รายการอัพเดทล่าสุด

การเลี้ยงกดเหลือง

การเลี้ยงปลากดเหลือง
ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูง  มีราคาดี  เนื้อมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในรูปสดและแปรรูป  เช่น  แกงเหลือง  ฉู่ฉี่  และย่าง ฯลฯ  มีชื่อสามัญ  Green Catfish  และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Mytus nemurus  ได้รับการตั้งชื่อครั้งแรกโดย  Cuvier  และ  Valencieness  ในปี  2436  ปลากดเหลืองมีการเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น  ซึ่งชาวประมงแถบจังหวัดกาญจนบุรี  เรียกว่า  ปลากดกลางหรือปลากลาง  แถบจังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรีเรียกว่า  ปลากดนาหรือปลากดเหลืองแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียกว่า  ปลากดฉลอง  แถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสเรียกว่า  อีแกบาวง  แต่ปลาชนิดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย  เรียกว่า  ปลากดเหลือง

 การแพร่กระจาย   ปลากดเหลืองพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำจืดทั่วไปของทวีปเอเชียตั้งแต่เอเชียตะวันตก  ได้แก่  อินเดีย  เนปาล  ปากีสถาน  และบังกลาเทศ  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่  เมียนมาร์  ไทย  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  กัมพูชา  เวียดนาม  มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย  สำหรับในประเทศไทยพบแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ  เช่นภาคเหนือพบในลำน้ำกก  ปิง  วัง  ยม  น่าน  กว๊านพะเยา  บึงบอระเพ็ด  เขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์  และเขื่อนกิ่วลม  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำมูล แม่น้ำโขงและสาขาในเขื่อนอุบลรัตน์  เขื่อนลำปาว  เขื่อนลำตะคอง  ภาคกลาง  พบในแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำท่าจีน  แม่น้ำแม่กลอง  แม่น้ำปางปะกง  แม่น้ำป่าสัก  เขื่อนศรีนครินทร์  เขื่อนวชิราลงกรณ์และแก่งกระจาน  ภาคใต้พบในแม่น้ำตาปี  ปัตตานี  สายบุรี  บางนรา  โก-ลกและสาขาบริเวณปากแม่น้ำย่านน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งก็สามารถพบปลากดเหลืองได้  นอกจากนี้พบในทะเลน้อย  ทะเลสาบ  สงขลาและพรุต่างๆ  เช่น  พรุโต๊ะแดง  จังหวัดนราธิวาส  พรุควนเคร็งในจังหวัดนครศรีธรรมราช

  อุปนิสัย    ปลากดเหลืองสามารถเจริญเติบโตและอยู่อาศัยได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย  แต่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำที่เป็นแอ่งหินหรือพื้นดินแข็งน้ำค่อนใสมีกระแสน้ำไหลไม่แรงนักพบอยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 2-40 เมตร  ทั้งยังชอบอาหารบริเวณที่น้ำจากต้นน้ำเหนือเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำไหลมาบรรจบกับบริเวณแนวน้ำนิ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปากน้ำซึ่งมีน้ำจืดไหลปะทะกับแนวน้ำเค็ม  มีกุ้ง  ปลา  ปู  หอย  ค่อนข้างสมบูรณ์  ชาวประมงมักจับปลากดเหลืองสามารถที่จะปรับตัวให้เจริญโตได้ดีในสภาพน้ำพรุที่มีความเป็นกรดสูงและมีปริมาณสารแขวนลอยมาก
 
  รูปร่างลักษณะ  
  ปลากดเหลืองเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด  ลำตัวกลมยาว  หัวค่อนข้างแบนและเรียวเป็นรูปกรวย(conical) กระดูกท้ายทอยยาวถึงโคนครีบหลัง ตาไม่มีหนังปกคลุม  ปากกว้าง  ขากรรไกรแข็งแรง  มีฟันซี่เล็กๆสั้นปลายแหลมเป็นกลุ่มหรือแผ่นบนขากรรไกรบน  ขากรรไกรล่างและบนเพดานปากซี่กรองสั้นเล็กปลายแหลม  มี 15 ซี่  มีหมวด 4 คู่คือที่บริเวณจมูก  ริมฝีปากบน  ริมฝีปากล่าง  และใต้คางอย่างละ 1 คู่  ซึ่งหนวดคู่แรกและหนวดคู่สุดท้ายจะมีความยาวสั้นกว่าคู่ที่สองและคู่ที่สาม
            ครีบหลังไม่สูงเป็นครีบเดี่ยวอยู่กลางหลัง  มีก้านครีบแข็ง 1 ก้านและก้านครีบอ่อน 7 ก้าน  ครีบไขมันเจริญดีอยู่บนหลังตามหลังตามส่วนท้ายของลำตัว  และอยู่ตรงข้ามกับครีบก้น  ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน 10-11  ก้าน    ครีบหูเป็นครีบคู่อยู่หลังบริเวณเหงือก  มีเงี่ยงแข็งและแหลมคม 1 คู่  มีก้านครีบอ่อนข้างละ 9 ก้าน  ครีบท้องมีก้านครีบอ่อน 6-7 ก้าน  ครีบหางเว้าลึกแฉกบนยาวกว่าแฉกล่างประกอบด้วยก้านครีบอ่อน 16-17 ก้าน

              ลักษณะสีของลำตัวจะเปลี่ยนไปตามอายุ  ขนาด  และแหล่งที่อยู่อาศัยปลากดเหลืองที่มีขนาดโตเต็มวัย  ลำตัวบริเวณส่วนหลังมีสีน้ำตาลเข้มปนดำ  บริเวณข้างลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลือง  บริเวณท้องมีสีขาว  ฐานครีบอก  ครีบท้อง ครีบก้น  มีสีเทาเจือชมพู  ครีบหลัง  ครีบหางมีสีเขียวซีดจาง  ปลายครีบมีสีเทาปนดำ  ดวงตามีขนาดปานกลาง
               ปลากดเหลืองที่พบโดยทั่วไปมีขาด 20-25 เซนติเมตร  แต่เคยพบขนาดใหญ่สุดกว่า 60 เซนติเมตร  ปลาชนิดนี้มีกระเพาะลม  ซึ่งมีลักษณะกระเพาะลมตอนเดียวคล้ายรูปหัวใจทำหน้าที่ช่วยในการทรงตัวใช้ปรับความถ่วงจำเพาะของตัวปลาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย  เพื่อให้สามารถลอยตัวอยู่มนระดับต่างๆได้ตามความต้องการ

  การสืบพันธุ์    1.  ลักษณะความแตกต่างระหว่างปลากดเหลืองเพศผู้กับเพศเมียมีดังนี้

ลักษณะตัวผู้
ลักษณะตัวเมีย
      1.  ลำตัวจะมีลักษณะเรียงยาว
     1.  ลำตัวจะมีลักษณะป้อมสั้น
     2. อวัยวะเพศที่เรียกว่า genital papillae  ยื่นออกมาประมาณ 1 เซนติเมตรจะมีลักษณะเป็นติ่งเรียวยาวและแหลมตอนปลาย
     2.  อวัยวะเพศมีลักษณะเป็นรูกลม
  3. ในฤดูผสมพันธุ์  เมื่อรีดจากส่วนท้องจะมีน้ำเชื้อไหลออกมาลักษณะสีขาวขุ่น
    3.ในฤดูผสมพันธุ์จะมีส่วนท้องบวมเป่งนูนออกมาทางด้านข้างทั้งสองข้างและช่องเพศมีสีชมพูเรื่อๆ
              
              ปริมาณความดกของไข่ขึ้นกับขนาดของแม่ปลากดเหลือง ปลาเพศเมียที่พบเริ่มมีไข่แก่และสืบพันธุ์วางไข่ได้มีความยาวตั้งแต่ 18 เซนติเมตรขึ้นไป  ความยาวเฉลี่ย  28.56 เซนติเมตร  ส่วนปลาเพศผู้ความยาวเฉลี่ย  28.56 เซนติเมตร
                 แม่ปลาขนาดความยาว 18 เซนติเมตร  มีไข่ประมาณ 12,500 ฟอง
                 แม่ปลาขนาดความยาว 30 เซนติเมตร  มีไข่ประมาณ 40,000 ฟอง

   อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์     อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลากดเหลืองเท่ากับอัตรา 1 ตัว/1 ตารางเมตร  โดยจะปล่อยแยกเพศหรือรวมเพศก็ได้

 ฤดูกาลวางไข่     ปลากดเหลืองสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี  ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคมของทุกปีในแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับภาคใต้ตอนล่างฤดูผสมพันธุ์วางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน   เป็นที่น่าสังเกตว่า  ฤดูกาลวางไข่ของปลากดเหลืองจะแตกต่างกันไปตามสภาพและที่ตั้งของพื้นที่  เช่น
·       อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์  ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี
·       แม่น้ำบางปะกงอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน
·       เขื่อนศรีนครินทร์  ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
·       เขื่อนบางลาง  จังหวัดยะลา  ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม
อนึ่ง  ปัจจัยที่เป็นตัวควบคุมความสุกแก่ของรังไข่  ได้แก่  ปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงของรอบปี
 การพัฒนาไข่ปลากดเหลือง   ไข่ปลากดเหลืองเป็นไข่จมและติดกับวัตถุ  เมื่อสัมผัสกับน้ำจะมีสารเมือกเหนียวที่รอบเปลือกไข่ ทำให้ไข่ปลาติดกับวัตถุหรือไข่ติดกันเป็นกลุ่มก้อนไข่แก่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 0.82  มิลลิเมตร  ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิจะขยายขึ้นเป็นขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร  มีลักษณะกลม  สีเหลืองใสสด  ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวขุ่นหรือบิดเบี้ยว   การพัฒนาไข่ปลากดเหลืองเป็นตัว  ที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ภายในเวลา 30 ชั่วโมง  เมื่อมีอายุย่างเข้าวันที่4 ลักษณะลำตัวและครีบต่างๆเริ่มคล้ายกับปลาเต็มวัย  ลูกปลามีขนาดประมาณ 0.8 เซนติเมตร  ลูกปลาอายุ 10 วัน  มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร

  นิสัยการกินอาหาร
              ปลากดเหลืองมีกระเพาะอาหารที่มีลักษณะเป็นถุงตรงยาว  ผนังหนาสีขาวขุ่น  นิสัยการกินอาหารในธรรมชาติได้แก่  ปลาขาดเล็ก  ตัวอ่อนแมลงหรือแมลงในน้ำ  กุ้งน้ำจืด  เศษพันธุ์ไม้น้ำ  และหอยฝาเดียว  เป็นต้น  จากลักษณะรูปร่างที่ปราดเปรียวของปลากดเหลือง  พบว่า  จะโฉบจับเหยื่อที่อยู่ผิวน้ำหรือกลางน้ำได้อย่างว่องไว  โดยจะหากินในช่วงกลางคืนได้ดีกว่าช่วงกลางวัน

  การเพาะพันธุ์
              ปลากดเหลืองที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ส่วนใหญ่ได้จากการรวบรวมพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ  เช่น  แม่น้ำ  ลำคลอง  หรืออ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยคัดเลือกพันธุ์ปลาที่แข็งแรง  อวัยวะทุกอย่างครบสมบูรณ์  ขนาดไม่ต่ำกว่า 400 กรัม  นำมาเลี้ยงเป็นพ่อแม่ปลาได้ทั้งในบ่อดินและกระชัง  แต่ควรแยกเพศปลาตัวผู้และตัวเมียออกจากกัน
                บ่อดิน   ควรมีขนาด  800-1,600 ตารางเมตร  อัตราการปล่อยปลา 1-2 ตัวต่อตารางเมตร
                กระชัง  ควรเป็นกระชังอวนโพลี  ขนาดตา 2-3 เซนติเมตร  ขนาดกระชังกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร  ลึก 2.5 เมตร  อัตราการปล่อยปลา 50-100 ตัว ต่อกระชัง
         การขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์  ให้อาหารจำพวก  ปลาสดสับผสมหัวอาหารและเสริมด้วยอาหารเม็ดปลาดุก  หรือให้อาหารต้มสุกจำพวกปลายข้าว 2 ส่วน รำละเอียด 3 ส่วน  ปลาป่น 1 ส่วน  วิตามินและแร่ธาตุประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์  โดยน้ำหนัก  เสริมด้วยอาหารเม็ดปลาดุกเล็ก 1 ครั้ง  ต่อสัปดาห์  ปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวันประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา  ควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่ในบ่อประมาณ 1-2 ครั้ง ต่อเดือนปริมาณ 1 ใน 3 ของบ่อ

  การคัดเลือกพ่อแม่ปลา
               การตรวจสอบพ่อแม่ปลาที่มีความสมบูรณ์ควรทำด้วยความระมัดระวังอาจใช้ผ้าขนหนูปิดหัวปลา  โดยเฉพาะบริเวณตาของพ่อแม่ปลา  แล้วหงายท้องตรวจความพร้อมของปลา  จะป้องกันการบอบช้ำ  และลดความเครียดได้  ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่  สังเกตจากส่วนท้องจะบวมเป่งและนิ่ม  ช่องเพศมีสีชมพูเรื่อๆปลาเพศผู้  อวัยวะเป็นติ่งแหลมยื่นยาวออกมาไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตร

                พ่อแม่ปลาที่ใช้ควรมีน้ำหนักตั้งแต่ 450 กรัม  หรือเป็นปลาที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 เดือนขึ้นไป  โดยปกติแล้วแม่พันธุ์ปลาจะมีน้ำหนักมากกว่าพ่อแม่พันธุ์ปลา

  การฉีดฮอร์โมนผสมเทียม

             ฮอร์โมนที่ใช้ในการฉีดเร่งให้แม่ปลามีไข่แก่  และพ่อปลามีน้ำเชื้อสมบูรณ์ปัจจุบันนิยมใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (synthetic  hormore, LHR Ha)  ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า  ซูพรีแฟค (Suprefact) ร่วมกับสารระงับการทำงานของระบบหลั่งฮอร์โมนคือ  โดมเพอริโดน (Domperidone) หรือมีชื่อทางการค้าว่าโมทีเลียม (Motilium)


             โดยฉีดกระตุ้นทั้งเพศผู้และเพศเมียในเพศเมียฉีดเข็มแรกในอัตรา 5-7 ไมโครกรัมและยาเสริมฤทธิ์ 5  มิลลิกรัมต่อแม่ปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม  เข็มที่สอง ห่างจากเข็มแรก 6 ชั่วโมง  ในอัตรา 15-20 ไมโครกรัม  และยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัมต่อแม่ปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม  ส่วนปลาเพศผู้ฉีดในอัตรา 5 ไมโครกรัม  และยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม  ต่อพ่อปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
              ทั้งนี้แม่ปลาพร้อมที่จะรีดไข่ผสมน้ำเชื้อหลังจากฉีดน้ำยาเข็มที่ 2 ประมาณ 6-8 ชั่วโมง  ถ้าหากปลาเพศผู้อยู่ในสภาวะสมบูรณ์เพศเต็มที่ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นก็ได้

  ตำแหน่งที่ฉีดฮอร์โมน
               การฉีดฮอร์โมนปลากดเหลืองนั้น  ตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ  บริเวณกล้ามเนื้อใต้ครีบหลังส่วนต้นเหนือเส้นข้างตัว  โดยใช้เข็มเบอร์ 24 แทงเข็มเอียงทำมุมกับลำตัวประมาณ 30 องศา  แทงลึกประมาณ 1 นิ้ว ( 2 เซนติเมตร )
การรีดไข่ผสมน้ำเชื้อ
             ก่อนการรีดไข่ปลากดเหลืองเพื่อผสมกับน้ำเชื้อจะต้องเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ในการฟักไข่ให้พร้อม  ได้แก่  กะละมังเคลือบที่เช็ดแห้งสนิท  คีมคีบผ้าขาวบาง  ขนไก่  และอวนมุ้งไนลอนตาถี่สีฟ้า  หรือ  กระชังผ้าโอลอนแก้วสำหรับฟักไข่ ฯลฯ

              การรีดไข่โดยจับแม่ปลาให้แน่นพร้อมทั้งเช็ดลำตัวให้แห้ง  รีดไข่ใส่กะละมังพร้อมกันนี้ผ่าเอาถุงน้ำเชื้อจากพ่อปลา  ใช้คีมคีบถุงน้ำเชื้อออกมาขยี้ในผ้าขาวบางให้น้ำเชื้อไหลลงไปผสมกับไข่  ใช้ขนไก่คนให้ไข่กับน้ำเชื้อผสมเข้ากันอย่างทั่วถึงในขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างรวดเร็ว  และรีบนำไข่ที่ผสมแล้วไปฟัก  โดยโรยบนอวนมุ้งไนลอนตาถี่สีฟ้า  หรือบนกระชังผ้าโอลอนแก้ว  ในระดับน้ำลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร  การโรยไข่ปลาพยายามให้ไข่กระจายอย่าทับซ้อนกันเป็นก้อนเปิดน้ำไหลผ่านตลอดเวลาและมีเครื่องเพิ่มอากาศใส่ไว้ในบ่อฟักไข่ปลาด้วย

  การฟักไข่
               ไข่ปลากดเหลืองเป็นไข่ติด  ไข่ที่ดีซึ่งได้รับการผสมควรมีลักษณะกลมมีสีเหลืองสดใสและพัฒนาฟักออกเป็นตัว  โดยใช้เวลาประมาณ 27-30 ชั่วโมง  ที่อุณหภูมิของน้ำ 26-28 องศาเซลเซียส  ถุงอาหาร (yolk sac) จะยุบตัวหมดในเวลา 3 วัน  หลังจากนั้นลูกปลาจะเริ่มกินอาหาร
               บ่อเพาะฟักลูกปลากดเหลืองควรมีหลังคาคลุมบังป้องกันแสงแดดและน้ำฝนได้

  การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน
               นำลูกปลาวัยอ่อนที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ  ไปอนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตารางเมตร  ระดับน้ำลึก 20-30 เซนติเมตร  สามารถอนุบาลลูกปลาได้ 50,000-100,000 ตัว  หรือ 1,000-2,000 ตัว/ตารางเมตร  ให้ออกซิเจนตลอดเวลา
              อาหารลูกปลา  ในสัปดาห์แรกเป็นอาหารที่มีชีวิต  ได้แก่  ไรแดงหรือ  อาร์ทีเมีย  จนกระทั่งลูกปลามีอายุ 8-10 วัน  จึงเริ่มฝึกให้กินอาหารสมทบ  ได้แก่  เนื้อปลาบดผสมวิตามินและแร่ธาตุ  ส่วนปริมาณการให้อาหารจะให้น้อยๆแต่บ่อยครั้ง  ในระยะนี้อาจผสมยาปฎิชีวนะกับอาหารในอัตรา 3 กรัม/อาหาร  1 กิโลกรัม  เพื่อป้องกันโรคพวกแบคทีเรีย  โดยให้วันละ 1 ครั้ง  ติดต่อกัน 5-7 วัน
             ระดับน้ำ  ในบ่ออนุบาลลูกปลาวัยอ่อนระยะแรกประมาณ  20-30 เซนติเมตรและค่อยๆ  เพิ่มปริมาณน้ำเป็น 50 เซนติเมตร เมื่อเริ่มให้อาหารสมทบจำพวกเนื้อปลาบด  และส่วนผสม  ทั้งนี้  การทำความสะอาดพื้นบ่อเป็นสิ่งจำเป็นมาก  โดยดูดตะกอนพื้นบ่อ  เปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 1 ใน 3 ของบ่อ  และเพิ่มประมาณน้ำให้เท่าเดิมในช่วงนี้
               การป้องกันโรค  ควรใส่ฟอร์มาลินในความเข้มข้น 40 พีพีเอ็ม  แช่ตลอด 24 ชั่วโมง  สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
               การคัดขนาด  เมื่ออนุบาลลูกปลามีอายุ 8-10 วัน  จะเริ่มขนาดต่างกันจึงต้องหมั่นคัดขนาดลูกปลาเพื่อช่วยลดการกินกันเอง  และระยะเวลา 45 วัน  จะได้ลูกปลาขนาด 1.5-2.0 นิ้ว
  การอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์
               จากการอนุบาลปลากดเหลืองขนาดความยาว 3-4 เซนติเมตร  อัตราการปล่อย 50 ตัว/ตารางเมตร  ในบ่อซีเมนต์ 

              พบว่า  ลูกปลาที่ได้รับอาหารกุ้งเบอร์ 2  มีอัตราการเจริญเติบโตและอัตรารอดตายดีที่สุด  เมื่อเทียบกับอาหารปลาดุก (โปรตีน 31 เปอร์เซ็นต์) และเนื้อปลาสับ (โปรตีน 10 เปอร์เซ็นต์)  คือลูกปลามีขนาดความยาว 5-8 เซนติเมตร  ภายใน 7 สัปดาห์

  การอนุบาลลูกปลาในบ่อดิน
             บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลา ต้องมีการกำจัดศัตรูของลูกปลาก่อน และพื้นบ่อควรเรียบสะอาด  ปราศจากพืชพรรณไม้น้ำต่างๆ  ควรมีร่องขนาดกว้าง 0.5-1.0 เมตร  ยาวจากหัวบ่อจรดท้ายบ่อ  และลึกจากพื้นบ่อประมาณ 20 เซนติเมตร


              เพื่อความสะดวกในการรวบรวมลูกปลาตรงปลายร่องมีแอ่งลึก  พื้นที่ประมาณ 2-4 ตารางเมตรเป็นแหล่งรวบรวมลูกปลา  ลูกปลากดเหลืองอายุ 12-15 วัน  ขนาด 1-1.5 เซนติเมตร  บ่อขนาด  800 ตารางเมตร  ระดับน้ำลึก 0.50-0.80 เมตร  อัตราการปล่อยอนุบาลบ่อละ 50,000-70,000 ตัว  ให้อาหารผสมได้แก่  เนื้อปลาบด 80 เปอร์เซ็นต์  อาหารผง (powder food)  19.6 เปอร์เซ็นต์  วิตามินและแร่ธาตุ 0.4 เปอร์เซ็นต์  ปั้นเป็นก้อนเล็กๆโยนให้ลูกปลาในบ่อกินวันละ 2 ครั้ง  เช้าและเย็น  โดยปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนลูกปลา  นอกจากนี้อาจผสมน้ำมันปลาหมึกในอาหารจะช่วยดึงดูดลูกปลาให้กินอาหารได้ดีขึ้น  เมื่อลูกปลาอายุประมาณ 15 วัน  จะมีขนาด 4.5-5.0 เซนติเมตร

  การเลี้ยงปลาขนาดตลาด
                การเลี้ยงปลากดเหลืองให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้นสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและกระชัง
1.   การเลี้ยงในบ่อดิน  ควรปรับสภาพบ่อโดยใช้หลักการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไปดังนี้
  1.1   ตากพื้นบ่อให้แห้งพร้อมทั้งปรับสภาพก้นบ่อให้สะอาด
      1.2   ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดินโดยใส่ปูนขาวในอัตราประมาณ 60-100 กิโลกรัม/ไร่
      1.3   ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลาควรใส่ปุ๋ยคอกในอัตราประมาณ 60-100 กิโลกรัม/ไร่
      1.4 นำน้ำเข้าบ่อโดยกรองไม่ให้ศัตรูของลูกปลา  ติดเข้ามากับน้ำระดับน้ำลึก 30-40 เซนติเมตร  วันรุ่งขึ้นจึงปล่อยปลาและเพื่อให้ลูกปลามีอาหารกิน  ควรเติมไรแดงในอัตราประมาณ 5 กิโลกรัม/ไร่  หลังจากนั้นจึงให้อาหารผสมแก่ลูกปลา  ก่อนที่จะนำลูกปลามาเลี้ยงควรตรวจดูด้วยว่าเป็นลูกปลาที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง

               การปล่อยลูกปลา ลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในถุงและน้ำในบ่อให้เท่าๆกันก่อน  โดยแช่ถุงบรรจุลูกปลาในน้ำประมาณ 30 นาทีจึงปล่อยลูกปลา  เวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นเวลาตอนเย็นหรือตอนเช้า
               การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินขนาด 2 ไร่จำนวน 2 บ่อ  ของเกษตรกรกิ่งอำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา  ในอัตราการปล่อยปลาขนาดความยาว 15.0-17.0 เซนติเมตร  น้ำหนักระหว่าง 22-42 กรัม  ตารางเมตรละ 1 ตัวหรือ  ไร่ละ 1,600 ตัว  โดยให้อาหารจำพวกปลาเป็ดสับผสมวิตามินและแร่ธาตุ ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 7 เดือน  จึงจับปลาจำหน่าย  ได้น้ำหนักปลาทังสิ้น 2,125 กิโลกรัม  เป็นผลผลิตไร่ละ 1,062.5 กิโลกรัม  น้ำหนักตัวระหว่าง 400-500 กรัม  (ประมาณ 2.40 ตัว/กิโลกรัม)  ได้ปลา 5,110 ตัว  อัตราการรอดตาย 79.82 เปอร์เซ็นต์  โดยใช้ปริมาณอาหารทั้งหมด 9,562 กิโลกรัม  มีอัตราแลกเนื้อ (FCR) เท่ากับ 2 : 4.5  ดังตารางต่อไปนี้

  ตารางที่ 1   การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินของเกษตรกรจังหวัดสงขลา

บ่อ
จำนวนที่ปล่อย (ตัว)
น้ำหนักเริ่มปล่อย(ตัว)
จำนวนปลาที่เหลือ(ตัว)
อัตราการรอด(%)
น้ำหนักเฉลี่ย(กรัม)
น้ำหนักรวม(กิโลกรัม)
3,200
3,200
15.41
15.80
2,548
2,760
73.38
86.25
419.50
413.00
985
1,140
เฉลี่ย
3,200
15.60
2,654
76.80
416.25
1,062.5
ที่มา  :  สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสงขลา ,2537
            2. การเลี้ยงปลารุ่นในกระชัง สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสงขลาได้ทำการเลี้ยงปลากดเหลืองให้เป็นปลารุ่นในกระชังตาข่ายพลาสติก  ขนาด 2 ´3 ´1.5 เมตร  ปลาความยาวเฉลี่ย 7.17  เซนติเมตร  น้ำหนักเฉลี่ย 3.14 กรัม  อัตราการปล่อย 300 ตัว/กระชัง
            เปรียบเทียบอาหารเนื้อปลาสดสับกับอาหารเม็ดปลากินเนื้อในระยะเวลา 6 เดือน  พบว่า  ปลาที่เลี้ยงด้วยเนื้อปลาสดสับ  มีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก  คือ  มีน้ำหนักเฉลี่ย 83.87  กรัม  อัตราการรอดตาย  73.79 เปอร์เซ็นต์  อัตราแลกเนื้อ 4.98  คิดเป็นต้นทุนอาหาร  24.90 บาท/กิโลกรัม (ปลาสดราคากิโลกรัมละ 5 บาท)
           ในขณะที่การเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดปลากินเนื้อ  ปลาที่เลี้ยงมีน้ำหนักเฉลี่ย 72.61 กรัม  อัตราการรอดตาย 59.29 เปอร์เซ็นต์  อัตราแลกเนื้อ 2.76 คิดเป็นต้นทุนอาหาร 33.12 บาท/กิโลกรัม (อาหารเม็ดปลากินเนื้อราคากิโลกรัมละ 12 บาท)
             3.  การเลี้ยงปลาในกระชัง  การเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชังโดยที่ตัวกระชังทำด้วยตาข่ายพลาสติกขนาดกระชัง 3 ´4 ´1.8 เมตร  ปล่อยปลาขนาด 200-250 กรัม  จนถึงขนาดตลาด  อัตราปล่อย 1,000ตัว/กระชัง  ให้ปลาเป็ดและส่วนผสมอื่นๆเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง  ใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือน  ผลปรากฏว่าปลาเจริญเติบโตมีน้ำหนักเฉลี่ย 540 กรัม/ตัว  อัตรารอดตาย 82.0 เปอร์เซ็นต์  ผลผลิต 462.38 กิโลกรัม/กระชัง
            ข้อควรคำนึงในการเลี้ยงปลากดเหลืองให้ได้ขนาดที่ตลาดต้องการนั้น  ถ้าเลี้ยงในบ่อดิน  พันธุ์ปลาที่ปล่อยควรเริ่มที่ขนาด 5-7 เซนติเมตร  อัตราการปล่อยตารางเมตรละ 1-2 ตัว  ส่วนการเลี้ยงในกระชังควรปล่อยปลาตารางเมตรละ 50-70 ตัว  และควรหมั่นคัดขนาดปลาให้สม่ำเสมอกันด้วย

  ต้นทุนและผลตอบแทน
                การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดิน  จากปลาขนาดความยาวระหว่าง 15 –17 เซนติเมตร  หรือน้ำหนักเฉลี่ย 32 กรัม/ตัว  โดยให้ปลาเป็ด  ไส้ไก่  วิตามินและแร่ธาตุเป็นอาหาร  พบว่าในระยะเวลา 7 เดือน  ได้ผลผลิตปลาขนาดเฉลี่ย 2.4 ตัว/กิโลกรัม  ไร่ละประมาณ 1,062.50 กิโลกรัม  คิดเป็นรายได้ 63,750 บาท  โดยมีต้นทุนที่เป็นเงินสด 32,377.50 บาท/ไร่ ต้นทุนรวมทั้งสิ้นไร่ละ 49,125.02 บาท รายได้เหนือต้นทุนที่เป็นเงินสด 32,377.50 บาท/ไร่  มีกำไรสุทธิไร่ละ  14,625 บาท  และคิดเป็นผลตอบแทนต่อการลงทุนประมาณ 29.77 เปอร์เซ็นต์  ดังตารางที่ 2
 ตารางที่ 2   รายได้และต้นทุนการเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดิน  จังหวัดสงขลา  ปี 2536


รายการ
เงินสด
          ไม่เป็นเงินสด
                  รวม
รายได้(บาท,1,062.5 กก.´ 60 บ./กก.)
-
63,750.00
ต้นทุนผันแปร(บาท/ไร่)
31,372.50
15,328.03
46,700.53
-  ค่าพันธุ์ปลา
4,800.00
-
4,800.00
-  ค่าอาหารปลา
24,562.50
2,230.00
26,792.50
-  ค่าปุ๋ยและปูนขาว
1,120.00
100.00
1,220.00
-  ค่ายาป้องกันรักษาโรค
320.00
-
320.00
-  ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
350.00
-
350.00
-  ค่าขนส่ง
220.00
-
220.00
-  ค่าแรงงาน
-
12,000.00
12,000.00
-  ค่าเสียโอกาสการลงทุน
-
1,098.03
1,098.03
-  ค่าเสื่อมบ่อปลา
-
2,424.99
2,424.49
-  ค่าเสื่อมอุปกรณ์ฟาร์ม
-
470.00
470.00
-  ค่าเสียโอกาสเงินลงทุน สร้างบ่อ/อุปกรณ์
-
81.99
81.99
ต้นทุนทั้งหมด
31,372.50
17,753.02
49,125.02
รายได้สุทธิ
+17,049.47
กำไร(บาท/ไร่)
+14,624.98
ที่มา  :  สุขาวดี  และศราวุธ, 2537
              ขนาดกระชัง 3 ´4 ´ 1.8 เมตร  ปล่อยปลารุ่นอายุ 4 เดือน  ในระยะเวลา 120 วัน  ได้ผลผลิต 462.38 กิโลกรัม  คิดเป็นรายได้ 16,402.63 บาท  รายได้สุทธิ 12,322.78 บาท  รายได้เหนือต้นทุนที่เป็นเงินสด  13,919.25 บาท  กำไรสุทธิ  11,340.17 บาท  คิดเป็นผลตอบแทนต่อการลงทุน 69.14 เปอร์เซ็นต์  ดังตารางที่ 3
 
 ตารางที่ 3   รายได้และต้นทุนการเลี้ยงปลากดเหลืองในกระชัง  จังหวัดสงขลา  ปี 2536
รายการ
            เงินสด
      ไม่เป็นเงินสด
             รวม
รายได้(บาท)
27,742.80
ต้นทุนผันแปร(บาท/กระชัง)
13,823.55
1,596.47
15,420.02
-  ค่าพันธุ์ปลา
3,000.00
-
3,000.00
-  ค่าอาหารปลา
10,283.55
120.00
10,403.55
-  ค่ายาป้องกันรักษาโรค
420.00
-
420.00
-  ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง/ขนส่ง
120.00
-
120.00
-  ค่าแรงงาน
-
1,200.00
1,200.00
-  ค่าเสียโอกาสลงทุน
-
276.47
276.47
-  ต้นทุนคงที่(บาท/กระชัง)
-
982.61
982.61
-  ค่าเสื่อมกระชัง
-
833.34
833.34
-  ค่าเสื่อมอุปกรณ์ฟาร์ม
-
130.00
130.00
-  ค่าเสียโอกาสเงินลงทุนสร้างกระชัง/อุปกรณ์
-
19.27
19.27
ต้นทุนทั้งหมด
13,823.55
2,579.08
16,402.63
รายได้สุทธิ(บาท/กระชัง)
+12,322.78
รายได้เหนือต้นทุน
ที่เป็นเงินสด(บาท/กระชัง)
+13,919.25
กำไร(บาท/กระชัง)
+11,340.17
ที่มา  :  สุขาวดี  และศราวุธ, 2537
  โรคและการป้องกัน
             โรคปลาที่พบได้ในปลากดเหลืองเกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย  เช่น  การติดเชื้อพยาธิภายนอก  การติดเชื้อพยาธิภายใน  การติดเชื้อแบคทีเรีย  การติดเชื้อราและน้ำที่เลี้ยงเป็นพิษ เป็นต้น  การดำเนินการรักษาและป้องกันจึงเป็นวิธีการแก้ไขที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง  แต่ต้องใส่สารเคมี  หรือยารักษาให้ถูกต้องกับชนิดของโรคดังนี้
        โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก
              1.  โรคจุดขาว   (Ichthyopthirius  :  “ Ich”) ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีจุดสีขาวขุ่นเท่าหัวเข็มหมุดเล็กๆกระจายอยู่ที่ลำตัวและครีบ
             สาเหตุ  ของโรคจุดขาว  คือ  โปรโตซัว  ชนิดที่กินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร  เมื่อพยาธิโตเต็มที่จะออกจากตัวปลาโดยจมตัวลงสู่บริเวณก้นบ่อปลาและสร้างเกราะหุ้มตัว  ต่อจากนั้นจะมีการแบ่งเซลล์เป็นตัวอ่อนจำนวนมากภายในเกราะนั้น  เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเหมาะสม  เกราะหุ้มตัวจะแตกแยกและตัวอ่อนของพยาธิจะว่ายน้ำเข้าตามผิวหนังของปลาต่อไป
             การป้องกันและการรักษา  ยังไม่มีวิธีกำจัดปรสิตที่ยังอยู่ใต้ผิวหนังที่ได้ผลเต็มที่  แต่วิธีการที่ควรทำ  คือ  การทำลายตัวอ่อนในน้ำหรือทำลายตัวแก่ขณะว่ายน้ำอิสระ  โดยการใช้สารเคมีดังต่อไปนี้
                1.   ฟอร์มาลิน  150-200 ซีซี.  ต่อน้ำ  1,000 ลิตร  แช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง  สำหรับปลาขนาดใหญ่
                2.  มาลาไค้ท์กรีน 1.0-1.25 กรัมต่อน้ำ  1,000 ลิตร  แช่ไว้นานครึ่งชั่วโมงสำหรับปลาขนาดใหญ่หรือ  0.15 กรัมต่อน้ำ  1,000 ลิตร  แช่ไว้นาน 24 ชั่วโมง  หรือเมทธิลีนบูล 1-3 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร  แช่ติดต่อกัน 7 วัน
                3.  มาลาไค้ท์กรีนและฟอร์มาลิน  ในอัตราส่วน 0.15 กรัมและ 25 ซีซี.  ต่อน้ำ 1,000 ลิตร  นาน 24 ชั่วโมง  แช่ติดต่อกันประมาณ 7 วัน  ควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกวันและแช่ยาวันเว้นวันจนกระทั่งปลามีอาการดีขึ้น  วิธีนี้จะได้ผลดีมาก
              
            2. โรคพยาธิปลิงใส  (Gyrodactylus)   ปลาที่มีพยาธิปลิงใสเกาะจะมีอาการว่ายน้ำทุรนทุรายลอยตัวตามผิวน้ำ  ผอม  กระพุ้งแก้ม  เปิดปิดกว่าปกติ  อาจมีแผลขนาดเล็กเท่าปลายเข็มหมุดกระจายอยู่ทั่วลำตัว  ถ้าเป็นการติดโรคในขั้นรุนแรง  อาจมองเห็นเหมือนกับว่า  ปลามีขนสั้นๆ สีขาวกระจายอยู่ตามลำตัว  ซึ่งอาจทำให้ปลาตายได้   โดยเฉพาะลูกปลาที่เริ่มปล่อยลงบ่อดินใหม่ๆควรระมัดระวังโรคนี้ให้มาก
  การป้องกันและรักษา
              1.  ใช้ฟอร์มาลินจำนวน 25-40 ซีซีต่อน้ำ 1,000 ลิตร  แช่นาน 24 ชั่วโมง
              2.  ใช้ดิพเทอร์เร็กซ์จำนวน 0.25-0.5 กรัมต่อน้ำ  1,000 ลิตร  แช่นาน 24 ชั่วโมง
 
  โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน

                            1.  โรคพยาธิใบไม้(pleurogenoides)

             พยาธิใบไม้ที่ทำให้เกิดโรคปลานั้นพบทั้งขณะที่เป็นตัวเต็มวัยแล้วและตัวอ่อน ตัวเต็มวัยของพยาธิใบไม้พบได้ในทางเดินอาหารภายในช่องท้องไม่ค่อยทำอันตรายต่อปลาเท่าใดนัก  ต่างกับตัวอ่อนซึ่งฝังตัวอยู่บริเวณเหงือกและอวัยวะภายในต่างๆ  ทำให้เกิดความเสียหายกับเนื้อเยื่อของเหงือกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลูกปลาที่เป็นโรคนี้จะมีอาการกระพุ้งแก้มเปิดอ้าอยู่ตลอดเวลา  ว่ายน้ำทุรนทุรายลอยตัวที่ผิวน้ำ  ผอม  เหงือกบวม  อาจมองเห็นจุดขาวๆ  คล้ายเม็ดสาคู  ขนาดเล็กเป็นไตแข็งบริเวณเหงือกและปลาจะทยอยตายเรื่อยๆ ปลาหลายชนิดในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจพบพยาธิใบไม้เต็มวัยได้
            การป้องกันและรักษา
                1.  ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยคอก  เพราะอาจจะมีไข่ของพยาธิใบไม้ติดมา  ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยคอก  ควรตากให้แห้งเป็นอย่างดีก่อนจึงจะนำมาใช้พร้อมทั้งกำจัดหอย  ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมการระบาดของพยาธิชนิดนี้อย่างครบวงจร  โดยการตากบ่อให้แห้งและโรยปูนขาวให้ทั่วในอัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่  หลังจากจับปลาขึ้นแล้วทุกครั้ง
2.    ยังไม่มีวิธีรักษาหรือจำกัดตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ที่เกาะบนตัวปลา

            2.  โรคจากเชื้อแบคทีเรีย 

                1.  โรคตัวด่าง   เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “ คอลัมนาริส”  ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีแผลด่างขาวตามตัว  และเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเวลานาน  แผลด่างขาวนี้จะกลายเป็นแผลลึกได้  โรคนี้มักเกิดกับปลาหลังการลำเลียงเนื่องจากอุณหภูมิของอากาศที่สูงทำให้ปลามีความต้านทานลดลง เชื้อแบคทีเรียนี้ก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทำอันตรายต่อปลา ปลาที่เป็นโรคดังกล่าวจะตายเป็นจำนวนมาก

           การป้องกันและรักษา
                 1.  แช่ปลาในยาเหลือง  อัตราส่วน 2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 5 ลิตร  นานประมาณครึ่งชั่วโมง
                 2.ในขณะขนส่งลำเลียงปลาควรใส่เกลือเม็ดในน้ำที่ใช้สำหรับการขนส่งปลาปริมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร
                 3.  ใช้ด่างดับทิมเข้มข้น 2 พีพีเอ็ม แช่ตลอด
                 4.  ใช้ฟอร์มาลินจำนวน 40-50 พีพีเอ็ม  แช่นาน 24 ชั่วโมง
                5.  ในกรณีที่เชื้ออยู่ในกระแสเลือดใช้เทอร์รามัยซิน 5 กรัมต่อ  น้ำหนักปลา 100 กิโลกรัมต่อวัน  ติดต่อกันเป็นเวลา 10-12 วัน
              
                2.  โรคแผลตามตัว   เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas  และ  Pseudomonas  ปลาจะมีลักษณะผิวหนังบวมแดงและเริ่มเปื่อยเป็นแผลลึกลงไปจะเห็นกล้ามเนื้อส่วนในปลาขนาดเล็กมักจะทำให้เกิดอาการครีบกร่อน  ทั้งครีบตามลำตัวและครีบหาง

              การป้องกันและรักษา
                 1.  ใช้ยาปฏิชีวนะจำพวกไนไตรฟูราโซนในอัตราส่วน 1-2 มิลลิกรัม  ต่อน้ำ 1 ลิตร  แช่ปลานานประมาณ 2-3 วัน
                2.  แช่ปลาที่เป็นโรคในสารละลายออกซีเตตร้าซัยคลิน  หรือ  เตตร้าไคลินในอัตราส่วน 60-70 มิลลิกรัม  ต่อน้ำ 1 ลิตร  นาน 1-2 วัน  ติดต่อกัน 3-4 ครั้ง
                3.  ถ้าปลาเริ่มมีอาการของโรคอาจผสมยาปฏิชีวนะดังข้อ 1 หรือ 2 ในอัตราส่วน  60-70 มิลลิกรัม  ต่อน้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม  หรือ 2-3 กรัม  ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม  นานติดต่อกัน 3-5 วัน
              3.  โรคท้องบวม    อาการของโรคจะเห็นส่วนท้องบวมมากและบางตัวผิวหนังจะเป็นรอยช้ำตกเลือด

              การป้องกันและรักษา
             ให้แช่ปลาในยาปฏิชีวนะออกซีเตตร้าไซคลินในอัตราส่วน 10-20 พีพีเอ็ม  ส่วนการฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงปลาควรใช้ปูนขาวในอัตราส่วน 10-20 พีพีเอ็ม  ส่วนการฆ่าเชื้อในบ่อเลี้ยงปลาควรใช้ปูนขาวในอัตราส่วน 50-60 กิโลกรัม/ไร่
              เกี่ยวกับสาเหตุของเชื้อโรคชนิดต่างๆซึ่งทำให้เกิดโรคในปลากดเหลืองแล้ว สภาพแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่ทั้งด้านกายภาพหรือองค์ประกอบด้านเคมีจะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ปลาอ่อนแอและส่งผลต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวข้างต้น  ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่  ปริมาณออกซิเจนในน้ำความเป็นกรดด่างน้ำ สารพิษในน้ำปริมาณคลอรีนหรือโลหะหนักในน้ำรวมถึงสภาวะอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน
            ดังนั้นผู้เลี้ยงปลาจึงควรที่จะศึกษาวิธีการป้องกันและแก้ไขสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปลาหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้การเลี้ยงปลากดเหลืองมีผลผลิตลดต่ำในที่สุด
 
  ด้านการตลาด
              ปลากดเหลืองขนาด 3-5 ตัว/กิโลกรัม  (ขนาดเฉลี่ย 250 กรัม/ตัว) จำหน่ายให้ผู้รวบรวมหรือบริโภคในท้องถิ่นทางภาคใต้ราคา 40 บาท/กิโลกรัม  ในขณะที่ราคาจำหน่ายปลีกแก่ผู้บริโภคในเขตเมืองระดับราคา 60-80 บาท/กิโลกรัม  สำหรับราคาขายส่งไปยังตลาดต่างประเทศในราคา 100-120 บาท/กิโลกรัม  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของปลา  ปริมาณและความสดของปลาเป็นสำคัญ  ปัจจุบันผลผลิตเกือบทั้งหมดมาจากการจับในแหล่งน้ำธรรมชาติ  หากมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้จำหน่าย  และผู้บริโภคปลากดเหลือง
  การกำจัดกลิ่นโคลนในเนื้อปลา
              การเลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อดินสร้างป้องกันการเกิดกลิ่นสาปในเนื้อปลาได้โดยก่อนจับปลาขึ้นจำหน่าย  ควรจะย้ายปลามาเลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีการถ่ายเทดีประมาณ 15 วัน  จะป้องกันการเกิดกลิ่นสาบได้เพราะกลิ่นโคลนไม่ใช่เป็นกลิ่นถาวรที่ติดอยู่กับตัวปลาตลอดไป  กลิ่นนี้จะหายได้เมื่อนำปลาไปใส่ไว้ในน้ำสะอาด  และงดให้อาหารเป็นเวลา 7 วัน  ที่อุณหภูมิน้ำ 24 องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้กลิ่นโคลนหมดไปจากตัวปลาเร็วขึ้น
   การเกิดกลิ่นโคลน(off-flavors)ในเนื้อปลากลุ่ม catfish อาจเกิดจากหลายสาเหตุ  ได้แก่
                1.  เกิดจากแหล่งน้ำมีปริมาณของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (blue green) ซึ่งจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำที่มีปุ๋ยและแร่ธาตุปริมาณสูงวิธีแก้ไขโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำและเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อเพื่อลดจำนวนของสาหร่ายและตายในที่สุด
                2. เกิดจากการให้อาหารปลามากเกินไป  ทำให้อาหารเน่าตกอยู่พื้นก้นบ่อซึ่งจะดูดซึมเข้าสู่ตัวปลาได้และทำให้เกิดการ bloom ของสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว  ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นสาบได้
                3. เกิดจากซากพืชหรือซากสัตว์ที่ตกค้างอยู่ในบริเวณ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นสาบได้ดังนั้นจะต้องทำความสะอาดบ่อกำจัดเศษซากพืช  ใบไม้  ออกให้หมด
                4.  ชนิดหรือส่วนผสมของอาหาร  อาหารที่มีส่วนผสมของจำพวกไขมันหรือสารละลายในไขมันทำให้เกิดกลิ่นสาบในเนื้อปลาได้
 

การเลี้ยงปลาไหล


การเพาะเลี้ยงปลาไหลนา
(Culturing and Breeding of Swamp Eel)     
ปลาไหลนา หรือปลาไหลบึง จัดเป็นปลาอยู่ในวงศ์ Synbranchiformes  ครอบครัว Synbranchidae
ซึ่งปลาในครอบครัวนี้ มีอยู่ 3 ชนิด คือ


1. ปลาไหลนา  Monopterus albus, Zuiew (1973)
ชื่อสามัญ Swamp Eel, Asian Swamp Eel  ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล ท้องมีสีเหลืองทอง มีขนาดยาวที่สุดถึง 1.01 เมตร  พบทั่วทุกภาคของประเทศ
มีกระดูกเหงือก 3 คู่

2. ปลาหลาด Ophisternon bengalense,  Mcclelland (1845) มีชื่อสามัญ Bengal Eel ลำตัวมีขนาดเล็กยาวประมาณ 30 เซนติเมตรลำตัวมีสีเหลือง หางจะเป็นรูปใบพาย พบทางภาคกลางของประเทศ และอ่าวเบงกอลมีกระดูกเหงือก 4 คู่

3. ปลาหล่อย Macrotema caligans, Cantor (1849)
 ลำตัวมีสีเหลือง ขนาดเล็กที่สุดยาวประมาณ 17 - 20 เซนติเมตร หางเป็นรูปใบพายพบทางภาคใต้บริเวณทะเลสาปลำปำ จังหวัดพัทลุง กระดูกเหงือกมี 4 คู่

 ลักษณะทั่วไป
ปลาไหลนาสามารถเจริญเติบโตได้ดีใน แหล่งน้ำทั่วไป สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และสามารถใช้ลำไส้ส่วนท้าย (hindgut) เป็นเครื่องช่วยในการหายใจ ฤดูแล้งจะขุดรูอยู่อาศัยลึก 1 - 1.5 เมตร ออกหากินในเวลากลางคืน เป็นปลาที่สามารถ เปลี่ยนเพศได้ (hermphrodite) โดยช่วงแรกจะเป็นเพศเมีย และจะกลายเป็นเพศผู้เมื่อโตขึ้น ด้านน้ำหนักเพศเมียจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 100 -  300 กรัม เพศผู้มีน้ำหนักมากกว่า 400 กรัม จัดเป็นพวกปลากินเนื้อ (carnivorous) กินอาหารที่มีสภาพสดจนถึงเน่าเปื่อย ตัวหนอน ตัวอ่อนแมลง หอย ไส้เดือน และสัตว์หน้าดินต่าง ๆ (benthos)มีนิสัยรวมกลุ่มกันกินอาหาร

การเพาะพันธุ์
1. การแยกเพศ สามารถแยกได้ดังนี้
เพศผู้   ความยาวมากกว่า60 เซนติเมตร น้ำหนักมากกว่า 400 กรัม ท้องไม่อูม ตัวยาวเรียว ช่องเพศสีขาวซีดไม่บวม  ลำตัวสีเหลืองคล้ำ

เพศเมีย  ความยาว 29 - 50 เซนติเมตร น้ำหนัก ต่ำกว่า  300 กรัม ท้องอูมเป่ง ตัวอ้วน ท้องป่อง ช่องเพศ สีแดงเรื่อบวม (ช่วงผสมพันธุ์) ลำตัวสีเหลืองเปล่งปลั่ง

2. ฤดูวางไข่ สามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน และมีความสมบูรณ์สูงสุดในเดือนสิงหาคม ปริมาณความดกของไข่ปลาไหลขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักและความยาว คือ

ความยาว                                ปริมาณไข่
20 - 30 เซนติเมตร              300 - 400 ฟอง
40 - 50 เซนติเมตร              400 - 500 ฟอง
มากกว่า 50 เซนติเมตร             1,000   ฟอง

3. การพัฒนาของไข่ 
ปลาไหลนาจะมีไข่เพียง 1 ฝัก ไข่ปลาไหลนาเป็นลักษณะไข่จมไม่ติดวัสดุ
เมื่อสัมผัส จะมีความยืดหยุ่นมาก มีลักษณะสีเหลืองสดใส  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร ไข่ได้รับการผสมมีลักษณะกลม สีเหลืองทอง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับ การผสมจะมีสีขาวใส ไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 3 วัน  ลูกปลาเมื่อฟักออกใหม่ ๆ มีความยาว 2.5 เซนติเมตรมีถุงไข่แดง 2 ใน 3 ส่วน และมีครีบหู อายุ 5 - 6 วัน  ถุงไข่แดงยุบพร้อมครีบหูหายไป และเริ่มกินอาหารได้อัตราการฟัก 70 - 80 เปอร์เซ็นต์


4. นิสัยการกินอาหาร 
    ปลาไหลนาขนาด 2.5 - 3.0 เซนติเมตร กินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ คือ ไรแดง วันละ 2 ครั้ง  ขนาดความยาว 5 เซนติเมตร เริ่มฝึกให้กินอาหารผงสำเร็จรูปร่วมกับหนอนแดงจนอายุได้ 6 สัปดาห์ ปลาจะมีขนาด 8 - 10 เซนติเมตร เริ่มให้ปลาสดบดวันละ 2 ครั้ง  และสามารถนำไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ต่อไป

5. การเพาะขยายพันธุ์ โดยปกติสามารถทำได้โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ
    การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติควรทำ ในบ่อซีเมนต์ขนาด 5 x 10 x 1 เมตรใส่ดินเหนียวหนา 30 เซนติเมตร ให้ดินสูงด้านใดด้านหนึ่งใส่พ่อแม่ตารางเมตรละ 4 ตัว  ใส่น้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ปลูกพรรณไม้น้ำเพื่อให้คล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด ให้ปลาสดสับผสมน้ำมันตับปลากินวันละ 1 มื้อ ๆ ละ 3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัว ให้กินตอนเย็น ถ่ายเทน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ปลาจะต้องใช้เวลาปรับตัว 2 - 4 เดือนเมื่อปลาเพศผู้พร้อม จะสร้างหวอดไข่สีขาวมีช่องว่างอยู่ตรงกลาง คล้ายกับขนมโดนัท ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ในตอนใกล้รุ่ง หลังจากก่อหวอด 7 - 10 วัน  ก็รวบรวมลูกพันธุ์ขึ้นมาอนุบาลต่อไป  ส่วนการเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม ได้มีผู้ทำการทดลองฉีดฮอร์โมน Suprefect + Motilium ในระดับต่าง ๆ กัน ปรากฎว่าปลาไม่มีการวางไข่แต่อย่างใด

6. การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน แบ่งได้เป็น 2 ระยะ
    6.1 อนุบาลลูกปลาวัยอ่อน ขนาด 5 เซนติเมตร ทำได้คือ  นำลูกปลาวัยอ่อนอายุ 7 - 10 วัน  ที่ฟักออกเป็นตัวไปอนุบาลในกะละมังพลาสติกกลมปล่อยอัตราความหนาแน่น 350 ตัว/ตารางเมตร  ใส่น้ำลึก 15 เซนติเมตร ใส่ต้นผักตบชวาหรือจอกเพื่อให้ลูกปลาเกาะ ควรมีการถ่ายเทน้ำ 2 - 3 วัน/ครั้ง  อาหารใช้ไรแดงให้กินวันละ 2 ครั้ง  เช้าและเย็นพร้อมฝึกให้กินอาหารสมทบ  โดยฝึกให้กินอาหารผงสำเร็จรูป (Powder feed) โดยปั้นเป็นก้อน ๆ ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรมีการคัดขนาดเพื่อช่วยลดการกินกันเอง

6.2 การอนุบาลลูกปลาไหลนา จากขนาด 5 ซ.ม. - 10 ซ.ม.
     เมื่ออนุบาลปลาจนได้ขนาด 5 เซนติเมตร ปลาจะมีขนาดปากที่กว้างขึ้นลดไรแดง และให้อาหารสมทบวันละ 2 มื้อเช้า-เย็น โดยปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้เพียงพอกับ จำนวนลูกปลา นอกจากนี้อาจผสมน้ำมันปลาหมึกเพื่อช่วยดึงดูดลูกปลาให้กินอาหารได้ดีขึ้นและควรมีวัตถุที่หลบซ่อน โดยใช้ท่อพีวีซีหรือท่อพลาสติก โดยตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 20 เซนติเมตร บ่อละ 3 - 5 ท่อน เนื่องจาก ลูกปลาค่อนข้างตกใจง่าย  เมื่อมีเสียงดัง ๆ หลังจากเลี้ยงลูกปลาไหลประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะได้ปลาขนาด 10 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1 - 2 กรัม สามารถแยกลงบ่อเลี้ยงต่อไป

7. การเลี้ยงปลาขนาดตลาด
    การเลี้ยงปลาไหลนาให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น สามารถเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์  และท่อซีเมนต์กลมโดยมีวิธีการ คือ

1. แบบเลียนแบบธรรมชาติ โดย
1.1 ใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 30 เซนติเมตร
1.2 ดินทับหนา 10 เซนติเมตร
1.3 น้ำสูงกว่าผิวดิน 10 เซนติเมตร

หมักฟางข้าวไว้ 1 - 2 สัปดาห์ หากมีการเน่าควรมีการถ่ายน้ำทิ้งบ้างแล้ว  เติมน้ำใหม่ลงไป เพื่อให้เกิดไรแดง หนอนแดง แล้วจึงนำปลาขนาดน้ำหนักตัวประมาณ 30 - 40 ตัว/กิโลกรัม ลงปล่อยในอัตราความหนาแน่น 30 - 40 ตัว/ตารางเมตร หากเป็นท่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ใส่ประมาณ 100 ตัว โดยคัดขนาดปลาขนาดเท่า ๆ กันก่อน

1.4 เติมฟางข้าวทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง
1.5 ให้อาหารสมทบวันละ 2 - 3 เปอร์เซ็นต์ ปั้นเป็นก้อนวันละมื้อในช่วงเย็นเลี้ยงประมาณ 6 – 8 เดือน จะได้น้ำหนักปลาขนาดตัวละ 200 กรัม ให้ผลผลิต 20 - 30 กิโลกรัม/ตารางเมตร อัตราการรอดตาย 70-80 เปอร์เซ็นต์ อัตราการแลกเนื้อ (FCR) เท่ากับ 1:4.5

2. แบบพัฒนา(Intensive) โดยสามารถเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ขนาดตั้งแต่ 10–50  ตารางเมตร โดยปล่อยลูกปลาไหลขนาด 10 กรัม ในอัตราส่วน 150 – 200 ตัว/ตารางเมตร  มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวก มีการให้ออกซิเจนตลอดเวลา รวมทั้งจัดที่หลบซ่อนให้ปลาไหล ส่วนอาหารใช้ปลาเป็ดสดหรือปลาข้างเหลืองผ่าแยกออกเป็นสองซีกคลุกเคล้ากับน้ำมันปลาหมึก วางให้ลูกปลาไหลกินเป็นจุด ๆ โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 – 7 เดือน

การเลี้ยงปลาทับทิม

 


จากประวัติศาสตร์ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508   สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น  ได้ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
      ผลการทดลองปรากฏว่าปลานิลที่ทรงโปรดเกล้าให้ทดลองเลี้ยงได้เจริญเติบโตและ แพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า "ปลานิล"  (โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Tilapia nilotica) และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี

          ในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์ปลานิลในบ่อสวนจิตรลดาต่อไป ในทางวิชาการเรียกสายพันธุ์ปลานิลดังกล่าวว่า "ปลานิลจิตรลดา" ซึ่งยังคงเป็นปลานิลสายพันธุ์แท้ที่ประเทศไทยได้รับทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ

       แต่แล้ว พันธุกรรมก็เริ่มกลับกลาย สีสรรค์ที่เคยดกดำ กลับแปรเปลี่ยน เป็นสีกระดำกระด่าง บางตัวก็ออกสีแดงเรื่อ ตัวไหนสีออกแดงเรื่อมากๆ เลยตั้งชื่อให้ใหม่เสียเลยว่า  "ปลานิลแดง"

     แต่แล้วการพัฒนาของสายพันธ์ก็ได้มีการคัดแยก DNA โดยมีบริษัทผู้รับการวิจัยนี้ไปคือ บริษัทเจริญโภคพันธ์ หรือที่เราเรียกว่า บริษัท "CP"
    ทางทีมงาน C.P ได้ทำการคัดเลือกสายพันธ์จากปลานิลมา 5 สายพันธ์มาผสมกัน คัดแต่ความเก่งในแต่ละด้านมารวมกัน เป็นพัธ์ใหม่เกิดขึ้น  ซึ่งในนั้นเป็นปลานิลจิตรดาที่ได้รับพระราชทาน อยู่ในนั้นด้วย 
 
  (การใช้สายพันธ์ จากบราซิล เป็นพันธ์ที่โตเร็ว  พันธ์ไต้หวัน เป็นพันธ์ที่ทนทานโรค พันธ์แอฟริกา ที่ให้สีแดง)

   ที่นี้หละ ได้ปลามาแล้ว คัดแต่ตัวแดงๆๆ จะเรียกปลานิลแดง ออกสู่ท้องตลาด ก็ดูไม่เหมาะกับความพากเพียรที่ได้ทุ่มเทค้นคิด จึงได้ขอพระราชทานชื่อ ปลานิลแดง จากองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้พระราชทานนามว่า
 "ปลาทับทิม"   .......นี่แหละที่มา


การเลี้ยงปลานิล

การเลี้ยงปลานิล
สร้างรายได้เสริมสวนยางด้วยปลานิล



      การเลี้ยงปลานิล    อีก 1 อาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในอำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูล   ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.สตูล    สนับสนุนเพื่อให้เกษตรกร  สามารถสร้างรายได้เสริมระหว่างช่วงรอผลผลิต   หลังโค่นต้นยางเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางใหม่   ซึ่งชาวสวนยางที่บ้านควนกาหลง ได้เริ่มทำการเกษตรเลี้ยงปลานิลมาเป็นระยะเวลากว่า  1  ปีแล้ว โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย.จ.สตูล  เป็นผู้สนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและจัดหาพันธุ์ปลานิลมาให้เกษตรกรเพาะพันธุ์  ทั้งนี้  การทำอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพารา  มีมากมายหลายกิจกรรมเช่น   การปลูกผักปลอดสารพิษ   พอถึงช่วงแล้งยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงปลา  และทำการเลี้ยงได้ตลอดปี   โดยเฉพาะการเลี้ยงปลานิล  ซึ่งเป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูงกว่าปลาชนิดอื่น รายได้ที่มาจากการขายปลานิล  จึงช่วยให้ชาวสวนยางเลี้ยงชีพได้ตามแนวทางเกษตรผสมผสาน   โดยเน้นหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง

        ปลานิลถือเป็นปลาเศรษฐกิจของประเทศ ราคาที่ขายได้ประมาณกิโลกรัมละ 70-100 บาท การเพาะเลี้ยงปลานิล ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่า   จึงมีขนาดโตพอจับขายได้   ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลาไม่นานนัก  สำหรับต้นทุนประมาณ 20,000 บาท ที่ใช้ต่อการเลี้ยงปลานิล 1 บ่อ ปลานิลเป็นปลากินพืช  แต่สำหรับการเพาะเลี้ยงปลานิลเพื่อนำออกจำหน่าย    เกษตรกรมักให้อาหารประเภทปลากินเนื้อ ซึ่งต้องดูความเหมาะสมในการให้อย่างสม่ำเสมอ   เพื่อให้ปลานิลมีขนาดมาตรฐานสมบูรณ์ และขายได้ราคา ปลานิลที่เลี้ยงไว้จะออกลูก  ทำให้พื้นที่บ่อเลี้ยงหนาแน่นมากขึ้น  จึงต้องหมั่นคอยสังเกตคัดจับปลาออกบ้าง การคัดจับปลานิลทำได้ง่าย   โดยใช้ตาข่ายไนล่อนขนาดช่องตา 6-8 เซนติเมตร    ช้อนจับออกจำหน่าย   เพื่อลดความหนาแน่น และวิดน้ำจับปลาทั้งหมด เมื่อเลี้ยงปลาได้ครบ 1 ปี   หรือรอจับในช่วงเวลาที่ปลามีราคาสูงขึ้น

         ปัญหาการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชในบริเวณบ่อเลี้ยงปลา ต้องระมัดระวังในเรื่องของสารพิษที่ใช้ฉีดฆ่าศัตรูพืช   ที่อาจปนเปื้อนลงมาภายในบ่อ   เวลาที่น้ำล้นบ่อ   ซึ่งมีผลทำให้ปลานิลที่มีขนาดเล็กไม่สามารถปรับสภาพกับสารพิษเหล่านี้   เป็นสาเหตุให้ปลาในบ่อเลี้ยงตายได้ นอกจาก  สกย.  จังหวัดสตูลแล้ว   ยังมีหน่วยงานภาครัฐฯ ที่เข้ามาให้การสนับสนุน    เกษตรกร  โดยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี     จังหวัดสตูลได้ทำบ่อเพาะพันธุ์ปลานิล เพื่อขยายการเพาะพันธุ์   และให้คำชี้แนะแก่เกษตรกรที่สนใจเพาะเลี้ยงปลานิล เพื่อให้เกษตรกรเข้าใจ      หลักการและนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เกษตรกรจึงประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลานิล และนำออกจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่ม ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนชาวสวนยางตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง.





ปลานิล  Oreochromis nilotica  เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา สามารถเลี้ยงได้ในทุกสภาพ การเพาะเลี้ยงในระยะเวลา 8 เดือน – 1 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ถึงขนาด 500 กรัม เนื้อปลามีรสชาติดี มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะมีน้ำหนักตัวละ 200 – 300 กรัม จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่ายเจริญเติบโตเร็วแต่ปัจจุบันปลานิลพันธุ์แท้ค่อนข้างจะหายาก เพื่อให้ได้ปลานิลพันธุ์ดีกรมประมงจึงได้ดำเนินการ ปรับปรุงพันธุ์ปลานิลในด้านต่างๆอาทิ เจริญเติบโตเร็ว ปริมาณความดกของไข่สูง ให้ผลผลิตและมีความต้านทานโรคสูง เป็นต้น ดังนั้นผู้เลี้ยงปลานิลจะได้มีความมั่นใจในการเลี้ยงปลานิจเพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อไป


ความเป็นมา
                สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงจัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัวความยาวเฉลี่ยประมาณตัวละ 9 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 14 กรัม มาทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 นั้น  ในระยะแรกได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ปล่อยบ่อดิน เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ณ บริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อเลี้ยงมาได้ 5 เดือนเศษ ปรากฏว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่สวนหลวงขุดบ่อใหม่ขึ้น 6 บ่อ มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละ 70 ตารางเมตร ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายพันธุ์ปลาด้วยพระองค์เองจากบ่อเดิมไปปล่อยเลี้ยงในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน
โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นจำพวกกินพืช เลี้ยงง่าย มีรสชาติดี ออกลูกดก เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ในเวลา 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัม และมีความยาวประมาณ 1 ฟุต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลาชนิดนี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป ดังนั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลาง บางเขนและที่สถานีประมงต่างๆทั่วราชอาณาจักร รวม 15 แห่ง เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน เมื่อปลานิลแพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้วจึงได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์ต่อไป

 รูปร่างลักษณะ
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลซิคลิดี(Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบ ในประเทศซูดาน  ยูกันดา  แทนแกนยีกา โดยที่ปลานิลชนิดนี้เจริญเติบโตเร็วและเลี้ยงง่าย เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี จึงได้รับความนิยมและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในภาคพื้นเอเชีย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็นิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้
รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่ลักษณะพิเศษของปลานิลมีดังนี้คือ ริมฝีปากบนและร่างเสมอกัน ที่บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ตามลำตัวมีลายพาดขวางจำนวน 9 – 10 แถบ นอกจากนั้นลักษณะทั่วไปมีดังนี้ ครีบหลังมีเพียง 1 ครีบ ประกอบด้วยก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนเป็นจำนวนมาก ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบแข็งและอ่อนเช่นกัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว 33 เกล็ด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่งบริเวณส่วนอ่อนของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางนั้นจะมีจุดสีขาวและสีดำตัดขวางแลดูคล้ายลายข้าวตรอกอยู่โดยทั่วไป
       ต่อมากรมประมงโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาและพันธุกรรมสัตว์น้ำได้นำปลานิลสายพันธุ์แท้มีชื่อว่าปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาไปดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ได้ปลานิลสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 3 สายพันธุ์ ดังนี้
    1. ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 1 เป็นปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากปลานิลสายพันธ์แบบคัดเลือกภายในครอบครัว (within family selection) เริ่มดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบันเป็นชั่วอายุที่ 7 ซึ่งทดสอบพันธุ์แล้วพบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าปลานิลพันธุที่เกษตรกรเลี้ยง 22 %
   2. ปลานิลสายพันธุ์จิตลดา 2 เป็นปลานิลที่พัฒนาพันธุ์มาจากปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา โดยการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมในพ่อพันธุ์ให้มีโครโมโซมเป็น "YY"  ที่เรียกว่า  "YY - Male"  หรือซุปเปอร์เมล ซึ่งเมื่อนำพ่อพันธุ์ดังกล่าวไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์ปรกติจะได้ลูกปลานิลเพศผู้ที่เรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 " ซึ่งมีลักษณะเด่นคือเป็นเพศผู้ที่มีโครโมโซมเพศเป็น "XY" ส่วนหัวเล็กลำตัวกว้าง สีขาวนวล เนื้อหนาและแน่น  รสชาติดี อายุ 6 – 8 เดือน สามารถเจริญเติบโตได้ขนาด 2 – 3 ตัวต่อกิโลกรัม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยง 45 %
           3.  ปลานิลสายพันธุจิตรลดา 3 เป็นปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์มาจากการนำปลานิลพันธุ์ผสมกลุ่มต่างๆที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลานิลสายพันธุ์จิตรลดาและปลานิลสายพันธุ์อื่นๆ อีก 7 สายพันธุ์ ได้แก่  อียิปต์  กานา  เคนยา  สิงคโปร์ เซเนกัล  อิสราเอล และไต้หวันซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วและมีอัตรารอดสูง ในสภาพแวดล้อมการเลี้ยงต่างๆ ไปสร้างเป็นประชากรพื้นฐาน จากนั้นจึงดำเนินการคัดพันธุ์ในประชากรพื้นฐานต่อโดยวิธีดูลักษณะครอบครัวร่วมกับวิธีดูลักษณะภายในครอบครัว ปลานิลชั่วอายุที่ 1 – 5 ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์โดยหน่วยงาน  ICLARM  ในประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงนำลูกปลาชั่วอายุที่ 5 เข้ามาในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำจึงดำเนินการปรับปรุงปลาพันธุ์ดังกล่าวต่อ โดยวิธีการเดิมจนในปัจจุบันได้ 2 ชั่วอายุ และเรียกว่า "ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 " ปลาสายพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สีเหลืองนวล เนื้อหนาและแน่น รสชาติดี อายุ 6 – 8 เดือน สามารถเจริญเติบโตได้ขนาด 3 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าปลานิลพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยง 40 %
ปัจจุบันสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้กระจายพันธุ์ปลานิลทั้ง 3 สายพันธุ์ ไปสู่ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงแล้ว โดยหน่วยงานของสถาบันฯในจังหวัดปทุมธานีและหน่วยพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำจืดพิษณุโลก ขอนแก่น และสุราษฏร์ธานี นอกจากนี้ยังดำเนินการดำรงสายพันธุ์และทดสอบพันธุ์ปลานิลดังกล่าวด้วย

 คุณสมบัติและนิสัย
ปลานิลมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง (ยกเว้นเวลาสืบพันธุ์) มีความอดทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี  จากการศึกษาพบว่า ปลานิลทนต่อความเค็มได้ถึง 20 ส่วนในพันส่วน ทนต่อค่าความเป็นกรด – ด่าง (pH) ได้ดีในช่วง 6.5 – 8.3 และสามารถทนต่ออุณหภูมิได้ถึง 40  องศาเซลเซียส แต่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสพบว่าปลานิลปรับตัวและเจริญเติบโตได้ไม่ดีนักทั้งนี้เป็นเพราะถิ่นกำเนิดเดิมของปลาชนิดนี้อยู่ในเขตร้อน

 การสืบพันธุ์
         1. ลักษณะ ตามปกติแล้วรูปร่างภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสังเกตลักษณะเพศได้ก็โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้กับช่องทวาร โดยตัวผู้จะมีอวัยวะเพศในลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา แต่สำหรับตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูค่อนข้างใหญ่และกลม ขนาดปลาที่จะดูเพศได้ชัดเจนนั้นต้องเป็นปลาที่มีขนาดความยาวตั้งแต่10 เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับปลาที่มีขนาดโตเต็มที่นั้นเราจะสังเกตเพศได้อีกวิธีหนึ่งด้วยการดูสีที่ลำตัวซึ่งปลาตัวผู้ที่ใต้คางและลำตัวจะมีสีเข้มต่างกับตัวเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์สีจะยิ่งเข้มขึ้น
         2. การผสมพันธุ์และวางไข่ ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปีโดยใช้เวลา 2 – 3เดือน/ครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสมในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5 – 6 ครั้ง ขนาดอายุและช่วงการสืบพันธุ์ของปลาแต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพทางสรีรวิทยาของปลาเอง การวิวัฒนาการของรังไข่และถุงน้ำเชื่อของปลานิล พบว่าปลานิลจะมีไข่และน้ำเชื่อเมื่อมีความยาว 6.5 ซม.
              โดยปรกติปลานิลที่ยังโตไม่ได้ขนาดผสมพันธุ์หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเพื่อการวางไข่ ปลารวมกันอยู่เป็นฝูง แต่ภายหลังที่ปลามีขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้ปลาตัวผู้จะแยกออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณเชิงลาดหรือก้นบ่อที่มีระดับน้ำลึกระหว่าง  0.5 – 1 เมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง โดยที่ตัวของมันอยู่ในระดับที่ตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับการเคลื่อนไหวของลำตัวเพื่อเขี่ยดินตะกอนออกจากนั้นจะอมดินตะกอนงับเศษสิ่งของต่างๆออกไปทิ้งนอกรังทำเช่นนี้จนกว่าจะได้รังที่มีลักษณะค่อนข้างกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 – 35 ซม. ลึกประมาณ 3 – 6 ซม. ความกว้างและความลึกของรังไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อปลาหลังจากสร้างรังเรียบร้อยแล้วมันพยายามไล่ปลาตัวอื่นๆ ให้ออกไปนอกรัศมีของรังไข่ประมาณ2–3เมตรขณะเดียวกันพ่อปลาที่สร้างรังจะแผ่ครีบหางและอ้าปากกว้าง ในขณะที่ปลาตัวเมียว่ายน้ำอยู่ใกล้ๆรัง และเมื่อเลือกตัวเมียได้ถูกใจแล้วก็แสดงอาการจับคู่ โดยว่ายน้ำเคล้าคู่กันไปโดยใช้หางดีดและกัดกันเบาๆ การเคล้าเคลียดังกล่าวใช้เวลาไม่นานนัก ปลาตัวผู้ก็จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียเพื่อเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 10 – 15 ฟอง ปริมาณไข่รวมกันแต่ละครั้งมีปริมาณ 50 – 600 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา เมื่อปลาวางไข่แต่ละครั้งปลาตัวผู้จะว่ายไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไปทำเช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์แล้วเสร็จโดยใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง ปลาตัวเมียเก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอมไว้ในปากและว่ายออกจากรังส่วนปลาตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเค้าเคลียกับปลาตัวเมียอื่นต่อไป
            3. การฟักไข่ ไข่ปลาที่อมไว้โดยปลาตัวเมียจะวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ แม่ปลาจะขยับปากให้น้ำไหลเข้าออกในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ไข่ที่อมไว้ได้รับน้ำที่สะอาด ทั้งยังเป็นการป้องกันศัตรูที่จะมากินไข่ ระยะเวลาฟักไข่ที่ใช้แตกต่างกันตามอุณหภูมิของน้ำ สำหรับน้ำที่มีอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ไข่จะมีวิวัฒนาการเป็นลูกปลาวัยอ่อนภายใน 8 วัน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวถุงอาหารยังไม่ยุบ  และจะยุบเมื่อลูกปลามีอายุครบ 13 – 14 วัน นับจากวันที่แม่ปลาวางไข่ ในช่วงระยะเวลาที่ลูกปลาฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลูกปลานิลวัยอ่อนจะเกาะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม โดยว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหัวของแม่ปลา และเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อมีภัย หรือถูกรบกวนโดยปลานิลด้วยกันเอง เมื่อถุงอาหารยุบลงลูกปลานิลจะเริ่มกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำขนาดเล็กได้ และหลังจาก 3  สัปดาห์แล้วลูกปลาก็จะกระจายแตกฝูงไปหากินเลี้ยงตัวเองได้โดยลำพัง

 การเพาะพันธุ์ปลานิล
การเพาะพันธุ์ปลานิลให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพต้องได้รับการเอาใจใส่และมีการปฏิบัติด้านต่างๆ เช่น การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การตรวจสอบลูกปลาและการอนุบาลลูกปลาและการอนุบาลลูกปลาสำหรับการเพาะพันธุ์ปลานิลอาจทำได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังไนลอนตาถี่  ดังวิธีการต่อไปนี้
1.  การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
 1.1 บ่อดิน บ่อเพาะปลานิลควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีเนื้อที่ตั้งแต่ 50–1,600 ตารางเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูง 1 เมตร บ่อควรมีเชิงลาดตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันดินพังทลาย และมีชานบ่อกว้าง 1 – 2 เมตร ถ้าเป็นบ่อเก่าก็ควรวิดน้ำและสาดเลนขึ้นตกแต่งภายในบ่อให้ดินแน่น ใส่โล่ติ๊นกำจัดศัตรูของปลาในอัตราส่วนโล่ติ๊นแห้ง 1 กก./ ปริมาตรของน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร  โรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ 1 กก./พื้นที่บ่อ 10 ตรม. ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 300 กก./ไร่ ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ   2 – 3 วัน จึงเปิดหรือสูบน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ให้มีระดับสูงประมาณ 1 เมตร การใช้บ่อดินเพาะปลานิล จะมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นบ่อที่มีลักษณะคล้ายคลึงตามธรรมชาติ  และการผลิตลูกปลานิลจากบ่อดินจะได้ผลผลิตสูงและต่ำกว่าต้นทุนกว่าวิธีอื่น
            1.2 บ่อซีเมนต์ ก็สามารถใช้ผลิตลูกปลานิลได้ รูปร่างของบ่อจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือทรงกรมก็ได้ มีความลึกประมาณ 1 เมตร พื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป ทำความสะอาดบ่อและเติมน้ำที่กรองด้วยผ้าไนลอนหรือมุ้งลวดตาถี่ให้มีระดับความสูงประมาณ 80 ซม. ถ้าใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกชิเจนในน้ำจะทำให้การเพาะพันธุ์ปลานิลด้วยวิธีนี้ได้ผลมากขึ้น
  อนึ่ง การเพาะปลานิลในบ่อซีเมนต์ ถ้าจะให้ได้ลูกปลามากก็ต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนสูง
                1.3 กระชังไนลอนตาถี่  ขนาดของกระชังที่ใช้ประมาณ  5x8x2 เมตร วางกระชังในบ่อดินหรือในหนอง บึง   อ่างเก็บน้ำ ให้พื้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 1 เมตร ใช้หลักไม้ 4 หลัก ผูกตรงมุม 4 มุม ยึดปากและพื้นกระชังให้แน่นเพื่อให้กระชังขึงตึงการเพาะพันธุ์ปลานิลด้วยวิธีนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ผลิตลูกปลาในกรณีซึ่งเกษตรกรไม่มีพื้นที่

2. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
      การคัดเลือกพ่อแม่ปลานิล โดยการสังเกตลักษณะภายนอก ของปลาที่สมบูรณ์ ปราศจากเชื้อโรคและบาดแผล สำหรับพ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นสังเกตได้จากอวัยวะเพศ ถ้าเป็นปลาตัวเมียจะมีสีชมพูแดงเรื่อ ส่วนปลาตัวผู้ก็สังเกตได้จากสีของปลาตัวผู้และตัวควรมีขนาดไล่เลี่ยกันคือมีความยาวตั้งแต่ 15 – 25 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 150 – 200 กรัม

3. อัตราส่วนที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะพันธุ์
ปริมาณพ่อแม่ปลาที่จะนำไปปล่อยในบ่อเพาะ 1 ตัว/4 ตารางเมตร หรือไร่ละ 400 ตัว ควรปล่อยในอัตราส่วนพ่อปลา 2 ตัว/ปลา 3 ตัว จากการสังเกตพฤติกรรมในการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้  ปลาตัวผู้มีสรรถภาพที่จะผสมพันธุ์กับปลาตัวเมียอื่นๆ ได้อีก ดังนั้นการเพิ่มอัตราส่วนของปลาตัวเมียให้มากขึ้นก็จะทำให้ได้ลูกปลานิลเพิ่มขึ้น ส่วนการเพาะปลานิลในกระชังใช้อัตราส่วนปลา   6 ตัว / ตารางเมตร โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว / ตัวเมีย 3 – 5 ตัว การเพาะปลานิลแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน  จึงเปลี่ยนพ่อแม่ปลารุ่นใหม่ต่อไป

4. การให้อาหารและปุ๋ยในบ่อเพาะพันธุ์
  การเลี้ยงปลานิลมีความจำเป็นที่ต้องให้อาหารสมทบหรืออาหารผสม ได้แก่ ปลายข้าว สาหร่าย รำละเอียด ในอัตราส่วน        1 : 2 : 3  โดยให้อาหารดังกล่าวแก่พ่อแม่ปลานิลประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้เพื่อให้ปลานิลใช้เป็นพลังงานซึ่งต้องใช้พลังงานมากกว่าในช่วงการผสมพันธุ์ ส่วนปุ๋ยคอกแห้งก็ต้องใส่ในอัตราส่วนประมาณ 100 – 200 กก./ ไร่ / เดือน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารธรรมชาติในบ่อ ได้แก่ พืชน้ำขนาดเล็กๆไรน้ำและตัวอ่อน อันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกปลานิลวัยอ่อนภายหลังที่ถุงอาหารยุบตัวลง และจะต้องดำรงชีวิตอยู่ในบ่อเพาะดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนย้ายไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล  ถ้าในบ่อขาดอาหารธรรมชาติดังกล่าว  ผลผลิตลูกปลานิลจะได้น้อยเพราะขาดอาหารที่จำเป็นเบื้องต้น หลังจากถุงอาหารได้ยุบลงใหม่ๆ ก่อนที่ลูกปลานิลจะสามารถกินอาหารสมทบอื่นๆได้อาหารสมทบที่หาได้ง่ายคือ รำข้าว ซึ่งควรปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้ปลาป่น กากถั่ว และวิตามินเป็นส่วนผสม นอกจากนี้แหนเป็ดและสาหร่ายบางชนิดก็สามารถใช้เป็นอาหารเสริมแก่พ่อแม่ปลานิลได้เป็นอย่างดีในกรณีที่ใช้กระชังไนลอนตาถี่เพาะพันธุ์ปลานิลก็ควรให้อาหารสมทบแก่พ่อแม่ปลาอย่างเดียว

 การอนุบาลลูกปลานิล
                
                                             บ่อดิน

           1. บ่อดิน บ่อดินควรมีขนาดประมาณ 200 ตรม. ถ้าเป็นบ่อรูปสามเหลี่ยมผืนผ้าจะสะดวกในการจับย้ายลูกปลา  น้ำในบ่อควรมีระดับความลึกประมาณ 1 เมตร บ่ออนุบาลปลานิลควรเตรียมไว้ให้มีจำนวนมากพอเพื่อให้เลี้ยงลูกปลาขนาดเดียวกันที่ย้ายมาจากบ่อเพาะการเตรียมบ่อเพาะการเตรียมบ่ออนุบาลควรดำเนินการล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ บ่อขนาดดังกล่าวนี้จะใช้อนุบาลลูกปลานิลขนาด
 1 – 2 ซม. ได้ครั้งละประมาณ 50,000 ตัว
      การอนุบาลลูกปลานิล นอกจากใช้ปุ๋ยเพาะอาหารธรรมชาติ แล้วจำเป็นต้องให้อาหารสมทบ เช่น รำละเอียด กากถั่วอีกวันละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติจากสีของน้ำซึ่งมีสีเขียวอ่อน หรือจะใช้ถุงลากแฟรงก์ตอนตรวจดูปริมาณของไรน้ำก็ได้ ถ้ามีปริมาณน้อยก็ควรเติมปุ๋ยคอก ในช่วงเวลา 5 – 6 สัปดาห์  ลูกปลาจะโตมีขนาด 3 – 5 ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่
  
                 
                                                นาข้าว

2. นาข้าว ใช้เป็นบ่ออนุบาลโดยนาข้าวที่ได้เสริมคันดินให้แน่น เพื่อเก็บกักน้ำให้มีระดับความสูงประมาณ 50 ซม. โดยใช้ดินที่ขุดขึ้นรอบคันนาไปเสริม ซึ่งจะมีคูขนาดเล็กโดยรอบพร้อมบ่อขนาดเล็กประมาณ 2x5 เมตร ลึก 1 เมตร ให้ด้านคันนาที่ลาดเอียงต่ำสุดเป็นที่รวบรวมลูกปลาขณะจับ พื้นที่นาดังกล่าวก็จะเป็นนาอนุบาลลูกปลานิลได้หลังจากปักดำข้าว 10 วัน หรือภายหลังที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ส่วนการให้อาหารและปุ๋ย ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับบ่ออนุบาล การป้องกันศัตรูของปลานิลในนาข้าวควรใช้อวนไนลอนตาถี่สูงประมาณ 1 เมตร ทำเป็นรั้วล้อมรอบเพื่อป้องกันศัตรูของปลาจำพวก  กบ  งู  เป็นต้น

  
                             บ่อซีเมนต์
        
               3. บ่อซีเมนต์ บ่ออนุบาลปลานิลและบ่อเพาะปลานิลจะใช้บ่อเดียวกันก็ได้ ซึ่งสามารถใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้ตารางเมตรละประมาณ 300 ตัว เป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์ โดยใช้เครื่องเป่าลมช่วยและเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณครึ่งบ่อสัปดาห์ละครั้ง ให้อาหารสมทบวันละ 3 เวลา ลูกปลาที่เลี้ยงจะเติบโตขึ้นมีขนาด 3 – 5 ซม.

  
                        กระชังไนลอนตาถี่
            
               4. กระชังไนลอนตาถี่ ขนาด 3x3x2 เมตร สามารถใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้ครั้งละจำนวน 3,000 – 5,000 ตัว โดยให้ไข่แดงต้มบดให้ละเอียด วันละ 3 – 4 ครั้ง หลังจากถุงอาหารของลูกปลายุบตัวลงใหม่ๆ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้รำละเอียดอัตรา 1 ส่วนติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์  ลูกปลาจะโตขึ้นมีขนาด 3 – 5 ซม. ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดใหญ่หรือจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลา
      การอนุบาลลูกปลานิลอาจจะใช้บ่อเพาะพันธุ์อนุบาลปลานิลเลยก็ได้เพื่อเป็นการประหยัดโดยช้อนเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงไว้ต่างหาก



 การเลี้ยง

ปลานิลเป็นปลาที่ประชาชนนิยมเลี้ยงกัน มากชนิดหนึ่งทั้งในรูปแบบการค้า และเลี้ยงไวบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้แทบทุกชนิด เนื้อมีรสชาติดีตลาดมีความต้องการสูง การเลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อผลิตจำหน่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาช่วยลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุดในเรื่องอาหารปลาที่จะนำใช้เลี้ยง กล่าวคือต้องเป็นอาหารที่หาได้ง่าย ราคาต่ำ นอกจากนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้มีความจำเป็นในด้านการจัดการฟอร์มที่เหมาะสม เพราะปลานิลเป็นปลาที่ออกลูกดกถ้าปลาในบ่อมีความหนาแน่นมากก็จะไม่เจริญเติบโต  ดังนั้นการเลี้ยงที่จะให้ได้ผลดีเป็นที่พอใจก็จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการประเภทของการเลี้ยง และขั้นตอนต่อไปนี้


1.  บ่อดิน

             บ่อที่เลี้ยงปลานิลควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อสะดวกในการจับ เนื้อที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป  อาหารที่ให้ใช้เศษอาหารจากโรงครัว ปุ๋ยคอก อาหารสมทบอื่นๆที่หาได้ง่าย เช่น แหนเป็ด สาหร่าย เศษพืชผักต่างๆ ปริมาณปลาที่ผลิตได้ก็เพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัว
            ส่วนการเลี้ยงปลานิลเพื่อการค้าควรใช้บ่อขนาดใหญ่ตั้งแต่ 0.5 – 3.0 ไร่ ควรจะมีหลายบ่อเพื่อทยอยจับปลาเป็นรายวันรายสัปดาห์และรายเดือน ให้ได้เงินสดมาใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับค่าอาหารปลา  เงินเดือนคนงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

      ปัจจุบันการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินแบ่งได้ 4 ประเภท ตามลักษณะของการเลี้ยง ดังนี้

           1. การเลี้ยงปลานิลแบบเดี่ยว โดยปล่อยลูกปลาขนาดเท่ากันลงเลี้ยงพร้อมกันใช้เวลาเลี้ยง   6 – 12  เดือน แล้ววิดจับหมดทั้งบ่อ
 2. การเลี้ยงปลานิลหลายรุ่นในบ่อเดียวกัน  โดยใช้อวนจับปลาใหญ่ คัดเฉพาะขนาดปลาที่ตลาดต้องการจำหน่ายและปล่อยให้ปลาขนาดเล็กเจริญเติบโตต่อไป
 3.การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาจีน ฯลฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากอาหาร  หรือเลี้ยงร่วมกับปลากินเนื้อเพื่อกำจัดลูกปลาที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกันจะได้ปลากินเนื้อเป็นผลพลอยได้ เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลากราย และการเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาช่อน เป็นต้น
 4.การเลี้ยงปลานิลแบบแยกเพศโดยวิธีแยกเพศปลา หรือเปลี่ยนเป็นเพศเดียวกันเพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์ในบ่อส่วนมากนิยมเลี้ยงเฉพาะปลาเพศผู้ซึ่งมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าเพศเมียโดยสามารถจัดเตรียมลูกปลาเพศผู้ได้ 4 วิธีดังนี้
     วิธีที่ 1 การคัดเลือกโดยดูลักษณะเพศภายนอกนำปลาที่เลี้ยงทั้งหมดมาแยกเพศโดยตรงซึ่งจำเป็นต้องเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยดูจากลักษณะสีใต้คางของปลา สำหรับปลาเพศผู้จะมีสีแดงหรือสีชมพู ส่วนปลาเพศเมียใต้คางจะมีสีเหลือง หรือจะสังเกตบริเวณช่องขับถ่ายเพศเมียจะมี 3 ช่อง เพศผู้มี 2 ช่อง ขนาดปลาที่สามารถเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนควรมีขนาดความยาวตั้งแต่ 12 ซม. และมีน้ำหนัก 50 กรัม ขึ้นไป

      วิธีที่ 2 การผสมข้ามสายพันธุ์ การผสมข้ามพันธุ์ทั้งสกุลและชนิด ในปลาบางชนิดทำให้เกิดลูกปลาเพศเดียวกันได้ เช่น การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง O.niloticus กับ O.aureus จะได้ลูกพันธุ์ปลานิลผู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอิสราเอล

      วิธีที่ 3 การใช้ฮอร์โมนแปลงเพศปลา สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การฝังแคปซูล การแช่ปลาในสายละลายฮอร์โมนและการผสมฮอร์โมนในอาหารให้ลูกปลากิน โดยใช้ฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

      วิธีที่ 4ปลานิลซุเปอร์เมล เป็นการผลิตลูกปลานิลเพศผู้ทั้งครอก ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำได้ดำเนินการขยายพันธุ์พร้อมจำหน่ายให้แก่เกษตรกรหลายแห่ง อาทิ ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพิษณุโลก สุราษฏร์ธานีและขอนแก่น

      การขุดบ่อเลี้ยงปลาในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องจักรกล  เช่น รถแทรกเตอร์ รถตักขุดดิน เพราะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าใช้แรงงานจากคนขุดเป็นอันมากนอกจากนี้ยังปฏิบัติงานได้รวดเร็วตลอดจนสร้างคันดิน ก็สามารถอัดให้แน่นป้องกันการรั่วซึมได้เป็นอย่างดี ความลึกของบ่อประมาณ 1 เมตร มีเชิงลาดประมาณ 45 องศา เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน แลมีชานบ่อกว้างประมาณ   1– 2 เมตร ตามขนาดความกว้าวยาวของบ่อที่เหมาะสม ถ้าบ่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น คู คลอง แม่น้ำ หรือในเขตชลประทาน ควรสร้างท่อระบายน้ำทิ้งที่พื้นบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยจัดระบบน้ำเข้าออกคนละทาง เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ แต่ถ้าบ่อนั้นไม่สามารถจะทำท่อชักน้ำและระบายน้ำได้จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ



 ขั้นตอนการเลี้ยงปลานิลในบ่อ

             1. กำจัดวัชพืชและพรรณไม้ต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวา ให้หมดโดยนำมากอองสุมไว้ เมื่อแห้งแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในขณะที่ปล่อยปลาลงเลี้ยงถ้าในบ่อเก่ามีเลนมากจำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุด หรือ ใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผัก ผลไม้  บริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่นด้วย

             กำจัดศัตรู ศัตรูของปลานิล ได้แก่ ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์พวก กบ งู เขียด เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยปลานิลลงเลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูดังกล่าวเสียก่อน โดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด

     การกำจัดศัตรู  ของปลาอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร โดยทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียดนำลงแช่น้ำประมาณ 1 – 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังสาดโล่ติ๊น ประมาณ 30 นาที ใช้สวิงจับขึ้นมาบริโภคได้ปลาที่เหลือตายพื้นบ่อจะลอยในวันรุ่งขึ้น ส่วนศัตรูจำพวก กบ เขียด งู จะหนีออกจากบ่อไป และก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

2. การใส่ปุ๋ย โดยปรกติแล้วอุปนิสัย ในการกินอาหารของปลานิล จะกินอาหารจำพวกแฟรงก์ตอนพืชและสัตว์เศษวัสดุเน่าเปื่อยตามพื้นบ่อ แหน สาหร่าย ฯลฯ ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงปลาควรให้อาหารธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอจึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปละลายเป็นธาตุอาหารซึ่งพืชน้ำขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหารและเจริญเติบโตโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงซึ่งเป็นโซ่อาหาร อันดับต่อไปคือ แฟรงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ ไรน้ำ และตัวอ่อนของแมลง  ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่ มูลวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ นอกจากปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์แล้วก็อาจใช้ปุ๋ยหมักและฟางข้าวปุ๋ยพืชสดต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน
             อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอก ในระยะแรกควรใส่ประมาณ 250 – 300 กก./ ไร่ / เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตสีของน้ำในบ่อ และในกรณีที่หาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็หาปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15  :15 : 15 ใส่ประมาณ 5 กก. / ไร่ / เดือน ก็ได้ วิธีใส่ปุ๋ยถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากให้แห้งเสียก่อน เพราะปุ๋ยสดจะทำให้มีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก เป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อโดยละลายน้ำทั่วๆก่อนส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้นควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2 –3  แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ยเพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

3. อัตราปล่อยปลา อัตราการปล่อยปลาที่เลี้ยงในบ่อดินขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำ อาหาร และการจัดการเป็นสำคัญ โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาขนาด 3 – 5 เซนติเมตร ลงเลี้ยงในอัตรา 1 – 3 ตัว / ตารางเมตร หรือ 2,000 – 5,000 ตัว / ไร่
4. การให้อาหาร การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูกแต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลานิลที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้นหรือถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว มีโปรตีนประมาณ 20 % เศษอาหารที่เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย ผักตบชวาสับให้ละเอียด เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกชนิดที่มีราคมถูกและหาได้ง่าย ส่วนปริมาณที่ให้ก็ไม่ควรเกิน 4 % ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือจะใช้วิธีสังเกตจากปลาที่ขึ้นมากินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำ คือ ถ้ายังมีปลานิลออกมาออกันมากเพื่อรอกินอาหารก็เพิ่มจำนวนอาหารมากขึ้นตามลำดุบทุก 1 – 2 สัปดาห์
ในการให้อาหารสมทบมีข้อพึงระวังคือ  ถ้าปลากินไม่หมดอาหารจมพื้นบ่อหรือละลายน้ำ
มากก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นหลายประการ เช่น เสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง และ/หรือต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสูบถ่ายเปลี่ยนน้ำบ่อยๆเป็นต้น



 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบกึ่งพัฒนา

              1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตรใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ และปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ ทิ้งไว้เป็นเวลาประมาณ 7 วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อซึ่งเป็นอาหารปลา
               2. ปล่อยลูกปลา ขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จำนวน 5,000 ตัว / ไร่ ในระหว่างการเลี้ยงมีการเติมปุ๋ยคอก 200 กก./ ไร่ / เดือน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อ ให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น  รำข้าว กากถั่วเหลือง  เป็นต้น  ควรมีการเติมน้ำในบ่อปลาด้วยอย่างสม่ำเสมอ
               3. เมื่อเลี้ยงครบ 5 เดือน จะได้ปลาขนาด 300 กรัม เริ่มให้ปลากินอาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % ปริมาณ 3% ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา 1 เดือน
 4. ได้ปลานิลขนาด 2 – 3 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 1.5 – 2 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง)

 การเลี้ยงปลานิลเพศผู้ในบ่อดินแบบพัฒนา

                1. เตรียมบ่อโดยสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับความสูงประมาณ 1 เมตร ใส่ปูนขาว 200 กก./ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน
 2. นำลูกปลานิลขนาด 45 กรัม มาปล่อยในบ่อที่เตรียมน้ำไว้ในอัตรา 8,000 ตัว / ไร่
 3. ให้อาหารเม็ดระดับโปรตีน 25 % วันละ 3 ครั้ง ปริมาณ 5 % ของน้ำหนักตัว และมีการตรวจสอบอัตรารอดและปรับปริมาณอาหารทุกเดือน เลี้ยงเป็นเวลา 4 เดือนในระหว่างการเลี้ยงมีการเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มอากาศตลอดเวลา
4. จะได้ปลานิลขนาด 1– 2 ตัว / กิโลกรัม ผลผลิต 3 ตัน / ไร่ (ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ  กรมประมง)

 การเลี้ยงปลาร่วมกับสัตว์บก

 วัตถุประสงค์เพื่อใช้ข้อมูลสัตว์และปุ๋ยในบ่อเป็นอาหารซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน ระหว่างการเลี้ยงปลากับการเลี้ยงสัตว์อื่นๆ โดยเศษอาหารที่เหลือจากการย่อย หรือตกหล่นจากที่ให้อาหารของปลาโดยตรง ในขณะที่ข้อมูลของสัตว์จะเป็นปุ๋ยและให้แร่ธาตุสารอาหารแก่พืชน้ำซึ่งเป็นอาหารของปลา ซึ่งจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและแก้ปัญหามลภาวะได้

 วิธีการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับปลาอาจใช้วิธีการสร้างคอกสัตว์บนบ่อปลาเพื่อไม่ให้มูลไหลลงบ่อปลาโดยตรง หรือสร้างคอกสัตว์ไว้บนคันบ่อปลาแล้วนำมูลสัตว์มาใส่ลงบ่อในอัตราที่เหมาะสม ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงสุกร จำนวน 10 ตัว หรือ เป็ด ไก่ไข่ จำนวน 200 ตัว ต่อบ่อปลาพื้นที่น้ำ 1 ไร่

          1.  กระชังหรือคอก
      การเลี้ยงปลานิล โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีคุณภาพน้ำดี สำหรับกระชังส่วนใหญ่ที่ใช้กันโดยทั่วไปจะมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถจะนำมาใช้ติดตั้ง 2 รูปแบบคือ

    1.1 กระชังหรือคอกแบบผูกติดกับที่ สร้างโดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักลงในแหล่งน้ำ ควรมีไม้ไผ่ผูกเป็นแนวนอนหรือเสมอผิวน้ำที่ระดับประมาณ 1 – 2 เมตร เพื่อยึดลำไม้ไผ่ที่ปักลงในดินให้แน่น กระชังตอนบนและล่างควรร้อยเชือกคร่าวเพื่อใช้ยืดตัวกระชังให้ขึงตึงโดยเฉพาะตรงมุม 4 มุม ของกระชังทั้งด้านล่างและด้านบนการวางกระชังควรวางให้เป็นกลุ่มโดยเว้นระยะห่างกันให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก  อวนที่ใช้ทำกระชัง เป็นอวนไนลอนช่องตาแตกต่างกันตาม ขนาดของปลานิลที่เลี้ยง คือขนาดช่องตา 1/4 นิ้ว ขนาด1/2 นิ้ว และอวนตาที่ถี่สำหรับเพาะและเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน
            1.2 กระชังแบบลอย ลักษณะของกระชังก็เหมือนกับกระชังโดยทั่วไปแต่ไม่ใช้เสาปักยึดอยู่กับที่ ส่วนบนของกระชังผูกติดทุ่นลอยซึ่งใช้ไม้ไผ่หรือแท่งโฟมมุมทั้ง4ด้านล่างใช้แท่งปูนซีเมนต์หรือก้อนหินผูกกับเชือกคร่าวถ่วงให้กระชังจมถ้าเลี้ยงปลาหลาย กระชังก็ใช้เชือกผูกโยงติดกันไว้เป็นกลุ่ม
       อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี  สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่นคือ        40 – 100 ตัว / ตรม. โดยให้อาหารสมทบที่เหมาะสม เช่น ปลายข้าว หรือ มันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆโดยมีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 20 %
      สำหรับวิธีทำอาหารผสมดังกล่าว คือ ต้มเฉพาะปลายข้าว หรือมันสำปะหลังให้สุก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับรำปลาป่นและพืชผักต่างๆ แล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อมิให้ละลายน้ำได้ง่ายก่อนที่ปลาจะกิน

 การเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อย
                ในปัจจุบันพื้นที่และสภาพแหล่งน้ำจืดที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงปลามีปริมาณลดน้อยลง  การใช้แหล่งน้ำกร่อยและทะเล เพื่อการเพาะเลี้ยงกำลังเป็นที่น่าสนใจ ปลาในสกุลปลานิลหลายชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย  ซึ่งการคัดเลือกปลานิลชนิดใดเพื่อเลี้ยงในน้ำความเค็มต่างๆ จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม
             ข้อดีของการเลี้ยงปลานิลในน้ำกร่อยคือจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นน้อยและมีปริมาณแบคทีเรียน้อยกว่าการเลี้ยงในน้ำจืด  แต่สำหรับปัญหาใหญ่ของการเลี้ยงปลาในน้ำที่มีระดับความเค็มสูง  คือโรคปลา  ความเครียดและการทำร้ายร่างกายกันเอง

            ชนิด
ความเค็มที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

O.mossambicus
O.niloticus
O.aureus
O.spilurus
Red tilapia


17.5    ppt
5-10   ppt
10-15 ppt
25-30  ppt
25-30  ppt

 การเลี้ยงปลานิลชนิดต่างๆต้องพิจารณา ถึงความเหมาะสมของแต่ละชนิดให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่จะเลี้ยง เช่น  O.niloticus  และ  O.aureus  เจริญเติบโตและเหมาะสมที่จะเลี้ยงในน้ำจืดและในน้ำกร่อยปลานิลแดงซึ่งเป็นลูกผสมของปลาหมอเทศ  O.mossambicus  กับปลานิล  O.niloticus  และO.spilurusเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีระดับความเค็มสูงส่วนในประเทศไทยเลี้ยงปลานิล  O.niloticus  โดยปล่อยเลี้ยงในอัตรา 5 ตัว/ตรม.  ได้ผลผลิต 11,000 กก./10,000 ตรม.  ในระยะเวลาเลี้ยง 5 เดือน  ปลาจะเจริญเติบโตเฉลี่ยวันละ 2.2 กรัม แต่ทั้งนี้ระดับความเค็มต้องต่ำกว่า 30 ppt
             สรุปได้ว่าการจะพิจารณาเลี้ยงปลานิลในรูปแบบใดตั้งแต่ระบบพื้นฐานคือ  ไม่พัฒนา  ไปจนถึงระบบการเลี้ยงพัฒนาขั้นสูงย่อมขึ้นอยู่กับระบบชีววิทยา ระบบสังคมเศรษฐกิจ  ปัจจัยของสภาพแวดล้อมและระบบตลาดจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

 การเจริญเติบโตและผลผลิต
               ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจะมีขนาดเฉลี่ย 500 กรัม  ในเวลา 1 ปี  ผลผลิตไม่น้อยกว่า 500 กก./ไร่/ปี  ในกรณีเลี้ยงในกระชังที่คุณภาพน้ำดี  มีอาหารสมทบอย่างสมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร

การเจริญเติบโตของปลานิล

อายุปลา(เดือน)
ความยาว(ซม.)
น้ำหนัก(กรัม)
3
10
30
6
20
200
9
25
350
12
30
500


 การจับจำหน่ายและการตลาด
       ระยะเวลาการจับจำหน่ายไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับขนาดของปลานิลและความต้องการของตลาด  โดยทั่วไปปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อรุ่นเดียวกันก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี  จึงจะจับจำหน่าย  เพราะปลานิลที่ได้จะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม  ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ  ส่วนปลานิลที่ปล่อยลงเลี้ยงหลายรุ่นในบ่อเดียวระยะเวลาการจับจำหน่ายก็ขึ้นอยู่กับราคาปลาและความต้องการของผู้ซื้อ  การจับปลานิลทำได้ 2 วิธี  ดังนี้

       1. จับปลาแบบไม่วิดบ่อแห้ง จะใช้อวนตาห่างจับปลาเพราะจะได้ปลาที่มีขนาดใหญ่ตามที่ต้องการ การตีอวนจับปลากระทำโดยผู้จับยืนเรียงแถวหน้ากระดาน และเว้นระยะห่างกัน ประมาณ4.50 เมตร  ซึ่งอยู่ทางด้านหนึ่งของบ่อแล้วลากอวนไปยังอีกด้านหนึ่งของบ่อตามความยาวแล้วยกอวนขึ้น  หลังจากนั้นก็นำสวิงตักปลาใส่เข่งเพื่อชั่งขาย  ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนได้ปริมาณตามที่ต้องการ  ส่วนปลาเล็กก็คงปล่อยเลี้ยงในบ่อต่อไป
   การลากอวนแต่ละครั้งจะมีปลาเบญจพรรณเป็นผลพลอยได้เสมอ  เช่น  ปลาดุก  ปลาหลด  ปลาตะเพียน  ปลาช่อน  เป็นต้น
      การคัดขนาดของปลากระทำได้ 2วิธีคือ  ถ้านำไปจำหน่ายที่องค์การสะพานปลา  องค์การสะพานปลาก็จะจัดการคัดขนาดให้แต้ถ้าเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจำหน่ายที่ปากบ่อก็จำเป็นต้องทำการคัดขนาดปลากันเอง
          2. จับปลาแบบวิดบ่อแห้ง  ก่อนทำการจับปลาจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อย  แล้วตีอวนจับปลาเช่นเดียวกับวิธีแรกจนกระทั่งปลาเหลือจำนวนน้อย  จึงสูบน้ำออกจากบ่ออีกครั้งหนึ่งและขณะเดียวกันก็ตีน้ำไล่ปลาให้ไปรวมกันอยู่ในร่องบ่อ  ร่องบ่อนี้จะเป็นส่วนที่ลึกอยู่ด้านหนึ่งของบ่อเมื่อน้ำในบ่อแห้ง  ปลาจะมารวมกันอยู่ที่ร่องบ่อ  และเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาก็จับขึ้นจำหน่ายต่อไป  การจับปลาลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะทำทุกปีในฤดูแล้งเพื่อตากบ่อให้แห้งและเริ่มต้นเลี้ยงปลาในฤดูการผลิตต่อไป
              ตลาดของปลานิลส่วนใหญ่ยังใช้บริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ตามมีโรงงานห้องเย็นเริ่มรับซื้อปลานิล  ปลานิลแดง  เพื่อแปรรูปส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  เช่น  ประเทศสหรัฐอเมริกา  อิตาลี  ฝรั่งเศส  ออสเตรเลีย  เป็นต้น  โดยโรงงานจะรับซื้อปลาขนาด 400 กรัมขึ้นไป  เพื่อแช่แข็งส่งออกทั้งตัวและรับซื้อปลาขนาด 100-400 กรัม  เพื่อแล่เฉพาะเนื้อแช่แข็ง  หรือนำไปแปรรูปเพื่อส่งออกต่อไป         

 ต้นทุนและผลตอบแทน                  
ตาราง  แสดงต้นทุนการผลิตปลานิลเฉลี่ยต่อไร่ต่อรุ่น


                                    หมายเหตุ  :  ตัวเลขประเมิน (ปี 2538)
                                    ที่มา  :   กลุ่มวิจัยสินค้าเกษตรกรรมที่ 2  สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร


วิถีการตลาดปลานิล




 ลักษณะและการจำหน่ายผลผลิตปลานิล
              เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล จะมีการจำหน่ายผลผลิตในหลายลักษณะ  ได้แก่  ขายปลีกแก่พ่อค้าต่างๆ  ที่เข้ามารับซื้อจากฟาร์มซึ่งมีทั้งพ่อค้าขายปลีกในตลาดหรือพ่อค้ารวบรวมในพื้นที่และจากต่างท้องถิ่นหรือส่งให้องค์การสะพานปลาขายส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะขายแก่พ่อค้าผู้รวบรวม  66-71%  และนำไปขายแก่พ่อค้าขายส่งที่องค์การสะพานปลา 21%  และขายในรูปลักษณะอื่นๆ 3-6 %


 ราคาและความเคลื่อนไหว
             ราคาและผลผลิตปลานิลแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกัน  ตลาดในชนบทมีความต้องการปลาขนาดเล็กเพื่อการบริโภค  ซึ่งตรงกันข้ามกับตลาดในเมืองมีความต้องการปลาขนาดใหญ่ ราคาของปลาจึงแตกต่างกัน
           ความเคลื่อนไหวของราคาที่เกษตรกรขายได้และราคาขายส่งเป็นไป  ในลักษณะทิศทางเดียวกันและขึ้นอยู่กับฤดูกาล  ในการขายปลาโดยปกติราคาขายจะสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน  สำหรับราคาจำหน่ายที่ฟาร์มอยู่ที่ขนาดของปลาอยู่ระหว่าง 12-15 บาท/กก.  สำหรับราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 20-25 บาท/กก.  ผลต่างระหว่างราคาฟาร์มและราคาขายปลีกเท่ากับ 8-10 บาท/กก.
            ด้านราคาส่งออกนั้นขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลกเป็นสำคัญ  เมื่อประเทศคู่แข่ง  เช่น  ไต้หวัน  อินโดนีเซีย  สามารถผลิตได้มากก็จะทำให้ประเทศไทยส่งขายได้น้อย  เพราะเนื่องจากผลผลิตปลานิลแช่แข็งทั้งในรูปปลาทั้งตัวและปลาทั้งตัวควักไส้มีราคาสู้กับประเทศคู่แข่งไม่ได้
             อย่างไรก็ตาม  ราคาปลานิลแล่เฉพาะเนื้อมีราคาอยู่ระหว่าง 75-80 บาท/กก.  และสำหรับปลานิลแช่แข็งทั้งตัวอยู่ระหว่าง 30-35 บาท/กก.


 ปัญหาการตลาดปลานิลของเกษตรกร
           ตลาดปลานิลพ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนดราคาและปริมาณการซื้อ  โดยที่พ่อค้าคนกลางจะเข้าไปรับซื้อถึงฟาร์ม  เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถนำผลผลิตออกมาขายที่ตลาด  เนื่องจากขาดอุปกรณ์ในการจับและลำเลียง  อีกทั้งยังไม่มีความรู้ในด้านการตลาด  ปัญหาที่สำคัญซึ่งเป็นตัวกำหนดราคาที่เกษตรกรพบอยู่เสมอ  คือ
            1.ขนาดพันธุ์ปลา ปลานิลเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้สามารถออกลูกตลอดทั้งปีเป็นปลานิลเพศเมียส่วนใหญ่และลูกปลาจึงมีขนาดเล็กและไม่ได้น้ำหนักตามที่ผู้ซื้อต้องการ
          2. กลิ่นโคลนของเนื้อปลา  เนื่องจากปลานิลที่เลี้ยงยังใช้เศษอาหาร   วัสดุที่เหลือจากการ
บริโภค  หรือเลี้ยงปลาผสมผสาน  ทำให้ปลาแล่เนื้อมีกลิ่นโคลน
         3. ปลาที่เกษตรกรจับ ส่วนมากวิดบ่อและปลาตายจำนวนมาก การจับส่งลำเลียงไม่ถูกวิธี  เมื่อนำไปบรรจุจะมีแบคทีเรียสูง  ทำให้เนื้อปลามีสีเขียว
          4. เกษตรกรขาดแคลนเงินทุน  ทำให้เมื่อปลามีขนาดโตพอจำหน่ายได้ เกษตรกรจะรีบขายทันที  ทำให้ราคาต่ำ

 การกำจัดกลิ่นสาบ
             กลิ่นที่พบมากในปลาเลี้ยง  โดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน  และเป็นปัญหามากต่อการส่งออก  ได้แก่ กลิ่นสาบหรือกลิ่นโคลนแต่เดิมเข้าใจกันว่าอาหารที่ขึ้นราอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลามีกลิ่นดังกล่าวแต่ปัจจุบันเป็นที่ทราบค่อนข้างแน่นอนแล้วว่ากลิ่นโคลนในตัวปลาเกิดขึ้นเนื่องจาก  ปลาดูดซับสารละลายชนิดหนึ่งในน้ำ  เรียกว่า  จีออสมิน  (Geosmin)  เข้าไปทางเหงือก  หรือกินตัวการที่ผลิตสารนี้เข้าไปโดยตรงแล้วสะสมสารนี้ในเนื้อเยื่อที่สะสมไขมันสันนิษฐานกันว่าตัวการที่ผลิตสารนี้ได้แก่  สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวบางชนิด  เชื้อราและจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง  ตัวการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นในบ่อที่มีการให้อาหารมากดังนั้นหากจะกล่าวว่าอาหารเป็นต้นเหตุของกลิ่นโคลนก็เป็นได้ เพราะปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงไม่ใช่คุณภาพของอาหารโดยตรงที่เป็นต้นเหตุ
            กลิ่นโคลนไม่ใช่เป็นกลิ่นถาวรที่อยู่กับตัวปลาตลอดไปกลิ่นนี้จะหายไปเมื่อนำปลาไปใส่ไว้ในน้ำสะอาดและงดให้อาหารเป็นเวลา 7 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ  24  องศาเซลเซียส  ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้กลิ่นโคลนหมดไปจากตัวปลาเร็วขึ้น  การแช่ปลาในน้ำสะอาดเป็นเวลา 7 วัน จะทำให้ปลาสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 5-12 เปอร์เซ็นต์
             ปลานิลไม่ต้องการกรดไขมัน w-6  ซึ่งมีมากในน้ำมันปลาจึงไม่ควรใส่น้ำมันปลาในอาหารปลานิล เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์ในด้านให้กรดไขมันที่จำเป็นแล้วยังอาจทำให้ปลามีกลิ่นคาวรุนแรงแม้ว่าจะเก็บปลาไว้เป็นปีๆ  ก็ตาม
             ปลานิลที่ขุนไว้จนอ้วนจะมีเนื้อยุ่ยเหลวเมื่อทำเป็นเนื้อแล่เนื่องจากไขมันอาหารไปสะสมตามเนื้อมากเกินไป ตามปกติปลาเลี้ยงจะมีไขมันมากกว่าปลาธรรมชาติอยู่แล้วเพราะปลาเลี้ยงได้รับอาหารเต็มที่เพื่อเร่งให้เจริญเติบโตเร็ว อาหารที่มีไขมันหรือสัดส่วนของพลังงานต่อโปรตีนสูง  จึงทำให้คุณภาพของเนื้อปลาต่ำลง  ในทางตรงกันข้ามหากเนื้อปลามีไขมันน้อยเกินไปซึ่งมีสาเหตุมาจากปลาได้รับอาหารไม่เพียงพอเนื้อปลาจะแห้งและแข็งเกินไปไม่ชวนรับประทาน

 ตลาดภายในประเทศ
              ปัจจุบันผู้บิโภคภายในประเทศ  เริ่มสนใจที่จะบริโภคปลานิลเพิ่มสูงขึ้น  และกรมประมงมีโครงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลานิล  ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคภายในประเทศไทยรู้ถึงคุณค่าของอาหารโปรตีนจากปลานิลมากขึ้น  โอกาสที่การจำหน่ายภายในประเทศจึงน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามไปด้วย
              ผลผลิตปลานิลส่วนใหญ่จะบริโภคภายในประเทศ  เป็นรูปสด 89%  ในการแปรรูปทำเค็ม  ตากแห้ง 5%  ย่าง 3%  และที่เหลือในรูปอื่นๆ
                สำหรับปลานิลทั้งตัว  และในรูปแช่แข็งก็มีจำหน่ายในประเทศโดยผู้ผลิตคือโรงงานและจำหน่ายให้ภัตตาคารหรือร้านอาหาร

 ตลาดต่างประเทศ
                เนื่องจากภาวการณ์ติดต่อและการคมนาคมในปัจจุบันทำให้สะดวก  นอกจากนี้ผลต่างของราคาจำหน่ายปลานิลของต่างประเทศยังมีความต้องการปลานิลเพื่อบริโภคสูง
              ตลาดต่างประเทศมีทั้งตลาดในยุโรปตะวันออกกลางสหรัฐอเมริกาออสเตรเลียและเอเชีย  โดยปลานิลแช่แข็งที่ส่งออกมีปริมาณไม่มากนัก ในปี2533ประเทศไทยส่งออกปลานิลทั้งในรูปปลานิลแช่แข็งและในรูปแล่เนื้อประมาณ111,174.64กก.เพิ่มขึ้น 179,231.72 กก.  ในปี  2534  หรือคิดเป็นร้อยละ 61.22
               ประเทศคู่แข่งปลานิลแช่แข็งที่สำคัญคือ  ไต้หวัน  บังกลาเทศ  ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตปลาที่ได้ขนาด  เมื่อนำมาแล่เนื้อจะมีขนาด 40-60 กรัมและ60-80  กรัมต่อชิ้น  นั้นคือ  ขนาดปลาต้องมีน้ำหนัก 400 กรัม/ตัวขึ้นไปซึ่งการผลิตปลานิลให้มีลักษณะตามต้องการของตลาดต่างประเทศ  จึงต้องพิจารณาถึงต้นทุนและกรรมวิธีในการผลิตอย่างรอบคอบ

 แนวโน้มการเลี้ยงปลานิลในอนาคต
           ปลานิลเป็นปลาที่ตลาดผู้บริโภคยังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากจำนวนประชากรมีอัตราการเจริญเติบโตสูงจึงส่งผลต่อแนวโน้มการเลี้ยงปลาชนิดนี้ให้มีลู่ทางแจ่มใสต่อไปโดยไม่ต้องกังวลปัญหาด้านการตลาดเนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาดีไม่มีอุปสรรคเรื่องโรคระบาดเป็นที่นิยมบริโภคและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาคเพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันปลานิลสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศในลักษณะของปลาแล่เนื้อ ตลาดที่สำคัญๆ
 อาทิ  ประเทศญี่ปุ่น  สหรัฐอเมริกา  อิตาลี  เป็นต้น ดังนั้นการเลี้ยงปลานิลให้มีคุณภาพ  ปราศจากกลิ่นโคลนย่อมจะส่งผลดีต่อการบริโภค  การจำหน่ายและการให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด


บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร