รายการอัพเดทล่าสุด

การปลูกแคนตาลูป



แคนตาลูป
สถานการณ์ทั่วไปแคนตาลูปหรือแตงเทศเป็นพืชตระกูลแตง ประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากกำลังเป็นที่นิยมในตลาดทั่วไปและตลาดซุปเปอร์มาเก็ต มีเนื้อหนา กลิ่นหอม และความหวานสูง สามารถเก็บรักษาผลสุกไว้ได้นาน ขนส่งได้ในระยะทางไกลได้โดยไม่เสียหายมากนัก มีราคาค่อนข้างแพง ทั้งนี้เพราะพื้นที่ปลูกภายในประเทศยังมีปลูกอยู่น้อย เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกอยู่เป็นพันธุ์ลูกผสมของต่างประเทศที่มีราคาแพง และหาซื้อได้ยาก
ลักษณะทั่วไปของพืช

แคนตาลูปมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอัฟริกา เป็นพืชที่ต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี จึงจะได้คุณภาพของผลตามที่ตลาดต้องการ และได้ราคาดี สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และช่วงหลังฤดูการทำนา ชนิดที่ปลูกกันมากและเป็นที่รู้จักกันดี แบ่งออกตามลักษณะการมีร่างแหหรือขึ้นลายที่ผิวของผลได้เป็น 2 ชนิด คือชนิดที่มีร่างแหที่ผิวของผล ( netted type ) และชนิดที่มีผิวเรียบ ( non – netted type )

พันธุ์ที่ส่งเสริม
พันธุ์เนื้อสีเขียวหรือขาว ได้แก่ พันธุ์ไข่มุกลาย, ฮันนี่ดิว ( Honey dew ), เจดดิว ( Jaed dew )
พันธุ์เนื้อสีส้ม ได้แก่ ซันเลดี้ , ทอปมารค์ , นิวเซนจูรี

พื้นที่ปลูก
พื้นที่ปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบุรี ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์
การปลูกการเพาะกล้า เมื่อกล้ามีอายุ 12 – 15 วัน สามารถย้ายปลูกลงแปลง ซึ่งสามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ
1. การปลูกแบบขึ้นค้าง สามารถควบคุมคุณภาพของผลได้ดีและสม่ำเสมอ ขนาดแปลงหน้ากว้าง 80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 20 เซนติเมตร มีร่องทางเดินระหว่างแปลงประมาณ 60 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำบริเวณแปลงให้ชุ่มคลุมแปลงด้วยพลาสติก 2 หน้า ๆ หนึ่งมีสีดำและอีกหน้ามีสีเงินที่ใช้สำหรับคลุมแปลงปลูกแตงโดยเฉพาะ

2. การปลูกแบบปล่อยเลื้อยบนดิน แปลงปลูกจะกว้าง 3.5 เมตร ปลูกเป็นแถวเดี่ยวตรงขอบแปลงด้านในทั้งสองข้างของแปลงระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร จำนวนต้น /ไร่ 8,500 – 9,000 ต้น / ไร่

การให้น้ำ
แตงแคนตาลูปเป็นพืชที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ แต่ไม่มากเกินไป วิธีให้น้ำควรปฏิบัติคือ การปล่อยน้ำตามร่อง ในแนวกลางระหว่างแถวปลูกและทางเดิน ปล่อยน้ำ 3 – 5 วัน / ครั้งการปฏิบัติอื่นๆ
1. การเด็ดตาข้าง จะปล่อยให้แตงเลื้อยเฉพาะเถาหลัก จะเด็ดตั้งแต่ข้อที่ 1 – 7 สำหรับทุกพันธุ์ เพื่อไม่ให้แตกแขนง
2. การเด็ดยอด เมื่อเถายาวประมาณ 170 เซนติเมตร หรือมีใบประมาณ 25 – 26 ใบ

ปฏิทินการปฏิบัติดูแลรักษา
อายุ
สูตรปุ๋ย
อัตรา
21 วัน หรือหลังย้ายปลูก 5-7วัน
46-0-0
2 ช้อนแกง / น้ำ 20 ลิตร
28 วัน
13-13-13 , 15-15-15
1 : 1 ครึ่งช้อนแกง / หลุม
45 วัน
46-0-0 , 13-13-21
1 : 1 ครึ่งช้อนแกง / หลุม
55 วัน
โปรแตสเซียมไนเตรท
ฉีดพ่นจนเก็บ
สูตร 13-0-46


โรคและแมลง

1. โรคราน้ำค้าง เริ่มเป็นจุดสีเหลืองบนใบ แผลจะขยายออกเป็นเหลี่ยมในระหว่างเส้นใบ และลามไปทั้งใบ ทำให้ใบแห้งตาย ใต้ใบตรงตำแหน่งของแผลมีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่มและมีสปอร์เป็นผงสีดำ ควรฉีดพ่นด้วยสารริโดมิลเอ็มแซด หรือ วามีเอส
2. โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา จะพบมากในตอนติดลูกและเกิดการขาดน้ำ อาการจะเริ่มเหี่ยวเพียงเถาเดียวจากนั้นจะเหี่ยวตายทั้งต้น ใช้เทอร์ราคลอละลายน้ำราดบริเวณหลุมที่เป็นโรคหรือใช้เชื้อจุลินทรีย์ราเขียว รองก้นหลุม คลุกเคล้าผสมกับดินปลูก
แมลง

1. เพลี้ยไฟ จะดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ดอกอ่อนและยอดอ่อนทำให้ใบม้วนหงิกงอ ผิดปกติสีซีดสลับเขียวเป็นทาง ใช้ยาฟูราดาน 3 จี จำนวน 1 ช้อนชา / หลุม ใส่พร้อมกับหยอดเมล็ด
2. แมลงวันแตง ตัวเมียจะเจาะวางไข่ที่ผล ตั้งแต่ระยะที่เป็นดอกหรือวางไข่ที่ขั้วและกันของผล แล้วฟักออกมากัดกินเนื้ออยู่ภายในทำให้ผลเน่าเสีย การป้องกันโดยเก็บผลที่ร่วงฝังดิน เพื่อลดการระบาด หรือห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์

ศัตรูอื่นๆ
1. ปลวกและเสี้ยนดิน จะกัดกินเปลือกและเจาะผลในบริเวณที่ผลสัมผัสหรือติดดินทำให้ผลเป็นแผลป้องกันโดยการแขวนผลไม่ให้ผลสัมผัสดิน
ปัญหาและอุปสรรค
1. เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง
2. การปลูกแตงแคนตาลูป จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยุ่งยากต้องดูแลรักษามาก จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี
แนวทางการส่งเสริม
1. ไม่ควรปลูกซ้ำพื้นที่เดิม ที่เคยปลูกผักตระกูลแตงชนิดอื่นๆ
2. ช่วงเวลาที่ปลูก ควรเลือกช่วงที่ปลอดฝนในระยะเก็บเกี่ยว


การเลี้ยงปลาดุก




การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ เป็น วิธีการเลี้ยงปลาอีกวิธีหนึ่งที่สามารถเลี้ยงกันได้ง่าย และสำหรับสถานที่ก็ใช้พื้นที่ไม่เยอะ และสามารถเคลื่อนย้ายท่อปูนซีเมนต์ได้ง่ายด้วย ค่าลงทุนในการการเลี้ยงก็ไม่มากสามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้ ส่วนผลตอบแทนก็เป็นที่น่าภูมิใจ จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ร่วมด้วย ช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.สงขลา ได้พบกับคุณชาลี สุวรรณชาตรี อยู่บ้านเลข ที่ 319 ม.18 ต.ท่าช้าง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เกษตรกรผู้ที่เลี้ยงปลาดุกในท่อ ปูนซีเมนต์ ได้บอกถึงวิธีการเลี้ยงปลาดุกด้วยระบบชีวภาพซึ่งมีขั้นตอนการ เลี้ยงดังนี้ 




การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ การเตรียมอุปกรณ์
1.ท่อปูนซีเมนต์ขนาด 100*50 เซนติเมตร
2.ท่อพีวีซี ขนาด 1 นิ้ว ยาว 20 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น และยาว 40 เซนติเมตร จำนวน 1 เส้น
3.ข้องอพีวีซีขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 อัน
4.ยางนอกรถสิบล้อจำนวน 1 เส้น
5.ยางนอกรถจักรยานยนต์จำนวน 1 เส้น
6.ตาข่าย
7.น้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
8.ปูน ทราย หิน
9.อาหารสำหรับเลี้ยงปลาดุก
10.พืชผักที่ปลากิน เช่น ผักบุ้ง ผักตบชวา ฯลฯ
11.ลูกปลาดุก 70-80 ตัว

การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ การเตรียมบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุก
1.จะต้องทำการฆ่ากรดฆ่าด่างในบ่อปูน โดยให้นำหัวกล้วยหรือโคนกล้วยมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำมูลวัวมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำใส่ไปในบ่อใส่น้ำให้เต็ม แล้วหมักไว้ 5 วัน จากนั้นให้เปิดน้ำทิ้งแล้วเอาโคนกล้วยออกทิ้งด้วย

2.นำน้ำสะอาดใส่ไปในบ่อแล้วแช่ทิ้งไว้ 1 วัน หลังจากนั้นก็ให้เปิดน้ำทิ้ง
3.นำผักบุ้งมาถูให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ตากบ่อให้แห้ง

การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ การทำน้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
1.ถังพลาสติกที่มีฝาปิดจำนวน 1 ถัง
2.น้ำตาลทรายแดง 3 กิโลกรัม
3.ฟักทองแก่ 3 กิโลกรัม
4.มะละกอสุก 3 กิโลกรัม
5.กล้วยน้ำหว้าสุก 3 กิโลกรัม

วิธีทำน้ำหมักสูตรเลี้ยงปลา
หั่นมะละกอ, กล้วยน้ำหว้า, ฟักทองทั้งเปลือกและเมล็ดใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ผสมน้ำตาลทรายแดง แล้วคนให้เข้ากันและปิดฝาให้แน่นหมักทิ้งไว้ 7 วัน แล้วเติมน้ำสะอาด 9 ลิตร ปิดฝาให้แน่นแล้วหมักต่ออีก 15 วัน

ประโยชน์
-เป็นฮอร์โมนพืช เร่งดอก เร่งผล รสชาติหวานอร่อย
-ปลาไม่เป็นโรค
-ปลาไม่มีกลิ่นสาบ
-ปลาไม่มีมันในท้อง
-ปลาจะมีเนื้อหวานรสชาติอร่อย

การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยง
1.นำท่อปูนที่มีรอยคราบผักบุ้ง หรือบ่อปูนที่ไม่มีกรดไม่มีด่าง ใส่น้ำให้มีความสูง 10 เซนติเมตร (ช่วงปลาขนาดเล็ก เพิ่งนำมาปล่อย) แล้วเติมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ
2.นำปลาดุกมาแช่น้ำในบ่อปูนทั้งถุง แล้วค่อยๆเปิดปากถุงให้ปลาว่ายออกมาเอง

3.วันแรกที่นำปลามาปล่อยไม่ต้องให้กินอาหาร
4.นำพืชผักที่ปลากิน เช่นผักบุ้ง ผักตบชวาและอื่นๆมาใส่ในบ่อ
5.การให้อาหาร ปลา 1 ตัวให้อาหาร 5 เม็ด/เมื้อ ในช่วงปลาเล็กให้อาหารวันละ 2 เมื้อ เช้า-เย็น ปลาอายุ 1 เดือนครึ่งให้อาหารปลาขนาดกลาง โดยให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ให้ปลากินตอนเย็น

หมายเหตุ ก่อนให้อาหารต้องนำอาหารมาแช่น้ำก่อนเสมอประมาณ 10-15 นาที
เหตุผลเพื่อ
1.ปลาจะได้กินอาหารทุกตัว
2.ปลาตัวที่แข็งแรงจะทำให้ท้องไม่อืด
3.ปลาไม่ป่วย
4.การเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน
5.อาหารไม่เหลือในบ่อและน้ำก็ไม่เสีย
6.ถ่ายน้ำทุกๆ 7 วัน หรือ 10 วัน/ครั้ง ทุกครั้งที่ถ่ายน้ำจะต้องใส่น้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะเสมอ

การเลี้ยงปลาดุก ในบ่อซีเมนต์ การจำหน่าย
1.ก่อนจะจำหน่าย 2 วัน ให้นำดินลูกรังสีแดงหรือซังข้าวมาแช่ไว้ในบ่อ จะทำให้ปลาดุกมีสีเหลืองสวย ขายได้ราคาดี
2.ปลาดุก 3 เดือนครึ่ง จำนวน 70 ตัว จะมีน้ำหนัก 14-15 กิโลกรัม หรือประมาณ 4-5 ตัว/กิโลกรัม จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 60-70 บาท
3.ต้นทุนอาหารกิโลกรัมละ 19-20 บาท หมายเหตุ ต้นทุนครั้งแรก 1 ชุด 430 บาท น้ำที่ถ่ายทิ้งจากบ่อปลาสามารถนำมารดต้นไม้ พืชผักสวนครัว เป็นปุ๋ยอย่างดี
หมายเหตุ : ราคาที่จำหน่ายปลาขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ ต้นทุนการผลิตขึ้นกับวัสดุและอุปกรณ์ในแต่ละท้องถิ่น

การปลูกดอกแค


การปลูกแค
แค หรือ SESBANIG GRANDIFLORA-DESV อยู่ในวงศ์ PAPILIONACEAE เป็นไม้ยืนต้น
สูง ๓-๕ เมตร โตเร็วมีกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล มีร่องขรุขระตามยาว หนา เปลือกในสีชมพู รสฝาดใบเป็นใบประกอบขนนก มีใบย่อยมากกว่า ๕๐ ใบ ดอก มี ๒ สีคือ สีขาว และ สีแดง ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๒-๔ ดอก ดอกเป็นรูปดอกถั่วขนาดใหญ่ กลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง หรือรูปถ้วย ดอกห้อยลง “ผล”เป็นฝักแบน ยาว ๘-๑๕ ซม. เมื่อแก่จะแตกออกเป็น ๒ ซีก มีเมล็ดเรียงอยูตรงกลางแถวเดียว เมล็ดคล้ายเมล็ดถั่ว กลมแบนสี น้ำตาลอ่อน หนึ่ง ฝกมีหลายเมล็ดดอกออกตลอดปี

 ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด
ดอกแค  เป็นต้นไม้พื้นบ้าน เป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทั้งดินเหนียวและดินปนทราย เป็นต้นไม้ยืนต้นมีสายพันธุ์เหมือนพืชตระกูลถั่ว ใบจะเรียวดูคล้ายกับขนนก เป็นพืชที่เจริญเติบโตง่าย
ปลูกง่ายในดินทุกชนิดขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ขนาดของลำต้นนั้นแล้วแต่พันธุ์ และจะออกดอกเป็นสีขาว และสีแดงเมื่อดอกบานออก พวกแมลงก็จะมาตอมแล้วจะผสมเกสรระหว่างดอกกัน จากนั้นก็จะกลายเป็นฝัก ฝักจะมีลักษณะเหมือนถั่วฝักยาว ทุกส่วนของแคสามารถนำมาทำยาได้ จึงนับว่าเป็นพืชที่ทรงคุณค่ามากชนิดหนึ่ง สวนที่นำมารับประทานได้ มียอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน และฝัก่ออน ออกในช่วงฤดูฝน ส่วนดอกอ่อนจะออกในช่วงฤดูหนาวดอกแค ๑๐๐ กรัม หรือ ๑ ขีด ให้พลังงานต่อร่างกาย ๑๐ กิโลแคลอรี มีเส้นใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็กแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง วิตามินบีสอง และวิตามินซี การรับประทานดอกแคจะทำให้ร่างกายได้เส้นใยอาหาร ดอกแค เมื่อแก่จนกลีบร่วง ก็จะมีฝักอ่อน นำมาทำอาหารได้ เมื่อแก่จะแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ด เจริญเติบโตง่ายมีอายุไม่นานก็ยืนต้นตาย แพร่พันธุ์ด้วยฝักที่มีเมล็ดแก่จัด การนำดอกแคมาทำอาหารต้องเด็ดเกสรสีเหลืองของดอกแคออกก่อนจะทำให้ไม่มีรสขม โดยนิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน คันนา ริมถนน และในบริเวณบ้าน หรือปลูกไว้เพื่อปรับพื้นที่ให้มีปุ๋ย เพราะใบแคที่ผุแล้ว ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

วิธีการปลูกแค
ในการปลูกแคเพื่อเก็บดอกแคขาย จะต้องนำฝักแคที่แก่จัดนำฝักแคมาแกะเอาเมล็ดออก แล้วนำเมล็ดแคไปเพาะในแปลงเพาะดูแลรักษาต้นกล้าแคจนกระทั่งต้นกล้าแคมีความสูงประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หรือเมื่อแคมีอายุประมาณ ๑ เดือน จากนั้นจึงย้ายต้นกล้ามาปลูกลงในแปลงปลูกที่ยกร่องไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับระยะปลูกควรจะเป็น ๑.๕-๒ เมตร จากนั้นประมาณ ๓ เดือน หรือเมื่อแคมีความสูงต้นประมาณ ๑ เมตร ก็จะสามารถเก็บดอกแคขายได้แล้ว


การดูแลรักษา
ในขั้นตอนของการปฎิบัติดูแลรักษา มีคำแนะนำเกี่ยวกับการให้น้ำต้นแคว่าไม่ควรให้น้ำแก่ต้นแคมากเกินไป เพราะจะทำให้แคไม่ค่อยออกดอก ควรจะให้น้ำเพียงอาทิตยละ ๑ ครั้ง ก็เพียงพอ สวนการให้ปุ๋ยควรจะให้ปุ๋ยทางใบและสารเร่งดอกไปพร้อม ๆ กับการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงโดยผสมทั้งสามอยางเข้าด้วยกัน แล้วฉีดพ่นประมาณ ๑๕ วันตอหนึ่งครั้ง เมื่อต้นแคมีอายุได้ ๑ ปีให้ทำการตัดแตงกิ่งข้างล่างและกิ่งที่พุ่งสูงขึ้นไปทิ้งให้เหลือกิ่งที่อยู่ในระดับเท่าความสูงคนเพื่อสะดวกในการเก็บดอกแค และพยายามตัดแต่งให้กิ่งแผ่ออกด้านข้างจนดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง ๆ เพราะนอกจากจะสะดวกในการเก็บดอกแล้วยังทำให้มีแมลงมารบกวนน้อยหรือถ้าหากมีแมลงมารบกวนก็สามารถฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดได้ง่าย นอกจากนั้นยังทำให้ออกดอกได้มากอีกด้วย

                                            
เมื่อต้นแคเริ่มออกดอก จะสังเกตุเห็นเป็นตุ่มดอกสีเขียว จากนั้นอีกประมาณ ๒-๓ วันดอกก็จะมีขนาดใหญ่ มีกลีบดอกสีขาว รูปทรงคล้ายกับเมล็ดถั่ว ก็จะเก็บดอกแคขายได้ และควรเก็บดอกแคตั้งแต่ดอกยังตูมอยู่ไม่ควรรอจนดอกบานแล้วจึงเก็บเพราะจะทำให้ราคาถูกลง ในส่วนของฝักแคอ่อน ๆ ที่มีลักษณะคล้ายถั่วฝักยาวนั้น สามารถนำมารับประทานได้โดยนํามาต้มรับประทานกับน้ำพริกปลาทูในลักษณะเครื่องเคียงผักสดหรือใส่ในแกงป่า แกงส้มก็ได้เช่นกัน แต่เนื่องจากในสมัยก่อนมีพืชผักรับประทานกันมากมายจึงไม่ค่อยนิยมนำฝักแคมารับประทานกัน  ในส่วนของราคาและผลผลิตดอกแคนั้น ในพื้นที่ ๑ ไร่ ใช้ระยะปลูก ๑.๕-๒ เมตร สามารถจะเก็บดอกแคได้เฉลี่ยวันละ ๒๐-๓๐ กิโลกรัม ส่งจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ ๒๐-๒๕ บาท ก็จะมีรายได้ประมาณวันละ ๔๐๐ บาท ราคาขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดและในเขตพื้นที่ ดังนั้นจะถืออาชีพปลูกหรือเก็บดอกแคขายเป็นอาชีพเสริมกันก็ได้

คุณสมบัติในการใช้รักษาโรคของดอกแค
๑. รักษาโรคไข้หัวลม เมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยน
๒. เป็นยาระบาย หากใช้ใบของมัน
๓. แก้รอยฟกช้ำโดยการโขลกแล้วนำไปพอกบริเวณนั้น
๔. รักษาโรคริดสีดวงจมูก โดยใช้เปลือก ใบ ราก และดอกมาต้มหยอดจมูก
๕. โรคปวดศีรษะใช้เปลือกไปต้มรับประทาน
๖. โรคบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องร่วงใช้เปลือกไปต้มหรือฝนรับประทาน



แหนมเนื้อวัว

แหนมเนื้อวัว

สิ่งที่ต้องเตรียม
เนื้อวัวบดละเอียด   500   กรัม
ผงสำหรับทำแหนม        1   ซอง
น้ำต้มสุก     50   ซีซี
พริกขี้หนูหั่นเป็นท่อน      50   กรัม
กระเทียมซอยบาง      50   กรัม

วิธีทำ
- ผสมเนื้อวัว กับผงสำหรับทำแหนม คลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำต้มสุก พริกขี้หนู และกระเทียม คลุกเคล้าให้เข้ากัน เตรียมไว้
- ตักส่วนผสมที่ได้ใส่ลงในถุงพาสติก จากนั้นรีดอากาศออก ม้วนเป็นท่อนกลม มัดด้วยหนังยางให้แน่น พักไว้ประมาณ 24-36 ชั่วโมง ในอุณหภูมิปกติ พร้อมรับประทาน

อุปกรณ์
- อ่างผสม Calphalon
- ทัพพีSeagull
- ถุงร้อน+ หนังยาง

ข้าวผัดแหนมเนื้อ


สิ่งที่ต้องเตรียม
น้ำมันถั่วเหลือง      2   ช้อนโต๊ะ
ไข่ไก่      1    ฟอง
กระเทียมสับละเอียด      2   ช้อนโต๊ะ
ข้าวหอมมะลิหุงสุก      200  กรัม
พริกไทยป่น      ¼   ช้อนชา
แหนมเนื้อวัว ยีให้ละเอียด      100   กรัม
ซีอิ๊วขาว      2   ช้อนโต๊ะ
ซอสหอยนางรมสูตรเข้มข้น     1   ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย     2   ช้อนชา
ขิงอ่อนซอยเป็นเส้น        30   กรัม
หอมแดงซอย       30   กรัม
มะเขือเทศผ่าสี่ส่วน       50   กรัม
ต้นหอมซอย    10   กรัม
น้ำ        50     ซีซี
ถั่วลิสงคั่วจนมีกลิ่นหอม สำหรับรับประทานคู่กัน

วิธีทำ
- ใส่น้ำมันถั่วเหลืองลงในกระทะ ต่อยไข่ไก่ และกระเทียม ยีพอแตกจนสุก ผัดให้เข้ากัน
- ใส่ข้าวหอมมะลิหุงสุกลงผัดพอเข้ากัน เติมแหนมเนื้อวัวลงผัดพอหอม
- ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรมสูตรเข้มข้น น้ำตาลทราย และพริกไทยป่น ผัดให้เข้ากัน
- ใส่ขิงอ่อน หอมแดง มะเขือเทศ ถั่วลิสง และต้นหอมซอย ผัดให้เข้ากัน
- เติมน้ำ ผัดให้เข้ากันจนข้าวสุกระอุทั่วดี ตักใส่จานเสิร์ฟ พร้อมรับประทานคู่กับถั่วลิสงคั่ว

อุปกรณ์
- 26cm Gladiator deep fry pan Seagull
- ตะหลิวSeagull
- จานเสิร์ฟ


หลนแหนมเนื้อ  สิ่งที่ต้องเตรียม

กะทิสำเร็จรูป          375   ซีซี
แหนมเนื้อวัว ยีให้ละเอียด      250   กรัม
พริกหยวก        4   เม็ด
พริกชี้ฟ้าสามสีหั่นเป็นท่อน      3   เม็ด
ตะไคร้ซอยบาง        30    กรัม
หอมแดงซอย         200   กรัม
ใบมะกรูดฉีกก้านกลาง      5   ใบ
น้ำมะขามเปียก        3   ช้อนโต๊ะ
ซีอิ๊วขาว         2    ช้อนชา
ไข่ไก่ ตีพอแตก       1   ฟอง
พริกขี้หนูเขียว-แดง        10    เม็ด
ผักสด สำหรับรับประทานทานคู่กัน

วิธีทำ
- ต้มกะทิจนเดือด ใส่แหนมเนื้อ พริกหยวก และพริกชี้ฟ้าสามสี คนให้เข้ากัน
- ใส่ตะไคร้ หอมแดง และใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก ซีอิ๊วขาว คนผสมให้เข้าจนเดือด
- ใส่ไข่ไก่ตีพอแตก คนให้เข้ากัน เติมพริกขี้หนู ต้มพอเดือด ตักใส่ชามเสิร์ฟ พร้อมรับประทานคู่กับผักสด

อุปกรณ์
- 18cm Hard anodized sauce pan Seagull
- ทัพพี Seagull
- ชามเสิร์ฟ

ปลาทูนึ่ง

ปลาทูนึ่ง  หน้างอ คอหัก สุดยอดปลาทูแม่กลอง
 “สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง พี่จำจากน้องคนงาม แว่วหวูดรถไฟพี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม ยังละเมอเพ้อพร่ำคิดถึงคนงามที่อยู่แม่กลอง...”
ลาสาวแม่กลอง : พนม นพพร

สมุทรสงคราม หรือเมืองแม่กลอง ไม่เพียงมีสาวงามแล้ว เมืองนี้ยังมีของดีชวนชมชวนกินอีกเพียบ ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม”

นอกจากของดีตามคำขวัญจังหวัดแล้ว สมุทรสงครามยังมี “ปลาทูแม่กลอง” เป็นอีกหนึ่งของดีอันเลื่องชื่อ ซึ่งในทุกๆวันที่ท่าเรือหน้าวัดปทุมคณาวาส ที่เป็นท่าขึ้นปลาทูขนาดใหญ่ จะเต็มไปด้วยบรรยากาศของพ่อค้า แม่ค้า และชาวประมง มาทำการซื้อขายปลาทูกันอย่างคึกคัก เพื่อที่จะนำไปนึ่งแล้วขายเป็นปลาทูนึ่งใส่เข่ง ก่อนที่จะมีคนมาเดินเลือกซื้อปลาทูกับไปทำเมนูอันโอชะอีกต่อหนึ่ง

*เมืองแม่กลอง แหล่งปลาทูชั้นยอด
พูดถึงปลาทู ชาวประมงจะแบ่งปลาทูเป็น 2 ชนิด คือ ปลาสั้น และปลายาว

ปลาสั้น หรือปลาทูแม่กลอง จะที่มีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อเยอะ เนื้อนิ่มเวลากดลงไปที่ตัวปลาแล้ว เนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามลอยแรงกด ปลาสั้นจะมีลำตัวสีเงิน หรือ อมเขียว ตาดำ

ส่วนปลายาว จะมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ปลารัง ปลายาว ปลาอินโด ซึ่งก็เป็นปลาชนิดเดียวกันทั้งหมด ลักษณะของปลายาว ตัวจะใหญ่และยาวกว่าปลาทูแม่กลองนี่เป็นข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะเลือกซื้อปลา

เมื่อรู้จักลักษณะคร่าวๆของปลากันแล้ว ที่นี้ลองมาดูว่าเหตุใดปลาทูแม่กลอง หรือปลาสั้นจึงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในปากอ่าวสมุทรสงคราม

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ปลาทูเป็นปลาทะเลที่หากินและเจริญเติบโตในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง และมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงในน้ำลึกไม่เกิน 30 เมตร พบชุกชุมมากเป็นพิเศษในบริเวณที่มีแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล เช่นบริเวณก้นอ่าวไทย เพราะบริเวณดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแพลงตอนที่เป็นอาหารสำคัญของปลาทู ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามมีชัยภูมิที่ถือว่าเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและหากินของปลาทู

ด้วยความที่พื้นที่ชายฝั่งสมุทรสงครามอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ และแหล่งอาหาร ปลาทูของเมืองนี้จึงมีรสอร่อยกว่าที่ไหนๆ เพราะมีเนื้อแน่น มัน ซึ่งคนกินปลาทูรุ่นเก่าต่างยกให้ปลาทูแม่กลองเป็นราชาแห่งปลาทู ที่สามารถนำไปทำอาหารได้สารพัดอย่าง

*กว่าจะได้มาซึ่งความอร่อยของปลาทูแม่กลอง

กว่า 30 ปีมาแล้ว ที่ปลาทูได้ชื่อว่าเป็นปลาที่จับได้มากที่สุดในท้องทะเลไทย สำหรับคนเมืองแม่กลองนั้นเขามีวิธีการจับปลาทูที่น่าสนใจยิ่งนัก นั่นก็คือการจับปลาโดยวิธีละมุนละม่อม ค่อยๆต้อน ค่อยๆจับ ก่อนที่จะปล่อยให้ค่อยๆตาย เพราะจะทำให้เนื้อปลาทูจะคงความสด มัน เมื่อกินแล้วอร่อยยิ่งนัก

สำหรับวิธีการจับปลาให้ตายโดยละม่อม ชาวประมงจะใช้ “โป๊ะ” เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านเป็นอุปกรณ์สำคัญในการจับปลาทู

โป๊ะ(พื้นบ้าน) มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดย่อม ทำจากไม้ไผ่ล้อมให้เป็นวงกลม เปิดช่องเป็นทางสำหรับให้ปลาทูผ่านเข้าไปได้ ตั้งอยู่กับที่ รอให้ปลาว่ายเข้ามาหาเอง ด้วยเครื่องจับปลาชนิดนี้ ปลาทูที่จับได้มาจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ปลาโป๊ะ

ในอดีตเมืองแม่กลองถือว่ารุ่งเรืองเรื่อง “โป๊ะปลาทู”มาก โดยมีโป๊ะมากถึงราวๆ 100 โป๊ะ แต่ว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน กาลเวลาเปลี่ยนแปลง โป๊ะปลาทูก็ค่อยๆลดจำนวนลงเรื่อยๆจนในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่โป๊ะ และในไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่ยังคงใช้เครื่องมือชนิดนี้ในการจับปลาทู

สำหรับปลาทูที่ได้จากการจับด้วยโป๊ะจะมีความแตกต่างกับปลาทูที่จับด้วยเครื่องมือชนิดอื่นๆ เพราะปลาที่ได้จากโป๊ะจะมีความสดมากกว่า ทำให้กินอร่อยกว่า

ด้านจงศักดิ์ ที่ทำอาชีพจับปลามากว่า 20 ปี พูดถึงปลาทูเมืองแม่กลองว่า ปลาส่วนใหญ่ที่ได้มาตอนนี้จะเป็นปลาอวนติด ซึ่งก็คือปลาทูเหมือนกัน แต่มีวิธีการจับที่แตกต่างกัน วิธีการจับโดย “อวนติด” นี้ ก็คือการนำอวนลงไปล้อมปลาแล้วจึงช้อนมาบนเรือ เหตุที่ใช้วิธีนี้ก็เพราะปัจจุบันหาโป๊ะเครื่องมือในการจับปลาสมัยก่อนได้ยาก เพราะว่าปลามีจำนวนน้อยลง ทำให้บรรดาเจ้าของโป๊ะต้องเลิกราไป

“สมัยก่อนเมื่อครั้งทะเลยังมีความอุดมสมบูรณ์จะมีปลามาอาศัยอยู่กันอย่างชุกชุม และมีเยอะมากกว่าถึง 30 – 40% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน พวกเราจะออกหาปลากันทุกวันโดยออกตั้งแต่ช่วงเย็น และกลับนำปลามาขึ้นที่ท่าเรือในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น ที่มีอยู่ 2 ท่า คือ ท่าหน้าวัดปทุมฯ และท่าหน้าวัดศรัทธาธรรม เพื่อให้บรรดาแม่ค้าปลามาเลือกซื้อกัน ซึ่งแต่ละครั้งที่ออกไปจับจะได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่ว่าวันนั้นปลาจะมาติดอวน

“อย่างวันนี้ก็ได้มาประมาณ 200 – 300 กิโลกรัม แต่บางวันก็ได้เป็น 1,000 กิโลกรัมเหมือนกัน บางครั้งออกไปเสียเที่ยว เพราะไม่มีปลามาติดอวนก็มี” จงศักดิ์เล่า

ส่วนชัยพล โลหมาตร พ่อค้าขายส่งปลาทูแห่งท่าวัดปทุมฯ เล่าว่า ในแต่ละวันจะมีเรือมาเทียบท่าที่หน้าวัด เพื่อนำปลามาขึ้นที่ท่า ได้ปลามาเท่าไหร่ก็จะรับไว้หมด เพื่อนำมาขายส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้าปลาอีกที โดยคิดเปอร์เซ็นต์กับเจ้าของเรือที่ออกไปจับปลา ซึ่งถ้าบางวันโชคดีออกเรือไปแล้วเจอแหล่งที่ปลาอยู่กันอย่างชุกชุมก็จะได้มาเกือบ 1,000 กิโลกรัม ส่วนวันไหนโชคไม่เข้าข้างไม่ค่อยเจอปลาก็จะได้น้อย

“ปลาทูที่ได้มานั้นจะเป็นปลาทูโป๊ะพื้นเมืองของเมืองแม่กลอง จากแต่ก่อนเป็นปลาที่ได้จากโป๊ะ แต่ปัจจุบันปลาที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาอวนติด แต่ก็เป็นปลาทูพื้นเมืองเหมือนกัน ชนิดเดียว จะแตกต่างตรงเครื่องมือในการจับเท่านั้นเอง” ชัยพลอธิบาย

ชัยพล เล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงที่มีปลาทูแม่กลองชุกชุมมากในอ่าวไทยก็คือช่วงเดือนมิถุนายน – เดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีปลาชุกชุมมาก ส่วนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่อ่าวปิด ไม่สามารถที่จะออกไปหาปลาได้ เรือที่ออกหาปลาก็จะต้องไปจับปลาจากทางใต้ แถวๆ จังหวัดประจวบฯ ชุมพร สตูล ซึ่งก็ได้ปลาทูเหมือนกัน แต่รสชาติจะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้

“ปัจจุบันนี้ปลาทูมีจำนวนลดลงกว่าแต่ก่อนมาก เพราะถูกก่อกวนจากพวกเรืออวนลาก ซึ่งจะมาทำลายแหล่งอาหารและแหล่งวางไข่ของปลาทู ทำให้ปลาทูนั้นไม่มีอาหารและแหล่งวางไข่ เป็นสาเหตุให้ปลาทูหายไปจากอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก”

ชัยพลแสดงความเป็นห่วงต่ออนาคตของปลาทูแม่กลอง พร้อมๆกับพูดถึงราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาของปลาทูแม่กลอง

*ปลาทูแม่กลองสดใหม่ทุกวัน
เหตุที่ทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสดใหม่อยู่ทุกวัน ก็เพราะว่าเมื่อเรือเดินทางออกสู่ทะเลในช่วงเย็น ก็จะออกไปทำการกวาดต้อนจับเหล่าบรรดาปลาทูน้อยใหญ่ ซึ่งปลาที่ถูกจับขึ้นมานั้นจะถูกแช่น้ำแข็งที่ใต้ท้องเรือ และเมื่อได้ปลาทูตามปริมาณที่กำหนดไว้ ก็จะนำเรือเข้าเทียบท่าในเวลาช่วงเช้า โดยจะไม่มีการเก็บปลาไว้ค้างคืน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลาทูแม่กลองมีความสด ใหม่ และกินอร่อยกว่าที่อื่น เพราะว่าปลาทูที่อื่นจะถูกแช่เย็นค้างคืนมาก่อน ทำให้ปลานั้นไม่มีความสด แต่ในหลายๆครั้งก็มีพ่อค้า แม่ค้าหัวใสบางคนนำปลาทูจากที่อื่นมาหลอกเป็นปลาทูแม่กลอง ประหนึ่งการย้อมปลาทูขาย ซึ่งผู้ซื้อจะต้องพิจารณาให้ดี

ลักษณ์ แม่ค้าขายปลาทูนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ช่วงประมาณ 7 โมงเช้า เรือที่ออกไปหาปลาจะทยอยมาเทียบท่าที่หน้าวัด แล้วก็จะมีแม่ค้ามารับอีกที เพื่อนำไปทำเป็นปลาทูนึ่ง ส่งขายเป็นเข่งอีกทีหนึ่ง

“ปลาทูที่มาขึ้นที่นี่จะมีความสดมากเพราะว่าเป็นปลาที่นำมาจากทะเลวันต่อวัน” แม่ค้าปลาทูลักษณ์เล่า

ด้านป้าทองอยู่ หะรินสวัสดิ์ หรือ ป้าอยู่ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนึ่งปลาทูขายจากครอบครัวมายาวนานหลายสิบปี ได้เล่าว่า ทุกๆ วันจะไปรับปลาจากหน้าวัดปทุมฯมานึ่งเอง เพื่อทำส่งให้แก่พ่อค้า แม่ค้า โดยเริ่มจะนึ่งปลากันตั้งแต่ตี 3 พอถึง 6 โมง – 7 โมงเช้า ก็จะเลิกนึ่ง

“ปลาทูแม่กลองจะมีเนื้อที่อร่อยกว่าที่อื่น เพราะที่แม่กลองจะเป็นดินโคลน อาหารจะดีกว่าที่ที่เป็นดินทราย และในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงที่มีปลาเยอะกว่าช่วงอื่น” ป้าทองอยู่เล่า

*กว่าจะมาเป็น “ปลานึ่ง”
ใครหลายคนคงเข้าใจว่าที่เรียกว่า “ปลาทูนึ่ง” คงจะนำปลาไปนึ่ง แต่จริงๆแล้ว ปลาทูนึ่งไม่ใช่เป็นการนำปลาไปนึ่ง แต่จะนำปลาที่ได้มาต้ม แต่ที่เรียกว่าปลานึ่งนั้น เพราะว่าเป็นคำที่คนโบราณใช้เรียกกัน ก็เลยเรียกต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับวิธีการทำปลาทูนึ่ง ป้าทองอยู่ ได้ทำการต้มปลาให้ดู โดยเริ่มจากการนำปลาทูที่ได้มาควักไส้ออก ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วนำปลาทูวางลงเข่ง ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็จะใส่เข่งละ 2 ตัว แต่ถ้าตัวเล็กหน่อย ก็จะใส่เข่งละ 3 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลา ซึ่งก่อนที่จะนำปลาทูลงเข่งนั้น คนทำก็จะหักคอปลาทูให้งอลง เพื่อที่จะอยู่ในเข่งที่อย่างสวยงาม ทำให้ปลาทูแม่กลองดูแตกต่างจากปลาที่อื่น เพราะปลาที่มาจากที่อื่นเขาจะไม่หักคอปลา แต่จะวางลงไปในเข่งเลยเมื่อมองดูแล้วจะไม่เป็นระเบียบ และบางครั้งปลาอาจทำให้ปลาร่วงหล่นจากเข่งได้ ซึ่งก็ทำให้ลักษณะ“หน้างอ คอหัก” กลายเป็นเอกลักษณ์ของปลาทูแม่กลองไปโดยปริยาย

ครั้นพอนำปลาลงเข่งเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเข่งปลามาเรียงลง “เต๊า” ที่เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโครงเหล็กทรงกลม ที่ใช้เรียงเข่งปลา เพื่อนำลงไปต้ม โดย 1 เต๊า จะใส่เข่งปลาทูได้ประมาณ 70 – 80 เข่ง

หลังจากนั้นไปต้มให้หม้อขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนเตาที่ก่อขึ้นด้วยปูน ถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง โดยต้มปลาอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงนำปลาขึ้นมา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำปลาทูนึ่ง พร้อมที่ส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า

ด้านป้าชุม แม่ค้าขายปลาทูอีกหนึ่งคนที่ขายอยู่ในตลาดสด ที่นึ่งปลาขายมากว่า 30 ปี เล่าว่า จะมีปลาอยู่ 2 ชนิดที่รับมาขาย ชนิดแรก ก็จะเป็นปลาทูแม่กลอง ส่วนอีกชนิดหนึ่งก็จะเป็นปลาที่มาจากทางใต้ ที่มาจากชุมพร สตูล ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากปลาแม่กลอง สังเกตง่ายๆ ก็คือ ปลาที่มาจากทางใต้จะตัวใหญ่กว่าปลาทูแม่กลอง เนื้อจะแข็งกว่า และรสชาติก็จะอร่อยสู้ปลาทูแม่กลองไม่ได้ เพราะเป็นปลาน้ำลึก ส่วนปลาทูแม่กลองเป็นปลาน้ำตื้น มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากกว่า จึงกินอร่อยกว่า

“เมื่อได้ปลามาจะคัดปลาเป็นขนาดต่างๆ ราคาก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย วันหนึ่งก็จะรับมาขายประมาณ 300 – 400 เข่ง ซึ่งก็ขายหมดทุกวัน” ป้าชุมเล่า

ในขณะที่ เจ๊สาลี่ อีกหนึ่งแม่ค้าที่ขายปลาทูในตลาดสดเมืองแม่กลอง ที่ขายปลาทูมา 5 – 6 ปี เล่าว่า ได้รับปลามาขายอีกต่อหนึ่ง โดยรับมาเข่งละ 8 บาท ขายเข่งละ 10 บาท วันหนึ่งๆรับปลามาขายวันละประมาณ 200 – 300 เข่ง ขายหมดแทบทุกวัน

“ปลาทูแม่กลองเป็นปลาทูที่มีรสชาติอร่อยที่สุด รสชาติจะมัน และเนื้อจะเยอะ เมื่อเทียบกับปลาบางชนิดแล้ว ทั้งเนื้อและรสชาติเทียบกันไม่ติดเลย ถือเป็นของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองแม่กลอง ที่ใครได้มากินแล้วมักจะติดใจ ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากกันเป็นประจำ”เจ๊สาลี่เล่าถึงความอร่อยของปลาทูแม่กลอง

เมื่อปลาทูแม่กลอง เป็นราชาแห่งปลาทูและเป็นหนึ่งในของดีเมืองแม่กลอง ทางจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้จัดงาน “เทศกาลกินปลาทู” ขึ้นทุกๆปี ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่รู้จักมากขึ้น ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยไฮไลต์ของงานก็คงจะหนีไม่พ้นยอดปลาทูเมืองแม่กลองที่น่าลิ้มลองในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับปลาทู
 -วิธีการเลือกปลาทูนึ่ง
ปลาทูที่นึ่งใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก จึงต้องมีการใช้น้ำยาเคมีรักษาสภาพของปลา ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย ถ้าใช้ปลาทูไม่สด ไม่ใช่ปลาทูโป๊ะ จะไม่อร่อยเท่าปลาทูแม่กลองที่เวลานึ่ง คนทำจะหักคอก่อนใส่เข่ง เพื่อให้พอดีกับขนาดของเข่ง เรียกกันว่า “ปลาหน้างอ คอหัก

-วิธีเลือกปลาทูสด
ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด

ส่วนปลาทูที่ไม่สดลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคลั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลว และไม่มีเมือกจับ

-ซื้อปลาแบบไหนถึงจะอร่อย

หลังจากที่ชาวประมงจับปลาทูขึ้นมาได้ราว 5 – 10 นาที ปลาก็จะตาย ปลาทูที่ตายใหม่ๆ นี้ถ้ารีบนำไปประกอบอาหารไม่ว่าจะเป็นต้ม ผัด แกง ทอด เนื้อจะนุ่มหวานอร่อย กลิ่นหอม ถ้านำไปต้ม มันปลาทูสีเหลืองจะลอยฟ่องขึ้นหม้อ แค่เห็นก็อร่อยแล้ว

แต่ปลาทูสดที่เห็นขายกันอยู่ตามตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นไม่ใช่ปลาทูสด 100% เป็นปลาทูที่ต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะมาวางขายตามท้องตลาด ความสดของปลาก็ลดลงเหลือ 60 – 80% ยิ่งถ้าเป็นปลาทูที่ขายตามจังหวัดที่ห่างไกลทะเลแล้ว อาจเก็บมาเป็นอาทิตย์ก็ได้

อนึ่ง ปลาทูจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่นชิมรสเนื้อปลา ซึ่งถือว่าปลาที่มีความสดมากนั้น จะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนรับประทาน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้างไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย

-สารพัดความอร่อย หลากหลายเมนูจากปลาทู
ถ้าหากจะเอ่ยถึงอาหารไทยที่ถือว่าเป็นหนึ่งเมนูเด็ดที่คนไทยลืมไม่ได้ น่าจะเป็น “น้ำพริกกะปิกับปลาทูทอด” ที่เป็นเมนูที่มีมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ เป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติของไทยเลยก็ว่าได้

สำหรับปลาทูที่จะนำมากินคู่กับน้ำพริกกะปิให้มีความอร่อยเด็ดดวง ก็คงจะหนีไม่พ้น“ปลาทูโป๊ะ” หรือ “ปลาทูนึ่ง” เมืองแม่กลอง

นอกจากนี้ อาหารที่ทำจากปลาทู ก็มีหลากหลายเมนูให้เลือก ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูสำหรับคนที่ชอบกินปลาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู ปลาทูทอด ปลาทูต้มยำ ปลาทูต้มส้ม ปลาทูฉู่ฉี่ ปลาทูผัดฉ่า ปลาทูนึ่ง ปลาทูต้มมะดัน ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู ปลาทูแดดเดียว ปลาทูราดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งปลาทูถือเป็นอาหารไทยราคาเยาที่รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นรองใคร

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

การปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics)


การปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์  Hydroponics
การ ปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์ เป็นวิธีการที่พัฒนาขึ้นในประเทศพัฒนาซึ่งมีปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรลดลง เนื่องจากการเจริญเติบโตของชุมชน หรือพื้นที่ที่มีอยู่ไม่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร เป็นวิธีที่ไม่ใช้ดินเป็นวัสดุปลูก แต่พืชจะเจริญเติบโตโดยได้รับธาตุอาหารจากสารละลายธาตุอาหาร การปลูกพืชโดยวิธีนี้จึงสามารถทำได้ในทุกพื้นที่แม้จะไม่มีที่ดินสำหรับปลูก พืชหรือพื้นที่ดินที่มีอยู่ไม่สามารถใช้ปลูกพืชได้ ในปัจจุบันไฮโดรโปนิกส์เป็นวิธีการปลูกพืชที่ใช้แพร่หลายในประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป สำหรับประเทศไทยมีความเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าการปลูกพืชด้วยวิธีนี้เป็นวิธี ที่ต้องลงทุนสูงและมีวิธีการยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประกอบกับปัญหาขาดแคลนพื้นที่ทำการเกษตรยังไม่รุนแรงนัก ยังมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมมากมาย สามารถปลูกพืชด้วยวิธีปกติได้เพียงพอกับความต้องการ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการอื่นมาทดแทน อย่างไรก็ดีในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปลูกพืชโดยวิธีไฮโดรโปนิกส์เป็นการค้าเพื่อผลิตพืชผักที่มีคุณภาพใน ปริมาณที่แน่นอน สนองความต้องการของซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ การปลูกพืชทดแทนพืชนำเข้า และปลูกเพื่อการส่งออก

ไฮโดร โปนิกส์ (hydroponics) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า hydro ซึ่งแปลว่าน้ำ และคำว่า ponos แปลว่าทำงานหรือแรงงาน เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่าการทำงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ประวัติความเป็นมาของการปลูกพืชโดยวิธีนี้นั้นเริ่มมาจากการศึกษาเกี่ยวกับ การใช้ธาตุอาหารต่างๆ ในการปลูกพืช ซึ่งมีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนสมัยของอริสโตเติล           จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่านักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้เขียนบันทึก ต่างๆ     ทางพฤกษศาสตร์ขึ้นและปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แต่การปลูกพืชตามหลักการทางวิทยาศาสต ร์นั้นเริ่มขึ้นประมาณ 300 ปีมาแล้ว คือประมาณ ค.ศ. 1699 John Woodward นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษได้พยายามทำการทดลอง เพื่อหาคำตอบว่าอนุภาคของของแข็งและของเหลวที่อยู่ในดินมีความสำคัญต่อการ เจริญเติบโตของพืชอย่างไร ต่อมาปี ค.ศ. 1860-1865 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Sachs และ Knop นับเป็นผู้ริเริ่มปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัย ใหม่ โดยการปลูกพืชด้วยสารละลายเกลือ อนินทรีย์ต่างๆ เช่น โพแทสเซี่ยมฟอสเฟต โพแทสเซี่ยมไนเตรต ซึ่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซี่ยม แมกนีเซียม กำมะถัน แคลเซียม และเหล็ก ภายหลังมีการพัฒนาสูตรธาตุอาหารพืชเรื่อยมา จนถึงปี ค.ศ. 1920-1930 William F.Gericke แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประสบความสำเร็จในการปลูกมะเขือเทศในสารละลายธาตุอาหาร โดยพืชมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์และให้ผลผลิตเร็ว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคนิคการปลูกพืชโดยวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อ ปลูกพืชเป็นการค้า และได้มีการพัฒนาเทคนิควิธีการและส่วนประกอบในสารละลายเรื่อยมาจนถึง ปัจจุบัน

การ ประยุกต์ใช้ระบบการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์อย่างจริงจังเริ่มขึ้นระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สภาพพื้นที่เป็นหินไม่เหมาะต่อการปลูกพืช ได้มีการนำการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์มาใช้ปลูกพืชผักเลี้ยงกองทัพโดย ปลูกภายในโรงเรือนและใช้กรวดเป็นวัสดุปลูก แม้หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง               กองทัพอเมริกันที่ยึดครองประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงใช้วิธีนี้ผลิตพืชผัก กองทัพเรืออังกฤษซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตามเกาะห่างไกล ในมหาสมุทรแปซิฟิก และมีหลายแห่งที่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืช แต่กองทัพต้องการพืชผักเป็นอาหารสำหรับกำลังพล จึงได้มีการนำการปลูกพืชด้วยวิธีนี้มาใช้เช่นกัน

ปัจจุบัน การปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ได้พัฒนาไปมาก โดยทั่วไปในประเทศพัฒนามักทำการปลูกภายใต้เรือนกระจก มีการควบคุมสภาพแวดล้อม การผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบต่างๆ การเพาะกล้า และการย้ายกล้าลงปลูกในระบบจะเป็นแบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ ระบบที่นิยมใช้จะแตกต่างกัน เช่น ประเทศในแถบยุโรปจะนิยมใช้nutrient film technique (NFT) สหรัฐอเมริกานิยมใช้ระบบน้ำไม่ไหลเวียน (non-circulating system) ในออสเตรเลียจะใช้ทั้ง 2 ระบบ


สำหรับประเทศในแถบ เอเซีย ญี่ปุ่นเป็นชาติแรกที่นำการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์มาใช้ เป็นเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มจากที่กองทัพสหรัฐอเมริกาซึ่งเข้ายึดครองประเทศญี่ปุ่นช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 นำเทคนิคนี้มาใช้ปลูกพืชผักเพื่อเป็นอาหาร หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1960 ได้มีการพัฒนาเทคนิคการปลูกพืชในกรวด (gravel culture) ขึ้น นับเป็นเทคนิคการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์แบบแรกที่พัฒนาขึ้นโดยชาวญี่ปุ่น จากนั้นก็มีการพัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีเทคนิคต่างๆ กว่า 30 แบบ ถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ในเอ ซีย การปลูกผักด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ในญี่ปุ่นพัฒนาอย่างรวดเร็วเนื่องจากการ เจริญของเมืองและราคาที่ดินที่สูงขึ้น ทำให้การทำการเกษตรด้วยระบบดั้งเดิมถูกจำกัดโดยราคาที่ดิน พืชที่นิยมปลูกด้วยวิธีนี้คือ มะเขือเทศ แตงกวา และ Japanese hornwort เนื่องจากเป็นพืชที่ให้กำไรมาก ฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ในญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมักดำเนินการในเรือนกระจกขนาด ใหญ่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดต่อวันในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามมีฟาร์มขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มที่ปลูกในโรงเรือนที่มีมาตรฐานสูง ความสำเร็จของการทำฟาร์มไฮโดรโปนิกส์ในญี่ปุ่นขึ้นกับการพัฒนาเพื่อเพิ่มผล ผลิตพร้อมๆ กับการลดต้นทุนการผลิต

ไผ่กิมซุ่ง Bambusa beecheyama




ไผ่กิมซุ่ง
เป็นชื่อทางการค้าของไผ่ในสกุลไผ่ป่าชนิดหนึ่ง คือสกุล  Bambusa   มีชื่อวิทยาศาสตรว่า  Bambusa   beecheyama   ไผ่ตัวนี้มีชื่อทางการค้าอีกหลายชื่อคือ  ไผ่ตงไต้หวัน  ไผ่จีนเขียวเขาสมิง  ไผ่ตงลืมแล้ง    ไผ่ตงอินโด     ไผ่ทองสยาม  ไผ่หวานต่างๆ  เป็นต้น   ไผ่กิมซุ่งไม่มีท่านใดทราบโดยมีหลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไหร่  ไผ่ตัวนี้มีอายุกี่ปีแล้ว  และไผ่กิมซุ่งจะอยู่ไปอีกกี่ปีจึงจะออกดอก   จากประสบการณ์  ผมได้พบต้นที่เก่าแก่มากๆ  เกษตรกรปลูกโดยไม่สนใจ  ไม่เคยสางกอเลย  กอใหญ่อัดแน่นมาก  มีชาวบ้านมาเอาหน่อไปกินทั้งหมู่บ้าน  แต่ก็ไม่ได้สนใจที่จะทำเป็นการค้า  จากการสอบถามชาวบ้าน  ชาวบ้านบอกว่าได้ปลูกมา  25  ปีกว่าแล้ว  หน่อก็ยังออกดกเป็นปรกติอยู่  ผมดูแล้วดกมาก  นับว่าไผ่ตัวนี้น่าสนใจทีเดียว  ผมนำมาปลูกในสวนได้  5  ปีแล้ว  และเพื่อนๆกลุ่มเดียวกันก็นำไปปลูกพร้อมกัน  ทำนอกฤดูในแนวเดียวกัน  พบว่าไผ่กิมซุ่งสามารถทำให้ออกหน่อทะวายได้ตลอดทั้งปีถ้ามีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างเพียงพอ  และสามรถทำให้ออกหน่อได้ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีฝน  และหน่อไม้ตามท้องตลาดมีน้อย  หน่อไม้จะมีราคาดีที่สุด    การปลูกไผ่กิมซุ่งสามารถแนะนำได้ดังนี้

การเตรียมดิน
พื้นที่ปลูก  เกษตรกรควรเลือกพื้นที่  ที่เป็นดินทราย  หรือดินร่วนปนทราย  หากเป็นดินเหนียวหรือดินลูกรังก็ปลูกได้  แต่จะต้องปรับปรุงดินรอบๆกอไผ่ด้วยอินทรีย์วัตถุมากหน่อย  รากไผ่กิมซุ่งแข็งแรงและหาอาหารเก่ง  สามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน  หากเป็นพื้นที่ดอนหรือที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง ก็สามารถปลูกได้ทุกเวลา  หรือถ้าปลูกในฤดูฝนก็จะยิ่งดี  ควรจะปลูกตั่งแต่เดือนพฤษภาคม   แต่ถ้าพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่นาหรือที่ต่ำน้ำท่วมขังควรจะเลือกปลูกในฤดูแล้งคือควรจะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน  เพราะพื้นที่ต่ำถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนในขณะที่ฝนตกชุก  กล้าไผ่ที่ปลูกใหม่ยังไม่มีรากมากนัก  ยังไม่แข็งแรง หากมีน้ำขังหลุมปลูกมาก  ต้นไผ่ที่ยังเล็กจะเหลือง รากเน่าไม่ค่อยโตและอาจตายไปในที่สุด   ถ้าเกษตรกรเลือกปลูกไผ่ช่วงเดือนตุลาคม  เมื่อเข้าฤดูแล้งก็ให้น้ำให้ปุ๋ยดูแลอย่างต่อเนื่อง  เกษตรกรมีเวลาบำรุงประมาณ  6  เดือนพอฤดูฝนมาต้นไผ่ก็แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับสภาพดินที่ชื้นแฉะเมื่อมีฝนตกบ่อยๆ  หากไผ่แข็งแรงแล้วจะไม่พบสภาพใบเหลืองเหมือนกับการปลูกด้วยกล้าเล็กในฤดูฝน   การเตรียมพื้นที่โดยทั่วไปควรจะไถพื้นที่ตั้งแต่ช่วงฤดูแล้งเพื่อเปิดหน้าดินและตากดินไว้  พอฝนมาก็ให้ไถดะอีกรอบพร้อมทั้งไถแปร จากนั้นคาดดินให้เรียบ  จึงพร้อมที่จะปลูกไผ่ได้ต่อไป

วีธีการปลูกไผ่กิมซุ่ง
ไผ่กิมซุ่งจะใช้ระยะปลูก  ระยะระหว่างแถว  4  เมตร  ระยะระหว่างต้น  4  เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ อยู่ที่   100  ต้นต่อไร่  จะเก็บหน่อไม้อยู่นานได้  5  ปีถึง  7 ปี กว่ากอจะชนกัน  แต่หากเกษตรกรใช้ระยะปลูกคือระยะระหว่างแถว  6  เมตร  ระยะระหว่างต้น  4  เมตร  จะใช้ต้นพันธุ์  66   ต้น จะเก็บหน่อได้นานขึ้น ประมาณ  7 ปี ถึง  10  ปีกว่ากอจะชนกัน  หลุมปลูกไผ่กิมซุ่ง  จะขุดหลุมที่ระยะ  30*30*30  เซนติเมตรถ้าพื้นที่เป็นดินร่วนถึงร่วนปนทราย (แต่ถ้าเป็นดินลูกรังปนหินควรจะขุดให้กว้างกว่านี้เป็น 50*50*50 และหาดินดำ  แกลบ  ขี้เถ้าแกลบหรือปุ๋ยคอกเก่า คลุกหลุมก่อนปลูก )  ถ้าหากเกษตรกรจะรองก้นหลุมก็ควรจะใช้  ขี้เถ้าแกลบไม่ควรจะใช้ปุ๋ยคอกเพราะถ้าปลูกในฤดูฝนหากฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่กำลังออกมาใหม่ๆ เน่าได้ทำให้ต้นไผ่กิมซุ่งเหลือง  ชะงักการเจริญเติบโต   กว่าจะโตก็นานขึ้น  เวลาปลูกที่ดีคือเดือน พฤษภาคม  เมื่อได้กล้าไผ่กิมซุ่งมาก็ทำการปลูก  ควรจะปลูกให้ดินที่ปากถุงเสมอดินเดิมที่ปลูก  ไม่ควรจะปลูกต่ำกว่าดินเดิมที่เตรียมไว้  เพราะถ้าฝนตกหนักจะทำให้รากไผ่ที่งอกมาใหม่ๆเน่าได้จากน้ำฝนที่ขังนานๆ   ถ้าหากพื้นที่ของเกษตรกรเป็นพื้นที่ต่ำ  ไม่ควรจะปลูกในฤดูฝน  ในฤดูฝน ฝนจะตกหนัก ทำให้น้ำขังหลุมบ่อย  จะทำให้ไผ่กิมซุ่งเหลืองและจะไม่โต แม้ว่าไม่ตายแต่ก็ไม่โต   ไผ่กิมซุ่งแม้ว่าน้ำท่วมจะไม่ตายแต่ก็ต้องกอใหญ่มากกว่า  1  ปีไปแล้ว  แต่ถ้าปลูกใหม่ๆยังไม่ทนต่อน้ำท่วมขังบ่อยๆ   พื้นที่ต่ำควรจะปลูกในเดือนตุลาคม  ในฤดูแล้งก็ต้องให้น้ำ  แต่พอย่างเข้าฤดูฝนไผ่กิมซุ่งก็ตั้งตัวได้และทนสภาพน้ำขังเมื่อฝนตกหนักได้  พื้นที่ต่ำควรจะขึ้นแปลงทำร่องระบายน้ำด้วยครับ


          การดูแลไผ่กิมซุ่งเมื่อปลูกไปแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ไผ่กิมซุ่งโตต่อเนื่องไม่หยุดชะงักเพื่อให้โตพอที่จะมีลำใหญ่ที่จะใช้เป็นลำแม่  มีอย่างน้อย  2-3  ลำเป็นลำที่มีขนาด ไม่ต่ำกว่า  1.5-2  นิ้วขึ้นไปภายในเวลาไม่เกิน  8  เดือน เพื่อจะเก็บหน่อไปกิน  ขาย หรือแจกได้   ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เกษตรกรจะต้องมีเวลาอยู่กับต้นไผ่  ถ้าคิดว่าไผ่เหมือนไม้ป่าทั่วไป  ไงๆก็ต้องโตดีแน่ๆ  ไม่ต้องสนใจมากนัก  นานๆมาดูสักครั้ง  อย่างนี้พอแปดเดือนตามที่ผู้ขายพันธุ์ว่าไว้ก็ยังไม่ได้ต้นใหญ่ ก็หาว่าผู้ขายพันธุ์โกหก    แต่หากเกษตรกรคิดว่าปลูกไผ่เหมือนปลูกผัก  ต้องดูแล กำจัดหญ้า ให้น้ำ  ให้ปุ๋ยตามี่ไผ่กิมซุ่งต้องการ  ดูบ่อยๆเห็นปัญหา  เห็นการเปลี่ยนแปลง  ถ้าคิดอย่างนี้ไม่เกิน  8  เดือนได้ลำใหญ่พร้อมที่จะเก็บหน่อกิน  ขาย  แจกได้แน่นอน

การให้ปุ๋ยกับไผ่กิมซุ่ง
หลังจากปลูกไผ่กิมซุ่งไปแล้ว  ให้น้ำเพียงอย่างเดียวไปสักระยะหนึ่ง  (ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้) รอเวลาผ่านไปประมาณ  40  วันสังเกตุต้นไผ่กิมซุ่งดู  ถ้ามียอดอ่อนแตกใหม่  หมายความว่ารากของไผ่กิมซุ่งเริ่มออกหาอาหารแล้ว  ก็สมควรให้ปุ๋ยได้แล้ว  ไผ่กิมซุ่งถ้ายังสร้างใบได้ไม่มากพอก็จะยังไม่ยอมแตกหน่อใหม่  เกษตรกรควรจะให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องและพอเพียง  ไผ่กิมซุ่งถึงจะมีใบเขียวเข้มและพร้อมที่จะสร้างหน่อแรก   การให้ปุ๋ยเมื่อปลูกไผ่กิมซุ่งในระยะแรกๆ  ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ต้องระวังเรื่องปุ๋ยต้องไม่มากจนเกินไปเพราะความเข้มข้นของปุ๋ยจะทำให้รากไผ่ที่แตกออกมาใหม่ๆและมีน้อยอยู่เน่าและแห้งไปได้ 

          - ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ  40  วัน  ถ้าใช้มูลวัวแห้ง  3  กระป๋องนมมะลิโรยรอบๆกอไผ่   พอเดือนที่ 3  หลังปลูกใช้มูลวัวแห้งเพิ่มขึ้นได้  เป็น  10  กระป๋องนมมะลิ โรยรอบๆกอไผ่ พอเข้าเดือนที่  6  หลังปลูกก็ให้เพิ่มเป็น  1  ถังน้ำขนาด  10  ลิตรที่ใช้ทั่วๆไปโรยรอบๆกอไผ่ให้กว้างขึ้น   ก่อนให้มูลวัวควรกำจัดหญ้าก่อนทุกครั้งเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับไผ่และควรหาฟางข้าวหรือแกลบหรือหญ้าแห้งกลบเมื่อไผ่ยังเล็กๆอยู่จะทำให้หญ้าขึ้นช้าและอุณหภูมิของดินไม่เปลี่ยนแปลง  ต้นไผ่จะโตเร็วขึ้น
          -ปุ๋ยครั้งแรกถ้าให้เป็นมูลไก่ไข่จะให้น้อยกว่ามูลวัวเพราะมูลไก่มีความเข้มข้นสูงกว่า  จะให้ครั้งแรกเมื่อปลูกไผ่ผ่านไปประมาณ  40  วัน ใช้มูลไก่ไข่  1  กระป๋องนมมะลิ  โรยรอบๆต้นไผ่ห่างจากโคนต้นไผ่ประมาณ  20  เซนติเมตร  อย่าใส่ชิดโคนไผ่เด็ดขาดเพราะมูลไก่ไข่มีความเข็มข้นสูงมาก  ใส่ห่างให้รากไผ่ออกไปเลือกกินเอง  รากไผ่จะรู้วิธีว่าจะเข้าหามูลไก่ยังไงเอง  พอเดือนที่  3  หลังจากปลูก  ให้มูลไก่ไข่  2  กระป๋องนมมะลิ  โดยโรยรอบๆกอไผ่ห่างจากโคนไผ่ราวๆ  20  เซนติเมตรเช่นเดิม (แต่กอไผ่เริ่มมีหน่อใหม่การใส่จึงห่างจากจุดเดิม)  พอเข้าเดือนที่  6  หลังจากปลูกให้ใส่มูลไก่ไข่ประมาณ  1  กระป๋องน้ำมันเครื่องขนาด  5  ลิตรตัดเป็นปากฉลามแล้วตัดใส่  1    ครั้งโรยรอบๆ  กอไผ่ห่างจากกอราวๆ  20-30  เซนติเมตร (กอไผ่เริ่มมี  หลายลำ) ก่อนที่จะใส่มูลไก่ควรจะกำจัดหญ้ารอบๆกอไผ่ก่อนเพื่อไม่ให้แย่งปุ๋ยกับต้นไผ่  และเมื่อใส่ปุ๋ยแล้วหาวัสดุคลุมดินเช่นฟางข้าว  หญ้าแห้ง  หรือแกลบใส่รอบๆโคนไผ่เพื่อไม่ให้หญ้าขึ้นไวและรักษาอุณหภูมิของดินและความชื้น 

          -ส่วนการใช้ปุ๋ยเคมี  ถ้าใช้ได้ร่วมกับปุ๋ยมูลวัวแห้งหรือมูลไก่ไข่ก็จะยิ่งทำให้ต้นไผ่โตดีและเร็ว  ในระยะ  40  วันหลังจากปลูกไผ่แล้ว  ก็ให้ใช้ปุ๋ย  46-0-0  หรือยูเรียละลายน้ำโดยใช้ปุ๋ยยูเรีย  3  ช้อนโต๊ะ(ห้ามใช้ยูเรียมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นไผ่เหี่ยวตายได้เพราะต้นไผ่ยังเล็กและมีรากน้อยอยู่)  ต่อน้ำ  10  ลิตร  ละลายให้เข้ากับน้ำ  แล้วนำไปรดที่โคนไผ่โดยให้ต้นละ  1  แก้วน้ำ  รดทุกๆ  15  วันจนไผ่มีใบเขียวเข้มและเริ่มสร้างหน่อแรก  และเมื่อสร้างหน่อที่สอง   ก็เริ่มหยุดรดปุ๋ยน้ำได้   ต่อไปเมื่อไผ่มีอายุได้  4  เดือนหลังจากปลูกเป็นต้นไป  (กอไผ่เริ่มมีลำและหน่อไม่ต่ำกว่า 3-4  ลำแล้ว)  ก็ให้ใช้ปุ๋ย 46-0-0  ผสมกับปุ๋ย 15-15-15  อย่างละ  1  ส่วน  แล้วนำไปใส่บริเวณรอบๆโคนไผ่   โดยใส่ใต้ปุ๋ยคอกที่ใส่ไว้แล้ว    โดยแบ่งใส่สัก  4  จุด  ห่างจากโคนต้นไผ่ราวๆ  30  เซนติเมตร  ใส่จุดละ  ครึ่งช้อนโต๊ะ  จะใส่ปุ๋ยสูตรนี้เดือนละ  1  ครั้ง  เพราะเป็นช่วงที่ไผ่กิมซุ่งสร้างกอ  จะมีหน่อแทงออกมาตลอด  เกษตรกรจะได้ลำไผ่ใหญ่เร็วภายในไม่เกิน  8  เดือน เกษตรกรบางท่านอาจจะใช้ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ทำเองมารดร่วมได้เพื่อเพิ่มจุลลินทรีย์ในดินใต้กอไผ่  และบางสวนก็อาจจะมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดตราต่างๆผสมกับปุ๋ยเคมีที่ใส่ได้  ซุ่งการให้ปุ๋ยก็เป็นการเพิ่มต้นทุนอย่างหนึ่งอยู่ที่ตัวเกษตรกรเองแต่ขอให้ใส่แล้วงามไม่ใช่ปุ๋ยปลอม

          เมื่อเริ่มเก็บหน่อจำหน่ายจะใส่ปุ๋ยเดือนละครั้งหรือเร็วกว่านี้ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรตัดหน่อออกไปมากน้อยเพียงใด  ถ้าตัดหน่อไปมาก  ต้นไผ่จะเสียอาหารมาก  อาหารที่ให้จะถูกใช้หมดอย่างรวดเร็ว ให้สังเกตุดูว่าถ้าหน่อมีขนาดเล็กลง  หลายหน่อเริ่มลีบนั่นก็คือต้องให้ปุ๋ยได้แล้วโดยใช้ปุ๋ยคอกเช่นมูลไก่ร่วมกับปุ๋ยเคมี( 46-0-0 บวกกับ 15-15-15 อัตรา  1 ต่อ  1 ใส่กอละ  สองกำมือ)   ใส่โดยใช้หว่านให้ทั่วๆทรงพุ่มได้แล้วเพราะใต้โคนไผ่ไม่มีแดดส่องและรากไผ่มีอยู่กระจายทั่วไป  ปุ๋ยที่ใส่จะไม่สูญเสียไปไหน  เมื่อใส่ปุ๋ยต้องให้น้ำทันทีเพื่อให้ปุ๋ยละลาย  และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนและเกษตรกรไม่เก็บหน่อแล้วก็ลดปุ๋ยลงได้เหลือเพียงใส่พอประมาณโดยให้ปุ๋ยคอกเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ลำแม่สร้างลำแม่ใหม่ได้สมบรูณ์  

การกำจัดวัชพืชกำจัดรอบๆกอก่อนที่จะใส่ปุ๋ย
การตัดแต่งกิ่งและการไว้ลำไผ่กิมซุ่งไผ่กิงซุ่งช่วงที่เกษตรกรไปซื้อจากร้านหรือสวนที่ขายพันธุ์  ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกต้นกล้าไผ่กิมซุ่งที่มีรากเต็มถุงแล้ว สังเกตุคือถ้าจับต้นหิ้วแล้วไม่หลุดและให้ดูใต้ถุงดำว่ารากเดินทะลุถุงดำหรือยัง  และถ้ามีหน่อเล็กๆโผล่ออกมาจากดินยิ่งดีนั่นหมายความว่ากล้าไผ่กิมซุ่งที่ร้านหรือสวนที่ขาย  ได้ใส่ถุงนานไม่ต่ำกว่า  4  เดือนแล้วเกษตรกรจะได้กล้าที่แข็งแรงพร้อมที่จะแตกรากและออกหน่อได้ไวหลังจากปลูก   ระหว่างที่ปลูกต้องดูแล  ให้น้ำ  ให้ปุ๋ยกำจัดวัชพืช   เมื่อให้ปุ๋ยไปได้ไม่นาน หน่อแรกก็จะออกมา  เมื่อเกษตรกรให้ปุ๋ยต่อเนื่องโดยไม่ขาด  หน่อที่สองก็จะออกมากและมีขนาดใหญ่กว่าหน่อแรกมาก  การสร้างกิ่งและใบก็จะมีมากขึ้น  ไม่เกิน  3  เดือนหลังจากปลูกก็จะได้หน่อที่ สาม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะทำเป็นต้นแม่ได้  การตัดแต่งกิ่งจะยังไม่ควรทำในช่วง1 ถึง 6  เดือนหลังจากปลูก  คอยแต่กำจัดวัชพืชอย่างเดียวเพื่อไม่ให้รกและแย่งอาหารจากไผ่  ที่เราไม่ตัดแต่กิ่งและใบไผ่กิมซุ่งเลยเพราะช่วงที่ไผ่กำลังสร้างกอต้องการกิ่งและใบที่มีมากพอ  ที่จะสร้างหน่ออย่างต่อเนื่อง  ถ้าเราเผลอไปตัดใบไผ่ทิ้งจะทำให้การออกหน่อชะงักทันที   เมื่อดูแลต่อไประหว่าง  4-6  เดือนหลังจากปลูก  หน่อที่ให้ลำแม่ใหญ่จะออกมาได้   3   หน่อโดยทะยอยออก  เกษตรกรจะต้องเลือกว่าจะไว้ลำไหนให้เป็นลำแม่สังเกตุดูว่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางลำจะต้องไม่ต่ำกว่า   2  นิ้ว  พอหน่อเริ่มพุ่งสูงขึ้นโดยปล่อยให้สูงไปเรื่อยๆ พอเกิน  4  เมตรก็จะเริ่มเห็นข้อของลำไผ่  แต่ลำไผ่ยังไม่แตกกิ่งแขนงและใบ  ลำยังอ่อนอยู่ให้ตัดยอดของลำทิ้งโดยตัดที่ประมาณ  3-4  เมตร การตัดช่วงที่ลำไผ่ยังไม่มีกิ่งและใบ  เนื้อของลำไผ่ยังอ่อนอยู่จะทำให้ตัดง่าย  ไม่ต้องออกแรงมาก  เมื่อตัดยอดของลำไผ่แล้ว  กิ่งและใบแตกเร็วขึ้นและจะไปทำให้หน่อที่โผล่ขึ้นมาเป็นลำแม่โผล่ได้เร็วขึ้น  อีกไม่นานก็จะมีหน่อโผล่จากดินครบทั้ง  3 ลำพอดีพร้อมที่จะเป็นลำแม่  ให้ทะยอยตัดยอดทิ้งทั้ง  3 ลำ ที่เกษตรกรเลือกไว้เป็นลำแม่  เกษตรกรต้องรอให้ลำแม่ทั้ง  3  ลำมีกิ่งก้าน  และใบแก่เป็นสีเขียวเข้มนั่นหมายความว่าลำแม่ที่เลือกไว้ทั้ง  3  ลำต่อกอพร้อมที่จะให้หน่อแล้ว   ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่จะตัดลำเล็กๆที่เกิดก่อน   พร้อมกับต้นตอที่ซื้อมาในถุงดำออกได้แล้ว  โดยตัดให้ชิดดิน (นับเวลาจากปลูกจนตัดแต่งกิ่งได้ก็ไม่ต่ำกว่า   6  เดือน  เมื่อตัดต้นเล็กๆทิ้งไปแล้วก็จะเหลือต้นที่เลือกไว้  กอละ  3  ต้น  จากนั้นก็ริดกิ่งแขนงข้างออก  โดยดูว่าเดินแล้วไม่ชนศรีษะ  ไม่แทงหน้าแทงตา  การตัดกิ่งแขนงข้างตัดให้พอเข้าไปเก็บหน่อสะดวก  การตัดกิ่งแขนงควรตัดให้ชิดกับลำต้นไผ่  ตาจะได้ไม่แตกออกมาใหม่  (แต่ถ้าเกษตรกรต้องการปลูกเพิ่มก็ให้เกษตรกรตอนออกไปปลูกเพิ่มอีกได้โดยไม่ต้องซื้อไผ่กิมซุ่งอีกเลย)   กิ่งแขนงด้านล่างมักจะไม่ถูกแดดเต็มที่  ไม่ได้สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างแป้ง  จะกินอาหารจากกิ่งด้านบนที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงจากแดด  หากเกษตรกรตัดทิ้งหรือตอนออกไปจะทำให้ต้นไผ่ไม่ต้องเสียอาหารมาเลี้ยง  อาหารจะถูกส่งไปสร้างหน่อใหม่เพื่อจะขยายกอ  (ไผ่กิมซุ่งเขาจะต้องสร้างกอมากๆมีหลายๆลำ  เมื่อเราตัดลำออกให้เหลือกอละ  3  ลำ โดยธรรมชาติของไผ่ก็จะพยายามสร้างหน่อใหม่ขึ้นมาทดแทน)  เกษตรกรก็เริ่มตัดหน่อออกจำหน่ายได้เลย  การตัดหน่อควรจะตัดให้ถึงส่วนที่เป็นเส้นใย(จะเป็นที่อยู่ของตาหน่อ)  ให้เหลือตาที่สำหรับเป็นหน่อได้อีก  2-4  ตา
 
          เหตุผลที่เกษตรกรต้องตัดยอดของไผ่กิมซุ่งคือ
1.ระหว่างที่เก็บหน่ออยู่  พอเดือนมีนาคม  เมษายน  มีพายุลูกเห็บ หรือพายุฤดูร้อน  พบว่าต้นไผ่กิมซุ่งที่ไม่ได้ตัดยอดจะโค่นมากมาย  และระบบรากสะเทือนจากแรงลมปะทะ  ทำให้การเกิดหน่อหยุดชะงักไป  1-2  เดือนและช่วงนี้เป็นช่วงที่หน่อไม้มีราคาแพง  ส่วนต้นไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด เหลือความสูงเพียง 3-4  เมตร  จะโค่นน้อยกว่าและถ้าไม่ถูกลมแรงจนเกินไปก็ไม่โค่น ระบบรากไม่สะเทือน   การเก็บยังคงเก็บหน่อต่อไปได้  รายได้ไม่ขาดหาย    ไผ่กิมซุ่งเป็นไผ่ที่มีกิงแขนงยาวมากและหนัก  ทำให้ต้านลม ต่างจากไผ่ซางและไผ่เลี้ยงที่มีกิ่งแขนงสั้นจะลู่ลม

 2.ถ้ามีแปลงไผ่กิมซุ่งลองแบ่งเป็นสองส่วน  เพื่อเปรียบเทียบ  อีกแปลงตัดยอด  อีกแปลงไม่ตัดยอด  ถ้าดูแลเหมือนกัน  ให้น้ำพร้อมกัน  ไว้ลำต้น  3-4  ต้นต่อกอเหมือนกัน  พบว่าแปลงที่ตัดยอดจะให้หน่อก่อนแปลงที่ไม่ได้ตัดยอด
 
 3.ในแต่ละปีต้องสางกอ  ตัดไม้แก่ทิ้งไป  เหลือแต่ไม้ที่เกิดในปี  ตอนตัดไผ่กิมซุ่งที่ไม่ตัดยอด  มีความสูงและต้นใหญ่  มีลำต้นกิ่งก้านและใบมาก  ทำให้ต้องจัดการมากใช้แรงงานมากกว่าไผ่กิมซุ่งที่ตัดยอด  การจัดการและการใช้แรงงานน้อยกว่าหากเกษตรกรปลูกไผ่กิมซุ่งเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน   เมื่อถึงเดือนธันวาคมจะต้องมีลำแม่  3 ลำและตัดแต่งลำต้น  ตัดแต่งกิ่งแขนง  ให้ปุ๋ยคอกปุ๋ยเคมีพร้อมแล้ว เกษตรกรเมื่อให้น้ำต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน   เดือนมกราคมเกษตรกรสามารถที่จะขายหน่อครั้งแรกได้ราคาสูงสุดของปีนั้นๆ  และจะขายได้ต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์  มีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  ถ้าฝนมาเร็วราคาหน่อก็จะลงเร็วเพราะมีหน่อของสวนอื่นๆออกมามาก  น้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้ามีน้ำก็จะทำให้หน่อออกได้ในช่วงที่หน่อของสวนอื่นๆยังไม่ออกเพราะไม่มีน้ำ  และหน่อป่าก็ยังไม่ออก   ยิ่งปีไหนฝนมาช้ามากๆ หรือที่เรียกว่าภัยแล้ง เกษตรกรที่มีน้ำก็จะได้ราคาหน่อที่แพงนานหลายเดือน  ระหว่างเก็บหน่อการตัดแต่งกิ่งจะไม่ทำเลย  ถ้าไปยุ่งกับกิ่งหรือใบ  แม้แต่การตอนกิ่งจำหน่ายก็ทำไม่ได้  (แปลงทำพันธุ์ต้องเป็นแปลงที่ไม่คิดจะเก็บหน่อ)  หน่อจะสะดุดทันที   ถ้าเลือกหน่อขายก็ต้องไม่เลือกทำพันธุ์  หากมีลมพายุมากระทบถ้าแรงจนกอไผ่โค่นล้มไปหลายต้นหน่อก็จะสะดุดไม่ออก  และที่ออกมาแล้วก็จะฝ่อไปทั้งหมด  ผมจึงให้ตัดยอดของไผ่ทิ้งไปตั้งแต่ยังไม่มีใบ(ไผ่กิมซุ่งจะปรับตัวและสร้างใบขึ้นมาโดยอาศัยอาหารจากต้นเดิมที่เรายังไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะถ้ามาตัดตอนเก็บหน่อจะตัดไม่ได้หน่อจะไม่ออก (ช่วงเก็บหน่อต้องใช้ใบในการสร้างอาหารไปเลี้ยงหน่อ)  ในช่วงที่หน่อมีราคาแพงมักจะมีพายุฤดูร้อนมาหลายๆละลอก  สวนไหนที่ไม่ตัดยอดความเสียหายจะมากกว่าสวนที่ตัดยอด(ถ้ากอไผ่กอไหนโค่นแล้วกอนั้นจะไม่ได้เก็บหน่อช่วงนอกฤดูอีกเลยกว่าจะฟื้นตัวก็เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว)ซึ่งเป็นโอกาสที่จะมีรายได้ที่ดีในช่วงฤดูแล้งของการทำหน่อนอกฤดู

          เมื่อท่านขายหน่อไม้ไปนานๆ  ท่านจะได้รับคำพูดจากผู้ซื้อว่ามีหน่อไม้หวานที่ไปผัดได้โดยผัดสดๆหรือเปล่า  และระหว่างที่ขายหน่อกิมซุ่งเกษตรกรจะต้องไม่พูดว่าหน่อหวาน  เพราะผู้ซื้อจะนึกว่าหน่อไม้ที่ขายไม่ขม   พอไปทำอาหารแบบผัดสดๆ  ก็จะขมแล้วจะกลับมาบ่น  มีเกษตรกรหลายสวนที่พบปัญหานี้จึงเริ่มถามหาหน่อไม้ที่หวานขณะดิบๆที่หน่อใหญ่เหมือนกิมซุ่งเพื่อจะขายเข้าร้านอาหารได้
กอของชาวบ้านที่ไม่สนใจเก็บแต่หน่อกินอย่างเดียวไม่เคยให้อาหารก็ยังดกออกแล้วออกอีกแต่ออกแต่ฤดูฝนนอกฤดูคือเดือนธันวาคมไม่เคยออกหน่อให้เห็นหน่อกิมซุ่งออกที่ใต้รอยตัดได้ตลอดไม่มีหน่อสุด แม้แต่ชาวบ้านเอาไฟสุ่มกอปางตายก็ยังโผล่หน่อจากใต้ดินออกมาโดยที่กอแม่ไม่มีใบ  ความทนของกิมซุ่ง

          ผมเขียนเรื่องการปลูกกิมซุ่งทำอย่างไรให้สามารถตัดหน่อได้ภายในไม่เกิน  8  เดือนหลังจากปลูกและตัดได้ต่อเนื่องในช่วงนอกฤดู  ส่วนการทำให้ไผ่กิมซุ่งออกนอกฤดูในปีถัดไปให้อ่านจากหัวข้อการทำไผ่กิมซุ่งให้ออกนอกฤดู   หากข้อมูลที่เขียนขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะให้ไผ่กิมซุ่งเป็นพืชตัวหนึ่งในสวนของท่าน  ที่จะให้ท่านได้มีรายได้คุ้มจากการทำหน่อไผ่นอกฤดู  หากท่านเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อท่านๆ  ท่านก็ไม่ต้องนำไปปฏิบัติ  หากมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านผมก็มีความยินดี  และจะได้แนะนำการปลูกไผ่บงหวานจากประสบการณ์ให้มีรายได้จากการขายหน่อที่อยู่ได้ต่อไป

          หากสงสัยสามารถสอบถามหรือศึกษาดูงานได้ที่  สวนไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง   91  ม.4  ต.แม่จั๊วะ  อ.เด่นชัย  จ.แพร่  โทร. 083-2663096  โดยนายวรรณบดี  รักษา

เห็ดนางรมหลวง หรือ เห็ดออรินจิ (Eringii Mushroom)

เห็ดนางรมหลวง หรือ เห็ดออรินจิ (Eringii Mushroom)
จัดเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง เห็ดนางรมหลวง มีโปรตีนประมาณ 25 % คลอเรสเตอรอลต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมี

ในบรรดาเห็ดเศรษฐกิจเขตหนาวที่เพาะปลูกกันแพร่หลายทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ มีด้วยกันหลายชนิด ในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย นิยมเพาะเห็ดกระดุมเป็นหลัก ส่วนประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน นิยมเพาะเห็ดหอม และเห็ดเข็มทองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้เห็ดในตระกูลเห็ดนางรมก็มีเพาะแพร่หลายเช่นกัน แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า
เห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิ เป็นเห็ดในตระกูลนางรมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะรูปร่างแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด จากเห็ดนางรมชนิดอื่น ๆ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปในตลาด จุดเด่นของเห็ดชนิดนี้ก็คือ ก้านดอกจะมีขนาดใหญ่ และหมวกดอกหนา ออกดอกไม่เป็นกลุ่ม ก้านดอกมีสีขาว ส่วนด้านบนของหมวกดอกจะมีสีเทาอ่อน ถ้าเพาะเห็ดภายใต้โรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมจะได้ดอกเห็ดที่มีก้านดอกอวบใหญ่ ยาว และมีหมวกดอกเล็ก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่ถ้าเพาะในโรงเรือนเปิด ก้านดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กและสั้นกว่า แต่หมวกจะใหญ่กว่า


จากการศึกษาทดลองเพาะที่ศูนย์วิจัยและผลิตเชื้อเห็ดของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ที่ดอยปุย จ.เชียงใหม่ พบว่าเชื้อเห็ดนางรมหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอาหารเลี้ยงเชื้อทั่วไป แต่ต้องการอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็นประมาณ 25 ซ. และเลี้ยงขยายเชื้อได้ดีในเมล็ดข้าวฟ่างเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่น ๆ ขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อน (ยางพารา) หรือผสมกับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพดบด ต้นไมยราบบด ใช้เป็นวัสดุเพาะหลัก โดยผสมกับอาหารเสริม เช่น รำข้าว รากมอลต์ เมล็ดข้าวฟ่างบด น้ำตาลทรายแดง ความชื้น 70-75% บรรจุในขวดพลาสติก ปากกว้างขนาดความจุ 1 ลิตร อบฆ่าเชื้อที่ 121 ซ. นาน 1 ชม. เลี้ยงเชื้อที่อุณหภูมิ 22-25 ซ. นานประมาณ 30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มขวด แล้วเลี้ยงต่อให้เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่อีกประมาณ 10 วัน จึงนำไปเปิดดอกที่อุณหภูมิ 15-20  ซ. ความชื้น 80-90% หลังจากเปิดขวดได้ประมาณ 15 วัน ก็จะเก็บเห็ดได้ผลผลิตอยู่ระหว่าง 100-150 กรัมต่อขวด โดยทั่วไปจะทำการเก็บเห็ดเพียงรุ่นเดียว จะเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้วทิ้งเพราะเห็ดรุ่นที่สองคุณภาพไม่ดี มีขนาดเล็กและน้ำหนักน้อย ได้ผลไม่คุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่เสียไป


เห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิ โดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีขนาดใหญ่เนื้อแน่น และไม่เหนียวแน่นแต่คงรูปได้ดีในทุกสภาพและไม่เป็นเมือก จึงเหมาะสำหรับใช้ประกอบอาหารได้ทุกประเภท นิยมหั่นเฉียงให้มีความหนาประมาณ 1 ซม. หรือหั่นเป็นก้อนสามเหลี่ยม รับประทานแล้วจะได้รสชาติดี คาดว่าจะเป็นเห็ดที่ตลาดนิยมและมีความต้องการสูงอีกชนิดหนึ่งในอนาคต

เห็ดเออรินจิ หรือ เห็ดนางรมหลวง เป็นเห็ดเมืองหนาว พบมากในประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป ส่วนการเพาะเห็ดเออริจิ ในประเทศไทยในขณะนี้ มีเพียงฟาร์มเห็ด ปิยะพร อินเตอร์เอโกรโลยี ที่จังหวัดสระบุรี เพียงแห่งเดียว ที่สามารถเพาะเห็ดเออริจิ ออกจำหน่าย

                นายชาญชัย กิตติชูโชติ เจ้าของกิจการฟาร์มเห็ดปิยะพรฯ กล่าวว่า สำหรับเห็ดเออริจิ เป็นเห็ดที่มีรสชาติดี และเมื่อนำมาผ่านขบวนการปรุงเป็นอาหาร รสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น ถ้านำมาย่าง รสชาติเหมือนกับปลาหมึกย่าง และเมื่อนำมาทำน้ำแดงรสชาติเหมือนเปาฮื้อ ทำให้มีการนำเห็ดเออริจิมาใช้แทนเนื้อสัตว์ ในการปรุงอาหารมังสวิรัช

               ทั้งนี้ คุณค่าทางอาหารของเห็ดเออริจิ มีโปรตีนประมาณ 25 % คลอเรสเตอรอลต่ำ คุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภคไม่มีการใช้สารเคมี เห็ดเออริจิจึงถูกจัดเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งการเพาะเห็ดเออริจิ ของฟาร์มปิยะพรฯ ใช้การเพาะเลี้ยงในระบบปิด เนื่องจากเป็นเห็ดเมืองหนาว จะต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส


               โดยความรู้ในการเพาะเห็ด ทางฟาร์มปิยะพรฯได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ วว. โดยอาจารย์ สำเภา ภัทรเกษวิทย์ เป็นที่ปรึกษาโครงการและควบคุมการผลิต และเนื่องจากการเพาะเห็ดเออริจิในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันมากจากประเทศต้นกำเนิด ทำให้การเพาะเห็ดดังกล่าว ต้องใช้เวลาและใช้ทุนจำนวนมากถึง 40 ล้านบาท

                ส่วนหนึ่งทางฟาร์มได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารฯ เห็นว่าเป็นธุรกิจของคนไทย และเป็นธุรกิจการเกษตรที่แปลกใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ในขณะที่เจ้าของฟาร์มเห็ด สนใจทำเห็ดเออริจิ แม้ว่าทุนค่อนข้างจะสูงมาก เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และเป็นรายแรก ประกอบกับเห็ดเออริจิเป็นเห็ดเพื่อสุขภาพอย่างแท้จริง ซึ่งเข้ากับกระแสของคนรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ในปัจจุบัน

                นายชาญชัย กล่าวว่า ในครั้งแรกที่เริ่มทำฟาร์มเห็ดเออริจิ ไม่ประสบความสำเร็จ และตั้งใจว่าจะเลิกทำ โดยหยุดทำไปพักหนึ่ง ซึ่งทางอาจารย์สำเภา ก็ได้คิดค้นหาวิธีการเพาะเลี้ยงใหม่จนประสบผลสำเร็จ และมาชักชวนให้ทำอีกครั้ง ซึ่งเราเห็นว่า ในเมื่อมีโรงเรือน ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ และที่ผ่านมาก็ลงทุนไปแล้ว จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มและทำใหม่อีกครั้ง โดยในครั้งหลังนี้ ผลผลิตออกมาเป็นที่พอใจ โดย ตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี

               โดยผลผลิตที่ได้ในขณะนี้ ประมาณ 300 -400 กิโลกรัม ต่อวัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับตั้งแต่วันที่เริ่มเพาะประมาณ 2 เดือนครึ่ง สายพันธุ์ที่นำมาเพาะเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป การที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ช่วยลดการนำเข้าลงได้ ทำให้ไม่ต้องเสียดุลการค้า ส่วนราคาขายในท้องตลาด ประมาณ 300 - 350 บาท ราคาขายหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 250 บาท

               ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย เนื่องจากเป็นเห็ดที่ต้องอยู่ในห้องเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส ดังนั้น จึงไม่สามารถนำไปวางขายทั่วไปได้ และประกอบกับผลผลิตที่ออกมาในขณะนี้ ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาด ผลผลิตที่ออกมาส่วนใหญ่จะส่งตามร้านอาหาร และซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีชื่อเสียงบางแห่ง

               สำหรับตลาดเห็ดเออริจิในประเทศไทย ตลาดยังมีความต้องการอยู่สูงมาก เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ปลูกได้เพียงรายเดียว และชื่อของเห็ดเออริจิเป็นที่รู้จักของคนไทยระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งคงมาจากชื่อเสียงของเห็ดเออริจิ ที่ดังมาจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป ร้านอาหารที่รับเห็ดเออริจิจากเราไป ส่วนหนึ่งทำอาหารขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่รู้จักเห็ดเออริจิ

               ส่วนเมนูที่ได้รับความนิยม เห็ดย่าง เห็ดผัดพริกไทดำ เห็ดผัดน้ำมัน เห็ดเปาฮือน้ำแดง เห็ดชุบแป้งทอด เป็นต้น แม้ว่ากำลังการผลิตจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่การเพิ่มกำลังการผลิต ก็คงต้องวางแผนอย่างระมัดระวัง เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการที่รายอื่นๆ จะหันมาผลิต ก็คงจะต้องคิดหนัก เพราะต้นทุนที่ค่อนข้างสูง โดยยังไม่สามารถหาวิธีการเพาะเลี้ยงในระบบเปิดได้ ถ้าเลี้ยงในระบบเปิดได้ คงจะมีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย และราคาก็จะถูกลง.

บทความที่ได้รับความนิยม

 
Support : |
Copyright © 2011-2012 อาชีพพารวย - All Rights Reserved
เข้าสู่ปีที่ 2 อาชีพพารวย เพื่อนคู่คิดนักเกษตร พ.ศ. 2555
เว็บไซต์เพื่อนเกษตร