพศชายเป็นอย่างมาก

ต้นทุนการเลี้ยงหอยนางรม
ต้นทุนการเลี้ยงหอยนางรมทั้งหอยนางรมพันธุ์เล็กและหอยนางรมพันธุ์ใหญ่จะขึ้น อยู่กับวิธีการเลี้ยงเพราะมูลค่าวัสดุที่ใช้สำหรับวางเลี้ยงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ

1. ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงหอยนางรมพันธุ์ใหญ่เฉลี่ยต่อไร่โดยวิธีใช้หลอดซีเมนต์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีรายละเอียดดังนี้

ต้นทุนผันแปร
ค่าพันธุ์หอยนางรม ราคาตัวละ 5-8 บาท ต่อไร่ 800,000 บาท

ปูนซีเมนต์ 9,750 บาท

ค่าแรงงาน 10,000 บาท

น้ำมันเชื้อเพลิง 1,000 บาท

ค่าเสียโอกาส 1,000 บาท

ต้นทุนคงที่
ไม้ไผ่ปักเขตและปักหลอด 1,000 บาท

หลอดซีเมนต์พร้อมหลัก 72,000 บาท

ค่าน้ำ (อาชญาบัตร) 80 บาท

ค่าเสียโอกาส 1,000 บาท

ต้นทุนทั้งหมด 895,770 บาท

ต้นทุนเฉลี่ยต่อตัว 5.50 บาท

รายได้ที่ได้รับเกษตรกรจะขายได้ 10-20 บาท/ตัว 1,600,000 - 3,000,000 บาท

กำไรที่ได้รับต่อตัว 4.50 - 9.50 บาท

กำไรที่ได้รับต่อไร่ 360,000 บาท/ไร่/ปี


2. ต้นทุนและผลตอบแทนจากการเลี้ยงหอยนางรมพันธุ์เล็กแบบแขวนใต้แพ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่จังหวัดชลบุรี มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

ต้นทุนผันแปร
ต้นทุนค่าไม้ไผ่ 20,000 บาทต่อนั่งร้าน 1 แผง

ต้นทุนค่าลูกหอย 9,000 บาท

จำหน่ายผลผลิตได้ 900 กก. ๆ ละ 70 บาท เป็นเงินรวม 63,000 บาท

กำไรต่อนั่งร้าน 1 แผง (ขนาดแผง 6x 46 เมตร) = 63,000 - 29,0000 41,000 บาท

กำไรที่ได้รับต่อไร่ (1 ไร่เลี้ยงได้ 3 แผง ) = 3x41,000 123,000 บาท
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร