การปลูกหัวไชเท้า




การปลูกผักกาดหัวไชเท้า
การเพาะปลูก การปลูกผักกาดหัวไชเท้า
ผักกาดหัวเป็นพืชผักอายุปีเดียวที่ปลูกกันไว้เพื่อบริโภคส่วนของรากที่ขยายตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งเราเรียกว่า “หัวผักกาด” อาจจะเป็นสีแดงหรือสีขาวก็ได้ คุณภาพของหัวผักกาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์ การปลูก การปฎิบัติดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยว ถ้าหากปล่อยให้อายุแก่หรือเลยระยะเวลาเก็บเกี่ยวแล้วรากจะขยายใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อสะสมอาการสำหรับสร้างดอก และติดเมล็ด เนื้อจะเริ่มฟ่าม มีเส้นใยมากขึ้น

ผักกาดหัว มีชื่ออื่น ๆ อีกเช่น ผักขี้หูด ผักกาดจีน ไช้โป๊ว หรือไช้เท้า เป็นต้น สามารถปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย ซึ่งมีความชื้นในดินสูงพอควร และได้รับแสงแดดตลอดวัน มีพีเอชประมาณ 5.5-7.0 และอุณหภูมิประมาณ 18.5-24 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ผลดีที่สุด ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม เป็นที่นิยมปลูกกันมากทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เช่นแถบจังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและกาญจนบุรี
ผักกาดหัวนิยมปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารทั้งรับประทานสดหรือดองเค็ม (ไช้โป๊ว) เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงพอควร คือ ในปริมาณ 100 กรัม จะให้โปรตีน 1 กรัม, คาร์โบไฮเดรท 3.6 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, วิตามิน เอ 10 ไอ.ยู รวมทั้งพลังงาน 17 แคลลอรี่ นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารอื่น ๆ รวมอยู่อีกมาก

พันธุ์ที่ใช้ปลูก
ผักกาดหัวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. กลุ่มยุโรป ซึ่งเรียกกันว่า แรดิช ซึ่งส่วนของรากมีขนาดเล็กมาก ผิวสีแดงเข้ม ดำ หรือน้ำเงิน เนื้อภายในอาจเป็นสีขาว หรือสีแดง มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 18-25 วัน นิยมปลูกและบริโภคเป็นผักสลัดในแถบทวีปยุโรป และอเมริกา

2. กลุ่มอาเซีย เรียกกันว่า ผักกาดหัว ส่วนของรากที่ขยายใหญ่หรือหัวมีขนาดใหญ่ รูปทรงแตกต่างกันไป เช่น ทรงกลม, กระบอกกรวยยาว และยาวธรรมดา ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผิวของรากอาจเป็นสีขาวหรือสีแดงแต่เนื้อภายในสีขาว มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวกว่ากลุ่มแรกคือพันธุ์เบาประมาณ 42-45 วัน และพันธุ์หนักประมาณ 60-65 วัน สามารถแยกออกได้เป็น 2 พวกคือ
2.1 พันธุ์แบบญี่ปุ่น ซึ่งมีลักษณะขอบใบหยักลึกเข้าไปตลอดใบ จะถี่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หนัก หรือปานกลาง
2.2 พันธุ์แบบจีน มีลักษณะขอบใบเรียบ ไม่มีรอยหยักหรือมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์เบา

พันธุ์ที่นิยมปลูกในบ้านเรานั้น เป็นพันธุ์กลุ่มเอเชียทั้ง 2 พวกดังกล่าว เช่น
ก. พันธุ์แม่โจ้ 1 (OW-1) มีลักษณะรูปทรงของหัวแบบทรงกรวยยาว ผิวเปลือกและเนื้อในสีขาว ยาวประมาณ 20-22 ซม. รสชาติไม่เผ็ดนัก ใบและขอบใบเรียบ ไม่มีหยัก หรือมีน้อย ไม่มีขนหรือหนามดอกสีขาว เป็นพันธุ์เบามีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 42 วัน หลังจากหยอดเมล็ด


ข. พันธุ์ เค.ย.- วัน ลักษณะรูปทรงของหัวแบบทรงกรวยยาว ผิวเปลือกและเนื้อในสีขาวเช่นกัน ยาวประมาณ 20.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.5 ซม. และน้ำหนักต่อหัวโดยเฉลี่ยประมาณ 225 กรัม ใบเรียบไม่มีขน หรือหนาม ขอบใบเรียบและมีหยักเล็กน้อยบริเวณโคนก้านใบ ดอกสีขาว เหมาะสำหรับรับประทานสดมากกว่าดองเค็ม เป็นพันธุ์เบา มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-48 วัน หลังจากหยอดเมล็ด

ค. พันธุ์เอฟเวอเรส ไฮบริด มีขนาดของหัวโตสม่ำเสมอ ยาวประมาณ 30 – 35 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 – 7 ซม. ลักษณะใบเรียบ ไม่มีขน เป็นพันธุ์ปานกลาง มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 50 วัน หลังจากหยอดเมล็ด เป็นพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น

การปลูก
การเตรียมแปลง เนื่องจากผักกาดหัวเป็นพืชที่มีระบบรากลึก ควรขุดดินให้ลึกตั้งแต่ 10-12 นิ้วขึ้นไป และตากดินทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนปลูก ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1,500-2,000 กก.ต่อไร่ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินกรณีดินเป็นกรด ควรใส่ปูนเพื่อปรับระดับพีเอชของดินให้พอเหมาะกับผักกาดหัว จากนั้นจึงยกแปลงกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร ยาวแล้วแต่พื้นที่ และความสะดวกในการปฎิบัติงาน ใส่ปุ๋ยเคมีตามอัตราส่วนที่แนะนำ พรวนดินหรือย่อยดินชั้นผิวหน้า เพื่อกลบปุ๋ยรองพื้นและให้ดินผิวหน้ามีขนาดเล็ก

การปลูก นิยมปลูก 2 แบบ
1. โรยเป็นแถว โดยการเจาะร่องตามความยาวของแปลง จำนวน 3 แถวต่อแปลง ระยะห่างเท่ากับ 30 – 45 ซม. ลึกประมาณ 1 – 1.2 ซม. โรยเมล็ดตามร่อง กลบด้วยขี้เถ้าแกลบ หรือดินผสมที่ละเอียดคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งรดน้ำให้ชุ่ม

2. หยอดหลุม โดยการเจาะหลุมปลูกระยะห่างระหว่างต้น 20 – 30 ซม. และระหว่างแถว 30 – 45 ซม. จำนวน 3 แถวต่อแปลง หยอดเมล็ด 3 – 5 เมล็ดต่อหลุม กลบด้วยขี้เถ้าแกลบ หรือดินผสมละเอียด คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม

การปฎบัติดูแลรักษา
1. การให้น้ำ ควรให้อย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อความต้องการ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ได้ขนาดและคุณภาพของหัวผักกาดเลวลง

2. การถอนแยก หลังจากปลูกได้ 7 – 10 วันหรือต้นกล้าเริ่มงอกมีใบจริง 2 – 3 ใบ ควรถอนแยกบ้างโดยถอนต้นที่อ่อนแอเป็นโรคหรือถูกแมลงทำลายทั้ง กรณีปลูกแบบโรยเป็นแถว ควรถอนแยกและจัดระยะห่างระหว่างต้น 20 – 30 ซม. ส่วนการปลูกแบบหยอดหลุมควรถอนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น

3. การให้ปุ๋ย ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้กับผักกาดหัวนั้น นอกจากจะแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว อัตรา 1,500 – 2,000 กก.ต่อไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ก่อนปลูกปริมาณครึ่งหนึ่ง ครั้งที่สองเมื่อผักกาดหัวมีอายุ 20 – 25 วันหลังปลูก และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟท (21-0-0) อัตรา 10 – 15 กก./ไร่ หลังปลูก 7 – 10 วัน โดยโรยข้างแถว และพรวนดินกลบลงไป

4. การพรวนดินและกำจัดวัชพืช ควรกระทำพร้อม ๆ กับการใส่ปุ๋ยทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวคือ หลังปลูก 7 – 10 และ 20 – 25 วัน หลังปลูก ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้ารากกระทบกระเทือนมากเกินไป จะทำให้ผักกาดไม่ลงหัว


5. การป้องกันกำจัดโรค และแมลง  โรคที่สำคัญของผักกาดหัว ได้แก่
ก. โรคโคนเน่า เกิดจากเชื้อรา 3-4 ชนิด มักระบาดใยแปลงเพาะที่ต้นกล้าขึ้นแน่น แสงแดดส่งไม่ถึงโดยต้นกล้าจะแสดงอาการหักที่โคนต้น และเหี่ยวแห้งตายในเวลาต่อมา บริเวณที่เป็นโรคจะขยายออกเป็นวงกลม ต่อมาจะไม่มีกล้าเหลือบริเวณนั้นเลย เมื่อตรวจดูใกล้ ๆ จะพบว่าโดนต้นมีแผลสีน้ำตาลดำ

การป้องกันกำจัด โดยอย่างหว่านกล้าผักแน่นเกินไป หรือควรมีการถอนแยก จัดระยะต้นกล้าให้ห่างพอเหมาะ หากใช้สารเคมีควรใช้

- พีซีเอ็นบี อัตรา 10 – 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นหรือราดลงบนดิน ทุก 7 วัน

- คอปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น หรือราดทุก 7 วัน

- พีวีเคอร์ อัตรา 10 – 20 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ทุก 5-7 วัน

1. โรคเน่าเละ มีแบคทีเรียเป็นเชื้อสาเหตุ โดยจะแสดงอาการเป็นจุดฉ่ำน้ำ และเน่าอย่างรวดเร็วทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยและเป็นน้ำภายใน 2-3 ผักกาดหัวจะเน่ายุบหายไปทั้งต้นหรือหัวโดยอาการเน่าเริ่มจากโคนก้านใบ หรือกลางลำต้นอ่อน ซึ่งเข้าทางบาดแผลที่หนอนหรือแมลงทำลายไว้ก่อนแล้ว

การป้องกันกำจัด ระมัดระวังในการเข้าปฏิบัติงานอย่าให้ต้นผักกาดหัวเกิดบาดแผล หรือใช้สารเคมีพวกยาฆ่าแมลงพ่นไล่แมลง ถ้าเกิดแล้ว ควรใช้สารเคมีพวกยาปฎิชีวนะ เช่น อะกริมัยซิน อัตรา 10 – 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน

2. โรคเน่าดำ สาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งติดมากับเมล็ดพันธุ์ โดยแสดงอาการขอบใบแห้งเข้าไปเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมชี้ไปที่เส้นกลางใบ อาการใบแห้งนี้จะลุกลามเข้าไปถึงเส้นกลางใบ และส่วนอื่น ๆ จะสังเกตเห็นเส้นใบสีดำชัดเจน ใบเหลืองและแห้งตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรคนี้ใช้พันธุ์ต้านทานปลูกพืชหมุนเวียนหรือใช้สารเคมีพวกปฎิชีวนะ เช่น อะกริมัยซิน อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 วัน

แมลงที่สำคัญของผักกาดหัว ได้แก่
3. เพลี้ยอ่อน ลักษณะลำตัวเล็กมาก ขนาดเล็กกว่า 2 มม. สีเขียวทึบ ทำลายผักกาดหัวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดหรือใบอ่อน ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายแคระแกรนผิดปกติ นอกจากนี้ยังเป็นพาหะของโรคที่เกิดจากเชื้อโวรัสหลายชนิด

การป้องกันกำจัด โดยการปลูกพืชหมุนเวียนและทำลายวัชพืชในบริเวณแปลงปลูกผักกาดหัว และแปลงข้างเคียงเพื่อเป็นการทำลายพืชอาศัย รวมทั้งการใช้สารเคมีพวก เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส อัตรา 20 – 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน

4. หนอนใยผัก ลักษณะขนาดลำตัวเล็กประมาณ 1 ซม. สีเขียวอ่อน เท่าอ่อน หรือเขียวปนเหลือง มองเห็นค่อนข้างยาก หัว-ท้ายแหลม เมื่อถูกลำตัวจะดิ้นอย่างแรง และทิ้งตัวลงดิน โดยการสร้างใย ทำลายผักกาดหัวโดยการกัดกินผิวใบด้านล่างจนเป็นรูพรุน โดยเฉพาะใบส่วนยอดที่กำลังเจริญ ระบาดมากช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อน

การป้องกันกำจัด ทำลายต้นผักกาดหัวทันทีหลังการเก็บเกี่ยว และวัชพืชบริเวณข้างเคียงเพื่อมิให้เป็นที่ขยายพันธุ์ หรือใช้สารฆ่าแมลงประเภทจุลินทรีย์ เช่น ทรูริไฮด์, อโดรน่า เป็นต้น อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน หรือใช้สารเคมีพวกเพอร์เมทริน อัตรา 20 ซีซี หรือเมทามิโดฟอส อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน

5. ด้วงหมัดผัก ที่พบมี 2 ชนิด คือชนิดลาย ซึ่งมีแถบสีน้ำตาลอ่อนพาด 2 แถว ประมาณ 80% อีกชนิดหนึ่งคือชนิดสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีขนาดเล็กสีขาวใส โตเต็มที่ยาวประมาณ 0.5 ซม. ตัวแก่เป็นแมลงปีกแข็ง เวลาถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดไปได้ไกลโดยอาศัยโคนขาหลังที่ใหญ่จะทำลายผักกาดหัวโดยตัวแก่ชอบกัดกินใบจนพรุน ตัวอ่อนชอบกัดกินซากพืช ระบาดมากบริเวณที่ปลูกซ้ำที่เดิมโดยเฉพาะฤดูฝน

การป้องกันกำจัด โดยการไถตากดินในฤดูแล้ง กำจัดวัชพืชในบริเวณแปลงปลูกผักกาดหัว และปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยทำลายตัวอ่อน, ดักแด้ และตัดชีพจักร นอกจากนี้ยังสามารถใช้สารเคมี พวกเมทามิโดฟอส 20 ซีซี, ดีดีวีพี 30 ซีซี และออร์ซีน 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน

การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวทันที เมื่อถึงอายุการเก็บเกี่ยวซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์ และสภาพแวดล้อม การปล่อยให้ผักกาดหัวแก่เกินอายุการเก็บเกี่ยวจะทำให้คุณภาพลดลง คือเนื้อฟ่าม เหนียว ไม่กรอบ รสไม่ดี และน้ำหนักลดลงมาก โดยเฉพาะพวกพันธุ์เบา

ประโยชน์ของ การปลูกผักกาดหัวไชเท้า
ราก : รสชุ่ม เย็น ละลายเสมหะ แก้พิษ ท้องอืดแน่นเนื่องจากกินมากเกิน เสมหะมากไม่มีเสียง อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด กระหายน้ำ บิด และปวดหัวข้างเดียว รากทำให้สุก ใช้เป็นยาระบาย สมานลำไส้ บำรุงม้าม ขับเสมหะ เรียกน้ำลาย แก้คันและบำรุงเลือด
เมล็ด : รสเผ็ด ชุ่ม เย็น เมล็ดคั่วแล้วมีรสเผ็ด ชุ่ม สุขุม ใช้เป็นยาระบาย ระงับอาการหอบ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ แก้ไอหอบมีเสมหะมาก ท้องอืดแน่น บิด และแก้บวม
ใบหรือทั้งต้น : รสเผ็ด ขม สุขุม ทำให้เจริญอาหาร แก้ท้องเฟ้อเรอเปรี้ยว ท้องอืดแน่น อาหารไม่ย่อย บิด ท้องร่วง เจ็บคอ ต่อมน้ำนมบวม และน้ำนมคั่ง
ใบสด : คั้นเอาน้ำทา แก้ผิวหนังเป็นผื่นคันมีน้ำเหลือง
Share this video :

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร