ปลาทูนึ่ง หน้างอ คอหัก สุดยอดปลาทูแม่กลอง
“สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง พี่จำจากน้องคนงาม แว่วหวูดรถไฟพี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม ยังละเมอเพ้อพร่ำคิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง...”
ลาสาวแม่กลอง : พนม นพพร
สมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง ไม่เพียงมีสาวงามแล้ว เมืองนี้ยังมีของดีชวนชมชวนกินอีกเพียบ ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม”
นอกจากของดีตามคำขวัญจังหวัดแล้ว สมุทรสงครามยังมี “ปลาทูแม่กลอง” เป็นอีกหนึ่งของดีอันเลื่องชื่อ ซึ่งในทุกๆวันที่ท่าเรือหน้าวัดปทุมคณาวาส ที่เป็นท่าขึ้นปลาทูขนาดใหญ่ จะเต็มไปด้วยบรรยากาศของพ่อค้า แม่ค้า และชาวประมง มาทำการซื้อขายปลาทูกันอย่างคึกคัก เพื่อที่จะนำไปนึ่งแล้วขายเป็นปลาทูนึ่งใส่เข่ง ก่อนที่จะมีคนมาเดินเลือกซื้อปลาทูกับไปทำเมนูอันโอชะอีกต่อหนึ่ง
*เมืองแม่กลอง แหล่งปลาทูชั้นยอด
พูดถึงปลาทู ชาวประมงจะแบ่งปลาทูเป็น 2 ชนิด คือ ปลาสั้น และปลายาว
ปลาสั้น หรือปลาทูแม่กลอง จะที่มีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อเยอะ เนื้อนิ่มเวลากดลงไปที่ตัวปลาแล้ว เนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามลอยแรงกด ปลาสั้นจะมีลำตัวสีเงิน หรือ อมเขียว ตาดำ
ส่วนปลายาว จะมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ปลารัง ปลายาว ปลาอินโด ซึ่งก็เป็นปลาชนิดเดียวกันทั้งหมด ลักษณะของปลายาว ตัวจะใหญ่และยาวกว่าปลาทูแม่กลองนี่เป็นข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะเลือกซื้อปลา
เมื่อรู้จักลักษณะคร่าวๆของปลากันแล้ว ที่นี้ลองมาดูว่าเหตุใดปลาทูแม่กลอง หรือปลาสั้นจึงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในปากอ่าวสมุทรสงคราม
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ปลาทูเป็นปลาทะเลที่หากินและเจริญเติบโตในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง และมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงในน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร พบชุกชุมมากเป็นพิเศษในบริเวณที่มีแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล เช่นบริเวณก้นอ่าวไทย เพราะบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแพลงตอนที่เป็นอาหารสำคัญของปลาทู ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามมีชัยภูมิที่ถือว่าเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและหากินของปลาทู
ด้วยความที่พื้นที่ชายฝั่งสมุทรสงครามอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแหล่งอาหาร ปลาทูของเมืองนี้จึงมีรสอร่อยกว่าที่ไหนๆ เพราะมีเนื้อแน่น มัน ซึ่งคนกินปลาทูรุ่นเก่าต่างยกให้ปลาทูแม่กลองเป็นราชาแห่งปลาทู ที่สามารถนำไปทำอาหารได้สารพัดอย่าง
*กว่าจะได้มาซึ่งความอร่อยของปลาทูแม่กลอง
กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ปลาทูได้ชื่อว่าเป็นปลาที่จับได้มากที่สุดในท้องทะเลไทย สำหรับคนเมืองแม่กลองนั้นเขามีวิธีการจับปลาทูที่น่าสนใจยิ่งนัก นั่นก็คือการจับปลาโดยวิธีละมุนละม่อม ค่อยๆต้อน ค่อยๆจับ ก่อนที่จะปล่อยให้ค่อยๆตาย เพราะจะทำให้เนื้อปลาทูจะคงความสด มัน เมื่อกินแล้วอร่อยยิ่งนัก
สำหรับวิธีการจับปลาให้ตายโดยละม่อม ชาวประมงจะใช้ “โป๊ะ” เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์สำคัญในการจับปลาทู
โป๊ะ(พื้นบ้าน) มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดย่อม ทำจากไม้ไผ่ล้อมให้เป็นวงกลม เปิดช่องเป็นทางสำหรับให้ปลาทูผ่านเข้าไปได้ ตั้งอยู่กับที่ รอให้ปลาว่ายเข้ามาหาเอง ด้วยเครื่องจับปลาชนิดนี้ ปลาทูที่จับได้มาจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปลาโป๊ะ”
ในอดีตเมืองแม่กลองถือว่ารุ่งเรืองเรื่อง “โป๊ะปลาทู”มาก โดยมีโป๊ะมากถึงราวๆ 100 โป๊ะ แต่ว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนแปลง โป๊ะปลาทูก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่โป๊ะ และในไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ยังคงใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการจับปลาทู
สำหรับปลาทูที่ได้จากการจับด้วยโป๊ะจะมีความแตกต่างกับปลาทูที่จับด้วยเครื่องมือชนิดอื่นๆ เพราะปลาที่ได้จากโป๊ะจะมีความสดมากกว่า ทำให้กินอร่อยกว่า
ด้านจงศักดิ์ ที่ทำอาชีพจับปลามากว่า 20 ปี พูดถึงปลาทูเมืองแม่กลองว่า ปลาส่วนใหญ่ที่ได้มาตอนนี้จะเป็นปลาอวนติด ซึ่งก็คือปลาทูเหมือนกัน แต่มีวิธีการจับที่แตกต่างกัน วิธีการจับโดย “อวนติด” นี้ ก็คือการนำอวนลงไปล้อมปลาแล้วจึงช้อนมาบนเรือ เหตุที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะปัจจุบันหาโป๊ะเครื่องมือในการจับปลาสมัยก่อนได้ยาก เพราะว่าปลามีจำนวนน้อยลง ทำให้บรรดาเจ้าของโป๊ะต้องเลิกราไป
“สมัยก่อนเมื่อครั้งทะเลยังมีความอุดมสมบูรณ์จะมีปลามาอาศัยอยู่กันอย่างชุกชุม และมีเยอะมากกว่าถึง 30 – 40% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน พวกเราจะออกหาปลากันทุกวันโดยออกตั้งแต่ช่วงเย็น และกลับนำปลามาขึ้นที่ท่าเรือในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น ที่มีอยู่ 2 ท่า คือ ท่าหน้าวัดปทุมฯ และท่าหน้าวัดศรัทธาธรรม เพื่อให้บรรดาแม่ค้าปลามาเลือกซื้อกัน ซึ่งแต่ละครั้งที่ออกไปจับจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่ว่าวันนั้นปลาจะมาติดอวน
“อย่างวันนี้ก็ได้มาประมาณ 200 – 300 กิโลกรัม แต่บางวันก็ได้เป็น 1,000 กิโลกรัมเหมือนกัน บางครั้งออกไปเสียเที่ยว เพราะไม่มีปลามาติดอวนก็มี” จงศักดิ์เล่า
ส่วนชัยพล โลหมาตร พ่อค้าขายส่งปลาทูแห่งท่าวัดปทุมฯ เล่าว่า ในแต่ละวันจะมีเรือมาเทียบท่าที่หน้าวัด เพื่อนำปลามาขึ้นที่ท่า ได้ปลามาเท่าไหร่ก็จะรับไว้หมด เพื่อนำมาขายส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้าปลาอีกที โดยคิดเปอร์เซ็นต์กับเจ้าของเรือที่ออกไปจับปลา ซึ่งถ้าบางวันโชคดีออกเรือไปแล้วเจอแหล่งที่ปลาอยู่กันอย่างชุกชุมก็จะได้มาเกือบ 1,000 กิโลกรัม ส่วนวันไหนโชคไม่เข้าข้างไม่ค่อยเจอปลาก็จะได้น้อย
“ปลาทูที่ได้มานั้นจะเป็นปลาทูโป๊ะพื้นเมืองของเมืองแม่กลอง จากแต่ก่อนเป็นปลาที่ได้จากโป๊ะ แต่ปัจจุบันปลาที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาอวนติด แต่ก็เป็นปลาทูพื้นเมืองเหมือนกัน ชนิดเดียว จะแตกต่างตรงเครื่องมือในการจับเท่านั้นเอง” ชัยพลอธิบาย
ชัยพล เล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีปลาทูแม่กลองชุกชุมมากในอ่าวไทยก็คือช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีปลาชุกชุมมาก ส่วนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่อ่าวปิด ไม่สามารถที่จะออกไปหาปลาได้ เรือที่ออกหาปลาก็จะต้องไปจับปลาจากทางใต้ แถวๆ จังหวัดประจวบฯ ชุมพร สตูล ซึ่งก็ได้ปลาทูเหมือนกัน แต่รสชาติจะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้
“ปัจจุบันนี้ปลาทูมีจำนวนลดลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะถูกก่อกวนจากพวกเรืออวนลาก ซึ่งจะมาทำลายแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของปลาทู ทำให้ปลาทูนั้นไม่มีอาหารและแหล่งวางไข่ เป็นสาเหตุให้ปลาทูหายไปจากอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก”
ชัยพลแสดงความเป็นห่วงต่ออนาคตของปลาทูแม่กลอง พร้อมๆกับพูดถึงราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาของปลาทูแม่กลอง
*ปลาทูแม่กลองสดใหม่ทุกวัน
เหตุที่ทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสดใหม่อยู่ทุกวัน ก็เพราะว่าเมื่อเรือเดินทางออกสู่ทะเลในช่วงเย็น ก็จะออกไปทำการกวาดต้อนจับเหล่าบรรดาปลาทูน้อยใหญ่ ซึ่งปลาที่ถูกจับขึ้นมานั้นจะถูกแช่น้ำแข็งที่ใต้ท้องเรือ และเมื่อได้ปลาทูตามปริมาณที่กำหนดไว้ ก็จะนำเรือเข้าเทียบท่าในเวลาช่วงเช้า โดยจะไม่มีการเก็บปลาไว้ค้างคืน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสด ใหม่ และกินอร่อยกว่าที่อื่น เพราะว่าปลาทูที่อื่นจะถูกแช่เย็นค้างคืนมาก่อน ทำให้ปลานั้นไม่มีความสด แต่ในหลายๆครั้งก็มีพ่อค้า แม่ค้าหัวใสบางคนนำปลาทูจากที่อื่นมาหลอกเป็นปลาทูแม่กลอง ประหนึ่งการย้อมปลาทูขาย ซึ่งผู้ซื้อจะต้องพิจารณาให้ดี
ลักษณ์ แม่ค้าขายปลาทูนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ช่วงประมาณ 7 โมงเช้า เรือที่ออกไปหาปลาจะทยอยมาเทียบท่าที่หน้าวัด แล้วก็จะมีแม่ค้ามารับอีกที เพื่อนำไปทำเป็นปลาทูนึ่ง ส่งขายเป็นเข่งอีกทีหนึ่ง
“ปลาทูที่มาขึ้นที่นี่จะมีความสดมากเพราะว่าเป็นปลาที่นำมาจากทะเลวันต่อวัน” แม่ค้าปลาทูลักษณ์เล่า
ด้านป้าทองอยู่ หะรินสวัสดิ์ หรือ ป้าอยู่ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนึ่งปลาทูขายจากครอบครัวมายาวนานหลายสิบปี ได้เล่าว่า ทุกๆ วันจะไปรับปลาจากหน้าวัดปทุมฯมานึ่งเอง เพื่อทำส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้า โดยเริ่มจะนึ่งปลากันตั้งแต่ตี 3 พอถึง 6 โมง – 7 โมงเช้า ก็จะเลิกนึ่ง
“ปลาทูแม่กลองจะมีเนื้อที่อร่อยกว่าที่อื่น เพราะที่แม่กลองจะเป็นดินโคลน อาหารจะดีกว่าที่ที่เป็นดินทราย และในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่มีปลาเยอะกว่าช่วงอื่น” ป้าทองอยู่เล่า
*กว่าจะมาเป็น “ปลานึ่ง”
ใครหลายคนคงเข้าใจว่าที่เรียกว่า “ปลาทูนึ่ง” คงจะนำปลาไปนึ่ง แต่จริงๆแล้ว ปลาทูนึ่งไม่ใช่เป็นการนำปลาไปนึ่ง แต่จะนำปลาที่ได้มาต้ม แต่ที่เรียกว่าปลานึ่งนั้น เพราะว่าเป็นคำที่คนโบราณใช้เรียกกัน ก็เลยเรียกต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับวิธีการทำปลาทูนึ่ง ป้าทองอยู่ ได้ทำการต้มปลาให้ดู โดยเริ่มจากการนำปลาทูที่ได้มาควักไส้ออก ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วนำปลาทูวางลงเข่ง ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็จะใส่เข่งละ 2 ตัว แต่ถ้าตัวเล็กหน่อย ก็จะใส่เข่งละ 3 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลา ซึ่งก่อนที่จะนำปลาทูลงเข่งนั้น คนทำก็จะหักคอปลาทูให้งอลง เพื่อที่จะอยู่ในเข่งที่อย่างสวยงาม ทำให้ปลาทูแม่กลองดูแตกต่างจากปลาที่อื่น เพราะปลาที่มาจากที่อื่นเขาจะไม่หักคอปลา แต่จะวางลงไปในเข่งเลยเมื่อมองดูแล้วจะไม่เป็นระเบียบ และบางครั้งปลาอาจทำให้ปลาร่วงหล่นจากเข่งได้ ซึ่งก็ทำให้ลักษณะ“หน้างอ คอหัก” กลายเป็นเอกลักษณ์ของปลาทูแม่กลองไปโดยปริยาย
ครั้นพอนำปลาลงเข่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเข่งปลามาเรียงลง “เต๊า” ที่เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโครงเหล็กทรงกลม ที่ใช้เรียงเข่งปลา เพื่อนำลงไปต้ม โดย 1 เต๊า จะใส่เข่งปลาทูได้ประมาณ 70 – 80 เข่ง
หลังจากนั้นไปต้มให้หม้อขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนเตาที่ก่อขึ้นด้วยปูน ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยต้มปลาอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงนำปลาขึ้นมา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำปลาทูนึ่ง พร้อมที่ส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า
ด้านป้าชุม แม่ค้าขายปลาทูอีกหนึ่งคนที่ขายอยู่ในตลาดสด ที่นึ่งปลาขายมากว่า 30 ปี เล่าว่า จะมีปลาอยู่ 2 ชนิดที่รับมาขาย ชนิดแรก ก็จะเป็นปลาทูแม่กลอง ส่วนอีกชนิดหนึ่งก็จะเป็นปลาที่มาจากทางใต้ ที่มาจากชุมพร สตูล ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากปลาแม่กลอง สังเกตง่ายๆ ก็คือ ปลาที่มาจากทางใต้จะตัวใหญ่กว่าปลาทูแม่กลอง เนื้อจะแข็งกว่า และรสชาติก็จะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้ เพราะเป็นปลาน้ำลึก ส่วนปลาทูแม่กลองเป็นปลาน้ำตื้น มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า จึงกินอร่อยกว่า
“เมื่อได้ปลามาจะคัดปลาเป็นขนาดต่างๆ ราคาก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย วันหนึ่งก็จะรับมาขายประมาณ 300 – 400 เข่ง ซึ่งก็ขายหมดทุกวัน” ป้าชุมเล่า
ในขณะที่ เจ๊สาลี่ อีกหนึ่งแม่ค้าที่ขายปลาทูในตลาดสดเมืองแม่กลอง ที่ขายปลาทูมา 5 – 6 ปี เล่าว่า ได้รับปลามาขายอีกต่อหนึ่ง โดยรับมาเข่งละ 8 บาท ขายเข่งละ 10 บาท วันหนึ่งๆรับปลามาขายวันละประมาณ 200 – 300 เข่ง ขายหมดแทบทุกวัน
“ปลาทูแม่กลองเป็นปลาทูที่มีรสชาติอร่อยที่สุด รสชาติจะมัน และเนื้อจะเยอะ เมื่อเทียบกับปลาบางชนิดแล้ว ทั้งเนื้อและรสชาติเทียบกันไม่ติดเลย ถือเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองแม่กลอง ที่ใครได้มากินแล้วมักจะติดใจ ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากกันเป็นประจำ”เจ๊สาลี่เล่าถึงความอร่อยของปลาทูแม่กลอง
เมื่อปลาทูแม่กลอง เป็นราชาแห่งปลาทูและเป็นหนึ่งในของดีเมืองแม่กลอง ทางจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้จัดงาน “เทศกาลกินปลาทู” ขึ้นทุกๆปี ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่รู้จักมากขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยไฮไลต์ของงานก็คงจะหนีไม่พ้นยอดปลาทูเมืองแม่กลองที่น่าลิ้มลองในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาทู
-วิธีการเลือกปลาทูนึ่ง
ปลาทูที่นึ่งใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก จึงต้องมีการใช้น้ำยาเคมีรักษาสภาพของปลา ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย ถ้าใช้ปลาทูไม่สด ไม่ใช่ปลาทูโป๊ะ จะไม่อร่อยเท่าปลาทูแม่กลองที่เวลานึ่ง คนทำจะหักคอก่อนใส่เข่ง เพื่อให้พอดีกับขนาดของเข่ง เรียกกันว่า “ปลาหน้างอ คอหัก”
-วิธีเลือกปลาทูสด
ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด
ส่วนปลาทูที่ไม่สดลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคลั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลว และไม่มีเมือกจับ
-ซื้อปลาแบบไหนถึงจะอร่อย
หลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5 – 10 นาที ปลาก็จะตาย ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ แค่เห็นก็อร่อยแล้ว
แต่ปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่ใช่ปลาทูสด 100% เป็นปลาทูที่ต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาก็ลดลงเหลือ 60 – 80% ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้ว อาจเก็บมาเป็นอาทิตย์ก็ได้
อนึ่ง ปลาทูจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่นชิมรสเนื้อปลา ซึ่งถือว่าปลาที่มีความสดมากนั้น จะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนรับประทาน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้างไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย
-สารพัดความอร่อย หลากหลายเมนูจากปลาทู
ถ้าหากจะเอ่ยถึงอาหารไทยที่ถือว่าเป็นหนึ่งเมนูเด็ดที่คนไทยลืมไม่ได้ น่าจะเป็น “น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด” ที่เป็นเมนูที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของไทยเลยก็ว่าได้
สำหรับปลาทูที่จะนำมากินคู่กับน้ำพริกกะปิให้มีความอร่อยเด็ดดวง ก็คงจะหนีไม่พ้น“ปลาทูโป๊ะ” หรือ “ปลาทูนึ่ง” เมืองแม่กลอง
นอกจากนี้ อาหารที่ทำจากปลาทู ก็มีหลากหลายเมนูให้เลือก ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูสำหรับคนที่ชอบกินปลาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู ปลาทูทอด ปลาทูต้มยำ ปลาทูต้มส้ม ปลาทูฉู่ฉี่ ปลาทูผัดฉ่า ปลาทูนึ่ง ปลาทูต้มมะดัน ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู ปลาทูแดดเดียว ปลาทูราดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งปลาทูถือเป็นอาหารไทยราคาเยาที่รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นรองใคร
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
“สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง พี่จำจากน้องคนงาม แว่วหวูดรถไฟพี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม ยังละเมอเพ้อพร่ำคิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง...”
ลาสาวแม่กลอง : พนม นพพร
สมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง ไม่เพียงมีสาวงามแล้ว เมืองนี้ยังมีของดีชวนชมชวนกินอีกเพียบ ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม”
นอกจากของดีตามคำขวัญจังหวัดแล้ว สมุทรสงครามยังมี “ปลาทูแม่กลอง” เป็นอีกหนึ่งของดีอันเลื่องชื่อ ซึ่งในทุกๆวันที่ท่าเรือหน้าวัดปทุมคณาวาส ที่เป็นท่าขึ้นปลาทูขนาดใหญ่ จะเต็มไปด้วยบรรยากาศของพ่อค้า แม่ค้า และชาวประมง มาทำการซื้อขายปลาทูกันอย่างคึกคัก เพื่อที่จะนำไปนึ่งแล้วขายเป็นปลาทูนึ่งใส่เข่ง ก่อนที่จะมีคนมาเดินเลือกซื้อปลาทูกับไปทำเมนูอันโอชะอีกต่อหนึ่ง
*เมืองแม่กลอง แหล่งปลาทูชั้นยอด
ปลาสั้น หรือปลาทูแม่กลอง จะที่มีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อเยอะ เนื้อนิ่มเวลากดลงไปที่ตัวปลาแล้ว เนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามลอยแรงกด ปลาสั้นจะมีลำตัวสีเงิน หรือ อมเขียว ตาดำ
ส่วนปลายาว จะมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ปลารัง ปลายาว ปลาอินโด ซึ่งก็เป็นปลาชนิดเดียวกันทั้งหมด ลักษณะของปลายาว ตัวจะใหญ่และยาวกว่าปลาทูแม่กลองนี่เป็นข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะเลือกซื้อปลา
เมื่อรู้จักลักษณะคร่าวๆของปลากันแล้ว ที่นี้ลองมาดูว่าเหตุใดปลาทูแม่กลอง หรือปลาสั้นจึงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในปากอ่าวสมุทรสงคราม
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ปลาทูเป็นปลาทะเลที่หากินและเจริญเติบโตในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง และมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงในน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร พบชุกชุมมากเป็นพิเศษในบริเวณที่มีแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล เช่นบริเวณก้นอ่าวไทย เพราะบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแพลงตอนที่เป็นอาหารสำคัญของปลาทู ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามมีชัยภูมิที่ถือว่าเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและหากินของปลาทู
ด้วยความที่พื้นที่ชายฝั่งสมุทรสงครามอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแหล่งอาหาร ปลาทูของเมืองนี้จึงมีรสอร่อยกว่าที่ไหนๆ เพราะมีเนื้อแน่น มัน ซึ่งคนกินปลาทูรุ่นเก่าต่างยกให้ปลาทูแม่กลองเป็นราชาแห่งปลาทู ที่สามารถนำไปทำอาหารได้สารพัดอย่าง
*กว่าจะได้มาซึ่งความอร่อยของปลาทูแม่กลอง
กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ปลาทูได้ชื่อว่าเป็นปลาที่จับได้มากที่สุดในท้องทะเลไทย สำหรับคนเมืองแม่กลองนั้นเขามีวิธีการจับปลาทูที่น่าสนใจยิ่งนัก นั่นก็คือการจับปลาโดยวิธีละมุนละม่อม ค่อยๆต้อน ค่อยๆจับ ก่อนที่จะปล่อยให้ค่อยๆตาย เพราะจะทำให้เนื้อปลาทูจะคงความสด มัน เมื่อกินแล้วอร่อยยิ่งนัก
สำหรับวิธีการจับปลาให้ตายโดยละม่อม ชาวประมงจะใช้ “โป๊ะ” เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์สำคัญในการจับปลาทู
โป๊ะ(พื้นบ้าน) มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดย่อม ทำจากไม้ไผ่ล้อมให้เป็นวงกลม เปิดช่องเป็นทางสำหรับให้ปลาทูผ่านเข้าไปได้ ตั้งอยู่กับที่ รอให้ปลาว่ายเข้ามาหาเอง ด้วยเครื่องจับปลาชนิดนี้ ปลาทูที่จับได้มาจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปลาโป๊ะ”
ในอดีตเมืองแม่กลองถือว่ารุ่งเรืองเรื่อง “โป๊ะปลาทู”มาก โดยมีโป๊ะมากถึงราวๆ 100 โป๊ะ แต่ว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนแปลง โป๊ะปลาทูก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่โป๊ะ และในไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ยังคงใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการจับปลาทู
สำหรับปลาทูที่ได้จากการจับด้วยโป๊ะจะมีความแตกต่างกับปลาทูที่จับด้วยเครื่องมือชนิดอื่นๆ เพราะปลาที่ได้จากโป๊ะจะมีความสดมากกว่า ทำให้กินอร่อยกว่า
ด้านจงศักดิ์ ที่ทำอาชีพจับปลามากว่า 20 ปี พูดถึงปลาทูเมืองแม่กลองว่า ปลาส่วนใหญ่ที่ได้มาตอนนี้จะเป็นปลาอวนติด ซึ่งก็คือปลาทูเหมือนกัน แต่มีวิธีการจับที่แตกต่างกัน วิธีการจับโดย “อวนติด” นี้ ก็คือการนำอวนลงไปล้อมปลาแล้วจึงช้อนมาบนเรือ เหตุที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะปัจจุบันหาโป๊ะเครื่องมือในการจับปลาสมัยก่อนได้ยาก เพราะว่าปลามีจำนวนน้อยลง ทำให้บรรดาเจ้าของโป๊ะต้องเลิกราไป
“สมัยก่อนเมื่อครั้งทะเลยังมีความอุดมสมบูรณ์จะมีปลามาอาศัยอยู่กันอย่างชุกชุม และมีเยอะมากกว่าถึง 30 – 40% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน พวกเราจะออกหาปลากันทุกวันโดยออกตั้งแต่ช่วงเย็น และกลับนำปลามาขึ้นที่ท่าเรือในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น ที่มีอยู่ 2 ท่า คือ ท่าหน้าวัดปทุมฯ และท่าหน้าวัดศรัทธาธรรม เพื่อให้บรรดาแม่ค้าปลามาเลือกซื้อกัน ซึ่งแต่ละครั้งที่ออกไปจับจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่ว่าวันนั้นปลาจะมาติดอวน
“อย่างวันนี้ก็ได้มาประมาณ 200 – 300 กิโลกรัม แต่บางวันก็ได้เป็น 1,000 กิโลกรัมเหมือนกัน บางครั้งออกไปเสียเที่ยว เพราะไม่มีปลามาติดอวนก็มี” จงศักดิ์เล่า
ส่วนชัยพล โลหมาตร พ่อค้าขายส่งปลาทูแห่งท่าวัดปทุมฯ เล่าว่า ในแต่ละวันจะมีเรือมาเทียบท่าที่หน้าวัด เพื่อนำปลามาขึ้นที่ท่า ได้ปลามาเท่าไหร่ก็จะรับไว้หมด เพื่อนำมาขายส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้าปลาอีกที โดยคิดเปอร์เซ็นต์กับเจ้าของเรือที่ออกไปจับปลา ซึ่งถ้าบางวันโชคดีออกเรือไปแล้วเจอแหล่งที่ปลาอยู่กันอย่างชุกชุมก็จะได้มาเกือบ 1,000 กิโลกรัม ส่วนวันไหนโชคไม่เข้าข้างไม่ค่อยเจอปลาก็จะได้น้อย
“ปลาทูที่ได้มานั้นจะเป็นปลาทูโป๊ะพื้นเมืองของเมืองแม่กลอง จากแต่ก่อนเป็นปลาที่ได้จากโป๊ะ แต่ปัจจุบันปลาที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาอวนติด แต่ก็เป็นปลาทูพื้นเมืองเหมือนกัน ชนิดเดียว จะแตกต่างตรงเครื่องมือในการจับเท่านั้นเอง” ชัยพลอธิบาย
ชัยพล เล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีปลาทูแม่กลองชุกชุมมากในอ่าวไทยก็คือช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีปลาชุกชุมมาก ส่วนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่อ่าวปิด ไม่สามารถที่จะออกไปหาปลาได้ เรือที่ออกหาปลาก็จะต้องไปจับปลาจากทางใต้ แถวๆ จังหวัดประจวบฯ ชุมพร สตูล ซึ่งก็ได้ปลาทูเหมือนกัน แต่รสชาติจะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้
“ปัจจุบันนี้ปลาทูมีจำนวนลดลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะถูกก่อกวนจากพวกเรืออวนลาก ซึ่งจะมาทำลายแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของปลาทู ทำให้ปลาทูนั้นไม่มีอาหารและแหล่งวางไข่ เป็นสาเหตุให้ปลาทูหายไปจากอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก”
ชัยพลแสดงความเป็นห่วงต่ออนาคตของปลาทูแม่กลอง พร้อมๆกับพูดถึงราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาของปลาทูแม่กลอง
*ปลาทูแม่กลองสดใหม่ทุกวัน
เหตุที่ทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสดใหม่อยู่ทุกวัน ก็เพราะว่าเมื่อเรือเดินทางออกสู่ทะเลในช่วงเย็น ก็จะออกไปทำการกวาดต้อนจับเหล่าบรรดาปลาทูน้อยใหญ่ ซึ่งปลาที่ถูกจับขึ้นมานั้นจะถูกแช่น้ำแข็งที่ใต้ท้องเรือ และเมื่อได้ปลาทูตามปริมาณที่กำหนดไว้ ก็จะนำเรือเข้าเทียบท่าในเวลาช่วงเช้า โดยจะไม่มีการเก็บปลาไว้ค้างคืน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสด ใหม่ และกินอร่อยกว่าที่อื่น เพราะว่าปลาทูที่อื่นจะถูกแช่เย็นค้างคืนมาก่อน ทำให้ปลานั้นไม่มีความสด แต่ในหลายๆครั้งก็มีพ่อค้า แม่ค้าหัวใสบางคนนำปลาทูจากที่อื่นมาหลอกเป็นปลาทูแม่กลอง ประหนึ่งการย้อมปลาทูขาย ซึ่งผู้ซื้อจะต้องพิจารณาให้ดี
ลักษณ์ แม่ค้าขายปลาทูนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ช่วงประมาณ 7 โมงเช้า เรือที่ออกไปหาปลาจะทยอยมาเทียบท่าที่หน้าวัด แล้วก็จะมีแม่ค้ามารับอีกที เพื่อนำไปทำเป็นปลาทูนึ่ง ส่งขายเป็นเข่งอีกทีหนึ่ง
“ปลาทูที่มาขึ้นที่นี่จะมีความสดมากเพราะว่าเป็นปลาที่นำมาจากทะเลวันต่อวัน” แม่ค้าปลาทูลักษณ์เล่า
ด้านป้าทองอยู่ หะรินสวัสดิ์ หรือ ป้าอยู่ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนึ่งปลาทูขายจากครอบครัวมายาวนานหลายสิบปี ได้เล่าว่า ทุกๆ วันจะไปรับปลาจากหน้าวัดปทุมฯมานึ่งเอง เพื่อทำส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้า โดยเริ่มจะนึ่งปลากันตั้งแต่ตี 3 พอถึง 6 โมง – 7 โมงเช้า ก็จะเลิกนึ่ง
“ปลาทูแม่กลองจะมีเนื้อที่อร่อยกว่าที่อื่น เพราะที่แม่กลองจะเป็นดินโคลน อาหารจะดีกว่าที่ที่เป็นดินทราย และในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่มีปลาเยอะกว่าช่วงอื่น” ป้าทองอยู่เล่า
*กว่าจะมาเป็น “ปลานึ่ง”
ใครหลายคนคงเข้าใจว่าที่เรียกว่า “ปลาทูนึ่ง” คงจะนำปลาไปนึ่ง แต่จริงๆแล้ว ปลาทูนึ่งไม่ใช่เป็นการนำปลาไปนึ่ง แต่จะนำปลาที่ได้มาต้ม แต่ที่เรียกว่าปลานึ่งนั้น เพราะว่าเป็นคำที่คนโบราณใช้เรียกกัน ก็เลยเรียกต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับวิธีการทำปลาทูนึ่ง ป้าทองอยู่ ได้ทำการต้มปลาให้ดู โดยเริ่มจากการนำปลาทูที่ได้มาควักไส้ออก ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วนำปลาทูวางลงเข่ง ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็จะใส่เข่งละ 2 ตัว แต่ถ้าตัวเล็กหน่อย ก็จะใส่เข่งละ 3 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลา ซึ่งก่อนที่จะนำปลาทูลงเข่งนั้น คนทำก็จะหักคอปลาทูให้งอลง เพื่อที่จะอยู่ในเข่งที่อย่างสวยงาม ทำให้ปลาทูแม่กลองดูแตกต่างจากปลาที่อื่น เพราะปลาที่มาจากที่อื่นเขาจะไม่หักคอปลา แต่จะวางลงไปในเข่งเลยเมื่อมองดูแล้วจะไม่เป็นระเบียบ และบางครั้งปลาอาจทำให้ปลาร่วงหล่นจากเข่งได้ ซึ่งก็ทำให้ลักษณะ“หน้างอ คอหัก” กลายเป็นเอกลักษณ์ของปลาทูแม่กลองไปโดยปริยาย
ครั้นพอนำปลาลงเข่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเข่งปลามาเรียงลง “เต๊า” ที่เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโครงเหล็กทรงกลม ที่ใช้เรียงเข่งปลา เพื่อนำลงไปต้ม โดย 1 เต๊า จะใส่เข่งปลาทูได้ประมาณ 70 – 80 เข่ง
หลังจากนั้นไปต้มให้หม้อขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนเตาที่ก่อขึ้นด้วยปูน ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยต้มปลาอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงนำปลาขึ้นมา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำปลาทูนึ่ง พร้อมที่ส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า
ด้านป้าชุม แม่ค้าขายปลาทูอีกหนึ่งคนที่ขายอยู่ในตลาดสด ที่นึ่งปลาขายมากว่า 30 ปี เล่าว่า จะมีปลาอยู่ 2 ชนิดที่รับมาขาย ชนิดแรก ก็จะเป็นปลาทูแม่กลอง ส่วนอีกชนิดหนึ่งก็จะเป็นปลาที่มาจากทางใต้ ที่มาจากชุมพร สตูล ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากปลาแม่กลอง สังเกตง่ายๆ ก็คือ ปลาที่มาจากทางใต้จะตัวใหญ่กว่าปลาทูแม่กลอง เนื้อจะแข็งกว่า และรสชาติก็จะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้ เพราะเป็นปลาน้ำลึก ส่วนปลาทูแม่กลองเป็นปลาน้ำตื้น มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า จึงกินอร่อยกว่า
“เมื่อได้ปลามาจะคัดปลาเป็นขนาดต่างๆ ราคาก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย วันหนึ่งก็จะรับมาขายประมาณ 300 – 400 เข่ง ซึ่งก็ขายหมดทุกวัน” ป้าชุมเล่า
ในขณะที่ เจ๊สาลี่ อีกหนึ่งแม่ค้าที่ขายปลาทูในตลาดสดเมืองแม่กลอง ที่ขายปลาทูมา 5 – 6 ปี เล่าว่า ได้รับปลามาขายอีกต่อหนึ่ง โดยรับมาเข่งละ 8 บาท ขายเข่งละ 10 บาท วันหนึ่งๆรับปลามาขายวันละประมาณ 200 – 300 เข่ง ขายหมดแทบทุกวัน
“ปลาทูแม่กลองเป็นปลาทูที่มีรสชาติอร่อยที่สุด รสชาติจะมัน และเนื้อจะเยอะ เมื่อเทียบกับปลาบางชนิดแล้ว ทั้งเนื้อและรสชาติเทียบกันไม่ติดเลย ถือเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองแม่กลอง ที่ใครได้มากินแล้วมักจะติดใจ ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากกันเป็นประจำ”เจ๊สาลี่เล่าถึงความอร่อยของปลาทูแม่กลอง
เมื่อปลาทูแม่กลอง เป็นราชาแห่งปลาทูและเป็นหนึ่งในของดีเมืองแม่กลอง ทางจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้จัดงาน “เทศกาลกินปลาทู” ขึ้นทุกๆปี ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่รู้จักมากขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยไฮไลต์ของงานก็คงจะหนีไม่พ้นยอดปลาทูเมืองแม่กลองที่น่าลิ้มลองในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาทู
-วิธีการเลือกปลาทูนึ่ง
ปลาทูที่นึ่งใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก จึงต้องมีการใช้น้ำยาเคมีรักษาสภาพของปลา ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย ถ้าใช้ปลาทูไม่สด ไม่ใช่ปลาทูโป๊ะ จะไม่อร่อยเท่าปลาทูแม่กลองที่เวลานึ่ง คนทำจะหักคอก่อนใส่เข่ง เพื่อให้พอดีกับขนาดของเข่ง เรียกกันว่า “ปลาหน้างอ คอหัก”
-วิธีเลือกปลาทูสด
ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด
ส่วนปลาทูที่ไม่สดลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคลั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลว และไม่มีเมือกจับ
-ซื้อปลาแบบไหนถึงจะอร่อย
หลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5 – 10 นาที ปลาก็จะตาย ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ แค่เห็นก็อร่อยแล้ว
แต่ปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่ใช่ปลาทูสด 100% เป็นปลาทูที่ต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาก็ลดลงเหลือ 60 – 80% ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้ว อาจเก็บมาเป็นอาทิตย์ก็ได้
อนึ่ง ปลาทูจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่นชิมรสเนื้อปลา ซึ่งถือว่าปลาที่มีความสดมากนั้น จะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนรับประทาน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้างไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย
-สารพัดความอร่อย หลากหลายเมนูจากปลาทู
ถ้าหากจะเอ่ยถึงอาหารไทยที่ถือว่าเป็นหนึ่งเมนูเด็ดที่คนไทยลืมไม่ได้ น่าจะเป็น “น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด” ที่เป็นเมนูที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของไทยเลยก็ว่าได้
สำหรับปลาทูที่จะนำมากินคู่กับน้ำพริกกะปิให้มีความอร่อยเด็ดดวง ก็คงจะหนีไม่พ้น“ปลาทูโป๊ะ” หรือ “ปลาทูนึ่ง” เมืองแม่กลอง
นอกจากนี้ อาหารที่ทำจากปลาทู ก็มีหลากหลายเมนูให้เลือก ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูสำหรับคนที่ชอบกินปลาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู ปลาทูทอด ปลาทูต้มยำ ปลาทูต้มส้ม ปลาทูฉู่ฉี่ ปลาทูผัดฉ่า ปลาทูนึ่ง ปลาทูต้มมะดัน ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู ปลาทูแดดเดียว ปลาทูราดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งปลาทูถือเป็นอาหารไทยราคาเยาที่รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นรองใคร
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์